เรื่องของการทำดูอัลโอเอส หรือการจำลองระบบปฏิบัติการ อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่มากนัก แต่ก็เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับบางคน ที่จำเป็นจะต้องใช้งานระบบปฏิบัติการหลายๆ รูปแบบ มีการแชร์ข้อมูลระหว่างกันไปมา รวมถึงนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่อาจจะต้องทดสอบโปรแกรม ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการอื่นๆ ที่ใช้งานอยู่ ซึ่งไม่สะดวกเอามากๆ หากจะต้องย้ายเครื่องที่ใช้งานไปมาระหว่างกับพัฒนา กับการทดสอบ การทำดูอัลโอเอสในเครื่องคอมพิวเตอร์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาได้ค่อนข้างดี
โปรแกรม BlueStacks App Player เป็นอีกหนึ่งซอฟต์แวร์ ที่ช่วยในการจำลองระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ บนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ก ซึ่งสามารถทำงานได้ทั้งบนระบบปฏิบัติการวินโดว์ และแมคโอเอส ของทางแอปเปิล มีความสามารถในการจำลองการทำงานของ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ เสมือนว่ากำลังใช้งานสมาร์ทโฟน หรือแท็ปเล็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์อยู่จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ หรือทูลต่างๆ ที่มีให้ครบ และยังมีเพลย์สโตร์ สำหรับดาวน์โหลด และติดตั้งแอพพลิเคชั่น ได้เหมือนกับสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ตทุกประการ
ติดตั้ง BlueStacks App Player
สำหรับการใช้งานโปรแกรม BlueStacks App Player มีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย เดือนละ 2$ ตกแค่ประมาณ 62 บาทต่อเดือน ถือว่าไม่เยอะมากมาย แต่ถ้าไม่อยากเสียเงินก็สามารถใช้งานแบบฟรีได้ จะมีข้อจำกัดเรื่องของจำนวนแอพ ฟีเจอร์ และโฆษณาอีกเล็กน้อย สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งได้ที่ www.bluestacks.com
ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากปุ่ม ”Download” สีเขียวมุมด้านล่างซ้าย ของหน้าเว็บไซต์ ขนาดของตัวติดตั้งโปรแกรม 15.24 MB. เมื่อติดตั้งเรียบร้อยแล้ว จะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 1.2 GB. หรืออาจะเพิ่มมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับจำนวนของแอพพลิเคชั่นที่เราติดตั้งเข้าไปเพิ่มเติมมีจำนวน และขนาดของตัวแอพพลิเคชั่นมากน้อยแค่ไหน
การติดตั้งและตั้งค่า
ในส่วนของการติดตั้งตัวโปรแกรม BlueStacks App Player สามารถทำได้เองง่ายๆ ไม่มีอะไรมากคล้ายๆ กับการติดตั้งโปรแกรมต่างๆ ของวินโดว์ทั่วๆ ไป เช่นจะยอมรับการติดตั้งหรือไม่ จะติดตั้งโปรแกรมนี้ไว้ที่โฟร์เดอร์ไหน เป็นต้น อันนี้ไม่ยากอยู่แล้ว แค่กดปุ่ม “Next” ข้ามไปจนติดตั้งเสร็จเรียบร้อยกดปุ่ม “Finish” ก็เรียบร้อย ขั้นตอนนี้มายากไม่ขออธิบายก็แล้วกัน
หลังจากที่ติดตั้ง พร้อมอัพเดทแอพพลิเคชั่นต่างๆ เสร็จเรียบร้อย ตัวโปรแกรมจะให้เราทำการสร้างยูเซอร์ ของแอนดรอยด์ที่ใช้สำหรับการ ดาวน์โหลด และติดตั้งแอพพลิเคชั่นต่างๆ คล้ายๆ กับ คำถามเมื่อเปิดใช้งานสมาร์ทโฟน หรือแท็ปเล็ต ที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เป็นครั้งแรก โดยจะต้องตั้งค่าดังนี้
1.) เมื่อเปิดใช้งานโปรแกรม BlueStacks เป็นครั้งแรกโปรแกรมจะบังคับให้เราผูกไอดีของ Gmail ของกับโปรแกรม โดยในหน้าแรกจะมี 2 ตัวเลือก ถ้าผู้ใช้มีอีเมล์ของ Gmail อยู่แล้ว ให้กดปุ่ม “ที่มีอยู่” หรือ “Existing” มุมด้านล่างซ้าย โปรแกรมเสร็จแล้วจะมีช่องให้เรากรอก ข้อมูลอีเมล์ และพาสเวิร์ดของ Gmail เพื่อลงทะเบียนผูกเข้ากับระบบของแอนดรอยด์ ในการซื้อแอพและจัดเก็บข้อมูลต่างๆที่จำเป็นบนคลาวด์ ให้อัตโนมัติ
2.) ส่วนใครที่ไม่ได้ใช้งาน Gmail จะต้องสร้างบัญชีใหม่ โดยกดที่ปุ่ม “ใหม่” หรือ “New” โปรแกรมจะให้เราทำการกรอกชื่อ และ นามสกุล ผู้ที่จะขอใช้บริการ Google Services
3.) จากนั้นจะให้ตั้งชื่ออีเมล์ของ Gmail เพื่อผูกกับบริการของ Google Services ตรงนี้ไม่ได้มีข้อบังคับใดๆ ขอเพียงแต่จะต้องไม่ซ้ำกับไอดี Gmail ของคนอื่นที่มีอยู่แล้เท่านั้น เมื่อกรอกชื่อที่ต้องการลงไปเรียบร้อยแล้ว โปรแกรมจะทำการตรวจสอบกับเซิฟเวอร์ของ Gmail ให้โดยอัตโนมัติ ถ้านึกไม่ออกสามารถให้ทาง Gmail ช่วยแนะนำได้โดยการกดที่ปุ่ม “Touch for suggestions” ด้านล่าง
4.) หลังจากนั้นโปรแกรมจะให้เราตั้งค่าพาสเวิร์ด โดยบังคับจะต้องเป็น ตัวอักษร และตัวเลข รวมกันอยู่ในพาสเวิร์ด รวมกันไม่น้อยกว่า 8 ตัวอักษร
5.) จากนั้นจะให้ตั้งค่าเกี่ยวกับการกู้ข้อมูล การใช้งานกับโปรแกรมอื่นๆ ที่ใช้ Google Services เช่น Google+ ให้เลือก “Not now” ไปเลื่อยๆ จนถึงขั้นตอนสุดท้าย เกี่ยวกับการยอมรับข้อตกลงในการใช้งานกับ Google Play ให้กดที่ปุ่ม “I accept” และกรอกรหัส Captcha ให้เรากรอกเพื่อยืนยันตัวตนอีกครั้ง
6.) ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการกรอกข้อมูลบัตรเครดิตสำหรับซื้อแอพพลิเคชั่น และซื้อบริการอื่นๆ ถ้าไม่คิดจะซื้ออยู่แล้วขั้นตอนนี้แนะนำให้กด “ข้าม” หรือ “SKIP” ผ่านไปได้เลย
7.) สุดท้ายโปรแกรมจะถามเกี่ยวกับการซิงค์ข้อมูลต่างๆ เก็บไว้ในบนระบบคลาวด์ของ Google ซึ่งเราสมารถเลือกเฉพาะ บางรายการได้ มีให้เลือกเฉพาะที่ต้องการดังนี้ App Data, Browser, Calendar, Contacts, People details เลือกเสร็จแล้วกด “Next” เป็นอันเสร็จขชั้นตอนสามารถใช้งานได้เลยในทันที
การใช้งาน BlueStacks
สำหรับการใช้งานโปรแกรม BlueStacks หลักๆ จะใกล้เคียงกับการใช้งาน ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์โดยปกติทั่วไป เพียงแต่ฟีเจอร์ต่างๆ อาจจะมีหน้าตาที่แตกต่างออกไป เช่นหน้าโฮมสกรีน ของ BlueStacks จะเรียบมีเฉพาะภาพของแอพพลิเคชั่นต่างให้เลือกติดตั้ง(เฉพาะเวอร์ชั่นทดลองใช้ฟรี) โดยจะมีฟีเจอร์ต่างๆ ที่สำคัญๆ อยู่ดังนี้
1.) Notification จะอยู่ที่มุมบนด้านซ้ายของหน้าจอสำหรับการแจ้งเตือนข้อมูลต่างๆ จากแอพพลิเคชั่น สามารถเปิดดูได้โดยการลากเมาส์จากมุมด้านบนซ้าย ลงมาเล็กน้อย ตามภาพตัวอย่าง
2.) Settings เป็นส่วนสำหรับการตั้งค่าการทำงานต่างๆ ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าภา คีย์บร์ด ซิงค์ข้อมูลบนคลาวด์ ไปจนถึงการตั้งเวลา สามารถปรับแต่งได้จากหน้านี้ โดยวิธีการจะต้องลากนิ้วที่มุมบนด้านขวา ลงมาเล็กน้อย จะมีปุ่ม “Setting” ปรากฏขึ้น
3.) Home ในส่วนของหน้าโฮมจะมีเครื่องมีสำหรับควบคุมการทำงานต่างๆ อยู่ทางด้านล่างทั้งหมด 6 ปุ่ม ไล่จากทางซ้ายไปขวา ประกอบด้วย ปุ่มย้อนกลับเมนูก่อนหน้า “Back”, ปุ่มโฮมสำหรับหรับกลับไปยังหน้าโฮมสกรีน, ปุ่มเมนูสำหรับเรียกดูแอพพลิเคชั่นที่เปิดค้างไว้ และสามารถปิดแอปที่รันอยู่ได้โดยการกดสไลด์แอปขึ้นไปด้านบน ส่วนด้านขวา เริ่มจากปุ่มแรก จะเป็นปุ่มแคปเจอร์หน้าจอ ปุ่มที่ 2 เป็นปุ่มย่อและขยายหน้าจอ และสุดท้ายรูปเครื่องหมาย “X” เป็นปุ่มปิดการทำงาน
4.) Appications สำหรับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เราได้ติดตั้งไว้ทั้งหมด จะแสดงอยู่ในแถวบนสุดของหน้าโฮมสกรีนบางส่วน ที่เหลือสามารถดูได้ในหน้าต่างแอพพลิเคชั่นโดยกดที่ปุ่ม All App รูปเครื่องหมาย “+” ที่มุมบนด้านขวาภายในจะมีแอพพลิเคชั่นทั้งหมดที่เราได้ทำการติดตั้งโชว์ไว้สำหรับเรียกใช้งานได้
การติดตั้งแอปจาก Play Store และจากไฟล์ .Apk
ในส่วนของการติดตั้งแอพพลิเคชั่น ซึ่งตามปกติแล้วจะสามารถทำการติดตั้งได้ 2 รูปแบบคือ การติดตั้งผ่าน แอปที่ชื่อว่า Play Store ซึ่งจะรวบรวมเอาแอพพลิเคชั่นที่นักพัฒนาส่งให้ทางกูเกิลขาย หรือแจกฟรี บนหน้าสโตร์ของทางกูเกิล ซึ่งใน BlueStacks จะไม่มีแอพพลิเคชั่นนี้อยู่ในหน้าโฮมสกรีน และสามารถหาแอปและโหลดมาติดตั้งได้ผ่านทางเครื่องมือ “Search” โดยวิธีการ หลังจากที่กดที่ปุ่ม Search รูปแว่นขยายแล้วให้ทำตามขั้นตอนดังนี้
1.) ลำดับแรกให้ทำการคีย์ชื่อ ของแอพพลิเคชั่นที่เราต้องการติดตั้ง ลงไปในช่อง Search โปรแกรมจะทำการค้นหาแอพพลิเคชั่น ใน Play Store ตามคีย์เวิร์ดที่เราได้กรอกลงไป ขึ้นมาแสดง
2.) หากแอพพลิเคชั่นที่ค้นหามีมากกว่า 1 แอป โปรแกรมจะนำรายชื่อแอปทั้งหมดที่ค้นหาเจอขึ้นมาแสดงที่หน้าจอเพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือก แอพพลิเคชั่นที่ต้องการ ได้อย่างถูกต้อง
3.) เมื่อเราเลือกแอพพลิเคชั่นที่ต้องการได้แล้ว ให้กดที่ปุ่มติดตั้ง มุมบนด้านขวา เพื่อทำการติดตั้งแอพพลิเคชั่นที่เราต้องการลงไปในเครื่อง
4.) ซึ่งก่อนที่โปรแกรมจะทำการติดตั้งแอพพลิเคชั่นนั้นๆ โปรแกรมจะแสดงข้อมูลที่แอพพลิเคชั่นนั้นต้องการที่จะเข้าถึง หรือร้องขอ เพื่อให้ผู้ใช้ตรวจสอบความถูกต้อง ป้องกันโปรแกรมไวรัสปลอมตัวเข้ามาขโมยข้อมูลที่สำคัญของเราเป็นต้น ถ้าไม่มีอะไรน่าสงสัยให้กดที่ปุ่ม “ยอมรับ” ด้านล่างโปรแกรมจะทำการติดตั้งแอพพลิเคชั่นไว้ในหน้า “All App” ตามที่ได้อธิบายไว้ในด้านบน
5.) ส่วนแอพพลิเคชั่น ที่ มาในรูปแบบของไฟล์ .APK ทั้งหลาย ไม่ว่าจะดาวน์โหลดมาจากเน็ต หรือก็อปใส่เมมแบบไหนมาก็แล้วแต่ เราสามารถติดตั้งได้ โดยการดับเบิลคลิ๊กที่ตัวไฟล์ .APK นั้นๆ ตัวโปรแกรมจะทำการเปิดตัวเองและติดตั้งให้โดยอัตโนมัติ แม้ว่าจะไม่ได้เปิดโปรแกรม BlueStacks เอาไว้ก็ตาม