ทุกวันนี้การทำงานของระบบต่างๆ กว่าร้อยละ 80 ได้จัดทำในรูปแบบของเวอร์ชวลไลเซชัน (Virtualization) เนื่องจากให้ความคล่องตัวสูง และไม่ต้องแบกภาระในการดูแลระบบมากนัก ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตัดสินใจเลือกได้ว่า จะใช้ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์จากบริษัทใดจึงจะตอบโจทย์ความต้องการของตนเองได้มากที่สุด รายงาน Magic Quadrant ของ Gartner ในกลุ่ม x86 Server Virtualization Infrastructure จึงได้สรุปตำแหน่งของซอฟต์แวร์ในตลาด โดยในรายงานพบว่า Microsoft และ VMWare เป็นสองบริษัทที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้นำที่ประสบความสำเร็จในทั้งแง่วิสัยทัศน์และการดำเนินการ
Gartner Magic Quadrants เป็นเครื่องมือยอดนิยมที่ใช้ในการแสดงให้เห็นถึงตำแหน่งทางการตลาด และวิสัยทัศน์ของบริษัทต่างๆ โดยการสำรวจด้าน Virtualization Infrastructure นี้ เป็นการศึกษากลุ่มองค์กรที่มองหาแนวทางในการใช้ระบบเวอร์ชวลไลเซชัน ภายใต้ฮาร์ดแวร์และระบบปฏิบัติการที่เป็นแบบ x86 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดค่าใช้จ่ายทางด้านฮาร์ดแวร์ ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการพัฒนาแอปพลิเคชันได้ด้วย แต่สิ่งที่ไม่ครอบคลุมในการศึกษานี้คือ การบริหารจัดการขั้นสูง เช่น การทำงานแบบอัตโนมัติต่างๆ
จากการศึกษาของ Gartner พบว่า นับตั้งแต่ Microsoft ได้วางจำหน่าย Hyper-V ใน Windows Server 2012 R2 ในเดือนตุลาคม 2556 เป็นต้นมา ทำให้ Microsoft ได้รับส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ยังก็มีข้อแตกต่างจาก VMWare อยู่บ้างบางประการ เช่น ในเรื่องของการวางแผนดาวน์ไทม์ (Planned downtime) ข้อจำกัดเกี่ยวกับความพร้อมใช้งานสูง (High Availability) และการบริหารจัดการโดยใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) เป็นต้น
เมื่อมองที่จุดแข็งของผลิตภัณฑ์ของ Microsoft จะพบว่า Windows Server เป็นซอฟต์แวร์ที่มีผู้ใช้ระดับองค์กรอยู่แล้วมากมาย และบางองค์กรถึงกับใช้งานแต่ซอฟต์แวร์ Windows เท่านั้นด้วย นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ด้านเวอร์ชวลไลเซชันของ Microsoft ยังมีราคาต่ำ โดยเฉพาะกับลูกค้าเดิมที่ใช้ผลิตภัณฑ์ Windows Server อยู่แล้ว และกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และที่สำคัญ การที่ Windows Server ทำงานร่วมกับ System Center และ Azure ได้อย่างราบรื่น ได้กลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจให้นักพัฒนาหันมาสนใจในผลิตภัณฑ์ Microsoft Cloud มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งเหล่านี้จะทำให้มีกลุ่มลูกค้าใหม่เริ่มเข้ามาใช้งานซอฟต์แวร์ของ Microsoft เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังดึงลูกค้าจาก VMWare ไม่ได้มากนัก Microsoft ยังไม่สามารถเปลี่ยนใจผู้ที่ใช้งาน VMWare อยู่ หรือกลุ่มคู่แข่งที่ใช้ Open Source หรือผู้ให้บริการคลาวด์ให้หันมาใช้ Hyper-V ได้
ในด้านของ VMWare ทุกวันนี้มีจุดแข็งอยู่ที่การมีนวัตกรรมใหม่ๆ ปล่อยออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้งานโดยทั่วไป แต่ก็มีราคาสูง เมื่อเทียบกับความสามารถต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งซอฟต์แวร์จากบริษัทอื่นๆ เช่น Windows Server 2016 ก็เริ่มพัฒนาความสามารถขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกันแล้ว อีกทั้ง VMWare ยังมีผู้เชี่ยวชาญน้อย ทำให้แข่งขันกับซอฟต์แวร์รายอื่นในการขึ้นสู่ระบบคลาวด์ได้ยากขึ้น
แม้จะนับได้ว่า VMWare มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในขณะนี้ แต่ก็ยังมีอัตราการเติบโตที่ลดลง อันเนื่องมาจากการอิ่มตัวทางการตลาด ประกอบกับผู้ใช้มีทางเลือกอื่นๆ ในการใช้งานการประมวลผลบนคลาวด์ เช่น Amazon Web Service (AWS) นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการเริ่มมีการเปรียบเทียบมากขึ้นระหว่าง VMWare กับ Hyper-V และมีการย้ายการใช้งานจาก VMWare ไปยัง Hyper-V หรือผู้ให้บริการคลาวด์อื่นๆ ด้วยพอสมควร ดังนั้น อนาคตก็คงต้องดูกันต่อไปว่า แต่ละบริษัทจะมีแผนรับมือและปรับปรุงข้อด้อยที่พบในซอฟต์แวร์ของตนเองอย่างไรบ้าง แต่ก็เชื่อมั่นได้ว่า ลูกค้าองค์กรจะต้องได้รับการบริการที่ดีขึ้น ครบถ้วนขึ้นจากบริษัทเหล่านี้อย่างแน่นอน