หลายๆ ครั้งที่คอมพ์ของเราช้า ทำงานไม่ได้ดั่งใจมีสาเหตุมาจากฮาร์ดดิสก์ เพราะเมื่อเทียบกับฮาร์ดแวร์อื่นๆ แล้วฮาร์ดดิสก์ถือว่าช้ามากและมักเป็นคอขวดทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมลดลง สมัยก่อนมีวิธีแก้ปัญหานี้ 2-3 ทาง เช่น เปลี่ยนไปใช้ฮาร์ดดิสก์ที่เร็วขึ้นหรือทำ RAID แต่สมัยนี้เรามีทางออกอีกทางหนึ่งคือ Solid-State Drive หรือ SSD นั่นเอง วันนี้ PCToday จะมาแนะนำวิธีเลือกซื้อ SSD แบบง่ายๆ รวมถึงทิปส์เล็กๆ น้อยๆ อีกด้วย
สวัสดีครับแฟนๆ PCToday ทุกท่าน ตอนนี้เด็กๆ ก็เปิดเทอมกันแล้ว ส่วนวัยทำงานก็เข้าสู่ช่วงวันหยุดน้อย (หรือไม่มีเลย) กันอีกล่ะ แต่ไม่ว่าจะวัยไหนอาชีพไหนในฐานะคนไอทีแล้วคงไม่น่าเบื่อเสียทีเดียว หลายคนกำลังสนใจเมนบอร์ด Intel ซีรี่ส์ 9 รวมไปถึงซีพียู Haswell ล็อตใหม่ซึ่งว่ากันว่าสามารถโอเวอร์คล็อกได้ไกลกว่าเดิม
เท่าที่เห็นตอนนี้เมนบอร์ด Intel ซีรี่ส์ 9 ก็วางขายกันให้พรึ่บแล้ว น่าสนใจตรงที่หลายๆ รุ่นมีพอร์ตรุ่นใหม่อย่าง NGFF (M.2) ซึ่งใช้อินเทอร์เฟสใหม่อย่าง SATA Express ให้ด้วย ฮาร์ดแวร์ที่จะได้ประโยชน์จากพอร์ตใหม่ๆ เหล่านี้สูงสุดก็หนีไม่พ้น SSD นั่นเองครับ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะความนิยมและความต้องการใช้ SSD สูงขึ้นมาก และเทคโนโลยีของ SSD ก็พัฒนามากทีเดียว อย่างความจุนั้นก็มีถึงหลัก Terabyte แล้ว ส่วนความเร็วก็ทะลุ 1GB/s กันไปเรียบร้อยและอาจจะถึง 2GB/s ในเร็วๆ นี้
อยากเล่น SSD ต้องเริ่มยังไง
แน่นอนว่า SSD รุ่นท็อปที่ความจุสูงๆ หรือเร็วมากๆ นั้นราคาก็ยังถือว่าแพงกว่าฮาร์ดดิสก์ แต่ SSD ก็มีข้อดีเรื่องการประหยัดพลังงาน ความร้อนน้อยกว่า และกินพื้นที่น้อยกว่าด้วย สำหรับลูกค้ากลุ่มองค์กรหรือบริษัทใหญ่ๆ แล้วข้อดีเหล่านี้ช่วยให้ประหยัดงบ ประหยัดต้นทุนไปได้แยะ
แล้วสำหรับคนธรรมดาทั่วไปล่ะ…ราคาไงครับ SSD สำหรับ Consumer นั้นราคาลดลงมาเยอะมาก อย่างความจุขั้นต่ำที่ผมมักจะแนะนำคือ 120GB นั้น ราคาก็อยู่ราวๆ 3 พันบาทเท่านั้น จริงอยู่ที่ราคาขนาดนี้เอาไปซื้อ 1-2TB ได้สบายๆ แต่เชื่อเถอะครับว่าใครที่ได้ลองใช้ SSD แล้วจะไม่อยากกลับไปใช้ฮาร์ดดิสก์ การเลือกซื้อ SSD นั้นไม่ยากเลยเพียงแค่เราทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้เล็กน้อยก็เพียงพอแล้ว
Controller
ถ้าซีพียูเป็นสมองของคอมพ์ล่ะก็ Controller ก็คือสมองของ SSD คงจะไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าศูนย์กลางที่แท้จริงของ SSD คือตัว Controller ซึ่งมีหน้าที่หลายอย่าง หลักๆ แล้ว Controller ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างชิปข้อมูลกับคอมพ์ และดูแลจัดการการทำงานของ SSD ทั้งหมดไล่ตั้งแต่เข้า/ถอดรหัส, จัดการแคช, เก็บไฟล์ขยะ, จัดการ Bad block (คล้ายๆ Bad sector ใน HDD) ฯลฯ Controller มีความสำคัญทั้งในระดับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ทั้งนี้เพราะเฟิร์มแวร์ของ Controller เป็นตัวสั่งการให้ Controller ทำงาน
ฉะนั้นแล้วการเลือกซื้อ SSD นั้นต้องพิจารณา Controller ว่าเป็นของบริษัทไหน SSD บางยี่ห้อมี Controller เป็นของตนเอง (เช่น Intel, Samsung) ผู้ผลิต SSD ที่เหลือส่วนใหญ่ใช้ Controller ของบริษัทอื่น (Third-party) Controller ดังๆ ก็เช่น Marvell, SandForce, JMicron โดยมากแล้วบริษัทที่เป็นเจ้าของทั้ง SSD และ Controller มักจะผลิต SSD ที่มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง แต่ SSD ดีๆ ที่ใช้ Controller แบบ Third-party ก็มีไม่น้อย SSD ที่ใช้ Controller SandForce (โดยเฉพาะรุ่น 2281) ถือว่าเร็วพอสมควรและมีความน่าเชื่อถือสูง แต่หลายบริษัทหันมาใช้บริการ Marvell ซึ่งใหม่กว่า ฟีเจอร์เยอะกว่า และให้ผู้ผลิต SSD ทำเฟิร์มแวร์แบบ Custom ได้ด้วย
ชิป NAND
SSD นั้นเปรียบได้กับแฟลชไดรฟ์เพียงแต่ดีกว่าและซับซ้อนกว่า ที่เหมือนกันคือมันเก็บข้อมูลบนชิป NAND (หน่วยความจำแบบแฟลชประเภทหนึ่ง) อันกระติ๊ด แต่ชิป NAND บน SSD นั้นมีคุณภาพและอายุการใช้งานสูงกว่าในแฟลชไดรฟ์มาก ชิป NAND เหล่านี้แม้มีหน้าที่เพียงแค่เป็นที่เก็บข้อมูลแต่ก็มีผลต่อประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของ SSD มากเลยทีเดียว เช่น NAND แบบ SLC มีอายุการใช้งานยาวกว่า เสถียรกว่า และเขียนได้เร็วกว่าแบบ MLC
ระยะหลังมานี้ผู้ผลิต SSD ส่วนใหญ่หันมาใช้ชิป NAND แบบ MLC (ยกเว้น Samsung ซึ่งเน้นใช้แบบ TLC) เพราะราคาถูกกว่า SLC ราว 3 เท่าและยังมีความจุ (ต่อเซลล์หรือตร.มม.) สูงกว่า SLC เป็นเท่าตัว จึงสามารถผลิต SSD ที่ความจุสูงขึ้นแต่ราคาถูกลงได้ ปัญหาเรื่องอายุการใช้งานนั้นและความเสถียรมีการแก้ไขโดยใช้ซอฟต์แวร์และอัลกอริทึ่มเข้ามาช่วย
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ควรดูเวลาเลือกซื้อ SSD คือมาตรฐานของ NAND ที่ใช้ซึ่งหลักๆ ก็มี ONFi (ควรเป็น 2.x ขึ้นไป) และ Toggle Mode (ควรเป็น 2.0) ตรงนี้อาจจะต้องค้นข้อมูลกันลึกหน่อยหรือต้องพึ่งเว็บรีวิวเป็นหลัก ที่เตือนเพราะว่ามีกรณีเกิดขึ้นแล้วคือ Kingston SSDNow V300 ล็อตแรกๆ นั้นใช้ NAND มาตรฐาน Toggle Mode 2.0 แต่ล็อตหลังๆ มาจู่ๆ ก็เปลี่ยนมาใช้ NAND อีกยี่ห้อที่ใช้มาตรฐานต่ำกว่ามาก (น่าจะเป็น ONFi 1.x) โดยไม่มีการประกาศ ผลคือแม้จะเป็นยี่ห้อ/รุ่นเดียวกันแต่ความเร็วแตกต่างกันมาก
[quote_box_left]ONFi = Open NAND Flash Interface มาตรฐานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิป NAND มาตรฐานล่าสุดคือ ONFi 4.0 ดูรายชื่อสมาชิกที่เข้าร่วมได้ที่ https://www.onfi.org/membership
Toggle mode = เทคโนโลยีที่มีใน MLC NAND มีไว้เพื่อทำให้ชิป NAND มีความเร็วในการทำงานสูงขึ้น เทียบเท่า ชิปแบบ SLC มักเรียกอีกชื่อว่า Double Data Rate mode [/quote_box_left]
ความจุ
อย่างที่บอกไปนะครับว่าเดี๋ยวนี้ SSD มีความจุไม่แพ้ฮาร์ดดิสก์เลย ความจุ SSD ในปัจจุบันก็มีตั้งแต่ไม่กี่สิบ GB ไปจนถึง 4TB ก็มี แต่ขนาดแนะนำสำหรับยูสเซอร์ทั่วไปก็อยู่ราวๆ 120/128GB ไปจนถึง 480/512GB ส่วนใหญ่แล้วความจุของ SSD นั้นมีผลต่อประสิทธิภาพ/ความเร็วของ SSD ด้วย สังเกตว่าถ้าเป็น SSD ยี่ห้อ/รุ่นเดียวกันโมเดลที่ความจุสูงกว่ามักจะมีความเร็วอ่าน/เขียนสูงกว่า (ติ๊ต่างว่าให้ตัวแปรอย่างอื่นเหมือนกันหมด) สาเหตุหลักมาจากจำนวนชิป NAND ของรุ่นความจุสูงมีมากกว่าซึ่งทำให้การทำงานในแบบขนานออกมาได้ประสิทธิภาพสูงกว่า (นึกถึงการทำ RAID 0 – stripping) แต่ในความเป็นจริงมันมีคำอธิบายอื่นๆ อีก เช่น TRIM, Garbage collection, Erase block เป็นต้น
Over-provisioning
หรือเรียกง่ายๆ ว่าพื้นที่ที่หายไป หลายคนคงสงสัยเมื่อเห็น SSD จำนวนมากตั้งความจุไว้ที่ 120GB แทนที่จะเป็น 128GB เช่นเดียวกับ 240GB/256GB หรือ 480GB/512GB แล้วพอมาดูในวินโดวส์พื้นที่กลับยิ่งน้อยไปกว่านั้นอีก Overprovisioning มีด้วยกันหลายชั้นครับ ชั้นแรกเป็นความแตกต่างระหว่างหน่วยความจุแบบ Decimal (1GB=10003 bytes) กับ Binary (1GB=10243 bytes) หรือราวๆ 7.37%
ต่อมาเป็น Overprovisioning จริงๆ ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ผลิต SSD สำรองพื้นที่ไว้บางส่วน (ตั้งแต่ 0%-28%) เพื่อใช้งานหลายอย่างที่จำเป็นสำหรับการทำงานของ SSD เช่น cache, swap file หรือ Garbage collection เสียเป็นส่วนใหญ่ อีกส่วนเล็กๆ ที่หายไปนั้นอาจจะเอาไว้ใช้เป็นบล็อคสำรองในกรณีที่เกิด Bad block (เหมือนกับฮาร์ดดิสก์ที่มีเซกเตอร์สำรอง) หรือเป็นที่สำหรับเฟิร์มแวร์ ผู้ผลิต SSD อาจจะเลือกโฆษณาความจุของ SSD โดยที่รวมหรือไม่รวม Overprovisioning เข้าไปด้วยก็ได้ ขอให้เข้าใจว่าเค้าไม่ได้โกงนะจ๊ะ
TRIM
TRIM เป็นคำสั่งคอมพ์ ประเภทหนึ่งภายใน SSD หรือ OS ส่งไปยัง SSD เพื่อบอกให้ลบข้อมูลจากบล็อคที่ไม่ใช้งาน ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าทั้งฮาร์ดดิสก์และ SSD มีหลักการทำงานคล้ายกัน คือเมื่อเราลบไฟล์หรือข้อมูลใดๆ ไป ไฟล์หรือข้อมูลนั้นๆ ไม่ได้หายไป ณ ตอนนั้น แต่ฮาร์ดดิสก์/SSD จะมาร์คเซ็คเตอร์หรือบล็อคที่มีไฟล์/ข้อมูลนั้นอยู่ว่าเป็นขยะและจะลบจริงภายหลัง (เมื่อได้รับคำสั่งให้ลบหรือเมื่อมีการเขียนข้อมูลใหม่ทับ)
ทีนี้ถ้าไม่มีคำสั่ง TRIM ล่ะก็ SSD ก็จะเต็มไปด้วยบล็อคที่เป็นขยะ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพเพราะก่อนที่จะเขียนข้อมูลใหม่ทับต้องมีการลบข้อมูลเก่าทิ้งเสียก่อนทุกครั้งไป SSD หรือ OS ที่รองรับ TRIM จะคอยส่งคำสั่ง TRIM ให้ SSD จัดการลบบล็อคที่ไม่ใช้งาน (แต่มีข้อมูลขยะอยู่) เพื่อที่จะได้พร้อมเขียนข้อมูลใหม่ เท่าที่ทราบ SSD แทบทั้งหมดรองรับ TRIM ดังนั้นที่เหลืออยู่ที่ OS (Windows 7 ขึ้นไป, OS X 10.6 ขึ้นไป และ Linux kernel 2.6.33 ขึ้นไปรองรับ TRIM แต่ในกรณีของ Linux อาจจะต้องเปิดใช้งานเอง)
พอร์ตที่ใช้
SSD ที่ใช้กันส่วนใหญ่เป็นแบบ SATA และ mSATA ซึ่ง Transfer rate อยู่ตั้งแต่ 300MB/s – 500MB/s ขึ้นไป พอร์ต SATA 3Gb/s หรือ SATA 2.0 รองรับความเร็วสูงสุด (ในทางทฤษฎี) ไม่เกิน 2.4Gb/s หรือ 300MB/s เท่านั้น ดังนั้นแนะนำว่าถ้าเป็น SSD แบบ SATA ก็ควรจะใช้กับพอร์ต SATA 6Gb/s (ซึ่งรองรับได้ถึงราวๆ 600MB/s) ส่วน SSD แบบ mSATA นั้นก็เช่นเดียวกันคือควรใช้กับพอร์ต mSATA แบบ 6Gb/s นี่สำหรับ SSD ที่ใช้เทคโนโลยี SATA นะครับ
SSD รุ่นต่อๆ ไปจะเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีจากอินเทอร์เฟซอื่นๆ เช่น PCI Express และ SATA Express ในรูปของ PCIe SSD, NGFF (M.2) SSD ซึ่งสามารถรองรับ Transfer rate ได้สูงกว่า SATA มาก อย่าง SATA Express นั้นก็รองรับได้ถึง 1-2GB/s (เท่ากับ PCIe 2.0 x2-x4) หรือ 4-8GB/s ในกรณีของ PCIe 3.0 แต่ยูสเซอร์ทั่วไปคงไม่ได้ใช้ SSD แบบ PCIe กันซักเท่าไหร่ (ส่วนใหญ่แพงมาก) ส่วน M.2 SSD นั้นกำลังทยอยมาครับ