ด้วยความที่ผมมีมือถือเก่าอยู่หลายเครื่อง จริงๆ ก็อยากจะปล่อยขายมือสองแหละ แต่มัวทำนู่นทำนี่จนนานไปก็เลยขายไม่ออก อีกทั้งก็เสียดายเพราะถ้าไม่นับว่ามันช้าไม่ทันใจโอเอสรุ่นใหม่ๆ แล้ว อย่างอื่นก็ยังทำงานได้ดีอยู่ครับ โทรเข้าโทรออกรับสาย จับเอามารูทก็ยังลงรอมแปลกๆ ได้อีก กล้องหน้า กล้องหลังก็ยังดีอยู่ พูดถึงกล้อง ก็เลยมีไอเดียขึ้นมาว่า ถ้าลองเอามาทำเป็นกล้องวงจรปิดก็น่าจะได้อยู่ เพราะเดี๋ยวนี้ก็มีแอพมากมายที่ทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นกล้องวงจรปิดได้ และถ้าเกิดมันใช้งานได้จริง ก็จะได้ดัดแปลงเอามาใช้เป็นกล้องติดหน้าบ้านซะเลย นี่จึงเป็นที่มาของบทความเรื่องนี้ครับ
มือถือที่ผมใช้ในโปรเจกต์นี้ก็คือ Galaxy Nexus รุ่นแรก ซึ่งมีกล้องหลังความละเอียด 5MP และกล้องหน้า 1.3MP ซึ่งชัดเพียงพอกับความต้องการ และเอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่ได้สตรีมภาพเต็มความละเอียดอยู่แล้วครับ เพราะยิ่งต้องการภาพชัดมากแค่ไหน ภาพก็จะยิ่งช้าดีเลย์มากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากต้องใช้แบนด์วิธเยอะขึ้นนั่นเอง
ส่วนแอพที่ผมจะนำมาลองใช้เป็นกล้องวงจรปิด ผมจะคัดเอามา 4 แอพเน้นๆ เปรียบเทียบกันว่าตัวไหนดีที่สุด (สำหรับมือถือผม) ประกอบด้วย IP Webcam , WebOfCam , WardenCam และ IP Camera และเพื่อไม่ให้เสียเวลา มาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ
IP Webcam
ดาวน์โหลดได้ที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=com.pas.webcam
เรียกได้ว่าเป็นแอพยอดนิยมเลยทีเดียว เพราะตัวแอพนั้นออกแบบมาให้มีครบทุกฟังก์ชั่น ที่สามารถทำให้มือถือธรรมดากลายเป็นกล้องวงจรปิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น Motion Detection และ Night Vision เป็นต้น อีกทั้งยังมีระบบคลาวด์รองรับให้สามารถเรียกดูผ่านเน็ตได้ ผมเลยเลือกแอพตัวนี้เป็นตัวแรกที่เอามาแนะนำ
การใช้งานแอพนี้ก็ง่ายมากครับ หลังจากติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็พร้อมใช้งานได้เลย เราแทบจะไม่ต้องไปกำหนดค่าอะไรอีก เพราะค่าตั้งต้นของแอพนี้เซ็ตมาให้ดีแล้ว แต่ถ้าจะต้องเซ็ตก็มีอยู่แค่การไปเปิดการทำงานของ Motion Detection เพิ่มเติมเท่านั้น
Motion Detection ของแอพนี้ สามารถจับความเคลื่อนไหวได้ทั้งวิดีโอและเสียง เมื่อมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเราสามารถกำหนดให้บันทึกเป็นไฟล์วิดีโอไว้ได้ โดยไฟล์วิดีโอที่เก็บไว้จะอยู่ในมือถือนั่นล่ะครับ
สำหรับในเวอร์ชั่นฟรีนี้ สามารถใช้งานได้ครบถ้วนทุกคุณสมบัติ จะขาดแค่ฟังก์ชั่น Task Schedule ที่ใช้ตั้งเวลาทำงาน และเวลาบันทึกคลิปวิดีโอก็จะมีข้อความแสดงขึ้นมาด้านบนให้ดูเกะกะอยู่นิดหน่อย
การเรียกดูภาพผ่านกล้องทำได้ 2 วิธี หนึ่งคือถ้าอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ก็เปิดบราวเซอร์เข้าผ่านไอพีตรงๆ ได้เลย ตามด้วยเลขพอร์ต 8080 เช่น 192.168.1.100:8080 เป็นต้น กับสองคือเข้าผ่านระบบคลาวด์ ivideon.com อันนี้เอาไว้ใช้เวลาดูผ่านเน็ตจากนอกบ้าน จริงๆ แล้วแบบแรกก็สามารถเปิดดูผ่านเน็ตได้นะครับ โดยใช้วิธีการทำฟอร์เวิร์ดพอร์ตบวกกับบริการ Dynamic DNS ที่เราเตอร์รองรับ ถ้าทำได้ผมแนะนำวิธีนี้ ดีกว่าดูผ่าน ivideon.com เพราะมันค่อนข้างดีเลย์น่าดู
จุดเด่น
- ใช้งานง่าย
- มีฟังก์ชั่นครบถ้วน
- ดูผ่านบราวเซอร์ได้เลย ไม่ต้องลงแอพ
- มี Motion Detection ทั้งแบบภาพและเสียง
จุดด้อย
- ไม่มีการส่ง Alert
- คลิปบันทึกได้แต่ในมือถือ ไม่สามารถอัพขึ้นเน็ตได้
- ขณะใช้งาน แบตเตอรี่ร้อนมาก
WardenCam
ดาวน์โหลดได้ที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=com.warden.cam
แอพอีกตัวหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบ เพราะมีคุณสมบัติที่ผมอยากได้นั่นคือ การเชื่อมต่อกับ Dropbox เพื่อทำการแบ็กอัพเหตุการณ์และคลิปวิดีโอต่างๆ รวมถึงมีการส่ง Alert ได้ทั้งภาพและข้อความเข้ามือถือโดยตรง ซึ่งอันนี้ผมว่าค่อนข้างเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนที่ต้องการกล้องวงจรปิดที่สามารถเตือนภัยได้
แอพ WardenCam นั้นติดตั้งง่าย และไม่ต้องกำหนดค่าอะไรเลย พอติดตั้งเสร็จก็พร้อมใช้งานได้ทันที เพียงแต่ความยุ่งยากก็คือ ฝั่งที่ต้องการดูภาพผ่านกล้อง ก็ต้องลงแอพ WardenCam เช่นเดียวกัน (มีทั้งบนแอนดรอยด์และไอโอเอส) พูดง่ายๆ ก็คือ ดูได้เฉพาะผ่านมือถือหรือแท็บเล็ตเท่านั้น ดูผ่านพีซีโดยเปิดบราวเซอร์ไม่ได้ ถ้าหากอยากจะดูผ่านพีซีจริงๆ ทางแอพเขาก็แนะนำให้ใช้ Bluestack (อีมูเลเตอร์สำหรับระบบแอนดรอยด์) แล้วรันตัว APK ของแอพเอา ซึ่งผมลองแล้วรู้สึกว่าไม่เวิร์กเท่าไร
แต่การดูผ่านแอพก็มีข้อดีก็คือ ฝั่งที่เป็น Viewer สามารถควบคุมฝั่งที่เป็น Camera ได้ค่อนข้างเยอะ เช่นการเปิด/ปิด Motion detection , เปิด/ปิดไฟแฟลช และเปิด/ปิดไมค์รับเสียง เป็นต้น นอกจากนี้การใช้งานผ่านแอพ ยังสามารถรับการเตือนในลักษณะที่เป็น Push ได้ทันที ทั้งในรูปแบบข้อความและเสียง
Settings ต่างๆ ในแอพนั้นก็ตอบโจทย์การใช้งานค่อนข้างดีเลยครับ มีการกำหนดความไวในการตรวจจับความเคลื่อนไหว รูปแบบการเตือน แถมยังตั้งช่วงเวลาให้ทำงานได้อีกด้วย เช่น เราอาจตั้งช่วงเวลาให้มีการเตือนเฉพาะกลางคืนได้ เป็นต้น
ถ้าตัดปัญหาเรื่องความวุ่นวายในการดูภาพแล้ว ผมว่าเรื่องอื่นๆ WardenCam ตอบโจทย์ผมได้ดีพอสมควร ทั้งเรื่องความชัดของภาพ ความไวในการบันทึก แล้วก็ความสามารถในการแบ็กอัพข้อมูลไปอยู่บน Dropbox แถมมีการแจ้ง Alert เข้ามาที่มือถือให้ด้วย ถูกใจมากทีเดียวครับ
จุดเด่น
- เชื่อมต่อกับ Dropbox และอัพโหลดคลิปไปเก็บไว้ได้อัตโนมัติ
- มีการแจ้ง Alert เข้ามือถือผ่านแอพได้
- ติดตั้งและกำหนดค่าง่าย
- ใช้ได้ทั้งกล้องหน้า กล้องหลัง
- มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกอย่างสำหรับการเป็นกล้องวงจรปิด
จุดด้อย
- ดูผ่านบราวเซอร์บนพีซีไม่ได้ ต้องดูผ่านแอพเท่านั้น
- ต้องมีบัญชีกูเกิ้ลถึงจะใช้งานได้
WebOfCam
ดาวน์โหลดได้ที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=com.webofcam
แอพชื่อเชยๆ แต่ผมค่อนข้างชอบ เพราะใช้งานง่ายไม่ยุ่งยาก เพียงแค่เปิดแอพขึ้นมา แล้วเลือกว่าจะเป็น Viewer หรือ Camera ถ้าเลือกอันหลัง มือถือก็จะกลายเป็นกล้องวงจรปิดทันที วิธีเข้าไปดูภาพผ่านทางบราวเซอร์ก็ง่าย เพียงเข้าไปที่ app.webofcam.com ใส่ไอพีของมือถือเข้าไป แล้วกด Start ภาพสดๆ ก็จะสตรีมส่งมาให้ดูทันที
ที่หน้าบราวเซอร์นี้ เราก็สามารถสั่งงานและควบคุมการแสดงผลได้ครับ เช่น เพิ่มความสว่าง ซูมภาพ หมุนภาพ กดถ่ายภาพนิ่งเก็บไว้ สลับไปใช้กล้องหน้า เปิด/ปิดไฟแฟลช และ เปิด/ปิดไมค์รับเสียง
ในส่วนของ Camera เราสามารถกำหนดค่าได้นิดหน่อยครับ เช่น ตั้งรหัสผ่านสำหรับการเข้าดูภาพ กำหนดคุณภาพของวิดีโอ และตั้งค่า White Balance เป็นต้น
สิ่งเดียวที่แอพนี้ไม่มีคือ Motion Detection ครับ ดังนั้นคงได้แค่นำไปใช้ในการสตรีมมิ่งภาพได้สดๆ เท่านั้น แต่ไม่สามารถนำไปทำเป็นกล้องวงจรปิดได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
จุดเด่น
- ใช้งานง่าย
- ดูภาพผ่านบราวเซอร์ได้
- สามารถหมุนภาพได้ จึงสามารถตั้งกล้องได้ทั้งแนวตั้ง แนวนอน
- ใช้ได้ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง
จุดด้อย
- ไม่มี Motion Detection
IP Camera
ดาวน์โหลดได้ที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=com.shenyaocn.android.WebCam
ถ้าอยากได้แอพที่มีแอพครบทุกโอเอส แนะนำตัวนี้เลยครับ เพราะแอพนี้มีให้ใช้ทั้งบนแอนดรอยด์ ไอโอเอส และวินโดวส์ หรือถ้าขี้เกียจจะลงแอพ จะดูผ่านเว็บบราวเซอร์ก็ทำได้อีกด้วย เรียกว่าอำนวยความสะดวกให้ทุกทางเลยทีเดียว
แอพนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับ OneDrive ได้ด้วยครับ โดยมันจะอัพโหลดภาพนิ่งและคลิปขึ้นไปเก็บไว้ที่ OneDrive ให้เราโดยอัตโนมัติ เหมาะสำหรับที่ใช้บริการของไมโครซอฟท์อยู่แล้ว
ยังมีอีกฟีเจอร์หนึ่งที่ผมชอบก็คือ เราสามารถกำหนดให้กล้องปิดการทำงานและเปิดอัตโนมัติต่อเมื่อมี Viewer เข้ามาเชื่อมต่อเท่านั้น ข้อดีก็คือช่วยประหยัดแบตเตอรี่และลดความร้อนในการทำงาน แต่ข้อเสียก็คือ เราอาจพลาดเหตุการณ์สำคัญได้
ข้อเสียอีกอย่างคือสำหรับเวอร์ชั่นฟรีนี้ จะเปิดใช้งาน Motion Detection ไม่ได้ครับ
จุดเด่น
- มีแอพครบทุกแพลตฟอร์ม
- เปิดดูภาพผ่านบราวเซอร์ได้
- ลิงค์เข้ากับ OneDrive ได้
จุดด้อย
- รุ่นใช้งานฟรี ไม่มี Motion Detection
สรุปส่งท้ายกันนิด หลังจากที่ผมได้ทดลองใช้แอพที่ว่ามาทั้งหมดนี่แล้ว ขอยกให้ WardenCam เป็นแอพแนะนำครับ เพราะเป็นแอพตัวเดียวที่มีครบทุกคุณสมบัติที่เหมาะกับการใช้เป็นกล้องวงจรปิด แถมยังฟรีอีกด้วยครับ
WardenCam วิธีเซ็ตค่า live view ให้อ่านกล้องครับ
ชอบคับ ทำได้เข้าใจง่ายมาก มีจุดเด่น จุดด้อยบอก ขอบคุณครับ