ว่าด้วยเรื่องของเพจบน Facebook ปลอมมีให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ บ้างก็ปลอมเป็นเพจคนดังบ้าง เพจดาราบ้าง ปลอมเป็นเว็บไซต์ หรือสิ่งต่างๆ ที่มีคนให้ความสนใจอยู่ในขณะนั้น เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์แอบแฝงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้สำหรับล้อเลียนเพื่อความสนุกสนาน ใช้เพื่อการแอบแผงโฆษณา หรือหลอกให้คนเข้ามาติดตามเพจเยอะๆ จนถึงระดับหนึ่งก็จะนำเพจไปขาย รวมไปจนถึงการใช้เพื่อหลอกลวงประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อในรูปแบบต่างๆ ดังจะเห็นได้ตามข่าว ซึ่งบทความนี้จะช่วยแนะนำจุดสังเกตต่างๆ ของเพจจริงและเพจปลอมสามารถเลือกดูได้จากจุดใดบ้าง
1.) เครื่องหมายถูกยืนยันความถูกต้อง
หลายคนคงจะเคยเห็นเพจดารานักแสดง หรือเพจบางเพจที่มีเครื่องหมาย ติ๊กถูก อยู่ที่ด้านหลังของชื่อ เครื่องหมายนี้เป็นตัวช่วย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่มีการระบาดของเพจปลอมจำนวนมาก Facebook จึงได้ออกมาตรการยืนยันตัวบุคคลขึ้น ซึ่งใครที่ผ่านการยืนยันตัวบุคคลแล้ว ก็จะได้เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าด้านหลังชื่อ เพื่อยืนยันได้ว่าบุคคลหรือเพจนี้เป็นตัวจริงของแท้แน่นอน
ตัวอย่างเพจที่ได้รับการยืนยันแล้ว
และจะเจอติ๊กถูกด้านหลังของชื่อเพจ เมื่อทำการค้นหาจากช่องค้นหาด้วย
และเมื่อนำเมาส์ไปชี้ที่เครื่องหมายถูกสีฟ้า จะมีข้อความยืนยันจาก Facebook ปรากฏขึ้น ว่าเพจนี้ผ่านการตรวจสแบและยืนยันตัวบุคคลแล้ว มั่นใจได้
แต่บางคนก็ฉลาดพยายามที่จะทำปลอมขึ้นมาโดยการใส่ใว้ในรูปภาพ หรือส่วนของ cover ตามตัวอย่าง ซึ่งตำแหน่งจะไม่ถูกต้องรวมถึงเมื่อนำเมาส์ไปชี้ที่เครื่องหมายถูก ก็จะไม่มีข้อความใดๆ ปรากฏขึ้น
2.) จำนวนผู้ติดตามบ่งบอกตัวตนจริงๆ
แต่การยืนยันตัวตน สำหรับเพจ Facebook ในบ้านเราก็ยังไม่ได้แพร่หลายมีเพจที่ยืนยันตัวตนแล้วน้อยมากๆ อาจจะเพราะด้วยความยุ่งยากในการส่งเอกสาร หรือการดำเนินการต่างๆ อีกวิธีที่สามารถแยกแยะเพจจริงและปลอมออกจากกันได้น่าจะชัดเจนคือจำนวนผู้ติดตาม จะมีความต่างกันอยู่มาก โดยเฉพาะเพจปลอมที่เปิดขึ้นมาใหม่ จะเห็นได้อย่างชัดเจนมากๆ
สังเกตว่าเพจของแท้จะมีจำนวนผู้ติดตามที่มากที่สุด แต่ก็ต้องระวังบางคนที่ใช้วิธีต่างๆ ในการหลอกลวงทำให้เชื่อว่าเพจนั้นมีผู้ติดตามอยู่มากดังตัวอย่างที่มีการใส่ข้อมูลเพื่อหลอก ในช่องเกี่ยวกับ ซึ่งตรงนี้สามารถใส่ข้อความใดๆ ก็ได้ อาจจะต้องสังเกตกันดีๆ
3.) ข้อมูลในเพจช่วยบอกได้
นอกจากจำนวนคนแล้ว ข้อมูลในเพจก็สามารถบอกได้เช่นกัน ตรงนี้เราสามารถดูได้จากหน้า “About” หรือ “เกี่ยวกับ” จะบอกข้อมูลต่างๆ ของเพจนั้นๆ เช่น วันที่เริ่มต้น ก็จะสามารถบอกได้ว่าเพจไหนมีการเปิดขึ้นมาก่อนหรือหลัง (สามารถสันนิฐานได้ว่า เพจที่เปิดก่อนก็มักจะเป็นเพจที่ถูกต้อง) รวมถึงการใส่ข้อมูลอื่นๆ ซึ่งปกติแล้วเพจปลอมต่างๆ จะไม่สนใจใส่ข้อมูลในส่วนนี้ จะว่างไปหรือใส่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเป็นต้น
วิธีจัดการกับเพจปลอมเจ้าปัญหา
สำหรับใครที่รำคาญเพจปลอมเหล่านี้ เรามีขั้นตอนง่ายๆ ในการจัดการเพจเหล่านี้ได้ง่ายโดยการรายงานไปยัง Facebook ให้ทำการตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งมีวิธีการดังนี้
1.) อันดับแรกให้เข้าไปที่เพจปลอมจากนั้นกดที่ปุ่ม “…” เลือกไปที่ “รายงานปัญหาเพจ”
2.) จากนั้นเลือกรูปแบบที่จะให้ทาง Facebook ทำการตรวจสอบ
3.) สุดท้ายให้เราเลือกบล็อค หรือซ่อนข้อมูล ของเพจปลอมนี้ แล้วกดปุ่ม “เรียบร้อย” ด้านล่างก็เสร็จขั้นตอน