สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบพกพานั้นได้เปลี่ยนจากแผ่นดิสก์เก็ตมาเป็นแฟลชไดรฟ์เมื่อหลายปีมาแล้ว และเชื่อว่าทุกวันนี้ก็ยังเป็นแฟลชไดรฟ์ที่ได้รับความนิยมมากอยู่ แม้ว่าจะมีเอ็กซ์เทอนอลฮาร์ดดิสก์ ซึ่งมีความจุหลายร้อยกิกะไบต์ออกมาอาละวาดเงินในกระเป๋าของท่านผู้อ่านอยู่หลายเจ้าก็ตาม แต่ด้วยขนาดที่เล็กของแฟลชไดรฟ์ ทำให้มันเป็นสื่อบันทึกข้อมูลที่พกพาง่ายแต่ก็เป็นเหตุให้หายได้ง่ายเช่นเดียวกัน วันนี้ก็เลยอยากนำเสนอของเล่นที่ไม่แปลกเท่าไหร่ แต่สามารถปกป้องข้อมูลในแฟลชไดรฟ์ได้อย่างแน่นอนมาฝากกันครับ
USB Flash Security (Free) ยามจิ๋วเฝ้าแฟลชไดรฟ์
ชื่อเสียงเรียงนามของมันก็คือ USB Flash Security (Free) พ่วงท้ายด้วยฟรี นี่แสดงว่ามีเวอร์ชันที่ต้องจ่ายตังค์ด้วยใช่ไหมล่ะ ? ใช่ครับ… แต่คิดว่าตัวฟรีนี่ก็สามารถตอบสนองต่อการใช้งานธรรมดาทั่วๆ ไปได้ดีเลยแหละ โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมสัญชาติญี่ปุ่นครับ ใครอยากดูรายละเอียดมากกว่านี้ก็จะเข้าไปที่นี่ได้ https://kashu-sd.co.jp/en/ สำหรับเวอร์ชั่นฟรีนั้นก็มีลิมิตในการใช้งานหลักๆ ดังนี้
- รองรับแฟลชไดรฟ์ที่ความจุไม่เกิน 4 GB
- รูปแบบไฟล์นั้นอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะ FAT เท่านั้นนะครับ
- ไม่สามารถเปลี่ยนพาสเวิร์ดได้ (นอกจากจะฟอร์แมตใหม่ครับ)
หลักการทำงาน
เขียนมาซะยาวแต่ยังไม่ได้บอกจุดประสงค์หลักซะที โปรแกรมนี้จะจำกัดการเข้าใช้งานแฟลชไดรฟ์ของเราด้วย รหัสผ่าน หรือ พาสเวิร์ดครับ โดยหลักการทำงานนั้นหลังจากที่เราลงโปรแกรมและทำตามขั้นตอนต่อจากหัวข้อนี้ แฟลชไดรฟ์ของเราจะถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วนด้วยกันครับ ส่วนแรกนั้นเรียกว่า “Unprotected Area” จะมีพื้นที่ประมาณ 0.5 MB เอาไว้สำหรับรันไฟล์โปรแกรมซึ่งมีขนาดเล็กเพียงไม่กี่ร้อยกิโลไบต์ เพื่อจะเข้าใช้พื้นที่ส่วนที่เหลือของแฟลชไดรฟ์ สำหรับส่วนที่สองนั้นเรียกว่า “Protected Area” จะเป็นส่วนที่ใช้สำหรับเก็บไฟล์งานต่าง ๆ ของเราแต่ในการเข้าใช้งานจะต้องรันไฟล์จากพื้นที่ส่วนแรกก่อน และแน่นอนว่าต้องกรอกพาสเวิร์ดให้ถูกต้องด้วยถึงจะเข้าใช้ส่วนนี้ได้ และถ้าหากสังเกตอีกอย่างคือ พื้นที่ส่วนที่สองนี้ถ้ายังไม่ได้ถูกเข้าใช้งานจะเหมือนเป็นพื้นที่ของฮาร์ดดิสก์ที่ยังไม่ได้ฟอร์แมต หรือแบ่งพาร์ทิชันนั่นเอง ข้อนี้ก็ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีใครนำข้อมูลส่วนนี้ออกไปได้แน่นอน
มาเริ่มกันเลย
ไฟล์ติดตั้งอยู่ในแผ่นซีดีในหมวด Files from PCToday นะครับ ขนาดจริงเพียงแค่เมกกว่าๆ เท่านั้น ได้มาแล้วก็ติดตั้งตามปกตินะครับ ขอเบียดพื้นที่ตรงนี้บอกอีกอย่างครับว่า สามารถใช้ได้กับวินโดวส์เอ็กซ์พี วิสต้า และเซเว่น นะครับ
อ้อ… และที่ขาดไม่ได้ครับคือแฟลชไดรฟ์นั่นเอง เอาตามที่เขาล็อคมาเลยนะครับ คือไม่เกิน 4GB
1. หลังจากนั้นเปิดโปรแกรมขึ้นมาครับ จะได้เห็นหน้าตาดังรูป และเลือกไปที่แท็บของแฟลชไดรฟ์ที่ต้องการ
2. คลิกที่ปุ่ม Install ปุ่มยาวๆบริเวณด้านล่าง ( ก็ไม่รู้จะทำให้ยาวทำไม ) ได้เลย สังเกตอีกนิดนะครับ ที่รายชื่อของแฟลชไดรฟ์ส่วนของ Files System นั้น ถ้าเป็น FAT32 หรือ NTFS อยู่ หากผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้วจะกลายเป็นแบบ FAT ธรรมดา ตามเงื่อนไขของรุ่นฟรีนะครับ
3. โปรแกรมจะแจ้งรายชื่อของแฟลชไดรฟ์ตัวที่เราต้องการ Install โปรแกรม ก็ดูให้ดีๆ ว่าใช่ตัวที่ต้องการแน่ (เผื่อมีหลายตัว) เพราะข้อมูลทั้งหมดจะอันตรธานหายไปหลังจากนี้ และสิ่งที่ต้องทำคือแบ็กอัพข้อมูลในแฟลชไดรฟ์ไว้ก่อนที่จะคลิกที่ปุ่ม OK ครับ
4. หลังจากที่แบ็กอัพข้อมูลไว้ในที่ปลอดภัยแล้วคลิกที่ปุ่ม OK จากข้อที่ผ่านมาจะได้หน้าต่างดังรูป เราก็จัดการตั้งพาสเวิร์ดที่ต้องการใช้ขึ้นมา ขั้นตอนนั้นก็เหมือนทั่วๆ ไปครับคิดว่าคงคุ้นเคยดี หากเป็นคนขี้ลืม ก็ใส่ข้อความช่วยกระตุ้นความจำได้ที่ช่อง Hint ครับ ส่วนที่ช่อง Encryption ก็เลือกเป็นแบบ AES256 เสร็จสรรพทุกอย่างคลิกที่ปุ่ม OK โลด
5. เพื่อความชัวร์ตัวโปรแกรมก็จะแจ้งเตือนเป็นหนสุดท้ายว่าจะจัดการฟอร์แมตแฟลชไดรฟ์เพื่อติดตั้งโปรแกรมแล้วนะ ถ้าทุกอย่างพร้อมก็คลิกที่ปุ่ม OK ครับ แล้วรอสักครู่โปรแกรมก็จะแจ้งเตือนว่า ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย
6. เปิดดูภายในแฟลชไดรฟ์ ตอนนี้จะเห็นไฟล์ที่สำคัญอยู่สองไฟล์ครับคือ UsbEnter.exe กับ Autorun.inf ไฟล์ออโต้รันนั้นถ้ามีปัญหากับโปรแกรมแอนตี้ไวรัสบางตัวที่ใช้อยู่ก็ลบออกไปได้นะครับ เราสามารถรันแบบแมนน่วลได้ ส่วนไฟล์ UsbEnter.exe นั้นเป็นไฟล์สำคัญที่เราจะใช้เป็นทางผ่านเข้าไปใช้พื้นที่แฟลชไดรฟ์ส่วนที่ได้ป้องกันไว้ ก็ให้ทดลองรันไฟล์นี้ได้เลยครับ
7. จัดการกรอกพาสเวิร์ดลงไป หรือถ้าใครลืม แต่ได้ตั้งคำถามในส่วน Password Hint ไว้ตั้งแต่แรก ก็เอาเมาส์ไปชี้ที่บริเวณช่องกรอกพาสเวิร์ดก็จะมีประโยคช่วยจำที่ได้สร้างไว้โผล่เป็นทูลทิปขึ้นมาครับ คลิกที่ปุ่ม OK อีกตามธรรมเนียม (รู้สึกว่าจะ OK เยอะมากไปหน่อย) และก็รอนิดหน่อยเช่นเคย โปรแกรมก็จะเข้าไปเปิดใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลดังที่กล่าวมาแล้ว
หลังจากที่จบขั้นตอนทั้งหมดที่ผ่านมา ตอนนี้แฟลชไดรฟ์ก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติแล้วนะครับ สามารถโยนไฟล์งานเข้าออกได้ตามปกติ และถ้ามีการเอาไปใช้กับเครื่องอื่นๆ ก็ให้รันไฟล์ UsbEnter.exe เพื่อเข้าใช้งานทุกครั้ง
แล้วถ้าไฟล์ UsbEnter.exe ที่ใช้รัน หายไปล่ะ ?
จะเข้าใช้แฟลชไดรฟ์ได้หรือไม่ แน่นอนครับ ถ้าหากเราเผลอหรือมีใครแกล้งลบออก (ประมาณว่าแอบหมั่นไส้ แค่นี้ก็ต้องให้ไส่พาสเวิร์ด) เราดูข้อมูลที่เก็บไว้ไม่ได้แน่ๆ แต่เราสามารถให้โปรแกรมสร้างไฟล์ตัวนี้ให้เราใหม่ได้ครับ โดยการ
1. เสียบแฟลชไดรฟ์ตัวที่ไฟล์ UsbEnter.exe หาย แล้วเปิดโปรแกรม USB Flash Security ขึ้นมา อันนี้ต้องทำที่เครื่องที่เราใช้ลงโปรแกรมในแฟลชไดรฟ์นะครับ แล้วเลือกที่เมนู Operation > Copy of release tool
2. โปรแกรมก็จะแจ้งว่าได้สร้างไฟล์นี้ให้ใหม่แล้ว เท่านี้เราก็จะสามารถใช้แฟลชไดรฟ์ได้ตามปกติครับ แต่ถ้าให้ดีก็อาจก๊อปปี้ไฟล์นี้ไว้บน Dropbox ก็ได้นะครับ เผื่อฉุกเฉินจะได้เอามาใช้ได้ทัน
การใช้ Safety remove tool
หากต้องการถอดแฟลชไดรฟ์ออกจากเครื่องหลังจากเลิกใช้แล้ว ก็ใช้ Safety remove Hardware ตรงซิสเต็มเทรย์เหมือนปกติได้ครับ แต่ทั้งนี้ตัวโปรแกรมก็มีทูลให้ใช้เหมือนกัน ถ้าอยากลองก็มีวิธีดังนี้ครับ
1. ล็อคอินเข้าแฟลชไดรฟ์ของเรา แล้วเปิดโปรแกรม USB Flash Security ไปที่เมนู Operation > Copy of Safety remove tool โปรแกรมจะสร้างไฟล์ตัวหนึ่งขึ้นมาคือ UsbExit.exe เอาไว้ใช้เมื่อต้องการออกจากการใช้งาน (ไฟล์นี้จะอยู่ในพื้นที่ส่วนเก็บข้อมูลส่วนที่สองนะครับ ) หากทดลองรันดู จะพบตัวเลือกดังนี้
– Hide the protected area เลือกตัวนี้ถ้าไม่ต้องการถอดแฟลชไดรฟ์ออกแต่ต้องการ ออกจากพื้นที่เก็บข้อมูลในส่วนที่ปกป้องไว้เท่านั้น
– Safety remove เหมือนกับการใช้คำสั่งที่ซิสเต็มเทรย์ครับ
ไม่อยากใช้แล้ว..อยากเปลี่ยนเป็นแบบเดิมได้ไหม ?
คำตอบคือได้ครับ แต่ขอให้แบ็คอัพข้อมูลในแฟลชไดรฟ์ลงเครื่องไว้ก่อนนะครับ เพราะตัวโปรแกรมก็จะมีการฟอร์แมตพาร์ติชันกลับให้ เอาเป็นว่าหลังจากที่แบ็คอัพเสร็จแล้วให้ทำตามนี้ครับ
เปิดโปรแกรม USB Flash Security ขึ้นมาแล้วเลือกที่เมนู Operations > Uninstall โปรแกรมก็จะให้ยืนยันอีกครั้งคลิกที่ OK จากนั้นก็รอสักครู่ครับ ก็จะสามารถใช้แฟลชไดรฟ์ได้เหมือนเดิมโดยไม่ต้องใช้พาสเวิร์ด
ทิ้งท้ายนิดนึง
ในการใช้งานจริงกับเครื่องอื่นๆ ก็จะพบว่า จะมีปัญหากับซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสบางตัวเช่น Avira Antivir หรือโปรแกรมของไทยอย่าง CPE17 ที่ไม่ยอมให้รันไฟล์ .exe ในแฟลชไดรฟ์ แต่ทั้งนี้ก็สามารถเข้าไปปรับแต่งตัวเลือกในเมนู Option ได้นะครับ เอาเป็นว่าทดลองใช้ดูนะครับ ดีไม่ดียังไง คำตอบอยู่ที่คุณผู้อ่านครับ สำหรับวันนี้คงต้องลาเพียงแค่นี้ ไว้พบกันใหม่ฉบับหน้า รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ สวัสดีครับ…!!!