Facebook ร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) และธนาคารโลก จัดทำแบบสำรวจ Future of Business แหล่งข้อมูลใหม่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ถือเป็นการร่วมมือที่ลงตัวระหว่าง OECD และธนาคารโลก ที่เข้าใจในมุมมองคำถามที่เหมาะสมกับธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ โดยFacebook ได้ใช้คำถามเหล่านั้นในการสำรวจผ่านหนึ่งในชุมชนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรวบรวมธุรกิจขนาดเล็กทั่วโลกเอาไว้มากที่สุด
ความร่วมมือในครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่ภาคเอกชนและภาครัฐร่วมกันสำรวจและรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาล ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อช่วยนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจทุกระดับ Facebook เชื่อมั่นว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาความท้าทายต่างๆ ที่ธุรกิจต้องเผชิญ และด้วยจำนวนธุรกิจเอสเอ็มอีมากกว่า 60 ล้านรายทั่วโลกที่ใช้งาน Facebook เพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้า ผลการสำรวจนี้ช่วยสะท้อนภาพเศรษฐกิจดิจิตอลและโมบายในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
แคลร์ ดีวีย์ หัวหน้าฝ่าย Economic Growth Initiatives ของ Facebook ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ประสบความสำเร็จในยุคมือถือปัจจุบันนี้ เราต้องทำความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยมุมมองของธุรกิจต่างๆ ช่วยให้เราเข้าใจถึงความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ รวมถึงโอกาสที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโต จึงเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเชื่อมต่อกันมากยิ่งขึ้น เมื่อธุรกิจขนาดเล็กเชื่อมต่อกับธุรกิจในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ พวกเขาก็จะประสบความสำเร็จและเติบโตมากยิ่งขึ้นเท่านั้น และยิ่งเราเข้าใจถึงการติดต่อระหว่างกันเหล่านั้น และวิเคราะห์ได้ว่าพวกเขาช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับสากลอย่างไร ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดีและสามารถต่อยอดได้ในอนาคต”
ผลสำรวจที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทย มีดังนี้
- ในประเทศไทย ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เชื่อว่าภาพรวมธุรกิจในอนาคตจะเป็นไปในทางที่ดี (32เปอร์เซ็นต์) มีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่มองว่าสภาพธุรกิจของตนในปัจจุบันมีสถานะดี (12 เปอร์เซ็นต์)
- 13 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจเอสเอ็มอี ระบุว่าธุรกิจของพวกเขามีการจ้างงานภายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่มี 33 เปอร์เซ็นต์ต้องการจ้างพนักงานเพิ่มใน 6 เดือนข้างหน้านี้
- ความท้าทายส่วนใหญ่ที่ธุรกิจต่างๆ มักจะเผชิญ ได้แก่ การดึงดูดลูกค้า (74 เปอร์เซ็นต์), การเพิ่มรายได้ (63 เปอร์เซ็นต์)และความไม่แน่นอนของสภาวะทางเศรษฐกิจ (56 เปอร์เซ็นต์)
- 60 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจที่ตอบแบบสำรวจ ใช้งานเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้เป็นไปตาม 4 เป้าหมายที่ระบุไว้เป็นย่างน้อย จากทั้งหมด 6 เป้าหมาย
- ในประเทศไทย 79 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจขนาดเล็กระบุว่าพวกเขาใช้เครื่องมือออนไลน์ต่างๆ ในการนำเสนอสินค้าและบริการ
- 25 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจขนาดเล็กที่ตอบแบบสำรวจ มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ (สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 17 เปอร์เซ็นต์)
o ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบว่า 79 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจเหล่านี้ มีจำนวนพนักงานน้อยกว่า 10 คน และไม่ได้รวมถึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่
- ความท้าทายสำคัญของธุรกิจขนาดเล็กในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ได้แก่
o ค้นหาพันธมิตรทางธุรกิจ (71 เปอร์เซ็นต์), ข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาด (68 เปอร์เซ็นต์) และกฎข้อบังคับที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ (59 เปอร์เซ็นต์)
- ธุรกิจขนาดเล็ก (39 เปอร์เซ็นต์) ที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานในช่วง 6 เดือนข้างหน้า มากกว่าธุรกิจที่ไม่ได้มีการติดต่อค้าขายข้ามประเทศ (30 เปอร์เซ็นต์)
- ธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยผู้หญิง ใช้เครื่องมือดิจิตอล 3 ใน 6 วัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในการสำรวจ Future of Businessซึ่งมากกว่าธุรกิจที่มีผู้ชายบริหาร
ติดตามผลสำรวจของประเทศไทยเพิ่มเติมได้ในอินโฟกราฟิกที่แนบมานี้ และศึกษารายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับแบบสำรวจได้ที่www.futureofbusinesssurvey.org