บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าสานต่อความมุ่งมั่นในการร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย เปิดตัวโครงการนำร่อง สมาร์ท คลาสรูม ภายใต้แนวคิดของไมโครซอฟท์เป็นที่แรกของโลก โดยโครงการดังกล่าวได้มีการเตรียมโครงการมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมา และถือเป็นความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์ และสองโรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และโรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุวิทยา จังหวัดปทุมธานี ในการพัฒนาห้องเรียนต้นแบบขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนการฝึกฝนทักษะสำคัญในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป
แนวคิด สมาร์ท คลาสรูม ของไมโครซอฟท์ ประกอบไปด้วยการผสาน 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1) ความพร้อมของบุคลากรครู 2) เนื้อหาการเรียนการสอนแบบดิจิตอล 3) ซอฟต์แวร์และบริการ และ 4) ดีไวซ์ที่นำมาใช้ในห้องเรียน โดยทั้ง 4 องค์ประกอบมีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดด้านทักษะสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร หรือความเข้าใจในเทคโนโลยี สำหรับในโครงการนำร่องนี้ จะมีการนำทั้ง 4 องค์ประกอบมาประกอบการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของทั้งสองโรงเรียน เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ภาคเรียน (พฤษภาคมถึงกันยายน)
“ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ ได้มุ่งมั่นและผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านคุณภาพการศึกษาทั่วโลก โดยเราได้ลงทุนไปกับการพัฒนาทักษะครูและบุคลากรในภาคการศึกษาไปแล้วกว่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 2.4 หมื่นล้านบาท) ในช่วง 15 ปีทีผ่านมา และหากมองในภาพรวมทั่วโลกแล้ว การลงทุนด้านการศึกษาของไมโครซอฟท์ทั่วโลกสูงถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 323.8 แสนล้านบาท) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้” นายฮาเรซ คูบจันดานิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
ในศตวรรษที่ 21 นี้ ทักษะความสามารถอย่างความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ หรือการสื่อสารและประสานงานกับผู้อื่น ล้วนแล้วแต่เป็นทักษะสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำงาน ด้วยเหตุนี้เอง ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย จึงมีความตั้งใจที่จะวางรากฐานด้านการศึกษาที่มั่นคงด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพของการเรียนการสอน
“การผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับการเรียนการสอนนั้น จะบรรลุผลสำเร็จได้ด้วยวิสัยทัศน์และแนวคิดที่ครอบคลุมถึงทุกด้านของการเรียนรู้ โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การนำดีไวซ์ใหม่ๆ เข้ามาใช้งานในห้องเรียน และเมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์ได้เปิดโอกาสให้นักเรียน 8 ล้านคน และบุคลากรครูอีก 4 แสนคนสามารถเข้าถึงOffice 365 เพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นระบบคลาวด์ระดับองค์กรที่มีความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวสูง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนพัฒนาการของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ได้ให้การสนับสนุนด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Making 70 Million Lives Better’ และสำหรับโครงการนำร่องในครั้งนี้ เราได้ทำงานร่วมกับสถาบันและหน่วยงานด้านการศึกษา พร้อมด้วยพันธมิตรทางธุรกิจชั้นแนวหน้า ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาคอนเทนท์หรือผู้ผลิตดีไวซ์ เพื่อยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้อย่างรอบด้านและทั่วถึง” นายฮาเรซกล่าวเสริม
“การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนไม่ได้มีผลเพียงแค่ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นเท่านั้น” ดร. สุนีย์ สอนตระกูล ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี กล่าว “เทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ ในห้องเรียนให้เชื่อมถึงกันผ่านโลกดิจิตอล เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกสมองและทำงานในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความพร้อมสำหรับการทำงานต่อไปในอนาคตของเด็กไทย”
นายไพฑูรย์ จารุสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุวิทยา เสริมอีกว่า “โครงการนำร่องนี้ช่วยให้เราได้ลองสัมผัสเทคโนโลยีล่าสุดในการใช้งานจริง โรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุวิทยาเป็นสถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้นโยบายการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนทั่วประเทศ และเราหวังว่าผลสรุปของโครงการนี้ ซึ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จะช่วยส่งเสริมเด็กไทยในการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมหลายรูปแบบ”
นอกเหนือจากคุณสมบัติด้านการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียนแล้ว โซลูชั่นเพื่อการศึกษาแบบครบวงจรในโครงการนำร่องนี้ยังเน้นการมอบเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยและรักษาความเป็นส่วนตัวของนักเรียนอีกด้วย
นายฮาเรซเผยอีกว่า “จากการสำรวจโดย SafeGov.org องค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ชี้ให้เห็นว่ากว่า 87% ของผู้ปกครองคนไทยมีความกังวลว่าข้อมูลส่วนตัวของเยาวชนจะถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า สำหรับไมโครซอฟท์เอง เรามีจุดยืนในเรื่องการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ จึงทำให้ระบบ สมาร์ท คลาสรูม ของเราสามารถรักษาข้อมูลของทั้งครูและนักเรียนให้ปลอดภัย ไม่รั่วไหลออกไปภายนอก”
ภายใต้โครงการนำร่อง สมาร์ท คลาสรูม นี้ นักเรียนและครูจากทั้งสองโรงเรียนจะสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นและบริการคลาวด์ต่างๆ ของไมโครซอฟท์ พร้อมด้วยเนื้อหาและเครื่องมือเพื่อการศึกษาจากผู้พัฒนาคอนเทนท์และพันธมิตรชั้นนำ บนอุปกรณ์แท็บเล็ตจากเอซุสเทค คอมพิวเตอร์ (ASUSTek Computer)นอกจากนี้ โครงการ สมาร์ท คลาสรูม ยังได้รับการสนับสนุนจากอินเทลในด้านการวางแผนและจัดทำระบบการเรียนรู้อีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการนำร่องของไมโครซอฟท์ ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิในวงการศึกษาไทยทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำโครงการ ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันคีนันแห่งเอเชีย และบริติช เคานซิล ประเทศไทย ทั้งนี้ ทางไมโครซอฟท์และโรงเรียนจะมีการประเมินผลโครงการเมื่อสิ้นสุดภาคเรียนลงในเดือนกันยายน 2557 ก่อนจะจัดทำรายงานสรุปประสิทธิผลของโครงการให้กับ สพฐ. ต่อไป
ก่อนที่จะเปิดตัวโครงการนำร่องในครั้งนี้ ไมโครซอฟท์ได้ประสบความสำเร็จในการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อทดลองและสำรวจความเป็นไปได้ในการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับการศึกษา เช่น โครงการมาเจลแลน (Magellan) ที่สร้างกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในระบบการศึกษาของประเทศโปรตุเกส และเห็นผลสำเร็จอย่างชัดเจนในรูปของคะแนนการประเมินผลนักเรียนในโครงการ PISA (Program for International Student Assessment) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development)