ประวัติศาสตร์ของมนุษย์เต็มไปด้วยนวัตกรรมแห่งการสัญจร เริ่มตั้งแต่การคิดค้นล้อรถมาจนถึงยุครถม้า จากรถฟอร์ด โมเดลที ที่บุกเบิกการสัญจรให้เกิดขึ้นทั่วโลกจนมาสู่รถยนต์ล้ำสมัยในยุคปัจจุบัน ในวันนี้ภาพรวมของการขนส่งในอดีตจะผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ที่มีความแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และพร้อมสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ให้แก่โลกอีกครั้ง
ผลการสำรวจของ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ในทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก พบว่า ผู้บริโภคเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีได้ถูกออกแบบให้ใช้งานง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยผู้บริโภคในการวางแผนการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น การเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัว รถยนต์สาธารณะ หรือการเลือกใช้ทั้งสองรูปแบบ
“สมาร์ทโฟนได้รับการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเพื่อให้เข้าถึงชีวิตประจำวันของเราบนท้องถนน และแผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดก็เกี่ยวกับการค้นหาวิธีการสัญจรที่สร้างสรรค์เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของประชากร โดยมอบทางเลือกอันชาญฉลาดและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น” จอห์น ลาร์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายแผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ด ประจำฟอร์ด เอเชียแปซิฟิก กล่าว
แผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดเป็นความมุ่งมั่นของบริษัทในการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในเรื่องการเชื่อมต่อสื่อสาร การสัญจร รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ การสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ขับขี่ รวมทั้งการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ฟอร์ดมุ่งศึกษาค้นคว้าและพัฒนาตั้งแต่เทคโนโลยี โครงสร้างกายภาพทางการสัญจร การเชื่อมต่ออัจฉริยะภายในรถยนต์ ความยืดหยุ่นในการเป็นเจ้าของและการแชร์รถ นวัตกรรมยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และอื่นๆ อีกหลายโครงการ
“ความท้าทายด้านการสัญจรมีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ และไม่มีที่ใดในโลกที่มีปัญหาหรือมีโอกาสที่เหมือนกัน แต่เราสามารถใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถานที่ต่างๆ ในโลกได้” ลาร์สัน กล่าว “เรากำลังมองหาสภาพแวดล้อมการสัญจรที่แตกต่างและพยายามใช้วิธีการที่ไม่เหมือนกัน เช่น การทดลองระบบใหม่ในการแชร์รถ หรือการพัฒนาแพลตฟอร์มการสัญจรที่ผู้คนสามารถมีตัวเลือกในการเดินทางที่แตกต่างกันไป และยังสามารถตัดสินใจใช้ตัวเลือกที่ดีที่สุดในทุกเวลา ทั้งหมดนี้เพื่อค้นหาตัวเลือกในทุกแนวทางการใช้งาน”
เทคโลยีบนท้องถนน
จากผลการสำรวจในแต่ละท้องที่ 1 ใน 4 ของผู้ทำแบบสอบถามใช้แอพบริการรถรับ-ส่งมากกว่า 1 ครั้งต่ออาทิตย์ในการเดินทาง โดยผู้ทำแบบสอบถามชาวจีนและอินเดียเป็นผู้ที่ใช้แอพบริการรถรับ-ส่งมากที่สุด อยู่ที่ 28 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละประเทศ ในขณะเดียวกันผู้ทำแบบสอบถามชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีอัตราการใช้แอพบริการรถรับ-ส่งน้อยที่สุด อยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามชาวออสเตรเลียและ 3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามชาวนิวซีแลนด์ที่ใช้แอพบริการรถรับ-ส่งเป็นประจำ
เมื่อดูผลสำรวจทั่วทั้งภูมิภาค อัตราการใช้แอพดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 32 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามทั้งหมด โดยมีอินเดีย (42 เปอร์เซ็นต์) และจีน (33 เปอร์เซ็นต์) เป็นสองประเทศหลักที่ขับเคลื่อนให้อัตราการใช้แอพบริการรถรับ-ส่งมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศนิวซีแลนด์ (7 เปอร์เซ็นต์) ไต้หวัน (9 เปอร์เซ็นต์) และออสเตรเลีย (12 เปอร์เซ็นต์) นั้นมีอัตราการใช้แอพบริการรถรับ-ส่งเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด
โปรแกรมการแชร์รถได้กลายเป็นอีกหนึ่งแอพยอดนิยม โดย 1 ใน 5 ของผู้ทำแบบสอบถามกล่าวว่า การใช้แพลตฟอร์มการแชร์รถของพวกเขาเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ผู้ทำแบบสอบถามชาวอินเดียมีอัตราการแชร์รถสูงที่สุด อยู่ที่ 33 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยผู้ทำแบบสอบถามชาวจีน (19 เปอร์เซ็นต์) และชาวมาเลเซีย (16 เปอร์เซ็นต์)
“ในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชุมชนเมือง โปรแกรมการแชร์รถมีประโยชน์อย่างมาก เรากำลังศึกษาระบบการแชร์รถในประเทศสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป และภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เพื่อค้นหาวิธีที่จะพัฒนาระบบการแชร์รถให้ดียิ่งขึ้น” ลาร์สัน กล่าว “ตัวอย่างเช่นประเทศอินเดีย เรากำลังนำร่องทดลองใช้แผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดเพื่อค้นหาระบบการแชร์รถในหมู่คนใกล้ชิด เช่น ครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน”
จากผลการสำรวจพบว่า มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากที่สุดสำหรับการสัญจรในประเทศไทย โดย 77 เปอร์เซ็นต์ใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางเป็นประจำ หรือมากกว่า 1 ครั้งต่ออาทิตย์ และเป็นอีกหนึ่งประเทศร่วมกับนิวซีแลนด์ที่มีอัตราการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากที่สุด โดยผลการสำรวจการเดินทางของผู้ทำแบบสอบถามชาวไทยมีดังนี้
- รถยนต์ส่วนตัว: 77 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามทั้งหมด
- รถไฟฟ้าใต้ดิน รถราง หรือ รถไฟ: 32 เปอร์เซ็นต์
- รถประจำทาง: 32 เปอร์เซ็นต์
- รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง: 29 เปอร์เซ็นต์
- รถแท็กซี่: 28เปอร์เซ็นต์
- สกูตเตอร์ไฟฟ้า หรือ มอเตอร์ไซค์:17 เปอร์เซ็นต์
- การใช้แอพบริการรถรับ-ส่ง:15 เปอร์เซ็นต์
- การแชร์รถ 9 เปอร์เซ็นต์
ผู้ทำแบบสอบถามชาวไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตราการใช้วิธีการสัญจรแบบคละรูปแบบสูง โดยมากกว่าครึ่งของผู้ทำแบบสอบถามได้ใช้วิธีการสัญจรมากกว่า 1 รูปแบบในการเดินทางหนึ่งครั้ง หรือมากกว่าสองครั้งในแต่ละอาทิตย์ มีแค่ 8 เปอร์เซ็นต์ที่กล่าวว่า พวกเขาไม่เคยใช้มากกว่าหนึ่งรูปแบบการสัญจรในการเดินทาง นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า การใช้รถยนต์ส่วนตัวมีอัตราเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ และเป็นรูปแบบการสัญจรที่ผู้ทำแบบสอบถามเลือกใช้มากที่สุด ทั้งยังเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา สำหรับการสัญจรในรูปแบบอื่นที่ผู้ทำแบบสอบถามใช้เพิ่มขึ้น ได้แก่ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถราง หรือ รถไฟ (27 เปอร์เซ็นต์) รถประจำทาง (20 เปอร์เซ็นต์) และการใช้แอพบริการรถรับ-ส่ง (17 เปอร์เซ็นต์) และ 12 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาใช้โปรแกรมการแชร์รถบ่อยขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา
นวัตกรรมจากฟอร์ดเพื่อการสัญจรในอนาคต
แรงบันดาลใจเบื้องหลังแผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดคือ แนวโน้มใหญ่ระดับโลกทั้ง 4 ประการที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ได้แก่ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การขยายตัวของชนชั้นกลาง การให้ความสนใจด้านสุขภาพและคุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดและการจัดลำดับความสำคัญต่างๆ ของผู้บริโภค
การหาแนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับความท้าทายที่แตกต่างแต่มีความคล้ายคลึงกันนี้ต้องอาศัยการริเริ่มหลายรูปแบบ ขณะที่ผู้คนปรับเปลี่ยนความคิดว่าการมีรถยนต์ไว้ในครอบครองในโลกที่มีประชากรเพิ่มขึ้นนั้นหมายถึงอะไร ฟอร์ดได้ทำการสำรวจโครงการแชร์รถจากทั่วโลก รวมถึงการทำวิจัยโครงการที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย
สำหรับการทดลองที่เมืองบังกาลอร์นี้ ฟอร์ดได้ร่วมมือกับซูมคาร์ (ZoomCar) เพื่อสำรวจการแชร์รถยนต์ในชุมชนเล็กๆ อย่างเช่น ในละแวกเพื่อนบ้าน ระหว่างครอบครัวและที่ทำงาน ข้อมูลที่ได้จากรถฟอร์ดเอคโค่สปอร์ตที่มีการติดตั้งโปรแกรมพิเศษนี้จะนำไปใช้เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ขับขี่และตรวจสอบว่ามีการใช้งานรถยนต์อย่างไรบ้าง สิ่งนี้จะช่วยพัฒนาระบบใหม่ในการจัดตารางการใช้รถและการบริหารสิทธิในการครอบครองผ่านแพลตฟอร์มการแชร์รถยนต์
แผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดยังได้รวบรวมนวัตกรรมต่างๆ ที่มีในรถยนต์ฟอร์ดทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงระบบเชื่อมต่อการสื่อสารภายในรถยนต์รุ่นล่าสุด ซิงค์ (SYNC) และฟีเจอร์ช่วยในการขับขี่กึ่งอัตโนมัติอย่างเช่นระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบรักษาระยะห่างระหว่างรถคันหน้า (Adaptive Cruise Control) และโครงการวิจัยระยะยาวต่างๆ เช่น โปรแกรมรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบของฟอร์ด ภายในสิ้นปีนี้ ฟอร์ดจะมีจำนวนรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจำนวนมากที่สุดในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมด โดยมีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจำนวน 30 คันที่ได้รับการทดสอบในสภาพอากาศที่แตกต่างกันในสหรัฐอเมริกา การทดสอบล่าสุดได้ใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของฟอร์ดให้ขับเคลื่อนในความมืดโดยไม่เปิดไฟหน้าและยังได้ส่งรถยนต์ดังกล่าวไปทดลองขับเคลื่อนในสภาพอากาศที่มีหิมะปกคลุมเป็นครั้งแรกของวงการรถยนต์
เมื่อเร็วๆ นี้ ฟอร์ดได้ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์ม FordPass ที่มอบนิยามใหม่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตรถยนต์และผู้บริโภค โดยFordPass ได้รับการออกแบบเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการด้านการสัญจรได้จาก Marketplace การชำระค่าบริการต่างๆ ได้จาก FordPay การโต้ตอบกับผู้ช่วยส่วนตัวด้านการสัญจรไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวันหรือกลางคืนกับ FordGuides และทุกการใช้งานจะกลายเป็นแต้มสะสมสำหรับสมาชิกเพื่อรับรางวัลและสิทธิพิเศษอีกด้วย แพลตฟอร์ม FordPass ยังรวมถึง FordHubs ศูนย์มอบประสบการณ์ของฟอร์ด ซึ่งผู้บริโภคสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการสัญจรล่าสุดจากฟอร์ด
ฟอร์ดถือเป็นผู้นำด้านการเชื่อมต่อสื่อสารภายในรถยนต์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เมื่อฟอร์ดได้เปิดตัวระบบซิงค์ในรถยนต์เป็นครั้งแรก ระบบซิงค์รุ่นแรกมอบการสั่งการด้วยเสียงง่ายๆ สำหรับการโทรออกและรับสาย รวมถึงควบคุมฟีเจอร์ต่างๆ เช่น เพลงและวิทยุ ช่วยให้ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องละมือจากพวงมาลัยหรือละสายตาจากท้องถนน สำหรับระบบซิงค์ 3 รุ่นล่าสุด ฟอร์ดมอบการสั่งงานด้วยเสียงที่เป็นธรรมชาติยิ่งกว่าเคยและยังผสานการทำงานกับ SYNC AppLink ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ใช้การสั่งงานด้วยเสียงเพื่อควบคุมแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนได้
“ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์ขณะเดินทาง การเรียกดูสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ หรือการจองรถยนต์ผ่านทางแอพ เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงวิธีการสัญจรของพวกเราอย่างรวดเร็ว” ลาร์สันกล่าว “ฟอร์ดกำลังมองหาแนวทางในการผสานวัตกรรมเหล่านี้เข้ากับรถยนต์ของเรา เพื่อช่วยให้การสัญจรสะดวกสบายยิ่งขึ้นและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน”