(16 พฤษภาคม 2559) วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่มีความสำคัญกับประเทศไทย เพราะนอกจากจะเป็นวันที่คนไทยทั่วประเทศต่างตั้งหน้าตั้งตารอลุ้นผลสลากกินแบ่งกันแล้ว ยังเป็นวันเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของบัตรเอทีเอ็มจากแถบแม่เหล็กสีน้ำตาลหลังบัตร สู่บัตรแบบสมาร์ทการ์ด หรือบัตรแบบมีชิปคล้ายๆ กับบัตรประชาชนที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีความปลอดภัยสูง ช่วยในการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลบนบัตรได้ดีมากยิ่งขึ้น
เชื่อว่าผู้ใช้บัตรเอทีเอ็มหลายคนอาจจะเคยกังวล แอบกลัว หรือได้ข่าวเกี่ยวกับการขโมยข้อมูลบนบัตรเอทีเอ็ม หรือที่เรียกว่าการ “Skimming” เพื่อนำไปทำบัตรปลอมแอบขโมยเงินในบัญชีของเราอยู่บ้าง ซึ่งเป็นช่องโหว่ของบัตรแบบเก่าที่ใช้การเก็บข้อมูลบนแถบแม่เหล็กซึ่งสามารถใช้อุปกรณ์ Skimmer รูดกับบัตรเพียงครั้งเดียวก็ได้ข้อมูลบนบัตรทั้งหมด แอบติดกล้องดูเรากดรหัสผ่าน 4 ตัวบนตู้เอทีเอ็มอีกนิด ก็ได้ข้อมูลไปปลอมเป็นบัตรใหม่ใช้กดเงินจากตู้เอทีเอ็มได้เสมือนเป็นเจ้าของบัตร ซึ่งการโจรกรรมรูปแบบนี้สร้างความเสียหายให้กับธนาคารนับร้อยล้านบาทต่อไปเลยทีเดียว
รู้จักกับ EMV Chip Card
จากปัญหาความไม่ปลอดภัยของบัตรแบบแถบแม่เหล็ก ทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ให้บริการระบบทางการเงิน พัฒนาเครื่องมือและมาตรฐานร่วมกันเพื่อการป้องกันการโจรกรรมข้อมูล ออกมาเป็นบัตรแบบสมาร์ทการ์ด ที่ใช้การเก็บข้อมูลในชิปที่เรียกว่า EMV (มาจากตัวย่อของ Europay, MasterCard และ Visa ที่ร่วมกันพัฒนา และกำหนดมาตรฐานของบัตรแบบใหม่)
สิ่งที่แตกต่างออกไปจากบัตรแบบแถบแม่เหล็กคือ การเก็บข้อมูลในชิป EMV จะมีระบบการประมวลผลที่ต้องเข้ารหัส ทำให้เครื่อง Skimmer ของคนร้ายไม่สามารถอ่านข้อมูลบนบัตรได้ ไม่สามารถนำข้อมูลบนบัตรไปทำบัตรปลอมได้ จึงมีความปลอดภัยมากขึ้น ระบบนี้มีการใช้งานแล้วในทั่วโลก โดยเฉพาะกับบัตรเดบิต ที่มีสัญลักษณ์ Visa และ MasterCard โดยในแถบอาเซียนก็มีหลายประเทศที่ใช้บัตรเอทีเอ็มแบบสมาร์การ์ดแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียเป็นต้น
ATM Smart Card ในบ้านเรา
สำหรับการใช้งานบัตรแบบสมาร์ทการ์ดในบัานเรามีการเตรียมการมาแล้วหลายปี หลายธนาคารได้เริ่มทดลองใช้งานบ้านแล้วเช่น บัตร Be1st ของธนาคารกรุงเทพ ที่เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 รวมถึงอีกหลายธนาคารที่ทยอยปรับเปลี่ยนตามกฏข้อบังคับของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่บังคับทุธนาคารจะต้องยกเลิกแจกจ่ายบัตรเอทีเอ็มแบบแถบแม่เหล็ก เปลี่ยนไปใช้เป็นบัตรแบบสมาร์ทการ์ดตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป ดังนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่ไปสมัครบัตรเอทีเอ็มวันนี้เป็นต้นไป จะได้บัตรเอทีเอ็มแบบสมาร์ทการ์ดมาอย่างแน่นอน ส่วนบัตรแบบเก่าที่ใช้อยู่ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ทุกธนาคารจะต้องรับผิดชอบในการเปลี่ยนบัตร เป็นแบบสมาร์ทการ์ดให้เสร็จสิ้นก่อน 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า โดยผู้ใช้บัตรเดิมสามารถนำบัตรเก่าไปเปลี่ยนเป็นบัตรแบบสมาร์ทการ์ดใหม่ได้ โดยไม่มีใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม
ธนาคารที่พร้อมให้บริการบัตรแบบสมาร์ทการ์ดแล้ว
จากที่ได้ติดตามข้อมูลพบว่าเกือบทุกธนาคารมีความพร้อมในการเปลี่ยนบัตรเป็นรูปแบบสมาร์ทการ์ดแบบใหม่แล้วอาทิเช่น
- ธนาคารกรุงเทพ มีการยกเลิกบัตรแบบเก่าตั้งแต่ปี 2553 ใช้เป็นบัตรแบบ Be1st ที่เป็นสมาร์ทการ์ดอยู่แล้วไม่ต้องเปลี่ยนบัตรใหม่ ส่วนบัตรบัวหลวงเอทีเอ็มที่ใช้แถบแม่เหล็กจะยังสามารถใช้งานได้ถึงสิ้นปี 2562 ตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย และหากประสงค์จะใช้บัตรแบบสมาร์ทการ์ดก็สามารถนำมาเปลี่ยนใหม่ได้ฟรี
- ธนาคารกรุงไทย เปิดตัวบัตรสมาร์ทการ์ดในหลายรุ่น ที่มาพร้อมประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้ใช้ ปลอดภัยทั้งเงินและคน ไม่แน่ใจว่าบัตรธรรมดาไม่มีประกันเพิ่มมีไหม
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เปิดให้ทำบัตรแบบสมาร์ทการ์ดได้แล้ววันนี้ และยังสามารถใช้งานได้แล้วที่ตู้ของธนาคารกรุงศรีทุกตู้
- ธนาคารกสิกรไทย ยกเลิกบัตรแบบเดิมตั้งแต่ 8 พ.ค.59 ที่ผ่านมา พร้อมเปลี่ยนเป็นบัตรสมาร์ทการ์ดโดยมีบัตรให้เลือก 3 แบบได้แก่ K-Debit Card , K-My Play,และ K-Max Plus และเพิ่มความปลอดภัยด้วยการใช้ PIN แบบ 6 หลัก จากเดิม 4 หลัก และยังปรับเปลี่ยนตู้เอทีเอ็มใหม่ให้รองรับแบบสมาร์ทการ์ดไปแล้วกว่า 12,000 ตู้ จากทั้งหมดเท่าไหร่อันนี้ไม่ได้ระบุไว้
- ธนาคารไทยพาณิชย์ มีการเปิดตัวบัตรใหม่ที่เรียกว่า S Smart ตั้งแต่ 14 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ความคุ้มครองทรัพย์สินจากการชิงทรัพย์ สูงสุด 5,000 บาท มีค่าออกบัตรใหม่ 100บาท และค่าธรรมเนียมรายปี 300บาท ขึ้นไปแล้วแต่ประเภทของบัตร รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยด้วยรหัส PIN แบบ 6 หลัก
- ธนาคารทหารไทย ไม่มีข้อมูลแต่ทราบว่ามีการเปลี่ยนเป้นบัตรแบบสมาร์ทการ์ดมาระยะหนึ่งแล้ว
- ธนาคารธนชาต ยกเลิกบัตรแบบเดิมตั้งแต่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา
- ธนาคาร CIMB THAI มีการปรับเปลี่ยนบัตรใหม่เป็นสมาร์ทการ์ดแล้ว พร้อมปรับระบบรักาาความปลอดภัยจาก PIN 4หลักเป็น 6 หลักเพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ ธนาคารที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งพร้อมสำหรับการให้บริการบัตรแบบสมาร์ทการ์ดแล้ว สามารถสอบถามข้อมูลได้จากธนาคารโดยตรง
ข้อสังเกตในการใช้งานบัตรแบบสมาร์ทการ์ด
สำหรับบัตรสมาร์ทการ์ดอาจจะไม่ใช้เรื่องใหม่ในบ้านเรา เราได้เห็นประสบการณ์จากการเปลี่ยนมาใช้งานบัตรแบบสมาร์ทการ์ดจากธนาคารกรุงเทพมาบ้างแล้ว ข้อสังเกตที่ผู้ใช้บัตรเอทีเอ็มจะได้เจอหลังจากเปลี่ยนมาใช้บัตรแบบสมาร์ทการ์ดได้แก่
- บัตรแบบใหม่จะเปลี่ยนเป็นบัตรเดบิต ด้วยระบบของชิป EMV ที่จะลิงค์กับผู้ให้บริการอย่าง VISA หรือ MasterCard ทำให้บัตรใหม่สามารถใช้งานเป็นบัตรเดบิตได้ในตัว สามารถนำไปใช้รูดกับเครื่องรูดบัตรได้
- บัตรใหม่จะหาตู้กดเงินยากในช่วงต้น การเปลี่ยนบัตรเป็นแบบสมาร์ทการ์ด ทำให้ต้องเปลี่ยนตู้กดเป็นแบบใหม่ที่รองรับชิป EMV ด้วย ซึ่งระหว่างนี้หลายธนาคารกำลังทะยอยเปลี่ยนตู้เป็นระบบใหม่ อาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะเปลี่ยนได้ทั้งหมด เป็นข้อจำกัดของผู้ใช้บัตรแบบใหม่จะไม่สามารถใช้งานได้ทุกตู้ แต่ก็ยังดีที่ยังสามารถใช้งานกับตู้ของธนาคารอื่นที่เปลี่ยนระบบแล้วได้เช่นกัน
- ใช้เวลานานมากกว่า จากประสบการณ์ตรงพบว่าบัตรแบบสมาร์ทการ์ดมีการอ่านข้อมูลที่ช้ากว่าแบบแถบแม่เหล็กทำให้ต้องรอตรวจสอบบัตรนานกว่าปกติ อาจจะทำให้หงุดหงิดได้บ้าง
- รหัสผ่านใหม่ 6 ตัว อันนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะรหัสผ่านที่เราจดจำมาตลอดการใช้งานหลายปีที่ผ่านมาจะต้องถูกเปลี่ยนครั้งใหญ่ หลายธนาคารบังคับให้ลูกค้าใช้รหัสผ่านที่มีความยาวเพิ่มขึ้นจากเดิม 4 หลัก เป็น 6 หลัก แน่นอนการเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยให้มีความปลอดภัยมากกว่า แต่ผู้ใช้เองก็ต้องปรับตัวมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ก็นับเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ซึ่งช่วยให้การใช้งานทางการเงินของเรามีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ก็อยากจะให้ผู้ใช้บัตรเอทีเอ็มหลายๆ ท่านลองเปลี่ยนใช้งานสมาร์ทการ์ดแบบใหม่ดูเพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง แต่ถามว่าต้องรีบเปลี่ยนไปใช้งานบัตรแบบใหม่หรือไม่อันนี้ก็คงต้องบอกว่ายัง ยังไม่ต้องรีบมากนัก ยังสามารถรอให้ระบบต่างๆ มีความพร้อมมากกว่านี้ได้ จนกว่าเครื่องมือ อุปกรณ์หรือตู้เอทีเอ็มต่างๆ มีความพร้อมมากกว่านี้ ค่อยเลปี่ยนก็ยังทันอยู่ ระหว่างนี้เวลากดเงินก็เพิ่มความระมัดระวังกันหน่อย สามารถดูวิธีการป้องกันได้จากบทความนี้ https://www.techonmag.com/2014/04/14/professorq-atmskimming/