เมื่อคุณกำลังใช้งานพีซีอยู่ดีๆกับมีข้อความแปลกๆแจ้งให้คุณทราบว่ามีสิ่งผิดปรกติเกิดขึ้นกับพีซี และมีหน้าจอสีน้ำเงินหรือฟ้าสวยๆ แต่ถามใครก็ไม่มีใครชอบ เพราะเจอที่ไรต้องมีเรื่องยุ่งๆมาให้แก้ไขทุกที แบบนี้หล่ะเขาเรียกว่า พีซีมีปัญหา แต่การแก้ปัญหาให้ถูกต้องนั้น สิ่งสำคัญต้องทราบสาเหตุปัญหาที่แท้จริง….
สำหรับใครที่ต้องใช้พีซีเป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นงานส่วนตัวและธุรกิจ สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องการจากพีซีตัวนี้ก็คือ การทำงานที่มีประสิทธิภาพและไม่มีปัญหาใดๆรบกวนระหว่างใช้งาน แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้หลังจากใช้งานพีซีมาเป็นเวลาแรมเดือนหรือแรมปี หากไม่มีการบำรุงรักษาที่ดี ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆเกิดขึ้น จากปัญหาเล็กๆก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ๆ ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ปัญหาได้อย่างทันถ่วงที อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาให้ถูกต้องหรือตรงจุดได้นั้น คุณต้องสามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เพื่อที่จะสามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นมักเกิดจากหลายสาเหตุ ตัวอย่างเช่น ด้านฮาร์ดแวร์ ระบบปฏิบัติการ และโปรแกรมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งหากคุณทราบสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงมันก็จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและลดเวลาในการแก้ปัญหาได้มากโขทีเดียว แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากส่วนใดของพีซี ส่วนการวิเคราะห์ก็มีหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์ โดยนอกจากวิธีนี้แล้ว คุณยังสามารถสอบถามผู้รู้ที่มีประสบการณ์หรือช่างผู้ชำนาญงานช่วยแก้ปัญหาให้ก็ย่อมได้เช่นกัน แต่จะดีกว่าไหมถ้าคุณสามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง โดยใช้เครื่องมือ 3 สหาย ซึ่งประกอบไปด้วย
– WinCrashReport = เป็นเครื่องมือรายงานข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นบนระบบปฏิบัติการ Windows เมื่อโปรแกรมใช้งานเกิดข้อผิดพลาดหรือปัญหาขึ้นในระบบของคุณ มันก็จะแสดงรายละเอียดสาเหตุของปัญหา แต่มันสามารถใช้งานได้กับโปรแกรมแบบ 32 บิตได้เท่านั้น ถ้าอยากได้สามารถดาว์นโหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ https://www.nirsoft.net/system_tools.html ขนาดไฟล์ 164 กิโลไบต์ และรองรับวินโดวส์เอ็กซ์พี วิสต้า Byและเซเวน
– WhoCrashed = เป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์หรืออธิบายปัญหาหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นบนพีซี ซึ่งมันจะบอกถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไดร์เวอร์ของฮาร์ดแวร์ และโปรแกรมต่างๆ เป็นต้น คุณสามารถดาว์นโหลดเครื่องมือนี้ได้ที่เว็บไซต์ https://www.resplendence.com/downloads มีขนาดไฟล์ 1.5 เมกะไบต์
– BlueScreenView = เป็นเครื่องมือที่ช่วยแสดงรายละเอียดของปัญหาหน้าจอสีฟ้าหรือหน้าจอแห่งความตาย (Blue Screen of Death: BSOD) ที่ใครๆไม่อยากเจอ โดยมันจะทำงานร่วมกับไฟล์ Dump ที่จะถูกสร้างขึ้นตอนเกิดปัญหานี้ ซึ่งคุณสามารถดาว์นโหลดเครื่องมือนี้ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nirsoft.net มีขนาดไฟล์ 59.8 กิโลไบต์
แสดงรายงานปัญหาหรือข้อผิดพลาดแบบ WinCrashReport
แม้ว่าวินโดวส์จะมีเครื่องมือแสดงข้อผิดพลาดของโปรแกรมต่างๆที่ถูกติดตั้งเองก็ตาม แต่ข้อมูลของวินโดวส์ที่แสดงออกมาให้คุณได้ทราบนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อมูลน้อยนิดมาก หากจะนำมาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นคงเป็นเรื่องยาก โดยสิ่งที่ทำได้เพียงกดปุ่ม OK เพื่อออกจากโปรแกรมที่เกิดข้อผิดพลาดหรือปัญหาขึ้น แต่ถ้าอยากดีบักโปรแกรมนี้ก็เพียงกดปุ่ม Cancel ก็จะเข้าโหมดดีบักโปรแกรมให้แก้ไขข้อผิดพลาดได้แล้ว อย่างไรก็ตามไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ หากคุณไม่ทราบถึงต้นตอของปัญหาจริง ดังนั้นการใช้เครื่องมือ WinCrasReport เข้ามาวิเคราะห์ก็คงช่วยให้คุณมองเห็นปัญหาของโปรแกรมที่มีข้อผิดพลาดได้ โดยเครื่องมือนี้จะให้รายละเอียดลึกซึ้ง และง่ายต่อการวิเคราะห์ส่วนของโปรแกรมที่มีปัญหานั้นเองครับ สำหรับการใช้งานเครื่องมือนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมให้เสียเวลา เพียงแค่ดับเบิ้ลคลิกไฟล์ WinCrashReport.exe เมื่อเกิดข้อผิดพลาดกับโปรแกรมที่คุณกำลังใช้งานอยู่ จากนั้นคลิกเลือกเมนู Options และเลือกเมนูย่อย Show internal Exceptions มันก็จะแสดงโปรแกรมที่มีข้อผิดพลาดหรือปัญหา พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดแบบเชิงลึกให้ทราบอีกด้วย ซึ่งช่วยให้คุณสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องหรือตรงจุด ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 แสดงหน้าต่างการใช้งานเครื่องมือ WinCrashReport
WinCrashReport มีอะไรบ้างที่ต้องบอก
สำหรับเครื่องมือ WinCrashReport จะบอกรายละเอียดอะไรคุณได้บ้าง เมื่อโปรแกรมที่ใช้งานอยู่เกิดปัญหาขึ้น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
– General Exception Information = แสดงรายละเอียดข้อผิดพลาดทั่วไปของโปรแกรมที่เกิดปัญหา ซึ่งรวมไปถึงชื่อโปรแกรม เวอร์ชั่น บริษัทที่สร้างโปรแกรมนี้ขึ้นมา ตำแหน่งที่เกิดข้อผิดพลาด พารามิเตอร์ และรายละเอียดต่างๆ เป็นต้น
– String in the stack = แสดงข้อมูลแบบสตริงที่อยู่ในรูปของ ASCII และ Unicode ที่ถูกเก็บไว้ในสเต็ก เพื่อให้คุณสามารถหาตำแหน่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้
– Call Stack (Method1+Method2) = เป็นส่วนที่เรียกใช้สเต็กของโปรแกรมที่มีข้อผิดพลาดหรือปัญหา โดยมีอยู่ 2วิธีด้วยกัน เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น
– Processor Registers = แสดงการรีจิสเตอร์ของหน่วยประมวลผล (Processor) ที่เกิดข้อผิดพลาดขึ้น และหากการรีจิสเตอร์ของหน่วยประมวลผลลงบนตำแหน่งหน่วยความจำ ซึ่ง WinCrashReport จะแสดงรายละเอียดในส่วนหน่วยความจำเพื่อแสดงข้อผิดพลาดหรือปัญหาที่เกิดขึ้นแทน
– Modules List = แสดงรายการของไฟล์ DLL ของโปรแกรมที่เกิดข้อผิดพลาดขึ้น โดยจะแสดงชื่อ ขนาด เวอร์ชั่น ตำแหน่ง รายละเอียด และเวลาแก้ไขของไฟล์ DLL
– All Threads = แสดงการทำงานของเทรดโปรแกรมที่เกิดข้อผิดพลาดหรือปัญหาทั้งหมด โดยรายละเอียดของเทรดแต่ละเทรดก็จะประกอบไปด้วย รหัส ตำแหน่งเริ่มต้นสเเต็ก ขนาดสเเต็ก สถานะ ลำดับ เวลาในการสร้าง เวลาในการใช้งาน และ เวลาเคลเนลของเทรด
– Full Stack Data = แสดงค่าข้อมูลทั้งหมดที่ถูกค้นพบในโปรแกรมที่เกิดข้อผิดพลาดหรือปัญหา ทุกช่วงเวลาที่เกิดข้อผิดพลาดขึ้น
อยากรู้ปัญหาถามได้กับ WhoCrashed
นอกจากข้อผิดพลาดหรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับโปรแกรมต่างๆที่ถูกติดตั้งหรือใช้งานบนพีซีแล้ว แต่ยังมีปัญหาที่ทำให้พีซีทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหาที่จะกล่าวถึงก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบโดยรวมของพีซี ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาไดร์เวอร์ไม่เข้ากันกับฮาร์ดแวร์ ขั้นตอนการบูต การเริ่มต้นหรือซ็อตดาว์นระบบเอง และบลูสกรีน เป็นต้น แต่การหาสาเหตุหรือวิเคราะห์ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะรู้ถึงต้นตอที่แท้จริงและวิธีการหรือขั้นตอนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการใช้เครื่องมือ WhoCrashed ก็จะช่วยทราบว่าใครทำอะไรที่ไหน ทำอะไรอยู่ และเมื่อทำแล้วก่อให้เกิดปัญหาอะไรหรือเปล่า ซึ่งเครื่องมือ WhoCrashed ก็สามารถช่วยวิเคราะห์และแก้ปัญหาให้กับคุณได้ อย่งไรก็ตามการใช้งานเครื่องมือจำเป็นต้องอาศัยไฟล์ dump ของวินโดวส์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับระบบ แต่ก่อนอื่นต้องกำหนดให้ระบบสร้างไฟล์ dump ก่อน โดยคลิกขวาที่ My Computer เลือกเมนู properties ก็จะปรากฏหน้าไดอะล็อกบล็อก System Properties จากนั้นคลิกแท็บ Advanced และในส่วนของ Startup and Recovery ให้คลิกปุ่ม Settings ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 แสดงหน้าไดอะล็อกบล็อกของ System Properties
ในขั้นตอนนี้ก็จะปรากฏหน้าไดอะล็อกบล็อก Startup and Recovery ซึ่งในส่วนของ White debugging Information ให้คลิกเลือกออปชั่น Kernel memory dump เTพื่อสร้างไฟล์ dump โดยไฟล์ dump ที่ถูกสร้างขึ้นจะถูกเก็บไว้ที่โฟลเดอร์ C:Windowsminidump จากนั้นคลิกปุ่ม OK ดังรูปที่ 2
รูปที่ 2 แสดงการปรับแต่งออปชั่น Kernel memory dump
ส่วนการใช้งานเครื่องมือ WhoCrashed ก็ง่ายๆ เพียงดาว์นโหลดเครื่องมือนี้ได้ฟรีที่เว็บไซต์ ที่ให้ไว้ในตอนต้น จากนั้นทำการติดตั้งและรันเครื่องมือนี้ขึ้นมาใช้งานได้เลยทันที โดยคลิกปุ่ม Analyze ซึ่งมันก็จะใช้ไฟล์ dump เพื่อวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งจะแสดงรายละเอียดต่างๆ ตัวอย่างเช่น โค๊ดแสดงข้อผิดพลาด (Code) และไฟล์ที่ก่อให้เกิดปัญหา ดังรูปที่ 3
รูปที่ 3 แสดงผลการตรวจเช็คปัญหาที่เกิดขึ้นกับพีซีด้วย WhoCrashed
หมายเหตุ : ถ้าคุณต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเพิ่มเติมที่ช่วยให้คุณแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นให้คลิกลิงค์ในหัวข้อ Error
แสดงสาเหตุบลูสกรีน คลี่คลายได้ง่ายๆกับ BlueScreenView
ถ้าคุณเคยเจอปัญหาบลูสกรีน แต่กับจดจำข้อความผิดพลาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ที่ทำให้เกิดปัญหา หรือโค๊ดเออเรอร์ต่างๆ เพราะมันเกิดขึ้นเร็วมาก แค่ภายในพริบตาข้อความผิดพลาดต่างๆก็จางหายไปหมดสิ้น เหลือไว้แค่ความลังเลสงสัยกับปัญหาที่เกิดขึ้น สำหรับปัญหาบลูสกรีนสาเหตุส่วนใหญก็จะเกิดจากความไม่เข้ากันระหว่างไดร์เวอร์กับฮาร์ดแวร์ การทำงานที่ผิดปกติของฮาร์ดแวร์ และความผิดพลาดของวินโดวส์เอง ซึ่งปัญหาบลูสกรีนจะแสดงข้อผิดพลาดในรูปแบบเลขฐานสิบหกในแต่ละพารามิเตอร์ของส่วนที่เกิดปัญหาขึ้น ตัวอย่างเช่น 0X00000116, 0x000009f เป็นต้น โดยโค๊ดเออเรอร์เหล่านี้หล่ะที่ต้องนำมาวิคราะห์เพื่อหาสาเหตุของข้อผิดพลาดหรือปัญหาว่าเกิดจากส่วนไหนของระบบ ดังนั้นการใช้เครื่องมือ BlueScreenView ช่วยให้คุณสามารถวิเคราะห์สาเหตุของข้อผิดพลาดหรือปัญหาได้ แต่เครื่องมือนี้ก็ต้องอาศัยไฟล์ dump เช่นเดียวกัน (สำหรับขั้นตอนการสร้างไฟล์ dump ได้พูดถึงไว้ในขั้นตอนที่แล้ว) โดยรายละเอียดการใช้งานเครื่องมือ BlueScreenView ก็จะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
ดาว์นโหลดเครื่องมือ BlueScreenView ได้ฟรีที่เว็บไซต์ ที่ให้ไว้ในตอนต้น โดยไฟล์ที่ดาว์นดหลดมาได้จะอยู่ในรูปแบบไฟล์บีบอัดจากนั้นคลายไฟล์บีบอัด และดับเบิ้ลคลิกไฟล์ BlueScreenView.exe ซึ่งไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรม ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 แสดงไฟล์ BlueScreenView.exe หลังจากคลายไฟล์ที่ถูกบีบอัด
เมื่อรันโปรแกรมขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว เครื่องมือ BlueSreenView ก็จะทำการวิเคราะห์ไฟล์ dump ที่ระบบสร้างขึ้นตอนเกิดปัญหาบลูสกรีน โดยเรียกใช้ไฟล์ dump ที่ถูกเก็บไว้ในโฟลเดอร์ C:Windowsminidump และมันก็จะแสดงรายละเอียดต่างๆของปัญหาบลูสกรีน ซึ่งคุณสามารถลากเมาส์ที่สคอร์บาร์ไปทางด้านขวาหรือดับเบิ้ลคลิกบนไฟล์ dump ได้เลยทันที เพื่อดูรายละเอียดทั้งหมด ดังรูปที่ 2
รูปที่ 2 แสดงรายละเอียดต่างๆ แบบ Blue Screen in Xp style เครื่องมือ BlueScreenView
หมายเหตุ : การแสดงรายละเอียดต่างๆของปัญหาบลูสกรีนสามารถแสดงผลได้หลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น All Drives, Only Drive in Stack, Blue Screen in XP style, DumpChk Output และRaw Data โดยมีขันตอนง่ายๆ ไปที่เมนู Options เลือก Lower Pane Mode จากนั้นก็เลือกรูปแบบโหมดที่ต้องการ
ถ้าเกิดปัญหาต่างๆขึ้นกับพีซีของคุณ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาบลูสกรีน โปรแกรมที่ใช้งานเกิดข้อผิดพลาด และอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือต่างๆที่พูดมาข้างต้นคงช่วยวิเคราะห์หาสาเหตุและแก้ไขข้อผิดพลาดหรือปัญหาให้กับคุณได้อย่างดีทีเดียว จากปัญหาใหญ่ๆที่แก้ปัญหาไม่ตก ก็จะกลายเป็นปัญหาเล็กๆ ที่แก้ไขได้ง่ายๆได้เช่นกันนะครับ..สาธุ
[…] ที่มา : http://www.pctodaythailand.com […]
ขอบคุณ