ดีแทค ไตรเน็ต เตรียมเปิดให้บริการ 4G บน 2100MHz ต่อยอดประสบการณ์ลูกค้าเร็วๆ นี้ในพื้นที่กรุงเทพ พร้อมเร่งเปลี่ยนโครงข่ายสถานีฐานรองรับ 3G 2100MHz ทั่วประเทศภายในเดือนมิถุนายน มุ่งสานพันธกิจหลัก Connecting Everyone by 2015 – Internet for all
นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่าดีแทคได้มุ่งสู่พันธกิจ Connecting Everyone by 2015 – Internet for all โดยใน ปีพ.ศ. 2558 ดีแทคอยากให้ลูกค้าดีแทคทุกคนสามารถเข้าถึงประสบการณ์ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือ หรือแท็บเล็ต ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 38% จากลูกค้าทั้งหมดที่มีประสบการณ์โมบายล์อินเทอร์เน็ตแล้ว ทั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมไทย เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยรวมให้กับประเทศ และเชื่อมต่อช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital Divide)
ดีแทคมุ่งเน้นกลยุทธ์หลัก 3 แนวทาง กลยุทธ์แรก คือ Internet for All การทำให้คนไทยทั่วประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ภายใน 3 ปี เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดประสบการณ์ใช้งานดาต้า ดีแทค ไตรเน็ตพร้อมเปิดให้บริการ 4G บนคลื่น 2100 MHz เร็วๆ นี้ ระหว่างนี้ดีแทค ไตรเน็ตและ Apple จะดำเนินการทดสอบการใช้งาน 4G ร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดก่อนเปิดบริการ โดยในช่วงเริ่มต้นจะเปิดให้บริการ 300 สถานีฐานครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพชั้นใน ได้แก่ สีลม สาทร ปทุมวัน บางรัก พญาไท ราชเทวี คลองเตย ดินแดง ฯลฯ ดีแทค ไตรเน็ตมีแผนจะเปิดตัวให้บริการและแนะนำข้อมูลเพื่อกระตุ้นตลาดอีกครั้ง ทันทีที่เปิดให้บริการ 4G อย่างเป็นทางการ ดีแทคคาดว่ามีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของลูกค้าบนเครือข่ายดีแทคมากกว่า 1 ล้านเครื่องทั่วประเทศที่รองรับการใช้งาน 4G
ทั้งนี้ ดีแทค ไตรเน็ตได้เคยทดสอบ 4G เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยดีแทคมีอุปกรณ์โครงข่ายที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ สามารถทำการอัพเกรดเครือข่ายทั่วประเทศจาก 3G เป็น 4G ได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่เปลี่ยนการ์ด 4G ในตู้สัญญาณ ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีเท่านั้น ส่งผลให้ดีแทค ไตรเน็ตเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายที่มีความพร้อมในการเปิดให้บริการ 4G ได้รวดเร็ว นอกจากพร้อมที่จะนำเทคโนโลยี 4G ที่ทันสมัยมาสู่ผู้ใช้งานแล้ว ยังเชื่อว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะสามารถสร้างโอกาสต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานอย่างมหาศาลเพื่อผู้ใช้งานทั่วประเทศ
ขณะนี้ ยอดผู้ใช้งานดีแทค ไตรเน็ตมีมากกว่า 14 ล้านราย (ข้อมูล ณ 9 ก.พ. 2557) โดยมีสถานี 2100 MHz ที่ให้บริการแล้วครอบคลุมการใช้งานของประชากรประมาณ 55-60% มีจำนวนสถานีฐานรองรับ 3G 2100 MHz กว่า 5,900 แห่งทั่วประเทศ โดยดีแทค ไตรเน็ต มีแผนจะเปลี่ยนโครงข่ายทุกสถานีให้รองรับ 3G 2100 MHz ทุกสถานีทั่วประเทศเสร็จสิ้นภายในมิถุนายนนี้ เพื่อช่วยในการเข้าถึงบริการ 3G มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพความเร็วในการใช้งานของอินเทอร์เน็ต
นายชัยยศ จิรบวรกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้า บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์ที่ 2 คือ Loved by Customers สร้างความรู้สึกรัก และประทับใจในบริการ เพื่อให้ลูกค้าแนะนำและบอกต่อกับเพื่อน ครอบครัว ญาติพี่น้อง ความสำเร็จที่มาจากการที่ลูกค้าชื่นชอบและแนะนำต่อไป ดีแทคจะใช้งบลงทุนจำนวน 800 ล้านบาท ในการปรับโฉมและขยายศูนย์บริการ 300 แห่ง ร้านค้าย่อยเติมเงิน 200,000 แห่ง ทุกตำบลทั่วประเทศ ลูกค้าจะได้สัมผัสกับแนวคิด One-stop service ได้รับความสะดวกในการใช้บริการอย่างครบวงจร ทั้งการให้คำแนะนำปรึกษา จำหน่าย และบริการหลังการขายที่ต่อเนื่องเป็นระบบเดียวกัน เพิ่มความเร็วในการให้บริการด้วยเครื่องมือดิจิตอล ให้ลูกค้าได้รับข้อมูลการบริการบนอุปกรณ์ต่างๆ ภายในศูนย์บริการอย่างรวดเร็ว
“เพิ่มศักยภาพพนักงานในการให้บริการด้วยโปรแกรม F.A.S.T มาจากการให้บริการแบบดีแทคสไตล์ Friendly: การเอาใจใส่ลูกค้า มีความเป็นมิตร และบริการเป็นกันเอง Active: มีความกระตือรือร้นในการให้บริการตลอดเวลา เห็นลูกค้าเป็นคนสำคัญ Smart: มีความรู้ความสามารถ ในสินค้าและบริการ มีทักษะในการแนะนำและแก้ปัญหาอย่างมืออาชีพ และ Teamwork: ความสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข และพนักงานที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องสมาร์ทโฟน (Smart Phone Expert) ประจำศูนย์บริการ ยิ่งไปกว่านั้นคอลเซ็นเตอร์ยังมีกลุ่มพนักงานที่เชี่ยวชาญรับสายลูกค้าได้ถึง 10 ภาษา” นายชัยยศ กล่าว
นาย จอน กล่าวปิดท้ายว่า “กลยุทธ์ที่ 3 คือ Efficient Operations เป็นการมุ่งเน้นการปรับปรุงการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคตและความคาดหวังของผู้ถือหุ้น การแข่งขันในยุคดิจิตอลที่เราต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพและการเปลี่ยนแปลง เพื่อส่งต่อประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้ลูกค้า ภายใต้ กลยุทธ์ดังกล่าว ดีแทคได้มีโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure sharing) เพื่อให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือไทย เช่าใช้โครงข่ายเสาโทรคมนาคม อุปกรณ์สื่อสัญญาณ สายไฟเบอร์ออพติกร่วมกันสู่การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ประหยัดงบลงทุน และเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินงานสู่บริการ
นอกจากนี้ ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว ดีแทคริเริ่มแนวคิด One Digital dtac ที่มุ่งเปลี่ยนวัฒนธรรมและกระบวนการทำงานในองค์กรให้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันในปัจจุบันที่เปลี่ยนจากธุรกิจวอยซ์เป็นดาต้า โดยดีแทคได้มุ่งเน้น 6 ข้อหลักคือ 1. การสร้างวัฒนธรรมองค์กรดิจิตอล 2. การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานภายในเป็นดิจิตอล 3. การทำงานเน้นสไตล์ยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยน 4. เพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการให้บริการและช่องทางขาย 5. การนำโซเชียลมีเดียมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจ สู่ช่องทางขายในอนาคต ที่ผ่านมา ดีแทค ออนไลน์ สโตร์สามารถมียอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในไทย 6. การวางกลยุทธ์สร้างคอนเทนท์พาร์ทเนอร์ เพื่อผลักดันให้ดีแทคเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบ”