HGST Ultrastar He6
คราวนี้เราจะมาพูดถึงพระเอกของเราในวันนี้กันบ้างล่ะครับ เจ้าฮาร์ดดิสก์ 6TB ที่เราจะรีวิวกันในวันนี้ถือเป็นรุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยี HelioSeal ซึ่งอัดก๊าซฮีเลียมเข้าไปในตัวฮาร์ดดิสก์แทนที่จะเป็นอากาศแบบทั่วๆ ไปเพื่อให้ได้ความจุถึง 6TB
ปกติเราไม่ค่อยพูดถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตฮาร์ดดิสก์กันสักเท่าไหร่ ถ้าให้ว่ากันแบบง่ายๆ เลยเทคโนโลยีการผลิตฮาร์ดดิสก์นั้นมีส่วนสำคัญต่อความจุที่เพิ่มขึ้น อย่างการพัฒนาจากเทคโนโลยี Giant Magnetoresistive Recording (GMR) มาเป็น Perpendicular Magnetic Recording (PMR) ทำให้ความจุต่อแผ่นแม่เหล็ก (Platter) เพิ่มเป็น 1TB/Platter
เทคโนโลยีที่จ่อคิวอยู่นั้นมีทั้ง Shingled Magnetic Recording (SMR) และ Heat-assisted Magnetic Recording (HAMR) ทว่าความจุที่เพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยี SMR นั้นถือว่าน้อยมาก ถ้าดูจากกราฟจะเห็นว่าอายุของ SMR นั้นคาดว่าจะสั้นกว่าเทคโนโลยีอื่นมาก ดังนั้นในวงการอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์จึงมองข้ามไปถึงเทคโนโลยี HAMR ทว่ากว่าฮาร์ดดิสก์ HAMR ตัวแรกจะมาก็น่าจะเป็นปี 2015 และกว่าเป็นที่แพร่หลายก็คงราวๆ ปี 2017
ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์มีทางเลือก 2 ทางในการเพิ่มความจุฮาร์ดดิสก์คือ 1) เพิ่มความจุต่อ Platter แต่ทางนี้ค่อนข้างจะตีบตันเพราะ PMR หรือ SMR เองก็มีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง แถม HAMR ก็ยังไม่พร้อม หรือ 2) เพิ่มจำนวน Platter ต่อในฮาร์ดดิสก์ HGST (และ WD) เลือกอย่างหลังครับ นั่นเป็นที่มาของฮาร์ดดิสก์ Ultrastar He6 ซึ่งใช้ Platter7 แผ่น ที่น่าสนใจอีกอย่างคือในทางกลับกันคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Seagate เลือกที่จะเน้นเพิ่มความจุต่อ Platter
ทำไมต้องฮีเลียม
การเพิ่มจำนวน Platter นั้นเท่ากับต้องเพิ่มจำนวนหัวอ่านด้วย เวลาที่ฮาร์ดดิสก์ทำงานนั้นจานแม่เหล็กจะหมุนใช่มั้ยล่ะครับ นั่นทำให้เกิดความปั่นป่วนของกระแสอากาศ (Wind Turbulence) ทำให้ควบคุมหัวอ่านได้ยาก ยิ่งมีจำนวน Platter และหัวอ่านมากก็ยิ่งทำให้คุมหัวอ่านได้ยากขึ้นไปอีก นอกจากนี้จำนวน Platter เพิ่มขึ้นน้ำหนักก็ย่อมเพิ่มขึ้นซึ่งก็แปลว่ามอเตอร์ต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อนและหมุนมากขึ้น
สังเกตนะครับว่าปัจจัยหลักที่เป็นปัญหาคือกระแสอากาศที่ทำให้เกิดแรงต้าน HGST จึงแก้ด้วยการอัดก๊าซฮีเลียมเข้าไปแทน ฮีเลียมนั้นเบากว่าอากาศและมีแรงต้านน้อยกว่า ผลคือเกิด Wind Turbulence น้อยลง แรงต้านที่ลดลงยังช่วยประหยัดพลังงานที่ต้องใช้หมุนจานอีกด้วย
ข้อดีของการใช้ฮีเลียมมีหลายประการทีเดียวครับ อย่างแรกเลยคือสามารถเพิ่ม Platter และหัวอ่านได้ซึ่งก็เท่ากับความจุฮาร์ดดิสก์ที่สูงขึ้น ต่อมาคือใช้พลังงานลดลง และทำให้อุณหภูมิขณะทำงานลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้ดูจะตอบโจทย์สำหรับลูกค้าองค์กรได้ดีเป็นพิเศษ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ว่าทำไม HGST ถึงจัด Ultrastar He6 เป็นสินค้ากลุ่ม Enterprise
HGST ยกตัวอย่างไว้ค่อนข้างชัดเจนโดยเทียบฮาร์ดดิสก์ทั่วไปความจุ 4TB กับ Ultrastar He6 ในกรณีของ Datacenter ขนาด 11PB จะเห็นว่า Ultrastar He6 ใช้ฮาร์ดดิสก์น้อยกว่า ซึ่งก็ทำให้ใช้พลังงาน สายต่างๆ รวมไปถึงพื้นที่และแร็คน้อยกว่าด้วย