การเปลี่ยนลูกจ้างนับเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ แต่ในบางกรณีก็ส่งผลร้ายที่แสนเจ็บปวดได้ ลูกจ้างเก่าที่ออกจากบริษัทไปแล้วอาจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและการเงินของบริษัทได้เช่นกัน แคสเปอร์สกี้ แลป ขอยกเหตุการณ์และวิธีป้องกันลูกจ้างเก่าที่หมายแก้แค้นทางไซเบอร์ต่อบริษัท ดังนี้
พาสเวิร์ดมูลค่า 2 แสนเหรียญสหรัฐ
ในปี 2016 นายทริโน วิลเลียมส์ ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีได้ยื่นเอกสารร้องเรียนต่อนายจ้าง คือ สถาบัน American College of Educationเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ จากนั้นไม่นานก็มีคำสั่งโยกย้ายให้ไปทำงานที่ออฟฟิซในเมืองอื่น ซึ่งนายทริโนได้ปฏิเสธคำสั่งนี้เพราะได้แจ้งเงื่อนไขการทำงานทางไกล หรือ teleworking ตั้งแต่แรกเข้าทำงาน ท้ายที่สุดนายทริโนก็ต้องออกจากงานและแม้จะได้รับสินไหมทดแทนก็ไม่พอใจอย่างมาก จึงตัดสินเอาคืนนายจ้างด้วยการเปลี่ยนพาสเวิร์ดของบัญชีGoogle ทำให้สถาบันไม่สามารถเข้าใช้งานบัญชีเพื่อส่งอีเมลและเอกสารให้นักเรียนกว่า 2 พันคนได้
นายทริโนอ้างว่าพาสเวิร์ดนี้เซฟอัตโนมัติเองในแล็ปท็อปที่ใช้ทำงานของเขา ซึ่งได้ส่งคืนหลังจากถูกไล่ออกทันที แต่ทางนายจ้างระบุว่า นายทริโนลบข้อมูลทุกอย่างในเครื่องทั้งหมดก่อนส่งคืน
นายจ้างจึงได้ติดต่อ Google เพื่อขอกู้คืนบัญชีนี้ แต่กลายเป็นว่าบัญชีอีเมลนี้จดทะเบียนเป็นบัญชีส่วนบุคคลของนายทริโน ไม่ใช่บัญชีของสถาบัน ทนายของนายทริโนได้กล่าวเป็นนัยๆ ว่า นายทริโนอาจจะจำพาสเวิร์ดได้หากสถาบันจ่ายเงิน 2 แสนเหรียญ พร้อมจดหมายรับรองการทำงานในแง่บวก
การโจมตีต่อหน้าต่อตา
นายริชาร์ด นีล ผู้ก่อตั้งร่วมและอดีตผู้อำนวยการฝ่ายไอทีของบริษัทด้านความปลอดภัยไอทีชื่อ Esselar ต้องออกจากบริษัทแบบจบไม่สวยและใช้เวลานาน 6 เดือนเพื่อวางแผนแก้แค้นเพื่อให้เพื่อนร่วมงานเก่าเสียชื่อเสียง นายริชาร์ดรอถึงวันที่บริษัท Esselarถึงกำหนดสาธิตเซอร์วิสให้ลูกค้ารายใหญ่ชื่อ Aviva ในวันนั้นเองนายริชาร์ดได้แฮ็กโทรศัพท์มือถือของพนักงานบริษัทAviva กว่า 900 เครื่องและลบข้อมูลทั้งหมด
เหตุการณ์นี้ทำให้Aviva ยกเลิกธุรกิจและเรียกร้องเงิน 7 หมื่นปอนด์เป็นค่าเสียหาย แต่มูลค่าความเสียหายโดยรวมทั้งด้านชื่อเสียงและโอกาสทางธุรกิจของ Esselarนั้นคาดว่าสูงถึง 5 แสนปอนด์ ทำให้บริษัทต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนแบรนด์เพื่อความอยู่รอด
การลบข้อมูลฉับไวและเสียหายสาหัส
ไม่เพียงแต่ลูกจ้างเก่าเท่านั้นที่อันตราย อีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจนั้นเกิดจากพนักงานที่สงสัยว่าตัวเองจะโดนไล่ออก นางสาวแมรี่ ลูเป้ คูลี่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการของบริษัทสถาปนิกแห่งหนึ่ง ได้บังเอิญไปเห็นประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งของเธอ ซึ่งมีข้อมูลให้ติดต่อเจ้านายของเธอหากสนใจสมัครงาน
นางสาวแมรี่คาดว่าตัวเองกำลังจะโดนไล่ออก จึงได้ลบข้อมูลโครงการต่างๆ ย้อนหลังไปถึง 7 ปีทิ้งหมด ทำให้บริษัทเสียหายราว 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่แท้จริงแล้ว ประกาศรับสมัครงานนั้นเป็นประกาศของบริษัทอื่นที่คู่สมรสของเจ้านายฝากให้ติดต่อแทนนั่นเอง
วิธีการป้องกันการตกเป็นเหยื่อการแก้แค้นทางไซเบอร์
เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างเก่าสร้างความเสียหายแก่ระบบโครงสร้างไอทีของบริษัท แคสเปอร์สกี้ แลป ขอแนะนำบริษัทให้ปฏิบัติดังนี้
- เก็บล็อกสิทธิ(right) ด้านไอทีของพนักงาน รวมถึงบัญชีและรีซอร์สที่พนักงานเข้าใช้งาน ให้สิทธิเพิ่มเติมอื่นๆ เฉพาะเมื่อพนักงานจำเป็นต้องใช้เท่านั้น
- รีวิวและปรับปรุงรายการ right ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และยกเลิก permissionที่เก่าหรือหมดอายุใช้งาน
- จดทะเบียนรีซอร์สของบริษัทด้วยชื่อที่อยู่ของบริษัทเท่านั้น ไม่ว่าบัญชีแบบบุคคลทั่วไปจะมีสิทธิประโยชน์แบบไหน หรือพนักงานคนนั้นน่าเชื่อถือเพียงใดก็ตาม โปรดระลึกไว้เสมอว่าความสัมพันธ์เชิงธุรกิจย่อมเป็นธุรกิจทุกอย่าง โดเมนเนม บัญชีโซเชียลมีเดีย แดชบอร์ดควบคุมเว็บไซต์ ควรเป็นทรัพย์สินของบริษัท และการยกการควบคุมดูแลให้พนักงานถือเป็นการไม่มองการณ์ไกล
- ปิดกั้นสิทธิการเข้าถึงและบัญชีของพนักงานเก่าโดยเร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้ คือปิดทันทีที่เลิกจ้าง
- ไม่เปิดเผยเรื่องการเลิกจ้างหรือการปรับปรุงโครงสร้างบริษัท และระลึกว่าการประกาศรับสมัครพนักงานในตำแหน่งเฉพาะเจาะจงนั้นอาจมีพนักงานพบเห็นได้
- พยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับพนักงานทุกคน สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีและเป็นมิตร การโจมตีทางไซเบอร์จากพนักงานเก่านั้นมักมีสาเหตุจากความคับแค้นใจมากกว่าความละโมบ