บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา เรื่อง “สร้างคน สร้างองค์ความรู้…เตรียมพร้อมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล โดยได้รับเกียรติจากนางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานในพิธี และบรรยายพิเศษโดยนายกอร์ดอน เกรย์ลิช รองประธาน บริษัท อินเทล คอร์ปอเรชั่น รวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชน งานสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ความรู้และกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม ผ่านการนำเสนอกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศ รวมถึงเป็นการเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล และความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคมแห่งการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจดิจิทัล
นโยบายเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy เป็นนโยบายของรัฐบาลไทยที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเศรษฐกิจฐานใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจภาคอื่นๆของไทยเติบโต และช่วยให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ไกลขึ้น ภายใต้แนวทางสำคัญหลัก 5 ด้านได้แก่ 1.ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร (Hard Infrastructure) 2.ด้านงานส่งเสริมการใช้ในระดับ Application (Service Infrastructure) 3.ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน ความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง(Soft Infrastructure) 4. ด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้าน Digital Economy และ R&D ด้าน Digital Economy (Promotion & Innovation) และ 5.ด้านการส่งเสริมความตระหนักถึงความสำคัญและความรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (Society & Knowledge)[1]
นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า “ขณะนี้ ทางกระทรวงฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนยุทธในการทำงานเพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยความช่วยเหลือจากระบบดิจิทัล นี่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวด เพราะวิธีคิดของภาคส่วนรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้วางนโยบายเพื่อภาคเอกชนและประชาชนจำเป็นต้องเปลี่ยนก่อนคนอื่น โดยขณะนี้ ยังมีสมาชิกภาครัฐบาลจำนวนเกินครึ่งที่ยังอยู่ในโลกอนาล็อก สิ่งสำคัญคือการเพิ่มความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยี และดิจิทัลแก่สมาชิกแต่ละท่าน เพื่อระบบขั้นตอนการทำงานที่สั้นลง และการบรรลุเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น ในส่วนภาพรวมของทั้งประเทศ ขณะนี้ทางรัฐบาลได้มีนโยบายเพื่อให้ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึงภายในปีหน้า และเข้าถึงทุกตัวบ้านในปีถัดไป จะได้ใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา โดยมีความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล สิ่งสำคัญคือความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมๆกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยในเบื้องต้น เราได้ร่วมมือกับกระทรวงหลักต่างๆ และได้การสนับสนุนจากสภาอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนองค์ความรู้นี้สู่ประชาชนทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือน เราเชื่อมั่นว่าการบูรณาการ และการเชื่อมโยงระหว่างกันจะเกิดขึ้นในทุกภาคส่วน และประชาชนไทยจะสามารถก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะผู้ประสานนโยบายและดำเนินงานระหว่างรัฐและเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับแนวทางสำคัญหลัก โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการส่งเสริมความตระหนักถึงความสำคัญและความรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแข็งแรงสมบูรณ์”
ในส่วนของภาคเอกชน นายกอร์ดอน เกรย์ลิช รองประธาน บริษัทอินเทล คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีได้แทรกตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทักษะและความรู้ด้านดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะกับกลุ่มธุรกิจขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอี ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การที่ประชากรมีความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีจะช่วยให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต”
การทำธุรกิจในปัจจุบันเปรียบเสมือนเราอยู่ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ที่นวัตกรรมเป็นตัวผลักดันให้เกิดความแตกต่าง เทคโนโลยีจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ ถ้าหากผู้ใช้เทคโนโลยีไม่สามารถปรับเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ แพลตฟอร์มการดำเนินธุรกิจขึ้นอยู่กับ SMAC (Social + Mobile + Analytics + Cloud) หรือการควบรวมของรูปแบบในการสื่อสารที่แม่นยำและเข้าถึงได้ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์ที่สามารถพกพาได้อย่างสะดวก ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ต้องมี 5 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ นวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ธุรกิจในทุกขณะ (Innovation + velocity) ความรู้เชิงลึกในพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อสรรสร้างผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกันเพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (Insights) อุปกรณ์และรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย รวมทั้งการโต้ตอบกับอุปกรณ์อย่างชาญฉลาดขึ้น (Connected experience) ความสามารถในการวางจำหน่ายสินค้าในช่องทางแบบดิจิทัลที่ไร้พรมแดน ที่ต้นทุนต่ำและลดความซับซ้อนของการทำงานพร้อมกับขยายเครือข่ายที่กว้างขึ้น (Mega Markets) และ การสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจแบบดิจิทัล (Digitally Trusted)
อินเทล ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยี มีความพร้อมในการสร้างแหล่งเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันความรู้ความสามารถ และทักษะในการเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เราจึงไม่หยุดยั้งในการพัฒนาและสร้างโครงการต่างๆ เพื่อช่วยมนุษย์ในการพัฒนาศักยภาพเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างครอบคลุมและชาญฉลาด
อินเทลได้จัดตั้งโครงการ อินเทล® ทีช (Intel® Teach) ซึ่งเป็นโครงการอบรมให้ครูในสถานศึกษา ให้สามารถพัฒนาการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ของตนโดยมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจน และสร้างกิจกรรมที่กระตุ้นให้นักเรียนนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในการค้นคว้าวิจัย การรวบรวมข้อมูล การสื่อสารกับผู้อื่น และการเพิ่มทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 และอีกหนึ่งโครงการคือ อินเทล® อีซี่ สเต็ปส์ (Intel® Easy Steps) โปรแกรมด้านการเรียนรู้สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้คอมพิวเตอร์มาก่อน หรืออาจมีเพียงเล็กน้อย เพื่อพัฒนาให้กลุ่มเป้าหมายนี้มีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยผ่านประสบการณ์ในการลงมือใช้งานจริง ให้สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ในเรื่องพื้นฐานต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ โดยปัจจุบัน โครงการ Intel Easy Steps ได้ถูกรับการเผยแพร่ไปยัง 20 ประเทศทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย อินเทลได้มีการกำหนดวิธีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับความพยายามของรัฐบาลไทยในการผลักดันมาตรฐานและนโยบายในการส่งเสริมให้มีการบูรณาการเทคโนโลยีเข้าสู่การเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อินเทลได้จัดตั้งหน่วยฝึกอบรมเพื่อดูแลโครงการ Intel Teach เพื่อให้โครงการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดแผนการจัดอบรมในเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ส่งผลให้ในปัจจุบันมีครูจำนวนทั้งสิ้นกว่า 150,000 คน จากทั่วประเทศที่ผ่านการอบรมหลักสูตรจากโครงการนี้ และอินเทลยังคงมุ่งมั่นที่จะผลักดันโครงการนี้ให้ครูได้ใช้ประโยชน์อันสูงสุดต่อไป
โครงการ Intel Easy Steps ได้ช่วยให้ผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมาก ได้มีความรู้ ความเข้าใจถึงพื้นฐานต่างๆ ของการใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยทักษะเหล่านี้ ล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้สามารถก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ปัจจุบันมีศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีประจำจังหวัด (Telecentre) 1,981 แห่งทั่วประเทศ ที่ให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เรียนรู้ทักษะทางด้านไอซีทีเพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน
“ด้วยความคิดริเริ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย รัฐบาลได้มีเป้าหมายในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร พร้อมกับด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน ความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการผลักดันให้ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง ในการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าวเพื่อส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล และความรู้ด้านดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือในการพัฒนาทักษะ ความรู้ และความเข้าใจในดิจิทัลจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่ง อินเทลยังคงมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ” นางสาวสติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
“อินเทลหวังว่า งานสัมนา “สร้างคน สร้างองค์ความรู้…เตรียมพร้อมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” รวมทั้งการเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภาครัฐและเอกชน ในวันนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้เกิดสังคมการเรียนรู้แบบดิจิทัล และเพิ่มการส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะทางเทคโนโลยีในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่ทางภาครัฐได้วางไว้ และอินเทลขอยืนยันในความมุ่งมั่นในการสนับสนุนนโยบายดังกล่าวเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของประชากรไทย”นางสาวสติยา กล่าวทิ้งท้าย
[1] สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (2557), 3 Years ETDA Enabling Digital Economy ชีวิต เศรษฐกิจ ดิจิทัล, หน้า 64