ฟูจิตสึประกาศวิสัยทัศน์ล่าสุดทางด้านเทคโนโลยีและบริการ (Fujitsu Technology and Service Vision) สำหรับปี 2560 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นทั่วโลกเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีผู้บริหารและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ 1,614 คนจากหลากหลายบริษัทร่วมตอบแบบสอบถามในครั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ให้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการปรับปรุงธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ฟูจิตสึได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวในการกำหนดวิสัยทัศน์สำหรับปีนี้ โดยนำเสนอแนวทางที่แปลกใหม่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกันโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Co-creation) ซึ่งฟูจิตสีเชื่อว่าจะกลายเป็นแนวทางมาตรฐานสำหรับการดำเนินธุรกิจในสังคมดิจิทัลแห่งอนาคต นอกจากนี้ ฟูจิตสียังได้นำเสนอขั้นตอนในทางปฏิบัติที่ผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยีควรจะดำเนินการเพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจ สังคม และวิถีชีวิตของเราทุกคน บริษัทและองค์กรหลายแห่งได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงส่วนงานต่างๆ เช่น การตลาด รูปแบบการทำงาน การดำเนินงาน และการบำรุงรักษา ยิ่งไปกว่านั้น โครงการปรับปรุงดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางด้านธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม เช่น รายได้เพิ่มขึ้น สัมพันธภาพกับลูกค้าดีขึ้นกว่าเดิม Digital Co-creationเป็นแนวทางที่ผสมผสานความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล และสร้างสรรค์คุณประโยชน์ใหม่ๆ ร่วมกับลูกค้าและพันธมิตร เพื่อสร้างอนาคตที่แตกต่างจากเดิม
ฟูจิตสึได้เผยแพร่วิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีและบริการเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 เป็นต้นมา โดยแนวคิดหลักในวิสัยทัศน์ของฟูจิตสึก็คือ การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างคุณประโยชน์ที่สำคัญสำหรับธุรกิจและสังคม ฟูจิตสึเรียกแนวคิดนี้ว่า Human Centric Innovation ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อน Digital Transformation
4 ประเด็นหลักในวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีและบริการของฟูจิตสึสำหรับปี 2560 ประกอบด้วย
1) บุคลากรในยุคดิจิทัล: Digital Business Workforce ผสานรวมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์
เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และหุ่นยนต์อัตโนมัติจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และช่วยให้บุคลากรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับการทำงานหลายๆ อย่างโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ ระบบอัจฉริยะจะใช้ AI เพื่อเรียนรู้จากข้อมูล และกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกและช่วยให้บุคลากรทำการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่บุคลากรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหม่ๆ ในระดับที่สูงกว่า และด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องผ่านการประสานงานร่วมกันของบุคลากรและ AI ก็จะก่อให้เกิดบุคลากรในธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Workforce) ในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาต่อยอดและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต ในยุคดิจิทัล แนวทางที่มุ่งเน้นบุคคลจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าในเทคโนโลยี AI มนุษย์จะต้องมีความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
2) การสร้างธุรกิจดิจิทัลร่วมกัน: สร้างสรรค์คุณประโยชน์ในโลกดิจิทัล
ทุกวันนี้ บริษัทต่างๆ ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับกระบวนการต่างๆ ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เช่น งานขายและการตลาด การวิจัยและพัฒนา การผลิตและโลจิสติกส์ เพื่อดำเนินการปฏิรูปองค์กร โดย แรงขับเคลื่อนหลัก 3 ด้านของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงมีดังนี้:
- ระบบอัจฉริยะ (Intelligence): ใช้ AI เพื่อเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมหาศาลและกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึก
- การเชื่อมต่อ (Connectivity): ปรับปรุงธุรกิจด้วยการเชื่อมต่อการดำเนินงานภายในองค์กร และเชื่อมต่อกับคู่ค้าในระบบนิเวศน์
- การมุ่งเน้นลูกค้า (Customer-orientation): สร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ปรับแต่งเป็นพิเศษสำหรับลูกค้าแต่ละราย
แรงขับเคลื่อนดิจิทัล 3 ด้านนี้จะช่วยปรับปรุงอุตสาหกรรมที่หลากหลายเพื่อก้าวเข้าสู่เวทีการแข่งขันในโลกดิจิทัล (Digital Arena) ที่ซึ่งผู้จัดหาสินค้าและบริการ พันธมิตร และผู้ใช้จะร่วมกันสร้างสรรค์คุณประโยชน์และประสบการณ์ ใน Digital Arena การสร้างสรรค์นวัตกรรมจะต้องอาศัยการประสานงานร่วมกันระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ
3) สังคมดิจิทัล: ปรับเป้าหมายของธุรกิจและสังคมให้สอดคล้องกัน
เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาท้าทายทั่วโลก เพื่อพัฒนาโลกของเราให้เจริญก้าวหน้า ปลอดภัย และยั่งยืน แรงขับเคลื่อน 3 ด้านของเทคโนโลยีดิจิทัล (ระบบอัจฉริยะ การเชื่อมต่อ และการมุ่งเน้นลูกค้า) จะรองรับการสร้างสังคมใหม่ที่มีการเชื่อมต่อบนระบบเครือข่าย และ Digital Area ก็จะถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ฟูจิตสึเรียกสังคมรูปแบบใหม่นี้ว่า Human Centric Intelligent Society ด้วยการสร้างคุณค่าใหม่ๆ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างประชาชน บริษัท และหน่วยงานภาครัฐ ฟูจิตสึเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาท้าทายได้อย่างแน่นอน
4) บริการ Connected Services: รองรับการสร้างสรรค์ร่วมกันตามแนวทาง Digital Transformation
เพื่อให้องค์กรธุรกิจและสังคมใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปรับปรุงสิ่งต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องมีสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลแบบใหม่สำหรับการเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ ทุกประเภท และเรียนรู้จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมเพื่อกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนตัดสินใจได้ดีขึ้นและบรรลุผลลัพธ์ที่ดีกว่า นั่นคือเหตุผลที่ฟูจิตสึมุ่งเน้น 4 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ AI, Internet of Things (IoT), คลาวด์ (Cloud) และระบบรักษาความปลอดภัย (Security) ฟูจิตสึจะผสานรวม 4 เทคโนโลยีดังกล่าว รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ เพื่อนำเสนอบริการ Connected Services
โดยฟูจิตสึจะจัดหาบริการ Connected Services บนแพลตฟอร์มธุรกิจดิจิทัล MetaArc ของบริษัทฯ เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจอย่างแท้จริง และปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นโดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกด้วยการใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ได้รับเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล บวกกับประสบการณ์ในการสร้างและควบคุมระบบต่างๆ ของลูกค้าในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ฟูจิตสึตั้งเป้าที่จะเป็นพันธมิตรธุรกิจที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ร่วมกันตามแนวทาง Digital Transformation