มีคนจำนวนไม่น้อยที่สนใจการถ่ายภาพแต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนจึงปล่อยโอกาสผ่านเลยไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายทั้งที่เดี๋ยวนี้กล้องดิจิตอลราคาไม่แพงและมีความสามารถสูงขึ้นกว่าสมัยก่อนมากมาย การเริ่มเล่นกล้องนั้นไม่ยากอย่างที่คิดหรอกครับ วันนี้ PCToday จึงขอนำเสนอพื้นฐานการเลือกซื้อกล้องดิจิตอลและหลักการใช้งานแบบง่ายๆ ให้ตากล้องมือใหม่เอาไปศึกษากัน
สวัสดีครับแฟนๆ PCToday ทุกท่าน หน้าร้อนนี้ได้ไปเที่ยวไหนกันบ้างรึยังครับ หลายคนอาจจะบ่นว่าไม่น่าเที่ยวเพราะไปตรงไหนก็ร้อน…อ่ะก็ไปต่างประเทศก็ได้ แต่ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนก็ตามสิ่งหนึ่งที่ขาดเสียไม่ได้เลยคือกล้อง แน่นอนว่าเดี๋ยวนี้เราสามารถใช้สมาร์ทโฟนถ่ายรูปแทนกล้องคอมแพ็คได้สบายๆ แต่อย่างไรเสียกล้องมือถือก็คงไม่อาจทนแทนกล้องจริงๆ ได้โดยเฉพาะกล้องระดับโปรซูมเปอร์ขึ้นไปยัน DSLR
สมัยนี้หาคนที่ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือยากนะครับ แล้วโทรศัพท์ส่วนใหญ่ก็มีกล้องในตัว ข้อดีในการถ่ายภาพคือมันพกพาสะดวก (เพราะยังไงเราก็ต้องพกมือถืออยู่แล้วใช่มั้ยล่ะ) และใช้งานง่าย นอกจากนี้ก็มีแอพถ่ายรูปซึ่งเพิ่มฟีเจอร์และความสามารถต่างๆ ได้อีกเพียบ ถ้าอย่างนั้นแล้ว…ทำไมเราถึงต้องไปแคร์กับกล้องดิจิตอลทั้งหลายด้วยล่ะ? คุณภาพไงครับ โดยส่วนตัวผมมีความเชื่อว่าถ้าจะถ่ายรูปแบบจริงจังยังไงกล้องจริงๆ ย่อมต้องดีกว่าเพราะนั่นคือหน้าที่ของมัน
ยุคนี้คนเล่นกล้องกันแพร่หลายกว่าสมัยที่ผมเริ่มเล่นกล้องใหม่ๆ ซึ่งยังมีแต่ SLR (ฟิล์ม) การถ่ายภาพนั้นอาจเป็นทั้งอาชีพ งานอดิเรก หรือแม้แต่แฟชั่น เหตุผลที่แต่ละคนหันมาจับกล้องก็แตกต่างกันไปแหละครับ แต่สิ่งที่อยากบอกไว้ก่อนคือการเล่นกล้องนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ครับ มันก็ต้องมีความรู้พื้นฐานกันบ้างไม่มากก็น้อย เริ่มตั้งแต่เลือกซื้อ ใช้งาน ยันบำรุงรักษา แต่วันนี้ผมจะขอพูดเฉพาะเรื่องการเลือกซื้อเพราะเป็นจุดเริ่มและจุดสำคัญต่อการเล่นกล้องต่อๆ ไป
Megapixel…หลุมพรางแห่งโลกดิจิตอล
ไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิตอลแบบคอมแพ็คหรือ DSLR ก็ล้วนใช้เทคโนโลยีพื้นฐานเดียวกันคือใช้เซนเซอร์รับภาพ ซึ่งความสามารถเซนเซอร์ที่ว่านี้โดยหลักๆ เราวัดจากความละเอียดของข้อมูลที่มันสามารถรับได้ซึ่งมีหน่วยเป็นพิกเซล แต่จำนวนพิกเซลที่รับได้นั้นมีมากเป็นหลักล้านเค้าจึงใช้หน่วยเป็นเมกะพิกเซล (Megapixel: MP) เมื่อฟังอย่างนี้แล้วคนส่วนใหญ่จะติ๊ต่างว่ายิ่ง MP เยอะก็จะยิ่งดี ถ้าคิดอย่างนั้นแสดงว่าคุณตกหลุมพรางของโลกดิจิตอลเข้าแล้ว เพราะอะไร?
อย่างแรกคือกล้องที่พิกเซลเยอะกว่าใช่ว่าจะดีกว่าเสมอไป…ให้ดูคุณภาพของภาพที่ถ่ายออกมาด้วย ประเด็นนี้ครอบคลุมตั้งแต่กล้องในมือถือ/แท็บเล็ต เว็บแคม โน้ตบุ๊กยันกล้อง DSLR เลยครับ คือจริงๆ แล้วโดยส่วนใหญ่กล้องที่มี MP สูงก็มักจะถ่ายออกมาได้ดีกว่าแหละครับ ทว่าปัจจัยที่กำหนดคุณภาพของเซนเซอร์ไม่ได้มีแค่จำนวนพิกเซล แต่ยังมีเทคนิคที่ใช้เก็บข้อมูล ซอฟต์แวร์ รวมถึงขนาดและประเภทของเซนเซอร์อีกด้วย ไม่แปลกใจเหรอครับว่าทำไม Nikon D4 แค่ 16.2 ราคาเป็นแสนแต่ D800 36.3MP ราคาถูกกว่ากันตั้งครึ่ง
อย่างที่สองคือจำนวนพิกเซกกับการใช้งาน หลายคนซื้อกล้อง >18MP ไปถ่ายรูปเพื่ออัพขึ้น Facebook หรือ Twitter แถมก่อนจะอัพยัง Resize ขนาดเสียก่อนอีก ถามว่าแล้วจะเอาพิกเซลเยอะไปทำเพื่อ? (ถ้า Crop ก็ว่าไปอย่าง) ก่อนจะซื้อกล้องถามตัวเองก่อนว่าจะถ่ายไปทำอะไรบ้าง ถ้าไม่ได้เอาไปพิมพ์โปสเตอร์หรือบิลบอร์ด 12-16MP ก็เหลือกินเหลือใช้แล้วครับ คิดดูว่าความละเอียดหน้าจอ 1080p ในอุปกรณ์ต่างๆ นั้นเท่ากับ 2.1MP หรือแม้แต่ความละเอียดระดับ 4K นั้นก็แค่ประมาณ 8.3MP เท่านั้น อีกอย่างนึงคือยิ่งจำนวนพิกเซลมากขนาดของรูปก็จะยิ่งใหญ่ สื่อที่ใช้เก็บข้อมูลก็ต้องมีความจุสูงตามไปด้วยแต่ตรงนั้นไม่ใช่ปัญหาเพราะ Flash Memory ความจุสูงเดี๋ยวนี้ราคาไม่แพง ที่สำคัญกว่าคือสื่อควรมีความเร็วถ่ายโอนข้อมูลสูงๆ เพราะไม่อย่างนั้นกล้องก็จะทำงานได้ช้าไปด้วย
สุดท้ายคือจำนวนพิกเซลไมได้แปรผันตรงกับความสวยงามของภาพที่ถ่ายออกมาครับ ปัจจัยหลักอยู่ที่ตัวคนถ่าย ครั้งหนึ่งผมเคยไปทริปถ่ายรูปกับเพื่อนๆ (รู้สึกจะเป็นภูกระดึง) เพื่อน (ซึ่งหัวอาร์ตหน่อยๆ) คนนึงไม่มีกล้องไปด้วยเลยเอากล้องสำรองซึ่งเป็นกล้องคอมแพ็ค 3.2MP ธรรมดาๆ ให้เค้าใช้ เชื่อมั้ยครับว่ารูปที่เค้าถ่ายออกมาสวยและกินใจกว่าคนอื่นๆ ที่ใช้ SLR/DSLR เสียอีก
ISO
ISO หรือ International Standards Organizations เป็นหน่วยวัดความไวแสง ถ้าเป็นสมัยกล้องฟิล์มก็เป็นความไวแสงของฟิล์ม แต่ปัจจุบันหมายถึงความไวแสงของเซนเซอร์รับภาพ ISO นั้นมีตั้งแต่ต่ำขนาด 50 ถึงสูงขนาด 204800 การถ่ายรูปที่ ISO ต่ำๆ นั้นมีข้อดีคือรูปที่ออกมาจะมีคุณภาพดีแต่ก็ต้องถ่ายในที่ๆ ปริมาณแสงมากพอหรือไม่ก็ใช้แฟลชช่วย ข้อเสียของการถ่ายที่ ISO ต่ำคือชัตเตอร์กล้องจะต้องเปิดนานขึ้น (เพื่อให้แสงเข้ามาได้มากขึ้นมิฉะนั้นแล้วรูปที่ออกมาจะมืด) ซึ่งในระหว่างนั้นถ้าเราขยับหรือสั่นเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ภาพเบลอได้ง่ายๆ
วิธีแก้ภาพเบลอ/ไม่ชัดโดยเฉพาะในที่แสงน้อยแบบง่ายที่สุดคือถ่ายที่ ISO สูงหน่อย (ซึ่งชัตเตอร์ก็จะไม่ต้องเปิดนาน ลดความเสี่ยงจากการสั่น) ถ้าเป็นกล้องดิจิตอลสมัยก่อนเค้าจะไม่แนะนำอย่างนี้เพราะยิ่ง ISO สูงภาพที่ออกมาคุณภาพจะไม่ดี คือจะมี Noise/Grain (พวกจุดหรือรอยที่ทำให้ภาพดูไม่สะอาด) กล้อง DSLR รุ่นเก่าหน่อยเจอ ISO 1600 เข้าไปก็ Noise บานแล้ว แต่กล้องดิจิตอลสมัยนี้ใช้ Image Processor ที่ประสิทธิภาพสูงขึ้นจึงไม่เกิด Noise ง่ายๆ ซึ่งทำให้เราสามารถถ่ายภาพที่ ISO สูงได้โดยไม่เสียคุณภาพหรือเสียก็เพียงเล็กน้อย
กล้องคอมแพ็คหลายรุ่นและ DSLR รุ่นล่างๆ แทบทุกรุ่นสามารถถ่ายที่ ISO 1600 ขึ้นไปได้โดยไม่เสียคุณภาพเลย แต่ยังไงซะถ้าหลีกเลี่ยงการใช้ ISO สูงๆ ได้ก็จะดีครับเพราะกล้องพวกนี้ความสามารถของเซนเซอร์ยังค่อนข้างจำกัด ต่างจากกล้อง DSLR รุ่นกลางๆ ขึ้นไปซึ่งสามารถถ่ายที่ ISO 12800 ได้โดยที่แทบจะไม่เห็น Noise เลย บางรุ่นสามารถอัด ISO ได้เป็นหลักแสนโดยที่ Noise โผล่มาแค่เล็กน้อยเท่านั้น ฟีเจอร์อย่าง Anti-shake หรือกันสั่นและ Noise Reduction ก็มีส่วนช่วยให้กล้องสามารถใช้ ISO สูงๆ ได้เช่นกันครับ
ความเร็วชัตเตอร์
ความเร็วชัตเตอร์คือระยะเวลาที่ชัตเตอร์เปิดรับแสงซึ่งเป็น 1 ในปัจจัยที่กำหนดปริมาณแสง (และภาพ) ที่เข้าสู่กล้อง (อีกปัจจัยคือรูรับแสงซึ่งขึ้นอยู่กับสเปกของเลนส์) ถ้าเราถ่ายรูปในที่แจ้งแดดจัดๆ แล้วตั้งความเร็วชัตเตอร์ไว้ 10 วินาทีแสงจะเข้ามากเกินไป (Overexposure) ภาพที่ได้จะสว่างจนแทบไม่เห็นรายละเอียดหรืออาจจะมีแต่สีขาวเลยก็ได้
ในสถานการณ์เดียวกันถ้าเราตั้งความเร็วชัตเตอร์ไว้ 1/4000 วินาทีภาพที่แสงที่เข้ามาก็จะน้อยลงมากทำให้ได้ภาพมีรายละเอียดมากกว่า แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นที่ๆ แสงน้อยการถ่ายรูปด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงจะทำให้แสงเข้าได้น้อยภาพที่ออกมาก็จะมืด ดังนั้นควรต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เช่น 1/8 หรือ 1 วินาทีเพื่อให้แสงเข้าได้มากขึ้น