นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ Positional Tracking ซึ่งก็คือกล้องอินฟราเรดที่คอยจับตำแหน่งของผู้เล่น แล้วซิงค์ตำแหน่งให้ตรงกับโลกในเกม ตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้ง Positional Tracking ก็คือตำแหน่งด้านหน้าที่เสมอกับระดับสายตาของผู้เล่น ถ้าสูงหรือต่ำกว่ามาก เมื่อเข้าไปในเกมเราก็จะพบว่าตัวเองไปอยู่ใต้ดิน หรือ ลอยอยู่บนฟ้า นั่นเอง
การเชื่อมต่อใช้งาน
Oculus รุ่นพัฒนานี่ค่อนข้างรุงรังครับ เวลาใช้งานเพระสายสัญญาณมากมาย ประกอบด้วย สายยูเอสบีและสาย HDMI ซึ่งต่อจากแว่นมาที่เครื่องพีซี โดยเมื่อเชื่อมต่อแล้ววินโดวส์จะมองเห็น Oculus เป็นจอแสดงผลเพิ่มอีก 1 จอ สายสัญญาณที่ต่อกล้อง Positional Tracking เข้ากับแว่น Oculus และสายไฟเลี้ยงที่ต่อเข้ากับจุดอะแดปเตอร์ที่อยู่กลางสาย เป็นไฟเลี้ยงให้กับกล้องและพอร์ตยูเอสบี ในกรณีที่มีการต่ออุปกรณ์เพิ่มผ่านทางแว่น เช่น หูฟัง เป็นต้น
ส่วนสำคัญของการแสดงผลว่าจะเนียน หรือ ไม่เนียน อยู่ที่ตัวโปรแกรมที่ใช้ โดยในการใช้งานแว่น Oculus นี้จะต้องมีการติดตั้งไดรเวอร์ลงในวินโดส์ด้วย นั่นคือ Oculus Configuration Utility ซึ่งเป็นตัวกำหนดการทำงานของแว่น ในทางปฏิบัติแล้ว ลงไดรเวอร์แล้วไม่ต้องปรับอะไร ก็ใช้ได้เลย จะมีเพียงเมนูเดียวเท่านั้นที่ต้องเข้าไปปรับก็คือ Rift Display mode
โหมดการแสดงผลนั้นมี 2 แบบ คือ
1. Direct HMD Access from Apps คือการแสดงผลตรงไปยังแว่นตา พร้อมกับแสดงภาพที่เห็นลงบนหน้าจอมอนิเตอร์ปกติด้วย โหมดนี้จะใช้ได้กับแอพที่ทำขึ้นมาเพื่อการใช้งานเฉพาะกับ Oculus เท่านั้น เช่น เดโมต่างๆ ของ Oculus
2. Extend Desktop to the HMD คือการกำหนดให้แว่น Oculus เป็นหน้าจอที่สอง ขยายหน้าต่างวินโดวส์ออกไปเหมือนการต่อมัลติมอนิเตอร์นั่นเอง โหมดนี้ใช้เวลาเล่นเกม เมื่อเปิดเกมในโหมดวีอาร์ จะแสดงผลไปที่แว่น Oculus โดยอัตโนมัติ แต่จะไม่แสดงภาพบนหน้าจอหลักของเครื่อง
การเล่นกับเกมให้ได้ภาพแบบสามมิติเสมือนจริงนั้นมี 2 วิธี คือ
1. เล่นกับเกมที่สนับสนุน Oculus อยู่แล้ว อย่างเช่น Half-life 2 แค่เปิดเกมในโหมด VR ก็จะได้ภาพแบบเสมือนจริงทันที
2. ใช้ 3D ไดรเวอร์ตัวกลาง สำหรับการแปลงให้ใช้ Oculus เล่นได้กับเกมที่ไม่ได้สนับสนุนการแสดงผลแบบ VR โดยโปรแกรมตัวกลางที่นิยมในตอนนี้ก็คือ vorpX (https://www.vorpx.com/) โดยถึงแม้ว่าตัวโปรแกรมจะอยู่ในช่วงเบต้า แต่ก็เปิดขายให้คนได้ซื้อไปลองแล้วในราคา 39.99 เหรียญ หรือประมาณ 1,200 บาท
อีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่เสียงตังค์ก็คือ VIREio (https://vire.io/) ซึ่งเป็นไดรเวอร์ฟรี โหลดไปใช้ได้เลย เกมที่เล่นได้ที่เว็บบอกไว้ก็มีเยอะพอสมควรครับ แต่จากที่ผมได้ลองเอาไดรเวอร์มาเล่นกับเกม Dishonored ต้องบอกว่าไม่ง่ายเลย! เพราะนอกจากจะเซ็ตติ้งยากแล้ว แฮงค์บ่อย แถมภาพที่ออกมาก็ยังเพี้ยนอีกด้วย กับเกมอื่นๆ ยังไม่เคยลองครับ แต่คาดว่าน่าจะไม่ง่ายเหมือนกัน
ความรู้สึกเมื่อสวมใส่แล้วเล่นเกม
เกมที่เล่นได้เนียนและเข้ากันกับแว่นตัวนี้มากที่สุด (ที่ผมได้ลอง) ก็คือ Half-life 2 VR mode เป็นเพราะตัวเกมได้ปรับแต่งมาให้ใช้คุณสมบัติของแว่นวีอาร์ได้อย่างเต็มที่ พอสวมใส่ปุ๊บ เหมือนกระโดดเข้าไปอยู่ในเกมเลยครับ ตื่นตา ตื่นใจมาก เรียกว่าความสมจริงนี้เกินกว่าที่คิดไว้เยอะทีเดียว
ความมันส์ในการเล่นเกมก็ส่วนหนึ่ง แต่ผลกระทบก็ส่วนหนึ่งครับ สำหรับผม (และอีกหลายๆ คนที่ได้ลอง) มักเกิดอาการข้างเคียงตามมาระหว่างการเล่นและหลังจากเล่นแล้ว นั่นคือ มึนหัว มวนท้อง และคลื่นไส้นิดหน่อย ทั้งที่เล่นผ่านไปแค่ 2-3 นาทีเท่านั้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจครับ เพราะวีอาร์ที่เห็นมันคือเทคนิคของภาพที่เอาไปลองสมองของเราให้มองเห็นเสมือนสามมิติ มีระยะตื้น ระยะลึก ด้วยความที่โหมด VR ยังไม่สมบูรณ์มากนัก ย่อมทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้
ประโยชน์อื่นๆ ของ Oculus ก็คือ การใช้งานในแบบสามมิติอื่นๆ ได้ทั้งหมด (ถ้ามีโปรแกรมซัพพอร์ต) เช่น การดูหนังสามมิติ อันนี้ผมไม่ได้ลองครับ เพราะต้องใช้โปรแกรมเล่นหนังสามมิติเฉพาะทาง เช่น Cineveo VR Cinema รองรับทั้งหนังฟอร์แมต 3D Over-Under และ 3D Side-by-Side ตัวโปรแกรมขายอยู่ที่ 10 เหรียญครับ ไว้มีโอกาสซื้อจะลองแล้วนำมารีวิวอีกครั้งนะครับ
สรุปแล้ว Oculus นี้ยังอยู่ในช่วงพัฒนาอีกซักระยะครับ คงไม่ได้เสร็จภายในเดือน สองเดือนนี้แน่ๆ เพราะนอกจากจะต้องพัฒนากลไกการแสดงผลให้ราบรื่นกว่านี้ ส่วนของไดรเวอร์และความร่วมมือจากค่ายเกมต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะหลายๆ เกมก็อยากมอบประสบการณ์เสมือนจริงให้กับผู้เล่นอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเกมใหม่ล่าสุดอย่าง Alien : Isolation นี้ก็ทำออกมาให้ใช้กับ VR mode ได้ แต่ซ่อนไว้ ซึ่งในตอนนี้ก็มีคนเจาะเข้าไปเปิดคุณสมบัตินี้ได้แล้วโดยการแก้ไฟล์ ini เพียงไม่กี่บรรทัดเท่านั้นเอง