ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ อะไรๆ หลายๆ อย่างเข้ามาอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น NAS ที่เรากำลังพูดถึงนี้ เมื่อหลายสิบปีก่อน ยังเป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่อยู่ในระบบเซิฟเวอร์ ทำงานในองค์กรใหญ่ๆ ที่ต้องการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล ผ่านมาหลายปี อุปกรณ์ตัวนี้ได้ลดขนาดลงมาเหลือแค่ฮาร์ดดิสก์เล็กๆ 4-10 ลูก สำหรับการใช้งานในออฟฟิศไม่ใหญ่นัก แชร์ไฟล์งาน แชร์เอกสารกันภายใน หรือบุคคลภายนอก ที่ต้องอาศัยคนที่มีความรู้เข้ามาจัดการ แต่ในปัจจุบันนี้ NAS ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว NAS ได้ถูกย่อขนาดให้เล็กลงมาเหลือเพียง 1-2 Bay ถูกพัฒนาสำหรับการใช้งานภายในบ้าน ใช้สำหรับจัดเก็บข้อมูล ดาวน์โหลดไฟล์เพลง ไฟล์หนัง สร้างคลังรูปภาพ แชร์ต่อให้กับคนอื่นๆ เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ ควบคุมการทำงาน หรือเชื่อมต่อการทำงานกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้สะดวกมากขึ้น NAS ในปัจจุบันจึงเป็นเสมือนอุปกรณ์ตัวกลาง ที่เชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้าน รวมถึงภายนอก ให้ซิงค์ข้อมูลระหว่างกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เข้าถึงข้อมูลได้จากทุกอุปกรณ์ทั้งภายในบ้าน และเมื่อใช้งานอยู่ภายนอก
NAS คืออะไร ต้องเลือกแบบที่ไหน
NAS หรือ Network Attached Storage เป็นอุปกรณ์บนระบบเครือข่ายชนิดหนึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ กับไฟล์เซิฟเวอร์ โดยทำงานเป็นตัวกลาง ให้เครื่องไคลเอ็นต์ที่เชื่อมต่อเครือข่ายอยู่ สามารถเข้าถึงและ แลกเปลี่ยนไฟล์ข้อมูลระหว่างกันได้ คิดง่ายๆ ก็เหมือนกับการที่เราวางฮาร์ดดิสก์ลูกหนึ่งวางอยู่ในเน็ตเวิร์ก แชร์ไฟล์ข้อมูลต่างๆ ให้ใครก็ตามที่อยู่ในเครือข่ายนี้สามารถเข้าถึง ใช้งาน รวมถึงการแชร์ไฟล์ต่างๆ ของตัวเอง ผ่านเครือข่ายได้ตลอดเวลา ใครมีไฟล์อะไรอยากจะแชร์ ก็แค่อัพไฟล์ขึ้นไปไว้บนฮาร์ดดิสก์ลูกนี้ ทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายก็จะเห็นและเข้าถึงไฟล์ดังกล่าวได้ในทันที เช่นเราอาจจะไปเที่ยวกับที่บ้านถ่ายรูปมาจำนวนหนึ่ง อยากจะแชร์ภาพให้คนในบ้านได้ดูกัน ก็เลยอัพรูปขึ้นไปไว้บน NAS แค่นี้ ไม่ว่าคุณพ่อจะเอารูปไปล้าง หรือพี่ชายจะก็อปรูปไว้ดูเอง ก็สามารถทำได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่ต้องมารอก็อปรูปจากเราอีก เป็นความสามารถพื้นฐานของ NAS อย่างหนึ่ง รวมถึงความสามารถอีกหลายๆ อย่างขึ้นอยู่กับตัว NAS ที่เราได้เลือก แต่เราจะเลือกแบบไหนนั้น มีคำแนะนำให้การเลือกซื้อให้ดังนี้
เลือกที่ ความจุ หรือ สล็อตฮาร์ดดิสก์
พื้นที่จัดเก็บข้อมูล เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของ NAS เลยก็ว่าได้ เพราะถ้าไม่มีก็คงใช้งานอะไรไม่ได้เป็นแน่ แต่รู้หรือไม่ว่าในปัจจุบัน มีเพียงไม่กี่ยี่ห้อในปัจจุบันเท่านั้น ที่เวลาซื้อท่านจะได้ฮาร์ดดิสก์แถมมาด้วย (ส่วนใหญ่จะเป็นยี่ห้อที่ทำฮาร์ดดิสก์เป็นของตัวเอง) ดังนั้นสิ่งที่เราต้องดูเป็นอันดับแรก เวลาเลือกซื้อ NAS คือจำนวนสล็อตฮาร์ดดิสก์ โดยปกติแล้วจะมีตั้งแต่ 2 สล็อตขึ้นไป ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพราะเราสามารถอัพเกรดใส่ฮาร์ดดิสก์เพิ่มได้มาก แต่ผลที่ตามมาคือราคาที่สูงเวอร์ ดังนั้นการใช้งานในบ้าน มีการเก็บข้อมูลที่ไม่มาก เลือกขั้นต่ำที่ 2 สล็อตเป็นอย่างน้อยก็น่าจะเพียงพอแล้ว มีงบจะซื้อมากกว่านี้ก็ได้ แต่แนะนำว่าพอร์ตเชื่อมต่อ ต้องเป็นพอร์ต S-ATAIII ที่มีความเร็ว 6 Gbps เพื่อที่จะสามารถรับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และควรรองรับระบบ RAID 0,1 รวมถึง JBOD หรือ Spanning เป็นอย่างน้อย เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ส่วนเรื่องฮาร์ดดิสก์ ก็ควรเป็นฮาร์ดดิสก์ที่ออกแบบสำหรับใช้บน NAS โดยเฉพาะ เพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่สูงกว่า สามารถรองรับการใช้งานได้แบบ 24/7 อย่างเช่น WD RED หรือ Seagate NAS HDD เป็นต้น
NAS ก็มีซีพียู
หลายๆ คนอาจจะไม่รู้ NAS เองก็มีซีพียูและอุปกรณ์อื่นๆ เหมือนๆ กับเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง เพียงแต่อาจจะมีขนาดที่เล็กกว่าจนเราไม่เห็น สเปคของ NAS มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำงาน แม่เน็ตเวิร์ค หรือตัวฮาร์ดดิสก์จะเร็วแค่ไหน แต่สเปคของ NAS ทำงานไม่ทันก็อาจจะเป็นตัวถ่วงความเร็วในการทำงานได้ ส่วนใหญ่แล้วการเลือกซื้อ NAS ที่ดีจะดูที่ 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ RAM สำหรับการใช้งานที่ต้องโอนถ่ายข้อมูลจำนวนมากเป็นประจำ แรมจะช่วยในการจัดการข้อมูลเวลาโอนถ่ายได้ดีมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็น NAS ในรุ่นใหม่ๆ ที่มีการรันแอพ ติดตั้งแอพเสริม รวมไปถึงการสตรีมวีดิโอสดๆ จากตัว NAS เรื่องของซีพียูก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่เราต้องใส่ใจ สิ่งเหล่านี้เราควรประเมินการใช้งานเบื้องต้น ตั้งแต่ก่อนการเลือกซื้อ เพื่อที่จะสามารถเลือกซื้อ NAS ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมสำหรับการใช้งาน
การเชื่อมต่อก็สำคัญ
โดยปกติแล้ว NAS จะเน้นการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ผ่านระบบเครือข่ายเป็นหลัก ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญกับการรองรับเครือข่ายของ NAS ถ้าเลือกเป็น Gigabit Ethernet (10/100/1000) ได้ก็จะทำให้การรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว แต่แน่นอนว่าระบบเครือข่ายของเราต้องรองรับด้วย ส่วนการเชื่อมต่อรูปแบบอื่นๆ เช่น พอร์ตยูเอสบี น่าจะมีทุกรุ่นแล้วในปัจจุบัน อย่างน้อยที่สุดควรจะมี 1-2 ช่อง ควรเลือก NAS ที่รองรับ USB3.0 สังเกตง่ายๆ ที่ตัวพอร์ตจะเป็นสีฟ้า เพื่อการโอนถ่ายข้อมูลที่รวดเร็วกว่าปกติ และควรจะรองรับการทำงานปริ้นเซิฟเวอร์ เพื่อความสะดวกในการใช้งานของเราเอง สุดท้ายสำหรับ NAS เพื่อการใช้งานในบ้านควรจะมีพอร์ต HDMI สำหรับสตรีมวีดิโอ ออกไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ สำหรับการใช้งานด้านความบันเทิงในบ้าน
ฟีเจอร์บน NAS
สุดท้ายที่เรามองข้ามไม่ได้คือเรื่องของฟีเจอร์ที่ติดตั้งเข้ามาเพิ่มใน NAS ที่ช่วยให้เราสามารถทำงานต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น ทำงานต่างๆ ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น ฟีเจอร์บางอย่างอาจจะจำเป็นบ้าง หรือไม่จำเป็นบ้างขึ้นอยู่กับตัวเราจะเลือกใช้งานได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับการใช้งานในบ้านแล้วหลักๆ ที่ควรจะมี ได้แก่เรื่องของการดาวน์โหลด สามารถใส่ลิงค์เพื่อให้ตัว NAS ดาวน์โหลดไฟล์ต่างๆ ได้ อัตโนมัติ โดยเฉพาะกับไฟล์ประเภท Torrent สามารถดาวน์โหลดและปล่อยต่อได้แบบอัตโนมัติ
ความสามารถในการดูหรือ เล่นไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ ได้โดยตรงจากตัว NAS อันนี้สำคัญมากสำหรับการใช้งานในบ้าน โหลดคลิปวีดิโอมาแล้ว หรือเปิดไฟล์รูปภาพที่ได้แบล็คอัพเก็บไว้ใน NAS เปิดขึ้นมาดูบนหน้าจอโทรทัศน์ในบ้านได้ จะผ่านเครือข่าย หรือต่อตรงผ่านพอร์ต HDMI ก็แล้วแต่ จะช่วยให้การทำงานด้านมัลติมีเดียสะดวกมากยิ่งขึ้น อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องของคลาวด์ NAS หลายๆ รุ่นในปัจจุบัน,ความสามารถของคลาวด์ส่วนบุคคลอยู่ เราสามารถเรียกใช้ NAS อัพโหลดข้อมูล หรือเรียกใช้งานไฟล์ต่างๆ จากภายนอกได้ โดยที่เราไม่ต้องเตรียมการหรือ ตั้งค่าใดๆ ตัว NAS จะจัดการทำงานให้เราได้แบบอัตโนมัติ รวมถึงการใช้งานจากต่างแพลตฟอร์ม ทั้งจากแท็ปเล็ต และสมาร์ทโฟน ผ่านแอพพลิเคชั่นได้
สุดท้ายการเพิ่มเติมความสามารถ NAS หลายๆ รุ่นในปัจจุบันมีความสามารถในการติดตั้งแอพพลิเคชั่น หรืออัพเดตเพื่อปรับปรุงความสามารถในการทำงานได้ จะเป็นการดีอย่างมากในการใช้งาน เราสามารถเพิ่มเติมความสามารถให้กับ NAS ที่ต้องในภายหลังได้ อย่างอิสระตามทีต้องการ อยากจะได้อะไรเพิ่มก็แค่ติดตั้งเพิ่มเข้าไป หรือจะพัฒนาแอพขึ้นขึ้นมาเองแล้วเอาไปรันบน NAS ได้ด้วยจะยิ่งดีใหญ่ ถ้าได้ NAS ดีๆ มีฟังชั่นทั้งหมดตามที่กล่าวมา ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าขาดบางอย่างไป ก็ควรที่จะเลือกตามการใช้งานของเราเป็นหลัก เลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน จะเป็นการเลือกซื้อ NAS ที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด
ตอบข้อสงสัยเรื่อง NAS
– จะเลือกซื้ออะไรดีระหว่าง NAS กับ External HDD ?
คงต้องบอก่าอยู่ที่การใช้งาน เพราะ ทั้งคู่นี้ออกแบบมาตอบโจทย์กันคนละด้าน External HDD ใช้สำหรับการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัว เน้นพกพาเคลื่อนย้ายไปใช้งานได้ทุกที่ ในขณะที่ NAS ถูกออกแบบมาให้ติดตั้งไว้ที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น เชื่อมต่อเครือข่ายเพื่อแชร์ข้อมูลระหว่างกัน เป็นหลัก ควรเลือกใช้ตามลักษณะการใช้งานจะดีที่สุด
– NAS สามารถเข้าถึงได้จากภายนอกอย่างไร ?
แต่เดิมการเข้าถึงจากภายนอกอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับยูสเซอร์ทั่วไป เพราะต้องรู้ถึง IP Address ที่แท้จริงเพื่อการเรียกใช้งานจากภายนอก แต่ในปัจจุบันหลายยี่ห้อ ใช้ความสามารถของคลาวด์ ทำให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้งานไฟล์จากภายนอกได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องจั้งค่าหรือมีความรู้เรื่องเน็ทเวิร์กใดๆ ตัว NAS จะเป็นคนจัดการระบบ การเข้าถึง และเรื่องของความปลอดภัยให้เราเองทั้งหมด
– สามารถสำรองข้อมูล และแชร์ไฟล์กันข้ามแพลตฟอร์มได้หรือไม่?
NAS ในปัจจุบันมีความสามารถในการรองรับโปรโตคอลมาตรฐานรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น HTTP, FTP หรือ Web-DAV เป็นต้น ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงไฟล์ต่างๆ ได้จากระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นวินโดว์ OSX หรือแม้แต่ Linux ได้ ผ่านทางโปรโตคอลต่างๆ ที่ NAS รองรับ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องของการใช้งานข้ามแพลตฟอร์มจะไม่รองรับ
– เชื่อมต่ออุปกรณ์ด้านมัลติมีเดียอย่างเช่นโทรทัศน์ผ่านรูปแบบใดได้บ้าง ?
NAS โดยส่วนใหญ่จะมีความสามารถของ DLNA (Digital Living Network Alliance) อยู่แล้ว ผู้ใช้สามารถดึงไฟล์จาก NAS ขึ้นไปเปิดยังโทรทัศน์ได้อยู่แล้ว เพียงแต่โทรทัศน์ที่ใช้จำเป็นจะต้องรองรับ ความสามารถของ DLNA นี้ด้วยซึ่ง มีโทรทัศน์ที่รองรับไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของสมาร์ททีวีถึงจะมีฟังก์ชั่นดังกล่าว แต่หากเป็น NAS ที่มีพอร์ต HDMI ในตัวก็สามารถเล่นไฟล์มัลติมีเดียได้จากตัว NAS โดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องเป็นโทรทัศน์ที่มีความสามารถพิเศษใดๆ ขอแต่มีพอร์ต HDMI ต่อเชื่อมกับตัว NAS อยู่ก็เป็นอันใช้ได้
– นอกจากการจัดเก็บสำรองข้อมูลจะใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง ?
NAS ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก มีความสามารถที่หลากหลายกว่าแต่ก่อนค่อนข้างมาก สามารถผนวกเอาลูกเล่นต่างๆ มาใช้งานได้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม จากแค่เก็บไฟล์ สำรองข้อมูล แชร์ให้บุคคลภายนอก เดียวนี้สามารถประยุกต์ใช้ทำงานต่างๆ ได้มากมาย ใช้ทำงานด้านมัลติมีเดีย แทนที่จะต้องเปิดผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว สามารถใช้เป็นเซิฟเวอร์ทำเว็บไซต์เป็นของตัวเอง สามารถจำลองการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ ในตัว NAS ได้ รวมถึงยังสามารถที่จะลงแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อเสริมความสามารถในการทำงานได้ จาก NASตัวเล็กๆ แค่ตัวเดียว