เว็บไซต์ Ken Shirriff’s blog จัดแจงงัดแงะอะแดปเตอร์ชาร์จไฟสำหรับไอแพดของปลอม เผยให้เห็นชิ้นส่วนภายในแบบละเอียด พร้อมฟันธงว่า ถ้าไม่อยากให้ไอแพดเจ๊ง ก็หลีกเลี่ยงที่จะใช้ของปลอมนะจ้ะที่ผ่านมาหลายคนคงเคยได้ยินข่าวความเสียหายที่เกิดจากการใช้อะแดปเตอร์ชาร์จไฟปลอมกันบ้างแล้ว ซึ่งมีตั้งแต่ความเสียหายเล็กๆ ไปจนถึงระดับเสียชีวิต แต่ด้วยราคาที่ต่างกับของแท้ 2-3 เท่า ทำให้หลายคนเลือกที่จะเสี่ยงใช้อะแดปเตอร์ปลอมเหล่านี้โดยคิดว่าความโชคร้ายคงไม่น่าจะเกิดกับเรา (มั้ง)
บล็อกของ Ken Shirriff ซึ่งเป็นวิศวกรไฟฟ้า จึงได้จัดการแงะอะแดปเตอร์ปลอมออกเป็นชิ้่นๆ เพื่อให้เห็นถึงชิ้นส่วนภายในว่ามีอะไรบ้าง และอะไรทำให้อะแดปเตอร์ปลอมนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าของแท้ และสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างก็คือ ในอะแดปเตอร์ของแท้จากแอ็ปเปิ้ลนั้นมีการประกอบและการบุฉนวนในส่วนต่างๆ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และรัดกุมกว่า กล่าวคือ ส่วนวงจรแรงดันไฟสูง มีการหุ้มฉนวนอย่างดี สายไฟและชิ้นส่วนที่เป็นโลหะ ก็มีการติดฉนวนที่หน้าสัมผัส ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นจะมีโอกาสที่จะสัมผัสกันโดยตรงน้อยมาก ในขณะที่อะแดปเตอร์ของปลอมจะไม่ใส่ใจในจุดนี้ ทุกชิ้นส่วนเปิดเปลือยและมีโอกาสที่จะแตะและเกิดการลัดวงจรได้ง่ายมาก และหากจะให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลแล้ว ส่วนวงจรไฟสูงและวงจรไฟต่ำ จะต้องห่างกันอย่างน้อย 4 มม. อะแดปเตอร์ของแท้จากแอ็ปเปิ้ลนั้นหากกันประมาณ 5.6 มม. ขณะที่ของปลอมนั้นห่างกันเพียงแค่ 0.6 มม. เท่านั้น เรียกว่าเกือบจะโดนกันเลยทีเดียว
อีกจุดหนึ่งก็คือ ปกติแล้วไอแพดจะต้องใช้อะแดปเตอร์ขนาด 10 วัตต์เต็มในการชาร์จ แต่อะแดปเตอร์ของปลอมนี้ให้กำลังไฟแค่ 5-6 วัตต์เต็มเท่านั้น ในแง่ของอันตรายอาจไม่มี แต่ผลกระทบก็คือจะทำให้ระยะเวลาการชาร์จไอแพดนั้นยาวนานขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงรู้สึกว่าการชาร์จไอแพดมันนานขึ้นหลังจากเปลี่ยนมาใช้อะแดปเตอร์ปลอม
สำหรับคนเรียนไฟฟ้า แนะนำให้ไปอ่านต่อที่บล็อกของ Ken Shirriff นะครับ เพราะมีรายละเอียดแจกแจงครบถ้วนทีเดียว คลิกตามลิงค์ด้านล่างได้เลย
รู้แบบนี้แล้ว ยอมจ่ายแพงเพื่อใช้ของแท้สบายใจดีกว่าไหมครับ