เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาทางทีมงาน Techonmag ได้มีโอกาสร่วมชมการสาธิตผลิตภัณฑ์ควบคุมและจัดการระบบบ้านอัจฉริยะ(Smart Home) ฝีมือคนไทยจาก บริษัท MV Communications ที่มีคุณสมบัติในการทำงานร่วมกับอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ในราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์จากเมืองนอก แต่ก่อนจะไปดูความสามารถของเจ้าเครื่องนี้ มาดูคุณสมบัติของอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่ควรมีในปัจจุบันก่อนดีกว่า
ความสามารถของสมาร์ทโฮมที่ควรมี
1. ความสามารถในการควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัย (Control)
2. ความสามารถในการเข้าถึงสถานะของอุปกรณ์ไฟฟ้าจากภายนอก (Monitor)
3. ความสามารถในการแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ (Notifications)
4. ความสามารถในการจัดสรรการ “เปิด/ปิด” อุปกรณ์ไฟฟ้า ให้สอดคล้องกับกิจกรรมโดยอัตโนมัติ(Events)
5. ความสามารถในการแสดงค่าปริมาณการใช้พลักงานไฟฟ้า (Power Usage)
6. ความสามารถในการแสดงค่าอุณหภูมิ และควบคุมเครื่องปรับอากาศ (Temprature+Control)
7. ความสามารถของระบบรักษาความปลอดภัย (Security)
7.1 กล้องวงจรปิด
7.2 เซนเซอร์ประตู เซนเซอร์หน้าต่าง เซนเซอร์ความเคลื่อไหว เซนเซอร์แก๊สพิษ
8. ความสามารถของระบบสั่งงานด้วยเสียง (Voice Command)
9. ความสามารถของระบบสั่งงานด้วยพิกัด GPS (Geo-fencing)
10. ความสามารถในการทํางานร่วมกับอุปกรณ์สมาร์ทโฮมอื่นๆที่หลากหลาย(Interoperability)
11. รองรับภาษาท้องถิ่นเช่นภาษาไทย
ซึ่งก็แน่นอนว่า 11 คุณสมบัติที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีอยู่ในอุปกรณ์ Home Logic นี้ด้วยเช่นกัน แต่จุดเด่นของ Home Logic อยู่ที่ความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่ใช้โปรโตคอลในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Zwave, WiFi,หรือ RF433MHz
การทำงานโปรโตคอลในรูปแบบต่างๆ
- Zwave เป็นโปรโตคอลการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่เป็นที่นิยมทั่วโลกในขณะนี้ ส่งสัญญาณผ่านคลื่นวิทยุ มีระยะส่งประมาณ 50-100 เมตร พร้อมเข้ารหัสแบบ 128 บิตซึ่งมีความปลอดภัยสูง ตัวเครื่องจะเชื่อมต่อกันแบบ MeshNetwork คือจะเชื่อมต่อกันกันเองเป็นเครือข่ายของอุปกรณ์สมาร์ทโฮมด้วยกันเอง เพื่อการทำงานร่วมกันเป็นระบบ
- WiFi เป็นอุปกรณ์สมาร์ทโฮมอีกรูปแบบหนึ่งที่รับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายของ WiFi ในบ้าน ทั้งการสื่อสารสั่งงานต่างๆ ในเครือข่ายนิยมใช้งานร่วมกัปเอปพลิเคชั่นเหื่อการควบคุมการทำงานจากสมาร์ทโฟน
- RF433MHz เป็นคลื่นวิทยุ ที่นิยมใช้กันในรีโมทคอนโทลต่างๆ ทั่วไป
จะเห็นได้ว่าแค่โปรโตคอล 3 ตัวนี้ก็สามารถทำงาน Home Logic สามารถควบคุมอุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่างๆ ที่มีในโลกนี้ได้เกือบทั้งหมดแล้ว ตัวอย่างการใช้งาน Home Logic ในการควบคุมอุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่างๆ ในบ้านเช่น ควบคุมระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์แสงควบคุมระบบไฟ เซ็นเซอร์การสั่นสะเทือนควบคุมการบุกรุก เซ็นเซอร์ตรวจสอบประตูหน้าต่างป้องกันการลืมเปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวติดตามคนในบ้าน เพื่อสั่งเปิดปิดอุปกรณ์ต่างๆ เช่นแอร์ ทีวี โคมไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถตั้งเวลาสำหรับเปิดปิดไฟบ้าน หรือสั่งงานอุปกรณ์ต่างๆ จากสมาร์ทโฟนที่ใช้งานอยู่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ภายในบ้าน หรือสั่งงานจากด้านนอกได้ตอลดเวลาที่ต้องการ
ตัวอย่างตัวโปรแกรมควบคุมซึ่งออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่าย จัดการได้ผ่านเว็บบราวเซอร์ ซึ่งสามารถใช้งานได้จากทุกอุปกรณ์ ทุกระบบปฏิบัติการ
และยังมีแอปพลิเคชั่นในการควบคุมเพื่อความสะดวกในการทำงาน เพียงแต่ในตัวแอปส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่องของการสั่งการทำงานง่ายๆ หากจะต้องตั้งค่าอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนเช่นการเพิ่มอุปกรณ์ ตั้งตารางการทำงานอาจจะต้องตั้งค่าผ่านเว็บบราวเซอร์เสียเป็นส่วนใหญ่
ตัวอย่างการกำหนดตารางการทำงานหรือกิจกรรมของอุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านตรงนี้อาจจะดูซับซ้อนหน่อย แต่ทางผู้ผลิตบอกไว้ว่า ถ้าศึกษาจนเข้าใจแล้วเราจะสามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างอิสระมากๆ ไม่ว่าเราจะต้องการรูปแบบไหน เราสามารถโปรแกรมกิจกรรมการทำงานได้ทั้งหมดตามที่ต้องการ
ความสามารถของ Home Logic นอกจากจะใช้สั่งงานกับอุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่างๆ แล้ว ยังสามารถตรวจสอบการใช้งานต่างๆ ดูกำลังไฟฟ้าที่ใช้เปรียบเทียบกับเดื่อนก่อน เพื่อคำนวณค่าพลังงาน หรือเพื่อการวางแผนการประหยัดพลังงานในอนาคต
แถมยังสามารถทำงานร่วมกับ IP Phone เพื่อการควบคุมและตรวจสอบการทำงานกับอุปกรณ์ต่างๆ เหมือนที่มีใช้งานอยู่ในโรงแรมชื่อดังต่างๆ ได้อีกต่างหาก
วีดิโอสาธิตการใช้งาน Home Logic
สรุปการทำงาน ส่วนตัวมองว่าเป็นอุปกรณ์ที่น่าสนใจทีเดียวโดยเฉพาะกับการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างหลากหลายมากๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะต้องเป้นอุปกรณ์อะไรของค่ายไหน แค่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้โปรโตคอลที่กล่าวมาก็ใช้ได้หมด ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกอุปกรณ์ต่างๆ มาทำงานร่วมกับเจ้าเครื่องนี้ได้อย่างอิสระ จะสั่งงานก็ง่า่ยผ่านแอปบนมือถือที่รองรับการสั่งงานด้วยเสียงได้ด้วย แถมมีราคาที่ไม่แพงนัก (ทางผู้ผลิตไม่ได้เปิดเผยราคาแต่บอกใบ้ว่าไม่ถึงหมื่น) แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าอุปกรณ์ตัวนี้ยังไม่ได้มีขายเป็นการทั่วไป ตอนนี้เน้นขายอยู่ตามโครงการบ้านจัดสรรในราคาสูงๆ บิ้วอินท์ไปพร้อมกับตัวบ้าน รวมถึงผลิตเป็น OEM ให้กับเเบรนด์ต่างๆ เท่านั้น