ไมโครซอฟท์ เปิดเผยผลการวิจัยความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าร้อยละ 63 ของดีวีดีปลอมแปลงและคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งด้วยระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์มีความเสี่ยงต่อไวรัสและมัลแวร์ ทีมพิสูจน์ความปลอดภัยของไมโครซอฟท์ได้ทำการวิจัยโดยใช้ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ 118 รายการ ที่ซื้อมาจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และ เวียดนาม จากกลุ่มตัวอย่างที่ตรวจสอบเบื้องต้นพบคอมพิวเตอร์ติดไวรัสและมัลแวร์กว่า 2,000 รายการ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นไวรัสที่อันตรายต่อคอมพิวเตอร์อย่างมากหลากหลายชนิด อาทิ Backdoors Hijackers Droppers Bots Crackers Password Stealers และ Trojans
ผลการวิจัยแจ้งว่า ร้อยละ 77 ของคอมพิวเตอร์ที่นำมาตรวจสอบพบ Windows Update ไม่ทำงานหรือถูกส่งไปยังบริการอัพเดตของกลุ่มบุคคลที่สาม เนื่องจากการที่ Windows Update ไม่ทำงาน ระบบคอมพิวเตอร์จึงเลี่ยงการตรวจสอบของซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์และไม่ยอมรับการอัพเดทโปรแกรมความปลอดภัยที่จำเป็น ทำให้คอมพิวเตอร์ไม่สามารถป้องกันตัวเครื่องจากการถูกไวรัสโจมตี การติดไวรัส และการถูกเจาะเข้าสู่ระบบได้
อาชญากรรมทางไซเบอร์ทุกรูปแบบจะใช้ไวรัสในการบุกรุกเพื่อผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย ตั้งแต่การเจาะรหัสเพื่อเข้าไปขโมยข้อมูลทางการเงินและบัตรเครดิต รวมไปถึงการส่งอีเมล์ขยะหรือส่งคำขอเป็นเพื่อนที่มีเจตนาฉ้อโกงทาง Social Media ในรูปของการบริจาคการกุศลหรือการยื่นข้อเสนอหลอกลวง (อาทิ จากสินค้าที่เป็นยาปลอม) อาชญากรรมเช่นนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทผิดกฎหมายเหล่านี้นั่นเอง สำหรับองค์กรธุรกิจต่างๆ ความเสี่ยงเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมข้อมูลลับของบริษัทและการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ติดไวรัสซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำ ระบบการทำงานล้มเหลวและหยุดชะงักบ่อยครั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ได้นำไปสู่ความเสียหายทางการเงินที่รุนแรงและความเสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียงของบริษัท
“ผลการวิจัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการใช้ซอฟต์แวร์ปลอมมีอันตรายต่อผู้ใช้จริง” นาย เจฟ บัลวิงเคิล ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและองค์กร ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น ของไมโครซอฟท์ เปิดเผย “ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์เปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดของอาชญากรรมทางไซเบอร์ และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นสูงมากกว่าราคาของซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์เสียอีก เราจึงอยากช่วยให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภคเพื่อให้มั่นใจว่าการใช้งานคอมพิวเตอร์ปลอดภัยจากสิ่งเหล่านี้”
จากรายงานของ Norton Cybercrime ปี 2012 พบว่าค่าความเสียหายจากอาชญากรรมทาง ไซเบอร์มีมูลค่ามากถึง หนึ่งแสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยต่อหนึ่งคนเท่ากับ 197 ดอลล่าร์สหรัฐ
หน่วยงานจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องการพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญา โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงผลกระทบของการใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และได้พยายามลดจำนวนสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย นอกจากนี้ ทางกรมฯ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคหันมาใช้เฉพาะซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์
บก.ปอศ. ได้แนะนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเพราะนอกจากจะเป็นการละเมิดกฎหมายแล้วผู้บริโภคยังจะทำให้ตัวเองและครอบครัวเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากสแปม โปรแกรมไวรัส หรือมัลแวร์ ซึ่งจะเกิดผลเสียทั้งต่อข้อมูลและหากนำไปใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินอาจเกิดปัญหาได้ภายหลัง
“ได้มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีเจตนาซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย แต่ก็มีผู้บริโภคอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ถูกหลอกให้ซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยผู้ขายอ้างว่าเป็นซอฟต์แวร์มีลิขสิทธิ์ บก.ปอศ.จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษก บก.ปอศ. กล่าว
ไมโครซอฟท์ มีคำแนะนำให้แก่ผู้บริโภคปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนี้
- ถามหาซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ทุกครั้ง
- ซื้อจากผู้แทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือและหลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ ‘คุ้มค่าเกินความเป็นจริง’
- ตรวจสอบให้มั่นใจว่าสินค้าที่ซื้ออยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เรียบร้อย
- หากเป็นคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์วินโดวส์ กรุณามองหาฉลากของแท้หรือใบรับประกันของแท้ที่ติดไว้กับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่ได้ติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์แล้ว สำหรับการตรวจสอบหลังการซื้อ สามารถเข้าสู่ระบบได้ที่ www.howtotell.com เพื่อยืนยันว่าฉลากที่มีอยู่นั้นเป็นของแท้
หากลูกค้าที่สงสัยว่าซอฟต์แวร์ที่ซื้อมาเป็นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถแจ้งได้ที่ www.microsoft.com/piracy ลูกค้าที่แจ้งการละเมิดกฎหมายที่น่าสงสัยได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และช่วยให้เราสามารถการต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ดีขึ้น ไมโครซอฟท์ ได้ให้ความสำคัญกับทุกเรื่องที่ร้องเรียนอย่างจริงจังเพื่อรับรองว่าทุกคนจะมีชุมชนไซเบอร์ที่ปลอดภัย ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ไมโครซอฟท์ได้รับการรายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 10,000 คำร้องเรียน จากลูกค้าที่ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ ‘ของแท้’ แต่ไม่สามารถหนีพ้นจากร้านค้าละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้ได้ และสุดท้ายต้องพบกับความเสี่ยงและความไม่ปลอดภัยต่างๆ บนคอมพิวเตอร์ ผลการวิจัยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีข้อสรุปที่คล้ายคลึงกับผลการวิจัยที่เพิ่งรายงานออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยไมโครซอฟท์ ประเทศจีน และไมโครซอฟท์กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบนคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลุ่มตัวอย่างคอมพิวเตอร์และซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ที่ใหญ่ขึ้น เพื่อที่จะนำผลสรุปมาเป็นตัวอย่างในการศึกษาให้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ การคุกคาม และความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ไมโครซอฟท์ คาดว่าจะตีพิมพ์ผลการวิจัยและบทวิเคราะห์อย่างเต็มรูปแบบในไตรมาสแรกของปี 2556