ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา นักการศึกษาได้ใช้หุ่นยนต์เพื่อดึงดูดความสนใจของเยาวชนไทยในการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสครบรอบการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยครบ 30 ปี ในปีนี้ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้จับมือกองทัพอากาศ สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ) เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์บินอัตโนมัติเพื่อเข้าแข่งขันภายใต้หัวข้อ “ภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยาน” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
การแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์บินอัตโนมัติ รอบคัดเลือกจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม ศกนี้ ส่วนการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศจะจัดในเดือนเมษายน ศกนี้
การแข่งขันหุ่นยนต์บินอัตโนมัติเปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงเพื่อให้พวกเขาศึกษาและค้นคว้าข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับ การพัฒนาเครื่องบินและอากาศยานอัตโนมัติ“ การแข่งขันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมนิสิต นักศึกษาไทย เพื่อก้าวเข้าสู่วิศวกรรมอากาศยานขั้นสูงต่อไป นอกจากนี้ ทางคณะผู้จัดการแข่งขันยังต้องการสนับสนุนให้นิสิต นักศึกษาเหล่านี้พัฒนาและวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์บินไร้คนขับเพื่อพัฒนาต่อยอดสู่อากาศยานไร้คนขับต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.ภูดิส ลักษณะเจริญ ประธานจัดการแข่งขัน เลขานุการสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และหัวหน้าวิจัยสาขา Dynamics and Robotics แห่งศูนย์วิจัยวิศวกรรมคำนวณและทดสอบขั้นสูง กล่าว
การแข่งขันท้าทายบรรดานิสิต นักศึกษาไทยในการสร้างหุ่นยนต์บินไร้คนขับซึ่งจะเข้าร่วมการแข่งขันภายในระยะเวลา 8 นาที โดยบริษัทซีเกทฯ ผู้สนับสนุนหลักการแข่งขัน มอบเงินรางวัลรวม 500,000 บาท ให้แก่ทีมชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 ขณะที่กองทัพอากาศมอบรางวัลสุดพิเศษคือ ถ้วยรางวัลเกียรติยศจาก พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมกับนำทีมที่ได้รับรางวัลเยี่ยมศึกษาดูงาน เครื่องบินรบที่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย ณ ฐานบินของกองทัพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อต่อยอดความคิดต่อไป
ในการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมจะต้องพัฒนาหุ่นยนต์จำนวน 2 ประเภทคือหุ่นยนต์บินอัตโนมัติ จำนวน 1 ตัวและหุ่นยนต์บินบังคับด้วยมือ จำนวน 1 ตัว โดยหุ่นยนต์บินอัตโนมัติจะเข้าแข่งขันในสนามเปิดโล่ง ภายนอกอาคาร ส่วนหุ่นยนต์บินบังคับด้วยมือจะเข้าแข่งขันในสนามแข่งขันภายในอาคาร หุ่นยนต์บินอัตโนมัติจะต้องบรรทุกลูกกอล์ฟ จำนวน 1 ลูกก่อนออกจากจุดเริ่มต้น และต้องนำลูกกอล์ฟไปปล่อยในบริเวณที่กำหนดและบินไปยังจุดลงจอดที่กำหนด สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์บินบังคับด้วยมือ ผู้บังคับหุ่นยนต์บินแบบบังคับด้วยมือจะต้องควบคุมหุ่นยนต์อยู่ในห้องควบคุม (Manual Control Room) โดยจะทำการควบคุมระยะไกล ซึ่งผู้ควบคุมสามารถมองเห็นสนามได้จากทางจอควบคุมของทีมเท่านั้น และบังคับหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่ผ่านอุปสรรคต่างๆ เมื่อหุ่นยนต์บินบังคับด้วยมือเข้าถึงเส้นชัย จะต้องทำการเจาะลูกโป่งให้แตก โดยใช้เข็มเจาะเท่านั้น เพื่อหยุดเวลาการแข่งขันของทีมตนเอง การแข่งขันนี้เป็นการทดสอบความสามารถของผู้เข้าแข่งขันในการสร้างหุ่นยนต์ซึ่งสามารถบินได้โดยอัตโนมัติ โดยใช้ระบบการนำร่องแบบดาวเทียมหรือเทคโนโลยีแมชชีน วิชั่น(machine vision)
เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและเตรียมความพร้อมทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม เทคโนโลยีและวิศวกรรมอากาศยาน การแข่งขันในหัวข้อ “ภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยาน” เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์อีกหนึ่งรายการซึ่งเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ได้มีโอกาสแสดงผลงานการพัฒนาล่าสุดในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและหุ่นยนต์ “ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแข่งขันหุ่นยนต์บินไร้คนบังคับจะช่วยตอกย้ำความสำคัญของเทคโนโลยีอันนำมาซึ่งการพัฒนาด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต” ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าว
“การแข่งขันในหัวข้อ “ภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยาน” จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจแก่นิสิต นักศึกษาไทย” นายเจฟฟรี่ ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติการประเทศไทยและปีนัง บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขัน เป้าหมายสูงสุดของเราคือการส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี นักพัฒนาหุ่นยนต์และวิศวกรรุ่นใหม่ ให้มีมาตรฐานในการดำเนินงานที่สูงขึ้น ดังนั้น เราจึงเน้นหนักในการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและมีมุมมองที่จะช่วยทำให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตั้งแต่พวกเขายังเป็นนิสิต นักศึกษาจนถึงการประกอบอาชีพ
“ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์หลายรายการตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ รู้สึกทึ่งในความสามารถพิเศษของผู้เข้าแข่งขันหุ่นยนต์และรอคอยที่จะมีโอกาสได้ร่วมงานกับนิสิต นักศึกษาเหล่านี้เมื่อพวกเขาเริ่มอาชีพ การงานของพวกเขา” นายไนการ์ดกล่าวเสริม
หุ่นยนต์ทุกตัวจะต้องถูกออกแบบและสร้างขึ้นตามกฎและกติกาทางด้านความปลอดภัยของการแข่งขัน ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมการแข่งขันทางออนไลน์ได้ที่ https://www.tamech.com ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงาน เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการเพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายนักวิจัยและนักวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th