สำหรับเทคนิคการตัดต่อภาพเอาไว้ดูเล่นขำๆ นี้ ขออนุญาตลัดคิว ตามกระแสกกันเล็กน้อย จากข่าวอุบัติเหตุท่อน้ำประปาขนาดใหญ่แตกกลางกรุงเทพ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทำให้มีกระแสโซเชียลมีเดีย ตัดต่อภาพล้อเลียนอุบัติเหตุครั้งนี้กันยกใหญ่ จนกลายเป็นกระแสท่อน้ำไทยฟีเวอร์ โด่งดังกันไปทั่ว มีภาพตัดต่อแบบขำๆ จำนวนมาก เนียนบ้างไม่เนียนบ้าง แต่ก็ดูตลก และเป็นมุขที่น่าสนใจ เห็นแล้วคันไม้คันมือ อยากลองทำดูบ้าง กับเทคนิคการตัดต่อภาพแบบขำๆ เอามัน ตัดแปะเองได้ไม่ต้องพึ่งมืออาชีพ
ตัดแปะแบบง่ายๆ ใช้ได้เสมอ
สำหรับการตัดต่อรูปภาพ วิธีการตัดแปะดูจะเป็นวิธีที่เบสิค และง่ายที่สุดแล้วในบรรดา เทคนิคการตัดต่อภาพแบบต่างๆ ใช้เครื่องมือไม่มาก ไม่ซับซ้อน แต่จะใช้ความสามารถของคนแต่งพอสมควร โดยวิธีการตัดแปะ ลำดับแรกให้เราเปิดภาพที่ต้องการจะทำขึ้นมาทั้งหมด ทั้งภาพพื้นหลัง และภาพที่ต้องการจะนำมาแปะทับ วางอยู่ในภาพเดียวกัน แต่คนละเลเยอร์ เพื่อความสะดวกในการตัดแปะภาพ
1.) จากนั้นเริ่มขั้นตอนด้วยการปรับขนาด และตำแหน่งของรูป ให้อยู่ในตำแหน่งที่เราต้องการจะแปะโดยเครื่องมือ “Move Tool” เครื่องมือรูปลูกศรมือชี้ขึ้น จะอยู่ในลำดับแรกสุดของแถบเครื่องมือด้านซ้าย โดยวิธีการใช้งาน ให้กดที่เลเยอร์ที่ต้องการจะเลื่อน จากนั้นกดเมาส์ค้างไว้ แล้วลากไปวางในตำแหน่งที่ต้องการ
2.) ส่วนวิธีการปรับขนาดของรูปภาพ สามารถทำได้โดย ไปที่เมนู “Edit” จากแถบเครื่องมือด้านบน จากนั้นให้เลือกไปที่เมนู “Transform” แล้วเลือกไปที่เครื่องมือ “Scale” เพื่อปรับขนาด โดยจะมีกรอบสี่เหลี่ยมขึ้นมาบริเวณรอบๆ รูปที่เราต้องการจะปรับขนาด
3.) ให้กดตรงกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ บริเวณมุมของกรอบภาพ แล้วลากเมาส์ขยายออก จนได้ขนาดเราที่ต้องการ เสร็จแล้วจึงกดปุ่ม “Enter” บนคีย์บอร์ด หรือดับเบิลคลิกที่ภาพเป็นอันเสร็จขั้นตอน เสริมเทคนิคให้อีกนิด ถ้าอยากให้ภาพคงอัตราส่วนเดิมไว้เวลาสั่งขยาย เราจะต้องกดปุ่ม “Shift” บนแป้นคีย์บอร์ดค้างเอาไว้ด้วย เพื่อล็อคสเกลของภาพไว้เวลาขยายจะได้ไม่ผิดเพี้ยน
4.) ขั้นตอนต่อไปจะเป็นขั้นตอนในการลบพื้นหลังส่วนเกิน ของภาพที่เรานำมาแปะทับไว้ ซึ่งวิธีการก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน อาจจะใช้เครื่องมือ “Lesso” แบบต่างๆ มาร์คพื้นไว้ก่อนจะลบก็ได้ โดยหากเป็นภาพที่มีเส้นตรงยาวๆ ส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้เครื่องมือ “Polygonal Lesso” จะมาร์คพื้นที่ได้ง่ายกว่า แต่หากเป็นพื้นที่ ที่มีสี ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แนะนำให้ใช้เครื่องมือ “Magnetic Lesso” วาดไปรอบๆ บริเวณภาพที่ต้องการจะลบโปรแกรมจะมาร์คตำแหน่งที่เหมาะสมให้เองจะยิ่งสะดวกมากขึ้น
5.) เมื่อเรามาร์คพื้นที่ ที่ต้องการจะลบออกทั้งหมดครบเรียบร้อยแล้ว หรือใครที่คิดว่าลบเลยดีกว่าไม่ต้องมาร์คก็แล้วแต่ สามารถสั่งลบภาพส่วนเกินออกได้ด้วยเครื่องมือ “Eraser Tool” จากแถบเครื่องมือด้านซ้าย กดลากไปบริเวณรอบๆ ส่วนเกินที่ไม่ต้องการทั้งหมด จนเกลี้ยง
6.) เสร็จแล้วปรับสี ปรับความสว่างของภาพพื้นหลัง และภาพที่นำมาแปะให้เข้ากัน อีกนิดหน่อย ก็จะได้ภาพตัดต่อ ตามที่เราต้องการแล้ว โดยเราสามารถปรับความสว่างของภาพได้ โดยเลือกที่เลเยอร์ของภาพที่เราต้องการจะปรับแต่ง จากนั่น เลือกไปที่ “Image” ในส่วนของแถบเครื่องมือด้านบน ต่อด้วยเมนู “Adjustments” แล้วเลือกเครื่องมือ “Brightness/Contrast”
7.) ซึ่งตัวเครื่องมือนี้จะมีแถบลูกศรให้สามารถปรับแต่งได้ 2 ส่วนคือ แถบ “Brightness” สำหรับตั้งค่าความมืด และความสว่างของภาพ และ แถบ “Contrast” สำหรับปรับแต่งค่าความเข้มของสี
8.) หรือจะเลือกปรับแต่งโทนสีของภาพก็ได้ โดยจะต้องเลือกไปที่เครื่องมือ “Color Balance” จากเมนูเดียวกัน ซึ่งภาพในเครื่องมือจะมีแถบลูกศรให้ปรับแต่งค่า ตามแม่สี แดง, เขียว, และน้ำเงิน ให้ปรับแต่งสีได้ตามต้องการ
ทำเลเยอร์มาร์คง่ายและอิสระกว่า
เทคนิคการทำเลเยอร์มาร์คเป็นอีกหนึ่งวิธี ที่นิยมใช้ในการตัดต่อภาพไม่แพ้กัน ด้วยความสามารถพิเศษ ที่เราสามารถปรับความเข้ม กำหนดระดับความทึบ และโปร่งใส่ของภาพ ในบริเวณที่เราต้องการได้ โดยไม่ส่งผลกระทบกับส่วนอื่นๆ ของภาพ ช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างอิสระมากยิ่งขึ้น
1.) โดยขั้นตอนการทำเลเยอร์มาร์ค จะเริ่มต้นจากการ จัดวางตำแหน่งของภาพพื้นหลัง และภาพที่นำมาตัดต่อให้ มีขนาดและอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการเสียก่อน โดยขั้นตอนการทำ จะเหมือนกับขั้นในเทคนิคแรกที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
2.) เมื่อจัดแต่งรูปภาพให้ได้ขนาด และตำแหน่งที่ใช้ในการตัดต่อได้แล้ว ให้ดูที่แท็บเลเยอร์มุมขวาล่างของโปรแกรม แล้วกดที่ปุ่ม “Add layer mask” ในแถบเครื่องมือด้านล่าง สัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมมีวงกลมสีดำตรงกลางตามรูป
3.) เมื่อกดลงไปแล้ว จะมีกรอบสีขาวขึ้นมาอยู่ด้านหลังของเลเยอร์ ที่เราต้องการจะแปะภาพลงไป เวลาใช้งานให้เลือกใช้เครื่องมือ “Brush Tool” หรือแปรงทาสี จากแถบเครื่องมือหลักด้านซ้าย แล้วทาลงไปในภาพในส่วนที่ต้องการจะซ่อน
4.) ทาสีขาวในส่วนที่ต้องการจะแปะทับบนภาพพื้นหลัง โดยอาจใช้เครื่องมือ “Lesso” แบบต่างๆ ช่วยให้การทาสีลงไปได้อย่างสะดวก และไม่กินเข้าไปในเนื้อภาพได้
5.) นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดขนาดของแปลง รูปแบบในส่วนของ “Mode” รวมถึงความเข้ม หรือความโปรงใสของภาพในส่วนที่ได้ระบายสีไว้ หรือค่า “Opacity” ซึ่งเราสามารถปรับแต่งได้ จากแถบสำหรับปรับแต่งด้านบนของโปรแกรม โดยในส่วนนี้เราสามารถเลือกใช้ได้อย่างอิสระตามต้องการ จะมีผลกับภาพ เฉพาะในส่วนที่เราได้ใช้แปลงทาลงไปเท่านั้น จะไม่มีผลกับภาพในส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ถือเป็นความยืดหยุ่นอีกอย่างหนึ่งของการทำเลเยอร์มาร์ค
6.) เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป จะเป็นส่วนของการเก็บรายละเอียดเพื่อความสวยงาม และความสมจริงในภาพมากขึ้น เช่น การปรับแต่ง ปรับแต่ความมืดสว่าง ซึ่งวิธีการได้อธิบายไว้แล้วในเทคนิคก่อนหน้านี้ สามารถย้อนกลับขึ้นไปดูได้
เท่านี้ก็จะได้ภาพตัดแปะอย่างง่ายๆ ที่อาจจะไม่ค่อยแนบเนียนนักตามแต่ฝีมือของแต่ละคน แต่ก็ได้ภาพพออกมาตามที่เราได้วาดฝัน หรือได้จินตนาการไว้ตั้งแต่เริ่มต้น