จากผลการวิจัยของ GloblaWebIndex ในปี 2557 ชี้ว่ามีคนใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงถึง 65% ของจำนวนประชากร โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนทำให้อินเทอร์เน็ตติดตามตัวเราไปทุก ๆ ที่ ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นภาพแรกที่ใครหลายคนนึกถึงยามตื่นนอน ยามกินอาหาร ยามเดินทาง ยามออกกำลังกาย หรือแม้แต่ใครหลายคนอาจจะหลับไปพร้อมกับสิ่งนี้เลยก็ได้ นอกจากนี้ผู้ผลิตได้มีความพยายามที่จะนำอุปกรณ์ต่าง ๆ เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อใช้งานอินเตอร์เน็ตได้หลากหลายรูปแบบและหลากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ความบันเทิง หรือแม้แต่สุขภาพ ทำให้มีการเรียกขานความยิ่งใหญ่นี้ว่า Internet of Thing คือ อินเทอร์เน็ตของทุกสิ่งๆทุกอย่าง หรือทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่ใช้อินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการเช็คเรื่องราวข่าวสาร การสร้างธุรกิจ การศึกษาข้อมูล การลงทุน เก็บประวัติสุขภาพ หรือแม้แต่การจัดการชีวิตประจำวัน ที่อินเทอร์เน็ตก็เข้ามามีส่วนในแทบทุกกระบวนการ
ปัจจัยสำคัญในจุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงคือเทคโนโลยีสุดล้ำ คือ สมาร์ทโฟน (Smart Phone) ที่มีการพัฒนาจากโทรศัพท์มือถือธรรมดาให้กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ติดต่อสื่อสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องง่าย และสามารถเข้าถึงได้ง่าย Mobile Internet จึงเป็นต้นแบบของการใช้งานที่สะดวกและรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของโลกธุรกิจได้เป็นอย่างดี และเมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านไปจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เคยใช้อยู่ในกลุ่มเล็กๆของสังคม ก็เพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการมากขึ้นจนเกลุ่มขนาดใหญ่ที่ทุกคนให้ความสำคัญทำให้โลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital) ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตในเทคโนโลยีต่างๆแทบทุกอณูพื้นที่ ทำให้ความเข้มข้นในการใช้งานอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น ทุกองค์กรหันมาให้ความสำคัญกับการใช้งานแบบเรียลไทม์บนอินเทอร์เน็ต
ในส่วนของภาครัฐได้ตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการร่างแผนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดตั้งเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นการหลอมรวมกันระหว่าง โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และการแพร่กระจายเสียง เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด และในขณะเดียวกันก็ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปในทางเดียวกันถึง 5 จุดด้วยกัน นั่นคือ 1.ภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้นำการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม รัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) และส่งเสริมสนับสนุน 2.มีคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ ที่ชี้นำทิศทางของการพัฒนาให้แก่หน่วยงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และกำหนดนโยบายสนับสนุนด้านการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) นวัตกรรม (Innovation) จัดหาตลาดให้แก่เอกชน 3.กำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการพัฒนา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมกันอย่างมีเอกภาพ 4.รัฐจะกำกับดูแลระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศ ให้มีธรรมาภิบาลและความมั่นคงปลอดภัย และ 5.รัฐจะปรับปรุงบทบาท อำนาจหน้าที่ และแนวทางการลงทุนในองค์กรที่เกี่ยวข้อง และแน่นอนว่าเมื่อภาครัฐตอบรับกับการพัฒนาทางด้านดิจิทัลขนาดนี้แล้ว ภาคเอกชนเองก็อยู่เฉยไม่ได้ จึงต้องเร่งพัฒนาระบบเพื่อเตรียมพร้อมในการจัดการธุรกิจให้กับองค์กรของตนเอง
Big Data คืออะไร ?
Big Data คือเทคนิค หรือเทคโนโลยีในการกลั่น หรือวิเคราะห์ สกัด เอาคุณค่าออกมาจากขู้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งเกินขอบเขตหรือขีดจำกัดของการจัดการข้อมูลแบบเดิม ๆ โดยทาง Gartner ได้นิยามความหมายของ Big Data ไว้ด้วย 3V คือ high-volume, high-velocity และ high-variety
Volume ปริมาณของข้อมูลจะมากมายมหาศาลจนไม่สามารถที่จะเก็บรวบรวมในฐานข้อมูลรูปแบบเดิมๆได้ หรือถ้าเก็บได้ก็อาจจะยากและซับซ้อน
Velocity หรือความเร็ว คือข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยข้อมูลนั้นจะมีค่าในเวลา ณ จุดนั้น และจดหมดค่าเมื่อเวลาผ่านไป การนำเอาข้อมูลชนิดนี้มาใช้ต้องมีการประมวลผลที่รวดเร็วทันต่อเห็นการณ์
Variety หรือความหลากหลาย ข้อมูลที่มีความหลากหลายทางโครงสร้าง ทำให้ไม่สามารถที่จะจัดเก็บหรือแยกหมวดหมู่ได้ตามที่ต้องการ หรือมีรายละเอียดปลีกย่อย หรือรูปแบบในการจัดการข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นตามขนาดของข้อมูล
ทั้งสามสิ่งนี้เป็นหลักในการยึดถือข้อมูลได้ว่า Big Data เป็นข้อมูลที่พิเศษมากจริงๆ ดังนั้นหลายองค์กรในโลกธุรกิจจึงให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ และต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น การจะนำเอาข้อมูล Big Data มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ต้องมีความพร้อมหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี ด้านเทคนิค และด้านบุคลากร หากไม่มีความพร้อมหรือจัดการไม่เหมาะสม ข้อมูลเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นขยะในการจัดการข้อมูลไปในทันที
Big Data จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานหลายประการ เช่น การใช้งานข้อมูลเกี่ยวกับการค้นคว้า วิจัย เอกสาร เครือข่ายทางสังคม หรือข้อมูลเฉพาะต่างๆ เช่น โรงพยาบาล คลังต่างๆ เป็นต้น ซึ่ง Big Data นี้เหมาะสำหรับการนำมาวิเคราะห์ข้อมูลดิบ หรือข้อมูลกึ่งโครงสร้างต่างๆ นำไปใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาการแก้ไขหรือหาวิธีการจัดการให้ธุรกิจเป็นไปตามที่คาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ ที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจทำให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคนิคที่สามารถรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น และทางด้านการเงินที่สามารถคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ค่าใช้จ่ายไอทีได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้มีเครื่องมือที่ได้รับความนิยมเข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการก็คือ Hadoop ที่ถูกพัฒนามาจาก Open Source Technology สามารถเก็บข้อมูลขนาดใหญ่และนำไปประมวลผลได้ แต่การวิเคราะห์ Big Data นั้นเป็นเพียงแค่การวิเคราะห์ข้อมูลดิบแบบย่อยเท่านั้น หากต้องการข้อมูลที่เจาะลึกมากขึ้นไปอีกก็ต้องเพิ่มขั้นตอนการวิเคราะห์แบบ Analytics ที่จะทำให้ได้ข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้นไปอีกด้วย
แนวโน้มในการนำ Big Data Analytics มาใช้งานนั้นมีเป้าหมายรองรับการขยายตัวธุรกิจอย่างชัดเจนดังนี้ ต้องมีความเร็วในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้งานได้รวดเร็วและง่ายพอที่จะรับมือกับผู้ใช้งานแผนกต่างๆ ได้ และด้วยปริมาณข้อมูลที่เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกันหากสามารถนำมารวบรวมและวิเคราะห์ได้ก็จะเป็นการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ขององค์กรเพื่อสร้างก้าวต่อไปที่แข็งแกร่งได้อีก และหากช่วยให้บริษัทสามารถเข้าใจลูกค้าของตนได้ลึกซึ้ง มีภาพรวมธุรกิจ และวิเคราะห์ตอบโจทย์เพื่อสร้าง Customer Experience ที่ให้ความแตกต่างทางธุรกิจได้ก็จะยิ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจให้เหนือคู่แข่ง ที่สำคัญการนำข้อมูลที่เฉียบคมเหล่านี้มาใช้งาน ต้องสามารถตอบสนองทิศทางของแต่ละแผนกได้ดี และไม่ควรใช้งานยากเกินไป ทางที่ดี คือ ต้องง่ายจนแทบไม่ต้องเทรนเลย เพื่อให้เข้าถึงจิตใจลูกค้า หรือผู้บริโภคเป้าหมายของบริษัทได้แม้รายละเอียดเล็กน้อย ทุกวันนี้การทำการค้าที่เข้าถึงใจผู้บริโภคและมีความคล่องตัวในการให้การบริการแบบหลากหลายช่องทางนั้นคือกุญแจแห่งความสำเร็จ
ทั้งหมดนี้ เพียงแค่มี Big Data ก็จะช่วยทำให้ระบบข้อมูลทางธุรกิจจัดการได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพในด้านอื่นๆได้อีกด้วย และที่สำคัญยังตอบรับกับการจัดการด้านเศรษฐกิจและสังคมสนองนโยบายรัฐบาลในยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ให้เอกชนเป็นผู้นำและรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน เรียกว่า Big Data เข้ามาถูกจังหวะเวลาเหมาะกับการพัฒนาธุรกิจเพื่อพัฒนาประเทศชาติเสียจริง Big Data ชื่อนี้ยิ่งใหญ่จริงๆ
# # #
เกี่ยวกับยิบอินซอย
บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ผู้นำด้านการให้บริการโซลูชั่นเทคโนโลยีครบวงจร ทั้งซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่นส์ ฮาร์ดแวร์ รวมถึงให้คำปรึกษาในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำ อาทิ การเงินและการธนาคาร โทรคมนาคม ภาครัฐและเอกชน ด้วยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญกว่า 500 คน ที่มุ่งมั่นให้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น การบำรุงรักษาระบบเครือข่าย อุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริม โซลูชั่นศูนย์ข้อมูล และระบบเฝ้าระวัง (หรือระบบติดตามเฝ้าระวัง) โดยเน้นความร่วมมือกับลูกค้าอย่างเป็นระบบเพื่อการให้บริการและส่งมอบโซลูชั่นที่ดีที่สุด ตอบโจทย์ลูกค้าเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน นอกจากนี้ยิบอินซอยยังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ให้บริการเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกมากมาย