การสำรวจนี้ได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 พร้อมกับการเปิดตัวกิจกรรม #WeSpeakCode (#วีสปีคโค้ด) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ YouthSpark (ยูธสปาร์ค) โดยได้ทำการสำรวจนักเรียนและนักศึกษากว่า 1,850 คน ที่มีอายุต่ำกว่า
24 ปี จาก 8 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย เพื่อสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนนักศึกษาที่มีต่อการเขียนโค้ดหรือการพัฒนาซอฟต์แวร์ และโอกาสในการเรียนรู้เรื่องโค้ดซึ่งเปิดกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน โดยกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้เป็นนักเรียนนักศึกษาที่มาจากหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็น ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สเต็มศึกษา (STEM Education – วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์) ธุรกิจ และ สาขาวิชาอื่นๆ
จากการสำรวจพบว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 89) ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโค้ดมากขึ้น และกว่าร้อยละ 94 ต้องการให้มีการบรรจุการเขียนโค้ดเป็นวิชาหลักในหลักสูตรการศึกษา เนื่องจากการเขียนโค้ดสามารถช่วยสร้างความสนใจและพัฒนาจินตนาการให้กับนักเรียน นำมาซึ่งการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
การสำรวจนี้ยังแสดงให้เห็นว่านักเรียนของไทยมีความเข้าใจถึงผลกระทบของเทคโลยีที่มีต่อธุรกิจและสังคม โดยร้อยละ 88 คิดว่าทักษะการเขียนโค้ดมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพในอนาคต และกว่า 3 ใน 4 (ร้อยละ 75) ของกลุ่มสำรวจ เห็นด้วยว่าการเขียนโค้ดเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในทุกสาขาอาชีพในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสาขาใดก็ตาม
“ผลการสำรวจของไมโครซอฟท์เรื่องนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ในประเทศไทย เห็นความสำคัญของการเขียนโค้ดที่ช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และเตรียมความพร้อมสำหรับความสำเร็จในอนาคตได้เป็นอย่างดี” นายฮาเรซ คูบจันดานิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “โลกของเรากำลังก้าวไปสู่ยุคโมบายและคลาวด์ นี่จึงเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับครูผู้สอนและบุคลากรในวงการการศึกษาในภูมิภาคนี้ ที่จะผลักดันให้การเขียนโค้ดเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการศึกษาโดยเร็วที่สุด”
ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจจากการสำรวจของกลุ่มตัวอย่างจากประเทศไทย ได้แก่:
- นักเรียนไทยกว่าร้อยละ 49 มีความเห็นว่าการเขียนโค้ดช่วยให้เข้าใจโลกดิจิทัลในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น และ ร้อยละ 44 คิดว่าทักษะการเขียนโค้ดจะช่วยให้พวกเขาหางานได้ง่ายขึ้น
- แม้จะดูเหมือนว่าวงการนี้ได้รับความสนใจจากเพศชายมากกว่า แต่จากผลการสำรวจได้ชี้ให้เห็นว่า เยาวชนไทยทั้งเพศชาย (ร้อยละ 91) และเพศหญิง (ร้อยละ 86) ต่างเห็นความสำคัญของการเขียนโค้ดว่าเป็นทักษะที่สำคัญต่อการประกอบอาชีพในอนาคต
- ร้อยละ 86 ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนและนักศึกษาด้านศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ค่อนข้างห่างไกลจากความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องการที่จะเรียนรู้ด้านการเขียนโค้ด นี่เป็นการตอกย้ำว่าเยาวชนไทยรับรู้ถึงความสำคัญของการศึกษาด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดี
นอกจากเราจะได้เห็นแนวโน้มความสนใจต่อการเขียนโค้ดในวงกว้างแล้ว ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่านักเรียนและนักศึกษาในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมจากผู้ปกครองและโรงเรียนเป็นอย่างดี โดยร้อยละ 70 ของกลุ่มตัวอย่างกล่าวว่ามีโอกาสในการเรียนเขียนโค้ดในโรงเรียนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน และร้อยละ 65 กล่าวว่าผู้ปกครองของพวกเขาเห็นด้วยว่าการเขียนโค้ดเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตของพวกเขา
นับเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ด้านโรงเรียนและผู้ปกครอง ควรให้การส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในการเริ่มเรียนเขียนโค้ดมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อนักเรียนนักศึกษาในประเทศไทยกว่าร้อยละ 84 เปิดเผยว่า พวกเขายินดีที่จะเรียนการเขียนโค้ดเพิ่มเติม
หลังเลิกเรียน ยิ่งไปกว่านั้นร้อยละ 51 ของนักเรียนไทยที่ตอบแบบสำรวจ ได้มองข้ามการเรียนในห้องเรียนและเริ่มศึกษาการเขียนโค้ดด้วยตัวเองทางออนไลน์
เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนและตื่นตัวในการเรียนโค้ด ไมโครซอฟท์ ได้จัดกิจกรรม YouthSpark #WeSpeakCode ขึ้นเป็นปีที่สองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซี่งในปีนี้จะมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยมีการจัดกิจกรรมในประเทศต่างๆ กว่า 13 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้มีประสบการณ์ในการเขียนโค้ดและการเป็นนักพัฒนา โดยกิจกรรมในครั้งนี้จะมอบเครื่องมือและทรัพยากรต่างๆ และประสบการณ์ให้กับเยาวชนเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนให้กลายเป็นความจริง ไม่ว่าพวกเขาจะมีเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ตลอดภาคการศึกษา หรือตลอดทั้งปีก็ตาม
แคมเปญในปีนี้เริ่มเปิดตัวในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา และมีการจัดกิจกรรมการเขียนโค้ดครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่มีความสนใจ โดยมีตัวแทนจากหลากหลายวงการเข้าร่วมกิจกรรมเกือบ 200 คน เพื่อรวมพลังสนับสนุนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการเขียนโค้ดสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยภายในงานมีตัวแทนจากภาครัฐอย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการสภาการศึกษา และนายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาร่วมเป็นเกียรติในงาน
รองศาสตราจารย์ ดร. พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย ไมโครซอฟท์ ในครั้งนี้ว่า “ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นสังคมใหม่ที่เราทุกคนต้องปรับตัว จะมีการเคลื่อนย้ายของแรงงานและตลาดทุนในภูมิภาคนี้อย่างเป็นระบบ เยาวชนที่จบการศึกษามาใหม่ต้องแข่งขันกับคนอีกกว่า 600 ล้านคนไม่ใช่เพียงคนไทยแค่ 60 กว่าล้านคน เพราะฉะนั้นการพัฒนาศักยภาพให้กับเยาวชนไทยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีซึ่งสอดคล้องกับ
นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล การเรียนเขียนโค้ดคือการทำความเข้าใจรากฐานของเทคโนโลยีทุกอย่าง เป็นการปลูกฝังและสร้างวิธีคิดแบบใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง ดิจิทัล โซไซตี้ ขอชื่นชม ไมโครซอฟท์ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย”
“ขอชื่นชมทางไมโครซอฟท์และพันธมิตร อย่าง สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ สอ.ดย. และ สถาบัน Change Fusion ในการจุดประกายการเรียนรู้ในด้านสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาของสเต็มศึกษา ผ่านการฝึกทักษะโค้ดดิ้ง หรือ การเขียนโค้ดในกิจกรรรม YouthSpark#WeSpeakCode ให้กับเยาวชนของเราในครั้งนี้ ซึ่งเป็น
พื้นฐานในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ” นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ ยังได้มีการเผยแพร่วิดีโอเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยเห็นว่าการเขียนโค้ดเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น มีความสนุกสนาน และไม่ได้ยากอย่างที่คิด ผ่านวิดีโอ YouthSpark #WeSpeakCode Thailand โดยได้รับเกียรติจากดาราและผู้มีชื่อเสียงจากวงการสตาร์ทอัพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อาทิ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. ดร.มีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน พันโท วันชนะ สวัสดี นักแสดง นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จำกัด นายจุฑาศรี คูวินิชกุล ผู้อำนวยการ บริษัท แกร็บแท็กซี่ ประเทศไทย และ ด.ช.กษิดิส อรุณเรืองศิริเลิศ นักเรียนและนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นรุ่นเยาว์ มาร่วมประชาสัมพันธ์
กิจกรรม #WeSpeakCode ในปีนี้ ยังเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมโครงการส่งรูปภาพกิจกรรมการเขียนโค้ดของตัวเองกับเพื่อนหรือครอบครัวบนโซเชียลมีเดีย เพื่อเข้าประกวด #WeSpeakCode Social Media Contest ชิงรางวัลสุดพิเศษ Microsoft Lumia 830 และ Microsoft Arc Touch Mouse เริ่มเปิดรับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 31 มีนาคม และจะมีการประกาศผลในวันที่ 15 เมษายน 2558 ในเว็บไซต์ของกิจกรรมและบล็อก (https://blogs.technet.com/b/microsoft_citizenship_asia_pacific/) รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าไปชมได้ที่ (https://www.wespeakcode.net/contestdetails-th.aspx)
นายฮาเรซ กล่าวเสริมว่า “เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ได้เห็นนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการเขียนโค้ดและการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ที่ไมโครซอฟท์ เราเชื่อว่าโค้ดเป็นภาษาที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ รวมถึง กระบวนการคิดแบบ Computational Thinking เป็นทักษะสำคัญที่ควรจะมีการเรียนการสอนในทุกโรงเรียน โดยไม่จำกัดอายุ เพศ หรือสาขาอาชีพ การเขียนโค้ดและสร้างโปรแกรมของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนยุ่งยาก และที่สำคัญยิ่งกว่า คือความสนุกสนานที่คุณจะได้รับ จากกิจกรรม Hour of Code ในปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมกว่า 82 ล้านคนทั่วโลก และสำหรับโครงการ #WeSpeakCode ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ YouthSpark เราได้ผลักดันกิจกรรมนี้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในการสร้างสรรค์ ต่อยอด และเปิดรับโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตของพวกเขา”