อะโดบีเปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาในหัวข้อ ‘ห้องเรียนเชิงสร้างสรรค์ผ่านความร่วมมือทางด้านดิจิตอล’ (Creative Classrooms Through Strong Digital Partnerships) ที่งานสัมมนา Adobe Education Leaders Seminar ประจำปี 2559 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย นักการศึกษากว่า 1,300 คนทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ได้ตอบแบบสอบถามสำหรับรายงานวิจัยดังกล่าว ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินความสำคัญของทรัพยากรดิจิตอลในด้านการเรียนรู้ รวมถึงบทบาทในการขับเคลื่อนการติดต่อสื่อสาร การสร้างชุมชน และการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน
ด้วยการมาถึงของยุคดิจิตอล พนักงานในปัจจุบันและอนาคตจำเป็นที่จะต้องมีทักษะที่แตกต่างหลากหลายมากกว่าพนักงานรุ่นก่อนหน้า ทุกวันนี้ สถานศึกษาประสบปัญหาท้าทายในการนำเสนอหลักสูตรที่เสริมสร้างทักษะทางด้านดิจิตอลและมุ่งเน้นความสำเร็จ ซึ่งมอบประสบการณ์การเรียนรู้รอบด้าน เพื่อช่วยให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์หลายหน้าจอ (multiscreen devices) และ Internet of Things (IoT) ด้วยเหตุนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 80 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า “การเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนด้วยการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิตอลจำเป็นต่อความสำเร็จ และถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุด” เพื่อก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิตอล
นอกจากนั้น สถานศึกษาจำเป็นที่จะต้องรองรับผู้เรียนรุ่นใหม่ซึ่งเกิดมาในยุคดิจิตอล หรือที่เรียกว่า “Digital Native” ในแง่นี้ การปรับใช้เครื่องมือสื่อสารดิจิตอลที่ช่วยให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถสร้างและนำเสนอประสบการณ์ที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมแพลตฟอร์มและช่องทางสื่อที่หลากหลาย จะช่วยดึงดูดผู้เรียนได้อย่างดีเยี่ยม อย่างไรก็ตาม การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรที่เหมาะสม ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของนักการศึกษาในเอเชีย-แปซิฟิกเชื่อว่า ความร่วมมือทางด้านดิจิตอลที่แข็งแกร่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการเชื่อมโยงกับผู้เรียนและทำให้การเรียนรู้มีความน่าสนใจและสนุกมากขึ้น นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงข้อกังวลใจและอุปสรรคที่สำคัญต่อการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในสถานศึกษา นักการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกรู้สึกว่า การพัฒนาโครงการแบบผสมผสานสำหรับการคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (75 เปอร์เซ็นต์) และการสร้างเนื้อหาการเรียนรู้แบบอินเทอร์แอคทีฟที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน (74 เปอร์เซ็นต์) เป็นสองอุปสรรคสำคัญที่จะต้องเอาชนะ เพื่อที่จะพัฒนาโครงการการเรียนรู้ทางด้านดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพ
นายโทนี่ แคตซาบาริส ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการศึกษาและภาครัฐประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของอะโดบี กล่าวว่า “องค์กรธุรกิจดิจิตอลกำลังขับเคลื่อนนวัตกรรมทางด้านเทคนิค และเทรนด์ของดิจิตอลในขอบเขตที่กว้างขึ้น นับเป็นเรื่องจำเป็นที่สถานศึกษาจะต้องปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับโลกภายนอก และเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้แก่ผู้เรียนเพื่อให้ประสบความสำเร็จหลังจากที่จบการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น สถานศึกษากำลังเผชิญกับแรงกดดันในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการปรับใช้หลักสูตรที่เกี่ยวข้อง การเสริมสร้างความสำเร็จด้วยประสบการณ์ดิจิตอลที่ก้าวล้ำโดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ถูกระบุว่า เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักการศึกษาทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ 65 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดหวังว่าอะโดบีจะจัดหาทรัพยากรและหลักสูตรการเรียนการสอนที่จำเป็นสำหรับสิ่งนี้”
นายคาลิสทัส ชอง ผู้อำนวยการภาควิชาการออกแบบและสื่อของ Institute of Technical Education ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า “ความรู้ทางด้านดิจิตอลจะเปิดประตูสู่ความรู้และตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาทักษะทางด้านดิจิตอล ทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการแสดงความเห็น การแลกเปลี่ยนแนวคิดผ่านช่องทางดิจิตอล และเพิ่มพูนทักษะด้านการสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ผู้เรียนจะทำงานต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความพร้อมสำหรับความสำเร็จทางด้านอาชีพการทำงาน”
ใน 3 ปีข้างหน้า นักการศึกษาใน APAC จะมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้อย่างรอบด้านซึ่งจะช่วยปรับปรุงผลการเรียนและการประเมินผล และการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนด้วยทักษะทางด้านดิจิตอลที่จำเป็นเพื่อให้ประสบความสำเร็จ
ผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันถึงความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับภาคการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของการรองรับห้องเรียนแห่งอนาคต การสร้างแรงบันดาลใจและเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้เรียน รวมไปถึงนักการศึกษาและสถานศึกษาอื่นๆ ด้วยเครื่องมือดิจิตอลและหลักสูตรที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการจัดหาเทคโนโลยีดิจิตอลและทักษะทางด้านดิจิตอล เพื่อปรับปรุงสัมฤทธิผลทางการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน
รายงานผลการศึกษาโดยละเอียดและอินโฟกราฟิกสามารถดาวน์โหลดได้จาก: https://bit.ly/edureport16
การเปรียบเทียบประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก
- นักการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนด้วยทักษะทางด้านดิจิตอลที่จำเป็นเพื่อความสำเร็จมากที่สุด โดย 84% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ เปรียบเทียบกับส่วนที่เหลือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งอยู่ที่ 80% อย่างไรก็ตาม การสร้างเนื้อหาการเรียนรู้แบบอินเทอร์แอคทีฟที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนมีความสำคัญน้อยกว่า โดยอยู่ที่ 69% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ 74%
- ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZ) การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้รอบด้านที่ช่วยปรับปรุงผลการเรียนและการประเมินผลถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มโดยรวมของภูมิภาค APAC แต่ ANZ เป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ที่ 92% นอกจากนี้ นักการศึกษาใน ANZ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรและการปรับปรุงทักษะทางด้านวิชาชีพให้ทันสมัย โดยพยายามมองหาความช่วยเหลือ และการสนับสนุนจากพันธมิตรทางด้านดิจิตอล
- ภารกิจสำคัญสำหรับนักการศึกษาในอินเดียก็คือ การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้รอบด้านที่ช่วยปรับปรุงผลการเรียนและการประเมินผล อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ นักการศึกษาให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาโครงการแบบผสมผสานสำหรับการคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยมีเพียง 69% เท่านั้นที่ระบุว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของภูมิภาค APAC ซึ่งอยู่ที่ 75% นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นเรื่องการสร้างเนื้อหาการเรียนรู้แบบอินเทอร์แอคทีฟที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ อีกด้วย
- นักการศึกษาในประเทศจีนจัดอันดับความสำคัญของการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับภูมิภาค โดยอยู่ที่ 76% เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย 68% นอกจากนี้ยังมีความกังวลใจน้อยกว่าสำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่จำเป็นต่อความสำเร็จ โดยอยู่ที่ 71% เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 88% ในแวดวงการศึกษาที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงดังเช่นในประเทศจีน มีแรงกดดันที่จะต้องสร้างความแตกต่างให้กับสถานศึกษาและหลักสูตร ด้วยเหตุนี้ผู้ตอบแบบสอบถามจึงจัดอันดับให้เรื่องนี้มีความสำคัญมากกว่าระดับเฉลี่ยของภูมิภาค โดยอยู่ที่ 65% เปรียบเทียบกับ 54%
- นักการศึกษาในเกาหลีตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อเป็นตัวเร่งความสำเร็จ โดยอยู่ในระดับสูงสุดในภูมิภาคนี้ที่ 98% เปรียบเทียบกับระดับเฉลี่ยของ APAC ที่ 88% การพัฒนาโครงการแบบผสมผสานสำหรับการคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ถูกมองว่ามีความสำคัญมากที่ระดับ 80% สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 75% นอกจากนี้ 67% ของผู้ตอบแบบสอบถามในเกาหลีมองเห็นความจำเป็นในการสร้างความแตกต่างให้แก่สถานศึกษาใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งนับว่าใกล้เคียงหรือมากกว่าประเทศจีน
สิ่งที่นักการศึกษากังวลใจ | เอเชียแปซิฟิก
(APAC) |
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์(ANZ) | อินเดีย | จีน | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ | เกาหลีใต้ |
การพัฒนาโครงการแบบผสมผสานสำหรับการคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ | 75% | 75% | 69% | 77% | 75% | 80% |
การสร้างเนื้อหาการเรียนรู้แบบอินเทอร์แอคทีฟที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน | 74% | 74% | 62% | 68% | 69% | 72% |
การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับให้ผู้เรียนทำงานร่วมกัน | 68% | 65% | 62% | 76% | 68% | 73% |
สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการใน 3 ปีข้างหน้า | เอเชียแปซิฟิก
(APAC) |
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
(ANZ) |
อินเดีย | จีน | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ | เกาหลีใต้ |
การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้รอบด้านที่ช่วยปรับปรุงผลการเรียน และการประเมินผล | 83% | 92% | 85% | 73% | 84% | 76% |
การเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนด้วยทักษะทางด้านดิจิตอลที่จำเป็น | 80% | 85% | 73% | 79% | 84% | 74% |
การสร้างความแตกต่างให้กับสถานศึกษา | 54% | 44% | 53% | 65% | 46% | 67% |
เกี่ยวกับงานสัมมนา Adobe Education Leaders Seminar ประจำปี 2559
งานสัมมนา Adobe Education Leaders Seminar Series เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของอะโดบี โดยเป็นการประชุมผู้นำทางความคิดด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หัวข้อหลักสำหรับกิจกรรมในปีนี้คือ “การปฏิรูปการศึกษาเพื่อความสำเร็จของผู้เรียนในโลกดิจิตอล“ ผู้นำทางความคิด บุคลากรชั้นนำ และผู้บริหารสถานศึกษาเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ และนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้นำทางการศึกษาที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างแรงบันดาลใจ และเติบโตไปด้วยกัน
วิทยากรสำคัญสำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ได้แก่:
- โทนี่ แคตซาบาริส ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการศึกษาและภาครัฐประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของอะโดบี ซึ่งทำหน้าที่ดูแลธุรกิจด้านการศึกษาและภาครัฐของอะโดบีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลและสถาบันการศึกษา เพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมและเปี่ยมประสิทธิภาพให้แก่ผู้เรียนและประชาชนทั่วไปโดยอาศัยโซลูชั่น Marketing Cloud ของอะโดบี
- โจฮันน์ ซิมเมิร์น ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจการศึกษาทั่วโลกของอะโดบี ซิสเต็มส์ ซึ่งทำหน้าที่จัดการดูแลโครงการด้านการศึกษาทั่วโลกของอะโดบี ซิสเต็มส์ ในซานฟรานซิสโก โดยรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาแคมเปญด้านการตลาดสำหรับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย รวมไปถึงโครงการใบอนุญาตใช้งานสำหรับสถานศึกษา การมีส่วนร่วมในชุมชนการศึกษา และการสนับสนุนความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านงานสร้างสรรค์และนวัตกรรม และทักษะด้านดิจิตอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาด้านเทคนิคและวิชาชีพ รวมถึงการออกแบบกราฟิก การออกแบบและพัฒนาเว็บ การผลิตภาพยนตร์และวิดีโอ
- คาลิสทัส ชอง ผู้อำนวยการภาควิชาการออกแบบและสื่อของ Institute of Technical Education ประเทศสิงคโปร์ คาลิสทัสเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาการออกแบบและสื่อในปี 2552 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะตอบสนองความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรมครีเอทีฟในสิงคโปร์
เกี่ยวกับบริษัทอะโดบี ซิสเต็มส์ อินคอร์เปอเรทเต็ต
อะโดบีเปลี่ยนโลกผ่านประสบการณ์ด้านดิจิตอล รายละเอียดเพิ่มเติม www.adobe.com/sea/
กลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์อะโดบีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถติดต่อกับทีมงานของอะโดบีและบุคลากรด้านครีเอทีฟผ่าน Facebook ได้โดยตรง เพื่อรับทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหว ข้อมูลอัพเดต และโปรโมชั่นได้ที่ https://facebook.com/AdobeSEA