หลังจากที่เปิดตัว PlayStation 4 และ Xbox One ไปได้ไม่กี่วัน ผู้เล่นเกมพีซีทั่วโลกก็ถูกโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้ แลป ค้นพบส่วนประกอบมัลแวร์เกมมิ่งกว่า 4.6 ล้านตัว ที่โจมตีผู้เล่นเกมกว่า 11.7 ล้านครั้งทั่วโลก โดยปกติแล้วผู้เล่นเกมจะถูกมัลแวร์โจมตีเฉลี่ย 34,000 ครั้งต่อวัน และยิ่งเพิ่งผ่านเทศกาลปีใหม่และวันเด็กซึ่งเป็นเทศกาลแห่งการมอบของขวัญส่งความสุข ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็คงเลือกซื้อเครื่องเล่นเกมเพราะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ
จากสถิติ ผู้เล่นเกมในประเทศรัสเซียได้รับผลกระทบมากที่สุด ในปี 2013 แฮกเกอร์ส่งมัลแวร์โจมตีกว่า 8,813,050 ครั้ง รองลงมาคือเวียดนาม (503,947 ครั้ง) และจีน (376,058 ครั้ง) ตามลำดับ โดยประเทศไทยถูกโจมตีมากสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก คือ 92,914 ครั้ง
10 อันดับประเทศที่ถูกมัลแวร์เกมมิ่งโจมตีมากที่สุด ดังนี้
- รัสเซีย – 8813050 ครั้ง
- เวียดนาม – 503947 ครั้ง
- จีน – 376058 ครั้ง
- อินเดีย – 207245 ครั้ง
- สเปน – 139078 ครั้ง
- โปแลนด์ – 127583 ครั้ง
- ตุรกี – 121164 ครั้ง
- ไต้หวัน – 97843 ครั้ง
- ไทย – 92914 ครั้ง
- อิตาลี – 75155 ครั้ง
ผู้เล่นเกม หรือเหล่าเกมเมอร์มักจะพบเจอการโจมตีระบบดิจิตอลทุกรูปแบบ เว็บฟอรั่มใต้ดินจะเปิดขายข้อมูลแอคเคาท์และพาสเวิร์ดที่ใช้เล่นเกม ซึ่งได้มากจากการใช้มัลแวร์โจมตีบริษัทเกม เมื่อต้นปี 2013 แคสเปอร์สกี้ แลปได้ตรวจพบการจารกรรมโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Winnti โดยมีเป้าหมายโจมตีบริษัทผู้ผลิตเกมออนไลน์แบบมัลติเพลเยอร์ เพื่อขโมยซอร์สโค้ดและข้อมูลที่มีค่าอื่นๆ
มัลแวร์จะเลือกโจมตีเฉพาะเกม ตัวอย่างเช่น กรณีเกม Minecraft สุดฮิต ช่วงต้นปี 2013 Minecraft ออกทูลสร้างด้วยจาวา หลอกเกมเมอร์ว่าจะเสริมศักยภาพการเล่นให้ด้วยการแบนผู้เล่นอื่น แต่แท้จริงแล้วกลับหลอกขโมยไอดีและพาสเวิร์ด กรณีเกม Grand Theft Auto V มีหลายเว็บไซต์ประกาศให้เกมเมอร์สามารถดาวน์โหลดไฟล์เกมนี้ได้ฟรี แต่กลายเป็นดาวน์โหลดมัลแวร์เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีการล่อหลอกด้วยอีเมลฟิชชิ่ง ซึ่งมักจะแพร่กระจายในช่วงเทศกาลพร้อมโปรโมชั่นส่วนลดอุปกรณ์เกมราคาสุดถูก
จิมมี่ ฟง ผู้อำนวยการด้านช่องทางการจัดจำหน่าย แคสเปอร์สกี้ แลป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “นับวันเหล่าเกมเมอร์ยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น นั่นหมายความว่าจำนวนผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อภัยร้ายก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน อาชญากรไซเบอร์มุ่งมั่นโจมตีธุรกิจเกมมิ่งด้วยมัลแวร์ขั้นสูง ยิ่งในช่วงปลายปีถึงต้นปีที่มักจะมีเกมใหม่ๆ เปิดตัวจำนวนมาก เกมเมอร์ควรเพิ่มความระวังภัยมัลแวร์ให้มากยิ่งขึ้น”
เกร็ด 5 ข้อ ควรระวังเพื่อความปลอดภัยในโลกเกมมิ่ง
1. คิดก่อนคลิกรับข้อเสนอต่างๆ
ข้อความหรือป๊อปอัพที่ปรากฏที่หน้าจอเกม อีเมล เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ควรเลือกพิจารณาข้อเสนอที่สมเหตุสมผล ไม่เกินจริง และส่งโดยแหล่งที่เชื่อถือได้ หากสงสัย ควรติดต่อบริษัทผู้ส่งก่อน
2. ตั้งพาสเวิร์ดที่ยากและไม่ใช้พาสเวิร์ดที่ซ้ำกันในแต่ละเกม
ในปี 2013 บริษัทเกมมิ่งหลายแห่งถูกแฮกและข้อมูลล็อกอินของเกมเมอร์รั่วไหลสู่ตลาดมืด ถ้าเกมเมอร์ไม่มีไอดีพาสเวิร์ดที่ต่างกัน ถ้าเกมหนึ่งถูกแฮกก็จะโดนแฮกทั้งหมดได้ง่าย ควรพิจารณาเลือกใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อจัดการพาสเวิร์ดโดยเฉพาะ เพื่อความปลอดภัย
3. ใช้ซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสที่มีประสิทธิภาพ
มัลแวร์เกมมิ่งมีจำนวนมหาศาล และนับวันยิ่งเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น ซอฟต์แวร์ป้องกันที่ดีควรมีระบบตรวจจับและยับยั้งมัลแวร์เกิดใหม่ได้รวดเร็วและแม่นยำ
4. ระวังคนที่เข้ามาตีสนิท
ในโลกออนไลน์ การเข้ามาผูกมิตรตีสนิททำได้ง่าย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้ามาแบบประสงค์ดี ควรระวังคนที่สอบถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว เพราะอาจจะไม่ใช่แค่ทำความรู้จัก แต่อาจนำข้อมูลไปใช้ทำอย่างอื่นได้
5. ดาวน์โหลดข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้
การดาวน์โหลดเกมเถื่อนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และยังเสี่ยงให้มัลแวร์โจมตีเครื่องได้ เพราะมีมัลแวร์จำนวนมากที่ปลอมตัวเป็นไฟล์เกม