การออกกำลังกายถึงแม้จะมีประโยชน์ ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และความแข็งแรงของร่างกาย แต่ถ้าออกกำลังกายที่มาก หรือหักโหมจนเกินไป ก็อาจจะส่งผลเสียกับร่างกายได้เช่นกัน คำถามคือว่า? แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า กายออกกำลังกาย ที่เรากำลังทำอยู่นี้ มันพอดี หรือมากน้อยเกินกว่าที่สุขภาพของเราจะรับได้หรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีอยู่หลายวิธีที่ใช้ในการตรวจสอบร่างกายของตัวเอง ยังสามารถออกกำลังกายต่อได้มากน้อยแค่ไหน แต่วิธีที่ง่าย และดูจะเป็นที่นิยมมากที่สุดน่าจะเป็นการสังเกตจากจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งในปัจจุบันมีการผลิตอุปกรณ์สำหรับตรวจวัดความถี่ หรือจังหวะในการเต้นของหัวใจ ออกมาตอบสนองการใช้งานของผู้ที่นิยมการออกกำลังกายโดยเฉพาะ สำหรับใช้เป็นไกด์ไลน์ในการออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม กับสุขภาพร่างกายของตนเอง ซึ่งเจ้าอุปกรณ์ที่ว่านี้จะมีหน้าตา หลักการทำงาน และวิธีการเลือกซื้ออย่างไร บทความนี้มีคำแนะนำในการเลือกซื้อ และการใช้งานมาให้ได้ชมกัน
รู้จักกับ Heart Rate Monitor
ว่าด้วยเรื่องของอุปกรณ์สำหรับตรวจวัดจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือที่เรียกกันว่า Heart Rate Monitor ตัวย่อที่มักจะใช้กันก็คือ HRM ตรงตามตัวเลย อุปกรณ์ตัวนี้มีหน้าที่หลักของมันเลยก็คือ การตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ หรือชีพจร ของผู้ใช้งาน มีการผลิตขึ้นใช้งานครั้งแรกในปี ค.ศ. 1977 ใช้ในการทดสอบความเข้มข้นของการฝึกซ้อมของนักกีฬาสกีของประเทศฟินแลนด์ และเป็นที่นิยมใช้ กันมาจนถึงในปัจจุบัน โดยในส่วนของตัวเครื่อง HRM มีเทคนิค หรือวิธีการวัดจังหวะการเต้นของหัวใจอยู่หลายรูปแบบ ตามลักษณะการใช้งาน และตัวอุปกรณ์ ที่เห็นได้หลักๆ ก็จะมี
– การวัดชีพจร จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือ “Electrocardiography, ECG, หรือ EKG” ที่อาศัยการจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วแปลงกลับให้เป็นอัตราการเต้นของหัวใจ พบได้ในเครื่องตรวจวัดชีพจรทั่วๆ ไปทั้งแบบนาฬิกาข้อมือ หรือรูปแบบของสายรัดหน้าออก รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่เป็นลักษณะของ Electrode patch ซึ่งจะเป็นสายไฟเล็กๆ ต่อจากตัวผู้ทดลอง กับเครื่องวัดชีพจร เพื่อเฝ้าดูลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอัตราชีพจรในการทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเป็นต้น
– อีกรูปแบบหนึ่ง คือการตรวจวัดจากการเคลื่อนที่ของเลือด โดยใช้อุปกรณ์ตรวจวัด ติดไว้ที่หลายนิ้ว หรือติ่งหู คอยตรวจจับการเคลื่อนไหวของเลือดภายในร่างกายวิเคราะห์ออกมาเป็นอัตราความถี่ของการเต้นของหัวใจ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถพบเห็นได้ในเครื่องออกกำลังกายตามฟิตเนส หรือ ใช้แอพพลิเคชั่นวัดชีพจรในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ก็จะใช้หลักการเดียวกัน ซึ่งวิธีนี้อาจจะไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากมีความผิดพลาดสูง ไม่สามารถใช้ในการอ้างอิงตามหลักทางการแพทย์ได้ แต่ก็ยังไม่หายไปซะทีเดียว ยังมีการติดตั้งมาให้ในเครื่องออกกำลังกายต่างๆ อยู่เนื่องจากการทำงานไม่ซับซ้อนมีต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน ที่ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ใดๆ เพิ่มเติม ใช้ตัวกล้องที่อยู่ในสมาร์ทโฟน ก็สามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง ที่ใช้งานง่าย ไม่ต้องเสียเงินซื้อหา
ประเภทของเครื่องวัดชีพจร
สำหรับเครื่องวัดชีพจร เพื่อการใช้งานด้านกีฬาและการออกกำลังกาย ในปัจจุบันนี้มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งาน ตามความชอบ หรือความถนัด แต่หลักๆ แล้วก็จะมีองค์ประกอบคล้ายๆ กันคือ จะมีตัว คือ Transmitter หรือ อุปกรณ์ส่งสัญญาณชีพจร ซึ่งจะมีตัว “Electrod” นำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เข้าไปสู่ตัว “sensor pod” ส่งสัญญาณออกในรูปแบบของสัญญาณวิทยุ ไปยังตัวรับสัญญาณ หรือ Receiver เพื่อแสดงผลออกหน้าจอของตัวเครื่องอีกทอดหนึ่ง ประมาณนี้ ซึ่งในท้องตลาดเท่าที่เห็น สามารถจำแนกเครื่องวัดชีพจร ได้เป็น 4 รูปแบบหลักๆ คือ
1.) นาฬิกาวัดชีพจร จะเป็นอุปกรณ์สำหรับวัดชีพจร ที่ออกแบบมาในลักษณะของนาฬิกา เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกติดตัวผู้ใช้งานไปได้ในทุกๆ ที่ เวลาใช้งานก็เพียงแค่ จิ้มนิ้วลงไปที่ตัวเซ็นเซอร์ ที่อยู่บนหน้าปัดของนาฬิกา หรือใช้แบบที่เป็นสายรัดข้อมือซึ่งจะมีตัวเซ็นเซอร์ติดกับนิ้ว ตัวเครื่องวัดจะทำการวัดชีพจรจากเซ็นเซอร์ สำหรับวัดการเคลื่อนไหวของเลือด หรือการสูบฉีดเลือดของหัวใจ ในบริเวณปลายนิ้ว แปลค่าออกมาเป็นอัตราการเต้นของชีพจรให้เราได้รับทราบ
2.) นาฬิกาวัดชีพจรใช้สายคาดหน้าอก จากปัญหาความคลาดเคลื่อนในการวัดชีพจรด้วยการเคลื่อนที่ของเลือด ใน นาฬิกาวัดชีจรในแบบแรก จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเป็น นาฬิกาวัดชีพจร พร้อมสายคาดหน้าอกในแบบที่สอง ซึ่งจะมีตัวเซ็นเซอร์วัดชีพจรโดยเฉพาะ จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ติดอยู่ที่สายคาดหน้าอก ผู้ใช้จะต้องคาดตัวสายรัดนี้ไว้ตลอดเวลาที่ใช้งานเพื่อคอยวัดค่า คลื่นไฟฟ้าหัวใจแปลงเป็นอัตราการเต้นของชีพจร ส่งไปแสดงผลที่ตัวนาฬิกาที่ข้อมือ เพื่อความสะดวกในการดูระดับการเต้น และสูบฉีดเลือดของหัวใจ
3.) นาฬิกาวัดชีพจรแบบรัดข้อมือ จากแบบที่ 2 ที่ต้องใช้อุปกรณ์รัดหน้าอก ในการตรวจวัดชีพจรร่วมด้วยทำให้บางคนรู้สึกเกะกะ ไม่ชอบให้มีอุปกรณ์อะไรหลายๆ อย่างติดอยู่ตามร่างกาย จึงได้มีการพัฒนาต่อออกมาเป็นนาฬิกาวัดชีพจรที่ข้อมือ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สายรัดหน้าอกให้เกะกะ โดยใช้การวัดจากชีพจรบริเวณข้อมือ แทนตรงหน้าอกเพื่อความสะดวกในการใช้งาน แต่อาจจะไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่อาจจะยังมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง รวมถึงราคาที่ค่อนข้างสูงอยู่ เมื่อเทียบกับรูปแบบอื่นๆ
4.) เซ็นเซอร์วัดชีพจร อุปกรณ์วัดชีพจรอีกหนึ่งรูปแบบที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะสะดวก และใช้งานง่ายกว่า ตัวอุปกรณ์จะมีแค่ตัวเซ็นเซอร์ซึ่งอาจจะเป็น แบบสายรัดหน้าอก หรือรัดตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เพียงอย่างเดียว ไม่มีหน้าจอแสดงผล เพราะตัวเครื่องจะส่งข้อมูลออกไปยังสมาร์ทโฟน ที่เราใช้อยู่ ผ่านแอพพลิเคชั่น สามารถตรวจชีพจร วัดผลการทำงานต่างๆ ได้อย่างละเอียดมากกว่า โดยตัวเครื่องจะอาศัยการเชื่อมต่อกับตัวเครื่องสมาร์ทโฟนในแบบไร้สาย ซึ่งก็มีหลากหลายรูปแบบให้ได้เลือกใช้งานเช่น
– ANT+ เทคโนโลยีของ Garmin เป็นเทคโนโลยีเฉพาะ ซึ่งมีเฉพาะในสามาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ Android เพียงบางรุ่นที่ออกแบบมารองรับ เช่น SAMSUNG GALAXY NOTE 3, SONY ACRO S, HTC RHYME US, MOTOROLA MOTOACTV เป็นต้น คนใช้ไอโฟนสามารถซื้ออแดปเตอร์เสริมเช่น Garmin ANT+ Adapter for iPhone, หรือ Wahoo fitness key for iPhone & iPod มาใช้งานได้เช่นกัน
– Bluetooth 4.0 BLE เป็นเทคโนโลยีใหม่ มีเฉพาะในอุปกรณ์ของแอปเปิลเท่านั้น โดยถูกพัฒนาในเรื่องของการใช้พลังานที่น้อยเพื่อการใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น (BLE = Bluetooth Low Energy) ปัจจุบันมีใน iPhone4S ขึ้นไป iPod touch 5 Gen, iPod nano 7 Gen,iPad 3 และ iPad Mini
– Legacy Bluetooth ส่วนสมาร์ทโฟนของใครที่ไม่มี ANT+ และไม่รองรับ Bluetooth 4.0 BLE ด้วย ก็คงต้องเลือกรุ่นที่รองรับ บลูทูชแบบปกติไปใช้งาน ซึ่งก็มีให้เลือกใช้งานกันได้ หลากหลายรุ่น
วิธีการเลือกซื้อในส่วนนี้ ก็คงต้องดูจากเครื่องสมาร์ทโฟนที่เราใช้งานอยู่เป็นหลัก ใครใช้สมาร์ทโฟนรุ่นไหนยี่ห้ออะไร สามารถรองรับการเชื่อมต่อรูปแบบไหนได้บ้าง คงต้องไปเลือกกันเองตามความเหมาะสมของแต่ละชนิดอุปกรณ์
นอกจากนี้ บางรุ่นยังมีการพัฒนา ปรับแต่งความสามารถ เพิ่มลูกเล่นที่น่าสนใจ เข้ามาให้ผู้ใช้งาน สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก และใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น เช่น การติดตั้งชุดรับสัญญาณ GPS เพื่อระบุตำแหน่ง ความเร็ว และระยะทาง ในการวิ่ง หรือขี่จักรยานออกกำลังกาย มีบลูทูชสำหรับเชื่อมต่อข้อมูลกับสมาร์ทโฟน ในการทำงานรวมถึงการรับสาย ดูข้อมูล ดู sms จากตัวสมาร์ทโฟนได้เป็นต้น เป็นฟังก์ชั่นเสริม เพื่อการใช้งานต่างๆ ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
[…] ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://techonmag.com/2015/03/02/smartaction-heartratemonitor-buyerguide/ […]