การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ดีพอของคนไทย ส่งผลให้มียอดใช้จ่ายส่วนเกินมากถึง 75% ของรายจ่ายโดยเฉลี่ยในแต่ละสัปดาห์ หรือคิดเป็นมูลค่ามากถึง 60,000 บาทต่อปี – วีซ่าเผย
ผลสำรวจฉบับล่าสุดเกี่ยวกับ ‘ค่าใช้จ่ายปริศนา’ จัดทำโดย YouGov บริษัทสำรวจและวิจัยทางอินเตอร์เน็ตระดับสากลในนามของวีซ่า เน้นให้เห็นถึงประโยชน์ของการวางแผนการจัดการทางการเงินอย่างชาญฉลาด ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคชาวไทยได้รับผลตอบแทนที่ดีตามมา เนื่องจากในแต่ละปี มีเงินมูลค่ากว่า 60,000 บาทที่สูญหายไปจากการละเลยการจัดการทางการเงิน
นอกจากประเทศไทยแล้วผลสำรวจยังพบว่ามีผู้บริโภคใน 13 ประเทศอื่นๆในเอเซียที่ไม่สามารถระบุได้ว่าตนเองใช้จ่ายไปกับสินค้าหรือบริการชนิดใดบ้างในชีวิตประจำวัน
วีซ่านิยาม ‘ค่าใช้จ่ายปริศนา’ โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ใช้ไปโดยไม่สามารถระบุได้ว่าใช้ไปกับสิ่งใด ซึ่งแตกต่างและไม่รวมถึงจำนวนเงินที่ถูกขโมยหรือวางไว้ผิดที่ออกจากการสำรวจ
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบในระยะยาวจากการขาดการวางแผนทางการเงิน ดังนั้นการบริหารงบการเงินของเราเองจึงควรเริ่มจากค่าใช้จ่ายก่อนเป็นลำดับแรก ไม่ว่างบการเงินจะมากหรือน้อยก็ตาม”
นอกจากนี้ ผลสำรวจได้เผยให้เห็นอีกว่าคนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อสัปดาห์อยู่ที่ 1,588 บาท ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถระบุได้ว่าใช้ไปกับสิ่งใดถึง 1,143 บาท หรือ 72 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายทั้งหมด โดยผู้บริโภคชาวไทยที่ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าค่าใช้จ่ายปริศนาที่เกิดขึ้นนั้น 49 เปอร์เซ็นต์ มาจากค่าอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และค่าขนมขบเคี้ยว และกว่า 45 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย
ผู้บริโภคชาวไทยกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า ค่าใช้จ่ายปริศนาที่เกิดขึ้นส่วนมากหมดไปกับค่าอาหารกลางวันที่รับประทานอยู่ทุกวัน ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 21 เปอร์เซ็นต์
กลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นอายุระหว่าง 18-24 ปี มีค่าใช้จ่ายปริศนาถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมดไปกับค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง อย่าง ค่าเที่ยวกลางคืน ค่าปาร์ตี้ ค่าดูหนัง ซึ่งมีค่าสูงกว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า โดยรวมแล้วกลุ่มวัยรุ่นมีค่าใช้จ่ายปริศนาอยู่ที่ 1,091 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มผู้บริโภควัยอื่นๆ
จากผลการสำรวจพบว่าผู้บริโภคชาวไทยมียอดใช้จ่ายปริศนามากที่สุด (72 เปอร์เซ็นต์) ในบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำแบบสำรวจ ตามมาด้วย อินโดนีเซีย (57 เปอร์เซ็นต์) เวียดนาม (48 เปอร์เซ็นต์) สิงคโปร์ (45 เปอร์เซ็นต์) มาเลเซีย (44 เปอร์เซ็นต์) และ ฟิลิปปินส์ (42 เปอร์เซ็นต์)
“จากการที่ทุกวันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ผู้บริโภคส่วนมากไม่สามารถบริหารจัดการทางการเงินแบบวันต่อวันได้ดีเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ การทำให้ทุกคนเห็นว่า การติดตามและตรวจสอบค่าใช้จ่าย และการบริหารเงินเป็นเรื่องที่สำคัญ และการใช้จ่ายผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยควบคุมการใช้จ่ายได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งมีความปลอดภัย และมอบความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้มากกว่าเงินสด เช่น การที่เราสามารถดูค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน หรือแม้กระทั่งใช้บริการแจ้งเตือนทาง SMS ซึ่งการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ในการทำธุรกรรมทางการเงิน จะทำให้ผู้บริโภคชาวไทยสามารถควบคุมการใช้จ่ายให้อยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ และยังช่วยให้ค่าใช้จ่ายปริศนามีจำนวนลดลง” นายสุริพงษ์ กล่าวปิดท้าย