รายงานล่าสุดจากเทเลนอร์ จากการสำรวจประจำปี Mobile Life โดย TNS เกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือ พบว่าอุปกรณ์ที่คนไทยต้องการเป็นเจ้าของมากที่สุดคือสมาร์ทโฟน โดยผลการสำรวจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันการขยายเครือข่าย 3G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และเริ่มวางระบบเครือข่าย 4G
- คนไทยใช้ฟังก์ชั่นของสมาร์ทโฟนหลากหลายกว่าประเทศอื่นในเอเชีย โดยให้ความสำคัญกับแบรนด์และคุณภาพมากกว่าลูกเล่นและคุณสมบัติต่างๆ
- อัตราการใช้สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน อยู่ที่ 36 เปอร์เซ็นต์ และยังคงโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีการสร้างสถิติใหม่ โดยเพิ่มขึ้นถึง 29.1 เปอร์เซ็นต์ โตจาก 7.1 ล้านเครื่อง เป็น 8 ล้านเครื่อง
- คนไทยยังลังเลกับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่ก็มีปัจจัยที่จะขับเคลื่อนให้กลายเป็นบริการที่ได้รับความนิยมได้ในอนาคต
แม้ว่าโทรศัพท์มือถือมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้บริโภคชาวไทยเข้าถึงบริการดิจิตอลต่างๆ แต่การเชื่อมต่อ ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการให้บริการของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้งๆที่มีความต้องการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์เริ่มมีราคาถูกลงในปัจจุบันพบว่า 56 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต โดยมีเพียง 39 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ใช้งานดังกล่าว ส่วนที่เหลือนั้นเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตผ่านระบบไว-ไฟ เท่านั้น
รายงานระดับโลกจาก TNS ชิ้นนี้ระบุว่าผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับแบรนด์ของโทรศัพท์มือถือมาก เมื่อเทียบกับผู้บริโภคจากประเทศอื่นๆ โดยการสำรวจดังกล่าวมีการระบุ 18 ปัจจัยที่ผู้บริโภคทั่วโลกคำนึงถึงเมื่อเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ราคา อายุของแบตเตอร์รี่ แบรนด์ ขนาดและคุณภาพหน้าจอ รุ่น กล้อง คุณภาพเสียง ดีไซน์ หน่วยความจำ ความง่ายในการใช้งาน ระบบปฏิบัติการ เครือข่ายผู้ให้บริการ ช่องเชื่อมต่อต่างๆ การเรียกใช้อินเตอร์เน็ต การปรับแต่งรูปแบบการใช้งาน ความหลากหลายของแอพพลิเคชั่น ความสามารถในการเชื่อมต่อกับพีซี และความสามารถในการซิงค์ผ่านคลาวด์เซอร์วิส โดยผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับแบรนด์ในการเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ 30 จุด
ในขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของราคาเป็นรองลงมาเล็กน้อย ส่งสัญญาณไปถึงผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและผู้ให้บริการเครือข่ายว่าตลาดมีความต้องการแบรนด์พรีเมี่ยม
รายงาน Mobile Life จาก TNS ที่มีผลจากการสำรวจผู้ใช้งานจำนวน 38,000 คน จาก 43 ประเทศทั่วโลกแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอันหลากหลายที่เกี่ยวกับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือในทวีปเอเชีย โดยการสำรวจได้ครอบคลุมถึงผู้ใช้งานที่มีอายุระหว่าง 16-60 ปี ซึ่งมีทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือ และผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ โดยสำหรับประเทศที่เทเลนอร์มีธุรกิจอยู่นั้น มีทั้งการสัมภาษณ์ออนไลน์ และตัวต่อตัวแบบทั่วไป โดยเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่มีผลต่อชีวิต โดยในประเทศไทย มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,000 คน ในประเทศมาเลเซีย มีจำนวน 500 คน และ ในประเทศอินเดีย มีจำนวน 2,980 คน
“TNS จัดทำการสำรวจ Mobile Life ประจำปีขึ้นเพื่อที่จะได้เข้าใจถึงการใช้งานโทรศัพท์มือถือของผู้คนทั่วโลก และเพื่อที่จะได้รู้ว่าแพลทฟอร์มและบริการใด ที่น่าจะมีการเติบโตในอนาคต สำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายระดับโลกอย่างเทเลนอร์แล้ว พฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภค รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากการใช้งานธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้บริษัทได้เข้าใจถึงโอกาสและเทรนด์ใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต” นายโจ เวบบ์ หัวหน้าผ่ายดิจิตอล TNS ประเทศจีนกล่าว
สมาร์ทโฟนจะเติบโตแบบก้าวกระโดด
ผลการสำรวจยังระบุด้วยว่าตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยจะเติบโตอย่างมาก โดยในปัจจุบันมีคนไทยเพียง 36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน แต่ความต้องการนั้นสูงเทียบเท่ากับตลาดอื่นๆทั่วโลก โดยเมื่อปีที่แล้วราคาเฉลี่ยของสมาร์ทโฟนได้ลดลงมาต่ำกว่าราคาที่สูงสุดที่ผู้บริโภคชาวไทยยินดีที่จะจ่าย ดังนั้นจะเห็นอัตราการเป็นเจ้าของสมาร์โฟนเติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
“ประเทศไทยนั้น ถือว่าเป็นตลาดที่มีความหลากหลาย และเติบโตเร็วที่สุดในทวีปเอเชีย แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้คนจำนวนมากในพื้นที่ห่างไกลที่ยังเข้าถึงแค่เพียงบริการทางเสียง และ SMS เท่านั้น โดยอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนกลุ่มนี้ยังด้อยกว่าประเทศอื่นๆในเอเชียอยู่” นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจของเทเลนอร์ในประเทศไทย กล่าว
“แต่ขณะเดียวกันผู้ใช้งานในเมือง และกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นมีความพร้อมสำหรับเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีอัตราการเชื่อมต่อที่รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะมีได้ในประเทศและทวีปเอเชียแล้ว ดังนั้นเราจึงยึดมั่นที่จะพัฒนาโครงข่ายเพื่อเทคโนโลยีการเชื่อมต่อคุณภาพสูงเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ และเราก็กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลและมีรายได้น้อยได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตเช่นกัน” นายอับดุลลาห์ กล่าวเพิ่มเติม
“ประเทศไทยนั้นพร้อมสำหรับการเริ่มขยายบริการ 4G แล้ว ซึ่งทั้งดีแทคและเทเลนอร์ มีความพร้อมที่จะดำเนินการ” ในปีนี้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ได้มีการเปิดให้บริการ 3G แล้ว ซึ่งนำไปสู่การให้บริการดาต้าที่มีความรวดเร็วและเสถียรมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการใช้งานดาต้าให้เติบโต
อย่างไรก็ตามโครงการฟรี ไว-ไฟ ของรัฐบาลนั้นยังไม่ได้มีการให้บริการอย่างกว้างขวางมากนัก และผู้ใช้งานส่วนใหญ่ยังคงรู้สึกว่าการใช้งานดาต้าผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือนั้นยังมีราคาสูงอยู่ “ผู้ให้บริการรายใดที่ให้บริการดาต้าได้ในราคาที่ถูกลง และไม่ได้คิดราคาแพงสำหรับการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้น จะสามารถกระตุ้นการใช้งานและเพิ่มความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการดังกล่าวได้มากขึ้น” นายอับดุลลาห์กล่าว
คนไทยยังลังเลที่จะใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือและโมบายล์วอลเลท แต่เทเลนอร์เห็นโอกาสที่จะเติบโตได้
รายงานจาก TNS ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เคยใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ กลุ่มผู้ที่สนใจที่จะใช้งานบริการดังกล่าวมากที่สุดคือกลุ่มช่วงอายุ 16-30 ปี โดยมีผู้แสดงความสนใจถึง 20-23 เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมั่นใจในความปลอดภัย และชอบที่จะทำรายการกับพนักงานโดยตรง จึงเห็นได้ว่าในปัจจุบันคนไทยยังทำบริการธุรกรรมทางการเงินผ่านทางสาขาและผ่านทางคอมพิวเตอร์มากกว่าที่จะทำผ่านโทรศัพท์มือถือ และยังจำเป็นต้องมีความมั่นใจและความคุ้นเคยของบริการมากขึ้นก่อนที่จะหันมาเลือกใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางหลัก
ผู้บริโภคชาวไทยยังลังเลกับแนวคิดโมบายล์วอลเลท หรือการใช้โทรศัพท์มือถือแทนกระเป๋าสตางค์ โดย ประมาณ 1 ใน 2 ของผู้ทำแบบสำรวจ (49 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่าพวกเขาไม่รู้สึกว่านั่นเป็นบริการที่มีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม เทเลนอร์ เชื่อว่าผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยี จะสามารถเปลี่ยนแนวความคิดได้รวดเร็วเมื่อบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมีการพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างมองว่าการที่ตลาดเมืองไทยมีการตื่นตัวเรื่องดังกล่าว เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าบริการนี้มีศักยภาพที่จะเติบโตได้ โดยเทเลนอร์เห็นว่าโมบายล์วอลเลท ในเมืองไทยก็จะเติบโตและประสบความสำเร็จได้เหมือนหลายๆประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศมาเลเซีย โดย TNS กล่าวว่าการที่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจ ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นบริการที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต
รายงานจาก TNS ระบุว่า โมบายล์วอลเลทนั้นจะเป็นบริการที่สามารถทำกำไรให้กับร้านค้าและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน SMS ผ่านการใช้แอพพลิเคชั่น หรือการแตะโทรศัพท์มือถือกับเซ็นเซอร์ในร้านค้าเพื่อชำระเงินค่าสินค้าจะกลายเป็นเรื่องปกติในประเทศที่กำลังมีการเติบโตในทวีปเอเชีย โดยประเภทของสินค้าและบริการที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงสุดได้แก่ การชำระค่าโทรศัพท์มือถือรายเดือน การชำระบิลต่างๆ ปั๊มน้ำมัน และร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด
การใช้งานดาต้าพุ่งสูง จากโซเชียลมีเดีย
รายงานจาก TNS ระบุว่าจากการที่ผู้บริโภคชาวไทยเริ่มมีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานสมาร์ทโฟนมากขึ้นนั้น ส่งผลให้ชาวไทยเป็นหันมานิยมใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กและบริการด้านดาต้า ซึ่งสำหรับตลาดที่มีอัตราการเป็นเจ้าของสมาร์ท
โฟนเพียง 36 เปอร์เซ็นต์อย่างประเทศไทยแล้ว ถือว่าคนไทยเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในอัตราที่สูง โดยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ 19 เปอร์เซ็นต์ เข้าสู่โซเชียลเน็ตเวิร์กผ่านโทรศัพท์มือถือทุกวัน และตัวเลขนั้นโดดขึ้นไปถึง 49 เปอร์เซ็นต์สำหรับสมาร์ทโฟน จึงไม่น่าแปลกใจที่กรุงเทพฯ ถูกจัดให้เป็นเมืองที่มีอัตราการใช้งานดาต้าเพื่อเข้าเฟ๊ซบุ๊กเป็นอันดับหนึ่งของโลก และเฟ๊ซบุ๊กเมสเซนเจอร์ ยังได้กลายเป็นวิธีใหม่ที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนเลือกใช้เพื่อส่งข้อความถึงกันอีกด้วย
# # #
Editor’s note: ข้อมูลสำรวจ Mobile Life 2013 ของ TNS นั้น มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ 38,000 คน จาก 43 ประเทศ และทำการสำรวจในช่วงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556