หากคุณเป็นผู้ดูแลระบบในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้องสมุด หรือห้องแล็บ ที่ต้องรับผิดชอบเครื่องคอมพิวเตอร์มากมายหลายสิบเครื่อง คุณควรต้องอ่านบทความนี้ เพราะผมกำลังจะนำเสนอวิธีการที่จะช่วยให้คุณสามารถลงวินโดวส์ได้ทีเดียวพร้อมกันเป็นร้อยเครื่อง โดยใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง สนไหมครับ!
การโคลนคอมพิวเตอร์ เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้การติดตั้งระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ต่างๆ ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็วและพร้อมใช้งานได้ทันที การโคลนที่นิยมใช้มากที่สุดก็เห็นจะเป็นการใช้โปรแกรมโกสท์ (Symantec Ghost) แต่นั่นก็เป็นการโคลนลงได้เพียงทีละเครื่อง หากต้องการโคลนคอมพิวเตอร์พร้อมกันทีละหลายๆ เครื่อง โปรแกรมที่ต้องใช้ก็คือ Symantec Ghost solution suite ที่มีฟีเจอร์ Multicast สามารถโคลนผ่านเครือข่ายได้พร้อมกันทีละหลายร้อยเครื่อง แต่แน่นอนว่าโปรแกรมนี้มีสนนราคาสูงถึงเกือบห้าสิบเหรียญต่อ 1 ไลเซนส์ต่อการซัพพอรต์ 1 ปี หากเป็นองค์กรขนาดใหญ่การจ่ายค่าไลเซนส์ที่สูงขนาดนี้คงไม่เป็นปัญหา เพื่อแลกกับการใช้งานที่ง่ายดาย และการบริการหลังการขายอย่างมืออาชีพ
แต่อย่างที่ผมโปรยไว้ข้างต้น ถ้าคุณเป็นผู้ดูแลระบบในบริษัทเล็กๆ โรงเรียน มหาวิทยาลัย อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และมีความรู้เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ เทคนิคและวิธีการที่ผมตั้งใจนำมาเสนอในครั้งนี้ จะช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากโข แถมมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการโคลนแบบ Multicast เพิ่มขึ้นอีกด้วย
รู้จักการโคลนผ่านเครือข่ายเบื้องต้น
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในปัจจุบันจะมีฟังก์ชั่นที่สามารถกำหนดให้บูตผ่านเครือข่ายได้ โดยคอนเซ็ปต์ง่ายๆ ก็คือเราตั้งเครื่องเซิร์ฟเวอร์ไว้ 1 เครื่อง พร้อมระบบปฏิบัติการที่รองรับการบูตผ่านเครือข่าย (PXE booting = Preboot Execution Environment booting โปรโตคอลมาตรฐานที่ใช้สำหรับบูตผ่านเครือข่าย) เครื่องลูกข่ายสามารถเรียกระบบปฏิบัติการพร้อมใช้งานได้เลยจากเครื่องเซิร์ฟเวอร์ และประมวลผลโดยใช้ซีพียูจากเครื่องลูกข่าย ด้วยแนวคิดนี้ เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการโคลนผ่านเครือข่ายได้เช่นเดียวกัน
การสื่อสารผ่านเครือข่ายนั้นมีอยู่ 3 แบบ ดังนี้
1. Unicast เป็นการสื่อสารแบบเดี่ยวๆ เครื่องต่อเครื่อง เซิร์ฟเวอร์จะส่งดาต้าไปยังเครื่องลูกข่ายที่ระบุไว้ โดยใช้ไอพีแอดเดรสหรือแมคแอดเดรส
2. Broadcast เป็นการกระจายสัญญาณไปยังทุกเครื่องในเครือข่ายที่อยู่ในซับเน็ตเดียวกัน วิธีการบรอดคาสต์นี้ก็อย่างเช่น การสตรีมมิ่งต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องระบุปลายทางผู้รับแต่อย่างใด
3. Multicast เป็นการกระจายสัญญาณไปยังทุกเครื่องในเครือข่าย โดยระบุปลายทางที่กำหนด เช่น ชุดไอพีแอดเดรสตั้งแต่ 1-100 เป็นต้น หรือระบุเป็นชุดแมคแอดเดรสก็ได้
การโคลนผ่านเครือข่ายทีละหลายๆ เครื่องแบบที่นิยมใช้ก็คือ Multicast เนื่องจากใช้ประสิทธิภาพของเครือข่ายได้ดีกว่า เซิร์ฟเวอร์ไม่รับภาระหนักมาก เพราะแค่กระจายสัญญาณไปยังชุดเครื่องลูกข่ายที่ระบุไว้เท่านั้น นอกจากนี้ หากเครื่องใด เครื่องหนึ่งมีปัญหา เครื่องที่เหลือก็ยังสามารถโคลนต่อไปได้จนเสร็จโดยไม่หยุดชะงักอีกด้วย ดังนั้นวิธีที่ผมจะนำเสนอในวันนี้ก็คือ การโคลนผ่านเครือข่ายด้วยวิธีการ Multicast นั่นเอง
อุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้
1. เครื่องคอมพิวเตอร์สเปกใดก็ได้ 1 เครื่อง สำหรับทำเป็นเซิร์ฟเวอร์ เน้นที่ฮาร์ดดิสก์มีความจุมาก และความเร็วสูงหน่อย ถ้าสามารถทำ RAID 1 หรือใช้ SSD ได้ยิ่งดี เพราะหากต้องการสั่งโคลนทีละหลายสิบถึงหลายร้อยเครื่อง ส่วนที่ทำงานหนักสุดคือฮาร์ดดิสก์ครับ ถ้าฮาร์ดดิสก์สามารถอ่านข้อมูลได้เร็วมากเท่าไร การโคลนก็จะไวขึ้น
2. สำหรับระบบเน็ตเวิร์กก็เป็นเรื่องสำคัญ ปกติพอร์ตแลนที่มากับเมนบอร์ดมักจะใช้ความเร็ว 10/100Mbps แต่ก็มีเมนบอร์ดระดับไฮเอนด์หลายรุ่นที่มากับพอร์ตแลน 10/100/1000Mbps แต่อย่างไรก็ดี ก็ขึ้นอยู่กับสวิทช์ที่เราใช้ด้วยครับ ว่าสนับสนุนกิกะบิตอีเธอร์เน็ตด้วยหรือไม่ แต่จากที่ได้ลองใช้งาน ก็พบว่าความเร็วเครือข่ายที่ 10/100Mbps ก็เพียงพอต่อการทำงานแล้ว
ในส่วนของพอร์ตแลน แนะนำว่าให้ใช้ 2 พอร์ต เมนบอร์ดบางรุ่นมีมาให้เลย 2 พอร์ตก็ดีไปสามารถนำไปใช้ได้เลยครับ แต่ถ้ามีแค่พอร์ตเดียว แนะนำให้หาการ์ดแลนมาใส่เพิ่มอีก 1 ใบ ในทางทฤษฏีแล้ว มีพอร์ตแลนเพียง 1 พอร์ต ก็สามารถใช้งานได้ แต่จะมีผลในเรื่องของความเร็วในการโคลน และต้องเสียเวลาเก็บ Mac address ของเครื่องแต่ละเครื่องเพื่อตั้งค่าไอพี แนะนำว่าให้ใช้การ์ดแลนเพิ่มอีกใบสะดวกที่สุดครับ
3. โปรแกรม CloneZilla Server Edition (SE) โปรแกรม CloneZilla เป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับการทำโคลนนิ่งพีซี ซึ่งจะมี 2 เวอร์ชั่น คือ CloneZilla Live เอาไว้โคลนเครื่องเดี่ยวๆ กับ CloneZilla SE สำหรับการทำโคลนทีละหลายเครื่อง ผ่านเครือข่าย เหตุที่ใช้โปรแกรมนี้ก็เพราะ CloneZilla SE เป็นโปรแกรมที่สามารถโคลนผ่านเครือข่ายทีละหลายเครื่อง หรือ Multicast ได้มีประสิทธิภาพที่ดีระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็น Opensource ถ้าเทียบการทำงานแล้วก็เทียบได้กับซอฟต์แวร์มัลติแคสต์อื่นๆ ที่มีราคาแพงเลยทีเดียว รายละเอียดของ Clonezilla SE ไปดูได้ที่ https://clonezilla.org/clonezilla-SE/
4. โปรแกรม DRBL (Diskless Remote Boot in Linux) เป็นโปรแกรมที่ทำให้เครื่องลูกในเครือข่ายสามารถบูตผ่านเครือข่ายและเข้าใช้ระบบปฏิบัติการบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ได้ (PXE Boot) ความพิเศษของ DRBL ก็คือ มาพร้อมกับ CloneZilla SE ด้วย ทำให้การทำโคลนผ่านเครือข่ายแบบมัลติแคสต์ง่ายขึ้น รายละเอียดของ DRBL ไปดูได้ที่ https://drbl.sourceforge.net/
5. โอเอสลินุกซ์ที่จะต้องติดตั้งลงบนเซิร์ฟเวอร์ ในทีนี้แนะนำให้ใช้ Ubuntu 12.04.1 LTS (Precise Pangolin) ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดที่ DRBL สนับสนุนและสามารถใช้งานได้
6. เครื่องมาสเตอร์สำหรับทำอิมเมจไฟล์เก็บไว้ เครื่องนี้ต้องติดตั้งโอเอสและลงโปรแกรมต่างๆ ให้เรียบร้อยเสร็จสิ้น เพื่อรอการทำเป็นมาสเตอร์ครับ
แผนผังการต่อเน็ตเวิร์ก
รูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการโคลนก็ไม่มีอะไรมากครับ ถ้าดูจากแผนผังจะเห็นว่า เรากำหนดให้การ์ดแลนใบแรกของเซิร์ฟเวอร์ (eth0) ต่อออกอินเทอร์เน็ต โดยอาจรับค่าจาก dhcp หรือจะฟิกซ์ไอพีกับเราเตอร์ก็ได้ แล้วแต่สะดวก ส่วนการ์ดแลนใบที่สอง (eth1) ทำเป็นโลคอลเน็ตเวิร์ก ต่อผ่านสวิทช์กระจายสัญญาณออกไปยังเครื่องลูกข่ายที่ต้องการทำโคลน รวมทั้งเครื่องมาสเตอร์ที่เป็นต้นฉบับด้วย การกำหนดไอพีสำหรับการ์ดใบที่สองนี้ จะบอกอีกทีหลังจากติดตั้ง drbl เสร็จแล้วครับ