สำหรับสตาร์ทอัพ จุดหมายสำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จ ต้องมีเรื่องการได้รับเงินสนับสนุนหรือลงทุนจากกิจการร่วมลงทุน (Venture Capitals: VCs) รวมอยู่ด้วยแน่นอน เพราะการได้เงินทุนนั้นหมายถึงการติดปีกให้สตาร์ทอัพสามารถขยายการลงทุนและธุรกิจได้ทันที ซึ่งการจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นไปได้ไม่ยากนัก หากสตาร์ทอัพมีความพร้อม เนื่องจากนักลงทุนเองก็เสาะแสวงหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเพื่อร่วมลงทุนด้วยอยู่แล้ว
ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลแห่งแรกในไทยและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงาน “TDPK Take-Off…Let’s Talk to the VCs” เปิดWork Space ให้สมาชิกใหม่ของทรู ดิจิทัล พาร์ค สัมผัสประสบการณ์บรรยากาศการทำงานที่เป็นมากกว่าที่ทำงานแบบเดิมๆ พร้อมโอกาสพบปะกับเหล่านักลงทุนระดับโลกหรือ VC ที่มาให้คำปรึกษาแบบ 1-on-1 Session และร่วมอีเว้นต์สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ธุรกิจสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการดิจิทัลรุ่นใหม่ภายใต้หัวข้อ “The After Funded Stories: What to do next after you get funded” โดยคุณปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ 500 Startups ซึ่งเป็นหนึ่งใน VC แถวหน้า ที่ร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพมาแล้วมากกว่า 60 รายได้แบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงข้อควรพิจารณาก่อนรับเงินสนับสนุน
เริ่มต้นการพูดคุยกับบรรดาสตาร์ทอัพทั้งสัญชาติไทยและต่างประเทศที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค คุณปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ 500 Startups กล่าวว่า ระยะเวลาการก่อตั้งธุรกิจไม่ใช่ปัจจัยในการคัดเลือกสตาร์ทอัพที่เธอสนใจจะลงทุน แต่เป็นความพร้อมของสตาร์ทอัพรายนั้นๆ มากกว่า นั่นหมายถึงสตาร์ทอัพรายนั้นต้องมีผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาดและเริ่มมีตัวเลขรายได้แสดงให้นักลงทุนเห็นแล้ว จากประสบการณ์สตาร์ทอัพที่สามารถเอาชนะใจบริษัทของเธอได้มีตั้งแต่เพิ่งเปิดตัวสินค้าได้เพียง 3 สัปดาห์ ไปจนถึงนานมากกว่า 2 ปี
พร้อมกันนั้นสตาร์ทอัพต้องมีแผนการขยายธุรกิจที่ชัดเจนและเป็นไปได้ ซึ่งส่วนใหญ่สตาร์ทอัพมักจะพลาดตรงที่ “คิดเล็กเกินไป” นั่นคือทำธุรกิจสำหรับตลาดที่มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งธุรกิจจะถึงทางตัน ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ VCs มองหา นั่นคือสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพที่จะสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้หากได้รับเงินทุนและการสนับสนุนจาก VCs “เราอยากได้ธุรกิจที่ยังคงเติบโตได้ดีในอีก 5 ปีข้างหน้า ฉะนั้นสตาร์ทอัพจะต้องทำให้เราเชื่อว่าเขามีตลาดที่ใหญ่พอ มีโอกาสทางธุรกิจที่ยาวพอ”
ในฝั่งของสตาร์ทอัพเอง ก่อนจะเข้าไปนำเสนอแผนธุรกิจหรือ pitching กับ VCs ก็ต้องทำการบ้านเกี่ยวกับ VCs ที่ต้องการได้มาร่วมลงทุนด้วย เพราะ VCs ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้แค่เม็ดเงินลงทุนและคำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกิจเท่านั้น แต่สามารถมีส่วนช่วยให้สตาร์ทอัพต่อยอดและเติบโตได้ด้วย โดยคุณปารดาแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ควรเลือกVCs ที่มีประสบการณ์ลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันมาก่อน หรือมีเครือข่ายที่พร้อมสนับสนุนธุรกิจของสตาร์ทอัพนั้นๆ เช่น VCs ที่อยู่ในเครือของบริษัทขนาดใหญ่ อาจสามารถแนะนำให้สตาร์ทอัพได้รู้จักและทำธุรกิจกับบริษัทในเครือเดียวกับ VCs ได้ เป็นต้น
หลังจากได้รับเงินสนับสนุนจาก VCs แล้ว การขยายธุรกิจให้เป็นไปตามแผนที่เสนอไว้ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าขั้นตอนก่อนหน้า ทั้งนี้ข้อแนะนำที่คุณปารดาฝากเอาไว้คือ ให้ฟังเสียงลูกค้าที่ใช้จริงก่อนเสมอ หากผู้ใช้งานจริงมีข้อแนะนำหรือข้อติชมให้นำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งบางครั้งคำแนะนำเหล่านี้อาจแย้งกับความคิดของตัวสตาร์ทอัพเองหรือแม้กระทั่ง VCs แต่เชื่อว่าการรับฟังจากผู้ใช้งานจริงและการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง คือเส้นทางสู่ความสำเร็จขั้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเงินสนับสนุนจาก VCs ในจำนวนที่มากขึ้นในการระดมทุนครั้งต่อๆ ไป หรือความสำเร็จในแง่ของการเติบโตทางธุรกิจ
เมื่อพูดถึงเรื่องการแข่งขัน สตาร์ทอัพมักจะกังวลว่าจะถูกคู่แข่งลอกเลียนแบบแนวความคิด ซึ่งคุณ
ปารดา ได้ให้แง่คิดว่า “วิธีเดียวที่จะปกป้องไอเดียธุรกิจของคุณได้ คือการก้าวให้เร็วกว่า” พร้อมให้คำแนะนำแก่สตาร์ทอัพไทยกับหนทางสู่การเป็นยูนิคอร์นหรือธุรกิจที่มีมูลค่ากว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ ว่า ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญในฐานะเครื่องมือสื่อสาร ขณะเดียวกันก็ควรเรียนรู้จากต่างชาติในส่วนของ Know-How ไปพร้อมกับการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือกับสตาร์ทอัพอื่นๆ หรือองค์กรอื่นๆ ในระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้วย
ในช่วงท้ายคุณปารดา ได้พูดถึงสิ่งสำคัญที่สตาร์ทอัพควรพิจารณาก่อนรับเงินสนับสนุนจาก VCs ได้แก่ลักษณะการสนับสนุนด้านเงินทุน เช่น เงินให้เปล่า การเข้ามาถือหุ้น, การสนับสนุนอื่นๆ นอกเหนือจากเงินทุน เช่น โอกาสทางธุรกิจ การให้คำปรึกษา และสุดท้ายคือเงื่อนไขการสนับสนุน เช่น สัดส่วนการถือหุ้น อำนาจการบริหาร อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ
งานเสวนา และ Workshop เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค จัดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพที่เป็นสมาชิกภายใต้แนวคิด“One Roof, All Possibilities” ซึ่งนอกจากจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจโดยตรงแล้ว ยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และสุขภาพช่วยสร้างเครือข่ายและเติมเต็มสีสันชีวิตการทำงานในทุกๆ วัน ติดตามกิจกรรมได้ที่ www.facebook.com/TrueDigitalPark
#Truedigitalpark #startupecosystem #Oneroofallpossibilities