Facebook ประกาศข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการของ WhatsApp ในวันนี้ ซึ่งนับเป็นบริษัทด้านแพลตฟอร์มการสื่อสารผ่านมือถือที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว การซื้อกิจการครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมการจ่ายเป็นเงินสด 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจ่ายเป็นหุ้นของ Facebook
มูลค่าประมาณ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ข้อตกลงครั้งนี้ยังรวมถึงการมอบหุ้นแบบจำกัดจำนวนให้แก่ผู้ก่อตั้งและพนักงานของ WhatsApp เพิ่มอีกเป็นมูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะครอบคลุมเป็นเวลา 4 ปี
“WhatsApp เป็นช่องทางที่เชื่อมต่อกับผู้คนทั่วโลกถึง 1 พันล้านคน การให้บริการที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขนาดนี้นับเป็นสิ่งที่มีมูลค่าอย่างมหาศาล ผมรู้จักแจนมาเป็นเวลานาน และก็ตื่นเต้นมากที่ได้ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับเขาและทีมงาน เพื่อร่วมกันเปิดโลกให้กว้างขึ้น และเชื่อมต่อกันมากขึ้น” มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าว
————————
(บทวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการ)
จะว่าไปแล้ว การเข้าซื้อครั้งนี้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเท่าใด เพราะเฟซบุ๊กได้แสดงความสนใจในตัว Whatsapp มาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2012 แต่ที่น่าตกใจกว่าก็คือการที่เฟซบุ๊กทุ่มเงินสูงอย่างไม่น่าเชื่อในการเข้าซื้อครั้งนี้
เมื่อมองย้อนกลับไปเราอาจเห็นสถานการณ์วิน-วินของทั้งสองฝ่าย ข้อมูลจาก DISTIMO นั้นวิเคราะห์ไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2012 ถึงแม้จะเป็นข้อมูลเก่าแต่ก็น่าจะทำเราเห็นภาพชัดเจนขึ้น โดย DISTIMO ได้สรุปเปรียบเทียบยอดความนิยมของแอพแมสเซนเจอร์ทั้ง 2 ตัว ใน 41 ประเทศหลักคละกันไปในแต่ละทวีป ผลก็คือ ทั้งสองแอพมีความนิยมใกล้เคียงกัน โดยที่แอพเฟซบุ๊กแชทนั้นมียอดผู้ใช้มากกว่านิดหน่อย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะบริการของ Whatsapp นั้นมีค่าใช้จ่าย ที่น่าสนใจก็คือ แม้จะเป็นแอพที่เสียเงิน แต่ก็มีผู้ใช้จำนวนมากทีเดียว
และเมื่อสรุปออกมาเป็นอินโฟกราฟิกจำนวนผู้ใช้แอพแมสเซจจิ้งต่างๆ ในแต่ละประเทศในโลก ก็ได้ดังภาพนี้ครับ (ข้อมูลจาก Value2020 )
จะเห็นว่าการเข้าซื้อครั้งนี้ ทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ทางด้านแมสเซนจิ้งของโลกทันที ทั้งนี้รวมถึงบริการโทรผ่าน VoIP ไปยังโทรศัพท์พื้นฐานและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นจุดเด่นของ Whatsapp อยู่แล้วนั่นเอง
ในแง่ของการลงทุนด้วยมูลค่าถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญครั้งนี้ เฟซบุ๊กอาจมองว่าคุ้มค่าในแง่ของการเข้าเจาะตลาดในหลายประเทศที่เฟซบุ๊กแชทไม่เป็นที่นิยมซักเท่าไร ขณะที่บริการส่งข้อความและสติ๊กเกอร์กลายเป็นแนวโน้มที่คนนิยมใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก