ความเร็วชัตเตอร์ยังเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่เราต้องการถ่ายและอารมณ์ที่ต้องการถ่ายทอด เช่น ถ้าเราต้องการถ่ายรูปนักบอลในจังหวะยิงประตูหรือนกบินก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงเพื่อให้จับภาพได้ทัน แต่ถ้าเราต้องการถ่ายรูปให้แสดงถึงความเคลื่อนไหว เช่น ภาพน้ำตกเป็นริ้วๆ หรือคนปั่นจักรยานก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เป็นต้น กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่มีรองรับความเร็วชัตเตอร์สูงถึง 1/1200 ขึ้นไปอยู่แล้ว แต่ความเร็วชัตเตอร์แบบต่ำนั้นกล้อง DSLR จะตั้งได้ต่ำกว่ากล้องคอมแพ็ค (ประมาณ 30 vs. 4 วินาที)
รูรับแสงและระยะชัดลึก
หลังๆ มานี้รู้สึกคนจะเริ่มนิยมการถ่ายรูปแบบหน้าชัดหลังเบลอมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ การจะถ่ายรูปแบบนั้นต้องอาศัยเลนส์ที่มีรูรับแสงค่อนข้างกว้าง อย่างที่บอกไปว่ารูรับแสง (Aperture) หรือ f-stops นั้นเกี่ยวกับเลนส์…ไม่ใช่ตัวกล้อง มันควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่กล้องและระยะชัดลึก ที่ f/22 ซึ่งถือว่า “แคบ” นั้นปริมาณแสงจะผ่านจากเลนส์สู่กล้องได้น้อยแต่ระยะโฟกัสก็จะไกลขึ้น สิ่งที่อยู่ไกลๆ หรือแบ็กกราวนด์จะคมชัด ต่างจากที่ f/1.8 ซึ่ง “กว้าง” แสงเข้าได้เยอะแต่ระยะโฟกัสจะสั้น สิ่งที่ห่างออกไปจะเบลอๆ
การจะถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอหรือโบเก้ (Bokeh) นั้นต้องใช้เลนส์ (หรือเลนส์ที่ติดอยู่กับกล้อง) ที่มีรูรับแสงกว้าง เช่น f/3.5 ขึ้นไป (ตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งดี) เลนส์ Kit ส่วนใหญ่มีค่า f มุมกว้าง (Wide) สุดประมาณ f/3.3-3.5 ซึ่งก็พอจะถ่าย Bokeh ได้แต่แบ็กกราวนด์จะไม่ละลายหรือเบลอเท่าเลนส์ f ต่ำๆ เช่น เลนส์ Macro หรือ Telephoto บางรุ่น แต่เดี๋ยวนี้ก็มีเลนส์ Fix หลายรุ่นที่ f ต่ำและราคาแพง ข้อเสียคือเวลาถ่ายต้องใช้ระบบ “ซูมเท้า” เดินเข้าออกเองเท่านั้น
เลนส์ f ต่ำๆ ยังมีข้อดีคือทำให้ถ่ายรูปในที่แสงน้อยได้ดี เพราะรูรับแสงที่กว้างทำให้แสงเข้าได้มากกว่าเลนส์ f สูงๆ เมื่อแสงเข้าได้มากขึ้นก็แปลว่าเราไม่จำเป็นต้องตั้ง ISO ให้สูงจนอาจทำให้เกิด Noise/Grain สิ่งที่ตากล้องมือใหม่ต้องจำให้มั่นคืออย่างที่บอกไปว่าทั้งรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์นั้นเป็นปัจจัยที่กำหนดปริมาณแสงที่ผ่านเข้าสู่กล้อง…แต่ต่างก็ให้ผลตรงกันข้าม ISO นั้นก็มีผลแต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะตั้งไว้ค่าที่ต่ำสุดเท่าที่จะถ่ายรูปออกมาได้ดี
มือใหม่เล่นกล้อง…ค่อยใช้ค่อยหัด
การเลือกซื้อกล้องนั้นก็เหมือนการเลือกซื้อคอมพ์คือมันมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ นานาเยอะแยะไปหมด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคนซื้อ/คนใช้ว่าต้องการลงลึกขนาดไหน สิ่งที่ผมมักจะบอกคนที่เพิ่งเริ่มเล่นกล้องและคิดจะหาซื้อกล้องตัวแรกคือให้ไปอ่านหนังสือสอนการถ่ายรูปเสียก่อน จริงอยู่ที่ว่าเราซื้อกล้องมาแล้วหัดไปใช้ไปก็ได้ แต่การมีความรู้พื้นฐานนอกจากจะช่วยให้เราเรียนรู้การใช้งานได้เร็วขึ้นแล้วมันจะช่วยเราเวลาออกไปถ่ายรูปตามสถานที่และสถานการณ์ต่างๆ
ย้ำกันอีกครั้งว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อจะซื้อกล้องดิจิตอลซักตัวคือ
- ISO หรือค่าความไวแสง ISO ต่ำภาพเนียน ISO สูงภาพแตก ถ้ากล้องรองรับ ISO สูงๆ โดยที่ถ่ายออกมาแล้วไม่แตกได้ยิ่งดี
- ความเร็วชัตเตอร์ ระยะเวลาที่ชัตเตอร์เปิดให้แสงเข้า ความเร็วชัตเตอร์ช้าแสงเข้าได้มาก ความเร็วชัตเตอร์สูงแสงเข้าได้น้อย กล้อง DSLR มักจะมีช่วงความเร็วชัตเตอร์ที่กว้างกว่ากล้องคอมแพ็ค ทำให้ประยุกต์ใช้ได้มากกว่า
- รูรับแสง (Aperture หรือ f-stops) รูรับแสงกว้าง (f ต่ำ) แสงเข้าได้เยอะ รูรับแสงแคบ (f สูง) แสงเข้าได้น้อย เลนส์/กล้องที่มีเลนส์ f ต่ำๆ จะราคาสูงกว่า
ทั้ง 3 ส่วนนี้มีผลต่อภาพที่ออกมาว่าจะชัด/เบลอ สว่าง/มืดอย่างไร โดยเฉพาะความเร็วชัตเตอร์กับรูรับแสงนั้นเป็นหัวใจหลักของการถ่ายรูปเลยทีเดียว จำนวนพิกเซลของกล้องนั้นยิ่งมากก็ยิ่งดีแต่ไม่เสมอไป ให้พิจารณาจากการใช้งานด้วยว่าจำเป็นหรือเปล่า ที่สำคัญกว่าคือคุณภาพของเซนเซอร์ แต่ที่สำคัญที่สุดคือตัวคนถ่ายเอง อย่าลืมนะครับว่าการถ่ายรูปเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การจะถ่ายรูปออกมาให้ดีควรจะต้องมีทั้งความรู้พื้นฐานเกี่ยวการถ่ายรูป การทำงานของกล้อง/อุปกรณ์ ไอเดีย และจินตนาการ ตากล้องตัวจริงกระซิบมาว่าถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไม่เป็นไร…อย่างน้อยขอให้รักการถ่ายรูปก็พอแล้วครับ