นายมารุต มณีสถิตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย และพม่า บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ พีทีอี ลิมิเต็ด กล่าวว่า บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ คอร์ปอเรชั่น เผยถึงผลสำรวจด้านความปลอดภัยสาธารณะที่จัดทำขึ้นระหว่างการประชุม Safe Cities Asia Summit ครั้งที่ 2 ในประเทศสิงคโปร์ จากรายงานคาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะมีการเติบโตด้านโครงการเมืองอัจฉริยะสูงสุดในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยหลายเมืองจะมุ่งเน้นด้านการประหยัดต้นทุน และความคุ้มค่าจากการใช้เทคโนโลยีต่างๆ อย่างไรก็ดี ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าการสร้างเมืองให้มีความปลอดภัยสำหรับการใช้ชีวิต และการทำงาน เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญสูงสุดในการวางแผนโครงการเมืองอัจฉริยะ โดยผู้ร่วมการสำรวจร้อยละ 44 คาดว่าประเทศของพวกเขาจะมีการลงทุนด้านความปลอดภัยสาธารณะมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า, ซึ่งร้อยละ 24 จากยอดลงทุนทั้งหมดจะใช้ไปกับเทคโนโลยีการเฝ้าระวังภัย หรือsurveillance technology, ร้อยละ 19 สำหรับการวิเคราะห์ด้าน big data และอีกร้อยละ 19 สำหรับเทคโนโลยีไร้สายและเครือข่าย
ความปลอดภัยสาธารณะของชุมชนเป็นประเด็นที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญสูงสุด ตามมาด้วยระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ความก้าวหน้าของระบบอินเตอร์เน็ตหรือความสามารถของระบบสารสนเทศตามลำดับ ซึ่งถ้าเจาะลึกลงในประเด็นด้านความปลอดภัยสาธารณะนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าสิ่งที่ประเทศของพวกเขาต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1.การสืบสวนด้านอาชญากรรม 2. ระบบขนส่งและบริการด้านจราจร และ 3. ความปลอดภัยของอินเตอร์เน็ต โดยการขาดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ถูกเลือกให้เป็นปัจจัยหลักที่จะถ่วงการพัฒนาโครงการด้านความปลอดภัยสาธารณะนี้
ร้อยละ 95 ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญมากหรือมากที่สุดกับบทบาทของเทคโนโลยีต่อความปลอดภัยสาธารณะ โดยเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยสาธารณะที่ส่วนใหญ่วางแผนจะลงทุนในช่วง 1 ปีข้างหน้า คือการเฝ้าระวังภัย, ตามมาด้วยการวิเคราะห์ด้าน big data และเทคโนโลยีไร้สายและเครือข่าย ซึ่งการรวม 3 สิ่งนี้เข้าด้วยกันจะช่วยพัฒนาความปลอดภัยในเมืองอัจฉริยะได้เป็นอย่างดี ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาวางแผนสำหรับโครงสร้างเมืองอัจฉริยะ เพื่อลดและป้องกันปัญหาอาชญากรรม ที่ผ่านมาพบว่าการใช้ประโยชน์จาก big data ในการประสานสิ่งต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากระบบที่เชื่อมต่อกัน จะสร้างมูลค่ามากกว่าการใช้โซลูชั่นเดี่ยวในการพัฒนาความปลอดภัยสาธารณะ และการรวมระบบสารสนเทศต่างๆ เข้ากับทรัพยากรส่วนอื่นๆ ของเมืองจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรม และเพิ่มความปลอดภัยสาธารณะ ทั้งนี้การขยายเมือง และระบบขนส่งเองก็มีบทบาทสำคัญในการสอดส่อง และป้องกันปัญหาอาชญากรรม โดยจะระบุถึงรูปแบบอาชญากรรมหรือแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้าด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อาทิ กล้องวิดีโอบนรถไฟ, ในห้างสรรพสินค้า และตามจุดต่างๆที่กระจายอยู่รอบเมือง ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ จากแหล่งโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาทิ ทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก แล้วนำข้อมูลที่ได้มาใช้ระบบวิเคราะห์ที่ทรงพลังเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีความลึกซึ้งที่ช่วยระบุถึงแหล่งอาชญากรรมได้
ทั้งนี้ Safe Cities Asia เป็นการประชุมชั้นนำของวงการการรักษาความปลอดภัยระดับชาติของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อมุ่งประเด็นด้านการวางแผนเมือง ที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนด้านนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยผู้นำภาครัฐและอุตสาหกรรมในเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมประชุมที่ตอบแบบสอบถามครั้งนี้มีพื้นหลังด้านเทคโนโลยี และส่วนที่เหลือประกอบด้วยกลุ่มนายกเทศมนตรี, ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ, ผู้แทนจากฝ่ายทหาร, ฝ่ายบริการฉุกเฉิน และผู้ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน
“ผลการสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังมองหาโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีที่จะมีนัยสำคัญ และวัดได้ สำหรับเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ โดยแม้จะมีความชัดเจนในกลุ่มผู้ร่วมตอบแบบสอบถามถึงความต้องการในการลงทุนด้านโซลูชั่นดังกล่าว แต่อุปสรรคสำคัญคือความท้าทายในการปรับใช้โครงการด้านความปลอดภัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการริเริ่มการรวมข้อมูลต่างๆภายในแพลตฟอร์มเดียวจะช่วยให้แต่ละเมืองสามารถเห็นความเป็นไปแบบองค์รวมเกี่ยวกับอาชญากรรมที่สอดคล้องกันได้” นายมารุต กล่าวเพิ่มเติม
ผลสำรวจสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ here