มหาวิทยาลัยโอเชียนแห่งประเทศจีน เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้การบริหารโดยตรงของกระทรวงศึกษาธิการ และในยุคเฟื่องฟูของข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และระบบคลาวด์ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยสมัยใหม่มีความต้องการบริการด้านสารสนเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับฝ่ายไอที และเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์แบบส่วนตัวสำหรับการแชร์ไฟล์ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยอาศัยโซลูชันของบริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ (เอชดีเอส) และด้วยโซลูชันระบบเสมือนจริงและการปกป้องข้อมูลสำหรับองค์กร ทำให้บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ (เอชดีเอส) สามารถช่วยมหาวิทยาลัยโอเชียนแห่งประเทศจีนสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ภายในมหาวิทยาลัยได้เป็นผลสำเร็จ
ความท้าทาย
เครือข่ายของมหาวิทยาลัยโอเชียนได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว โดยที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลของมหาวิทยาลัยจะเป็นระบบแบบกระจายและแยกส่วนการทำงาน ซึ่งส่งผลให้เกิดคลังข้อมูลเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลมากหมาย การใช้แหล่งทรัพยากรขาดความสมดุล และความยากลำบากในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน นอกจากนี้ระบบแยกส่วนดังกล่าวยังสร้างปัญหาขึ้นเมื่อต้องกู้คืนข้อมูลและไม่สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ ในกรณีที่อุปกรณ์ทำงานล้มเหลวก็มักจะเกิดการสูญหายของข้อมูลจำนวนมากตามมา และระบบก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางธุรกิจรูปแบบใหม่ได้อย่างคล่องตัว ทั้งยังสร้างภาระด้านการบริหารจัดการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
ปัจจุบันคณาจารย์ ทีมวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และทีมบริหารของมหาวิทยาลัยต่างพึ่งพาระบบไอทีเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากอุปกรณ์หลัก ๆ ภายในศูนย์ข้อมูลทำงานล้มเหลวก็ย่อมส่งผลต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก สำหรับรูปแบบการดำเนินงานในปัจจุบันของมหาวิทยาลัยนั้น จะเป็นระบบการมอบหมายและส่งการบ้าน ตลอดจนแชร์ข้อมูลและไฟล์สำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ผ่านทางเซิร์ฟเวอร์ FTP ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซับซ้อน และไม่ยืดหยุ่น ทั้งยังไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ FTP ที่ดีพอด้วย
ขณะที่ระบบจัดเก็บข้อมูลระดับเล็กและระดับกลางที่มีอยู่เดิมนั้น ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในแง่ประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และความพร้อมใช้งานได้ ด้วยเหตุนี้หัวหน้าศูนย์ไอทีจึงได้นำเสนอศูนย์ข้อมูลระบบคลาวด์รุ่นใหม่สำหรับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มบริการระบบคลาวด์สำหรับการแชร์ทรัพยากร การสร้างระบบเสมือนจริง การรักษาความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ และบริการระบบคลาวด์สำหรับข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ผสานรวมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เพื่อให้การบริหารจัดการ การจัดสรร และการป้องกันทรัพยากรเป็นไปในลักษณะรวมศูนย์ แนวทางนี้จะก่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นและมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเป็นแพลตฟอร์มบริการสำหรับจัดเก็บไฟล์และแบ่งปันไฟล์ที่ใช้บ่อยในการเรียนการสอนและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
โซลูชันของเอชดีเอส: การสร้างระบบคลาวด์
เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การดำเนินโครงการของมหาวิทยาลัยโอเชียน เอชดีเอสจึงได้นำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมหลังจากวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการทางธุรกิจของมหาวิทยาลัยอย่างรอบด้านแล้ว โดยโซลูชันนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ Hitachi Data Systems Global Services Solutions ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนดังนี้
- ศูนย์ข้อมูลเสมือนจริงแบบ Active-Active
เอชดีเอส ได้สร้างศูนย์ข้อมูลเสมือนจริงแบบ Active – Active ซึ่งพัฒนาขึ้นจาก Hitachi Virtual Storage Platform (VSP) โดยมี VSP หนึ่งชุดที่ได้รับการปรับใช้ในทั้งวิทยาเขตเหล่าซานและยู่ฉวน และด้วยสถาปัตยกรรมของ Hitachi Universal Star Network crossbar-switch ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ VSP สามารถตอบสนองความต้องการด้านประสิทธิภาพและการปรับขยายระบบไอทีของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ VSP จะผสานระบบจัดเก็บข้อมูลแบบไฟเบอร์ทั้งหมดในระบบที่มีอยู่เดิม เข้ากับกลุ่มระบบจัดเก็บข้อมูลแบบรวมศูนย์ที่มีระบบจัดเก็บข้อมูลแบบเสมือน (Storage Virtualization) และได้ขยายขีดความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลขั้นสูงให้กับกลุ่มทรัพยากรทั้งหมด ได้แก่ การจัดสรรพื้นที่ของระบบจัดเก็บข้อมูลให้มีประสิทธิภาพบนเทคโนโลยี Thin Provisioning รวมไปถึง Dynamic auto-tiering ที่เป็นเทคโนโลยีการย้ายข้อมูลไปมาระหว่างหน่วยจัดเก็บข้อมูลตามความถี่ในการใช้งาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างเหมาะสมสูงสุด
ในขณะเดียวกันระบบจัดเก็บข้อมูล VSP อีกสองระบบในวิทยาเขตเหล่าซานและยู่ฉวนจะมีลักษณะเป็นศูนย์ข้อมูลแบบ Active – Active ผ่านคลัสเตอร์ระบบจัดเก็บข้อมูล Hitachi High Availability Manager (HAM) ร่วมกับ Hitachi TrueCopy ระบบจัดเก็บข้อมูลที่ทันสมัย โดยจะมีการกำหนดค่า Hitachi TrueCopy ร่วมกับระบบ HAM (โมดูลการทำสำเนาและการกู้คืนข้อมูลแบบซิงโครนัส) และ HAM ให้กับระบบจัดเก็บข้อมูลทั้งสองระบบ โดยที่ข้อมูลจะถูกคัดลอกแบบซิงโครนัสในลักษณะสองทิศทาง ทั้งนี้ระบบจัดเก็บข้อมูล VSP ทั้งสองระบบพร้อมรองรับการเข้าถึงข้อมูลในวิทยาเขตแต่ละแห่ง โดยหากระบบจัดเก็บข้อมูลระบบใดระบบหนึ่งล้มเหลว ก็จะหันไปใช้ระบบทดแทน ทำให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินธุรกิจจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
- โซลูชันการจัดการไฟล์บนระบบคลาวด์แบบส่วนตัวที่พัฒนาขึ้นจาก Hitachi Content Platform
การผสานรวม Hitachi Content Platform (HCP) ซึ่งเป็นระบบจัดเก็บข้อมูลแบบออบเจ็กต์ (Object) เข้ากับระบบ Hitachi Content Platform Anywhere (HCP Anywhere) ทำให้เอชดีเอสสามารถนำเสนอโซลูชันระบบคลาวด์แบบส่วนตัวที่ไม่เหมือนใครและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของมหาวิทยาลัยในด้านการแชร์ไฟล์ การจัดการไฟล์ การรักษาความปลอดภัยข้อมูล และความคล่องตัวในการเรียนการสอนและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ที่ได้รับ
เอชดีเอส ช่วยให้มหาวิทยาลัยโอเชียนสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบจัดเก็บข้อมูลรุ่นใหม่ ซึ่งได้แก่ ศูนย์ข้อมูลระบบคลาวด์แบบส่วนตัวพร้อมด้วยศูนย์ข้อมูลเสมือนจริงแบบ Active-Active รวมถึงโซลูชันการจัดการไฟล์ที่ครอบคลุม โดยโซลูชันนี้จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านไอทีเพิ่มขึ้น และยังก่อให้เกิดประโยชน์ดังต่อไปนี้ด้วย
การเก็บรวบรวมและการแจกจ่ายการบ้านผ่านระบบคลาวด์
ก่อนหน้านี้การบ้านจะถูกรวบรวมและแจกจ่ายผ่านทางอีเมลหรือ FTP ซึ่งมีความซับซ้อนและมีแนวโน้มที่จะเกิดข้อผิดพลาดสูง แต่ตอนนี้จะเป็นการบริหารจัดการแบบแบ่งตามระดับชั้นในรูปแบบ “กลุ่ม” ของ HCP โดยแต่ละแผนกในมหาวิทยาลัยจะถูกกำหนดเป็นกลุ่ม และครูแต่ละคนในแต่ละแผนกจะถูกกำหนดเป็น “ทีม” ซึ่งครูแต่ละคนจะมีสิทธิ์อย่างเต็มที่ในพื้นที่ทีมของตนและสามารถกำหนดว่าจะให้นักเรียนคนใดสามารถเข้าถึงพื้นที่นี้ได้บ้าง พื้นที่ดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากตั้งอยู่ในศูนย์ข้อมูลระบบคลาวด์ของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าพารามิเตอร์ของกลุ่มเพื่อป้องกันหรือให้อนุญาตในการเปิดใช้งานการแชร์ข้อมูลระหว่างกลุ่มได้อีกด้วย
พื้นที่ทำงานเฉพาะสำหรับทีมงานด้านวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยมีทีมวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชั่วคราวจำนวนหนึ่งที่ต้องการพื้นที่ทำงานออนไลน์แบบส่วนตัว ด้วยโซลูชันนี้ มหาวิทยาลัยจะสามารถสร้างพื้นที่ส่วนตัวให้กับทีมวิจัยทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเปิดให้เข้าถึงได้เฉพาะสมาชิกในทีมเท่านั้น และภายในพื้นที่แห่งนี้ สมาชิกในทีมจะสามารถแชร์ไฟล์ระหว่างกันและแต่ละคนสามารถมีพื้นที่ส่วนตัวเป็นของตัวเองได้
แชร์ไฟล์ผ่านระบบคลาวด์ได้สะดวกยิ่งขึ้น
HCP พร้อมให้บริการแชร์ไฟล์ในลักษณะเดียวกับ FTP ผ่านทางการเข้าถึง HTTP แบบไม่ระบุชื่อเพื่อแทนที่บริการ FTP ที่มีอยู่เดิม บริการนี้ให้การเข้าถึงที่ยืดหยุ่นและรวดเร็ว รวมถึงจัดการได้ง่าย และด้วย HCP Anywhere มหาวิทยาลัยจะสามารถซิงโครไนซ์ไฟล์ส่วนตัวของตนเองและระบบไดรฟ์บนคลาวด์ที่เปิดให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ โดยเมื่อเทียบกับระบบคลาวด์สาธารณะแบบอื่นๆ แล้ว ระบบ HCP Anywhere ให้ความเป็นส่วนตัวและสามารถรักษาความปลอดภัยข้อมูลได้ดีกว่า
ปลอดภัยและเชื่อถือได้สูงสุด
ระบบส่วนหลังของระบบคลาวด์ส่วนตัวของมหาวิทยาลัยที่สร้างบน ระบบจัดเก็บข้อมูลHitachi VSP และ HCP รับประกันได้ถึงประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้การป้องกันและการกำหนดเวอร์ชันของ HCP แบบอัตโนมัติยังช่วยให้มั่นใจถึงความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของข้อมูลในระบบคลาวด์ส่วนตัว รวมไปถึงเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบเสมือนบน VSP จะช่วยให้การใช้ทรัพยากรร่วมกันและการจัดสรรทรัพยากรตามต้องการเป็นไปอย่างราบรื่น
หมดปัญหาด้านการจัดการไฟล์ในการเรียนการสอนและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
HCP พร้อมรองรับข้อมูลไฟล์แบบไม่มีโครงสร้างและสามารถจัดการปัญหาเกี่ยวกับการแชร์ไฟล์ การบริหารจัดการไฟล์ และความปลอดภัยของข้อมูลในการเรียนการสอนและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทั้งยังเป็นสถาปัตยกรรมระบบคลาวด์แบบส่วนตัวที่ยืดหยุ่นและง่ายต่อการจัดการ ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการติดต่อสื่อสารได้อย่างเห็นผล
ระบบไดร์ฟบนคลาวด์สำหรับองค์กร
มหาวิทยาลัยสามารถสร้างระบบไดรฟ์บนคลาวด์พร้อมด้วย HCP Anywhere ที่จะจัดเตรียมพื้นที่จัดเก็บไฟล์ส่วนบุคคลได้อย่างปลอดภัยสำหรับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยระบบไดรฟ์บนคลาวด์นี้จะช่วยให้การทำงานแบบเคลื่อนที่เป็นไปอย่างสะดวก ทั้งยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
“เอชดีเอส ช่วยให้มหาวิทยาลัยโอเชียนแห่งประเทศจีนสามารถปรับใช้โครงการไดรฟ์บนคลาวด์ของวิทยาเขตร่วมกับศูนย์ข้อมูลแบบ Active-Active และโซลูชัน HCP Anywhere ได้สำเร็จ โดยโครงการนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการเรียนรู้ของอาจารย์และนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความยุ่งยากในการจัดการข้อมูลของมหาวิทยาลัยด้วย” ซัน เซียนหลิง รองผู้อำนวยการศูนย์ไอที มหาวิทยาลัยโอเชียนแห่งประเทศจีน
เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยโอเชียน
มหาวิทยาลัยโอเชียนแห่งประเทศจีนให้บริการด้านการศึกษาในสาขาวิชาด้านเทคนิคและสังคมศาสตร์เป็นหลัก และมีชื่อเสียงอย่างมากในด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและประมง โดยเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีรายชื่อร่วมใน “โครงการ 985”และ “โครงการ 211” อันเป็นความพยายามของรัฐบาลจีนในการยกระดับระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้มหาวิทยาลัยโอเชียนมีนักศึกษามากกว่า 40,000 คนและคณาจารย์ 3,000 คน มีวิทยาเขต 3 แห่งและศูนย์ข้อมูล 2 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในวิทยาเขตเหล่าซานและยู่ฉวน