การตัดต่อภาพมีขั้นตอนอยู่ 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ ด้วยกัน นั่นคือ ขั้นตอนของการตัด และขั้นตอนของการต่อ ตามชื่อเลย เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งสองขั้นตอน เพราะหากตัดภาพออกมาไม่ดี ภาพก็จะขาดๆ เกินๆ ดูไม่สวยงาม หรือหากตัดออกมาดีแล้วแต่นำมาต่อไม่ดี ก็จะดูไม่เนียนไปกับภาพที่นำมาต่อ ดูไม่สมจริง ซึ่งต้องใช้ทั้งเทคนิค และความสามารถในการตัดต่ออย่างมาก เพื่อให้ภาพตัดต่อที่ได้ออกมาดูเนียน และสมจริงมากที่สุด ซึ่งในส่วนของการตัดภาพนั้น มีเครื่องอยู่หลายตัวให้เลือกใช้ได้ตามความถนัด และความเหมาะสมกับการใช้งาน
ยกตัวอย่างเช่น เครื่องมือในกลุ่มของ “Marquee Tool” เป็นเครื่องมือในการเลือกพื้นที่ในภาพ เฉพาะส่วนที่เราต้องการ รูปแบบหนึ่ง ซึ่งตัวเครื่องมือจะฟิกซ์รูปแบบอยู่ 4 แบบหลักๆ ด้วยกัน คือ “Rectangular Marquee Tool” การเลือกพื้นที่รูปสี่เหลี่ยม จะเลือกแบบสี่เหลี่ยมจัสตุรัส หรือลากเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็ได้ “Elliptical Marquee Tool” การเลือกพื้นที่รูปวงกลม ซึ่งลากเป็นวงกลมปกติ หรือลากให้เป็นวงรีก็ได้เช่นกัน ส่วน “Single Row Marquee Tool” และ “Single Column Marquee Tool” จะลากเป็นเส้นตรงเล็กๆ ในแนวตั้ง หรือ แนวนอนซึ่งเครื่องมือนี้อาจจะไม่ค่อยได้ใช้บ่อยมากนัก
ตัวอย่างการใช้เครื่องมือ “Elliptical Marquee Tool” ลากเป็นวงรี ล้อมรอบใบหน้าในส่วนที่เราต้องการจะเลือก ซึ่งทำได้ค่อนข้างสะดวกรวดเร็ว แต่รูปแบบที่ให้เลือกจะล็อคไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อาจจะต้องกลับมาเก็บรายละเอียดส่วนที่เกิน หรือขาดหายไปอีกครั้งหนึ่ง
ถ้าจะให้สามารถปรับแต่งเลือกพื้นที่ในภาพ ที่ต้องการได้อย่างอิสระ และละเอียดมากกว่าต้องใช้เครื่องมือในกลุ่มของ “Lasso Tool” หรือเครื่องมือบ่วงบาศ ที่เป็นแบบฟรีฟอร์ม ไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถลากเส้นรอบๆ บริเวณของภาพที่เราต้องการได้อย่างอิสระ โดยจะมีเครื่องมือมาให้เลือกใช้กันได้ทั้งหมด 3 แบบด้วยกันดังนี้
เริ่มต้นด้วยเครื่องมือแรก “Lasso Tool” สัญลักษณ์รูปบ่วงบาศวงกลม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเลือกพื้นที่ในภาพแบบ “Free Hand” หรือแบบอิสระ ที่เราจะต้องลากเส้นประล้อมกรอบรอบๆ บริเวณที่เราต้องการด้วยตัวเอง อายได้ตรงไหนรูปแบบอย่างไร กินพื้นที่มากน้อยแค่ไหนก็วาดขึ้นมาเองได้เลยตามต้องการ โดยที่ตัวโปรแกรมไม่ได้มีส่วนช่วยทุ่นแรงใดๆ
ตามด้วยเครื่องมือที่ 2 กับ “Polygonal Lasso Tool” สัญลักษณ์รูปบ่วงบาศหลายเหลี่ยม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเลือกพื้นที่ในภาพแบบ เส้นตรงหลายเหลี่ยม โดยวิธีการเลือกพื้นที่ทำได้โดยการกดจุดลงไปรอบๆ บริเวณที่ต้องการ โปรแกรมจะทำการลากเส้นตรงจากจุดต่างๆ ตามลำดับที่เราได้กดเลือกไว้
และสุดท้ายกับเครื่องมือ “Magnetic Lasso Tool” สัญลักษณ์รูปบ่วงมีแม่เหล็กติดอยู่ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเลือกพื้นที่ในภาพแบบฟรีฟอร์ม อีกรูปแบบหนึ่ง ที่สะดวกและง่ายกว่ามาก เพียงแค่ลากเมาส์ไปรอบๆ บริเวณที่เราต้องการ โปรแกรมจะทำการลากเส้นให้อัตโนมัติ โดยใช้เส้นขอบ หรือจุดตัดกันของสีในภาพ เป็นแนวในการลากเส้น ช่วยให้สะดวก และรวดเร็วกว่า แต่ก็จะมีปัญหาอยู่บ้างกับภาพ ที่มีสีใกล้เคียงกัน จะทำให้เส้นที่ลากผิดเพี้ยนได้ ต้องกลับมาแก้เพิ่มลดส่วนที่ต้องการอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือที่น่าสนในอย่างเครื่องมือ “Magic Wand Tool” ทีใช้เลือกบริเวณของภาพจากสี ที่ใกล้เคียงกัน โดยเมื่อเราใช้เครื่องมือนี้กดลงไปบริเวณสีที่ต้องการ โปรแกรมจะเลือกพื้นที่ของสีที่ใกล้เคียงกันในบริเวณนั้น ขึ้นมาเหมาะสำหรับการเลือกพื้นที่ในภาพที่มีสีเหมือนๆ กันขึ้นมา
หรือจะเป็นเครื่องมือ “Quick Selection Tool” ที่อยู่ในชุดเครื่องมือเดียวกันกับ “Magic Wand Tool” แต่จะมีความฉลาดมากกว่า สามารถเลือกพื้นที่ในภาพ ที่ต้องการได้ง่ายเพียงแค่ลากเครื่องมือไปในบริเวณของภาพที่เราต้องการ โปรแกรมจะทำการเลือกพื้นที่ในภาพ ที่เหมาะสมให้เอง สะดวก ง่ายและแม่ยำตรงตามต้องการมากๆ
Tip: เราสามารถเพิ่มหรือลดพื้นที่ในภาพที่เราต้องการ หลังจากที่ใช้เครื่องมือต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเลือกพื้นที่ในภาพขึ้นมาแล้ว โดยใช้คีย์ลัด เช่น หากต้องการเลือกพื้นที่ในภาพ ที่ต้องเพิ่มเติมให้กดปุ่ม “Shift” ค้างไว้ จะมีเครื่องหมาย “+” เพิ่มขึ้นมาที่เคอร์เซอร์ จากนั้นจึงใช้เครื่องมือที่ต้องการลากเส้นล้อมกรอบบริเวณที่เราต้องการเพิ่มเติม จะอยู่ติดกับบริเวณที่เราได้เลือกไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ก็ได้ แต่หากต้องการจะลบพื้นที่ส่วนเกิน ให้กดปุ่ม “Alt” ค้างไว้ จะมีเครื่องหมาย “-” เพิ่มขึ้นมาที่เคอร์เซอร์ จากนั้นจึงใช้เครื่องมือที่ต้องการลากเส้นล้อมกรอบบริเวณที่เราไม่ต้องการจะเลือกออก เมื่อปล่อยเมาส์เส้นประบริเวณที่เราล้อมกรอบไว้จะหายไปตามที่ต้องการ
ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่เราได้ตัดภาพต้นฉบับเฉพาะส่วนที่ต้องการออกมาแล้ว เราจะต้องนำภาพที่เราได้ตัดไว้ไปวางทับบนภาพใหม่ที่เราต้องการจะตัดต่อ โดยการเลือกที่เมนู “Edit” จากแถบเมนูด้านบนของโปรแกรม จากนั้นเลือกที่ “Copy” หรือใช้คีย์ลัดโดยการกดปุ่ม “Ctrl” ค้างไว้แล้วกดปุ่มตัวอักษร ”C” ก็ได้เช่นกัน
เสร็จแล้วให้เราเปิดภาพที่ต้องการจะตัดต่อขึ้นมา เพื่อวางรูปภาพที่เราได้ทำการก็อปปี้ไว้เมื่อครู่ มาวางทับโดยการไปที่เมนู “Edit” จากแถบเครื่องมือด้านบนของโปรแกรมเหมือนเช่นเดิม จากนั้นเลือกไปที่ “Paste” หรือใช้คีย์ลัดโดยการกดปุ่ม “Ctrl” ค้างไว้แล้วกดปุ่มตัวอักษร ”V” ก็ได้เช่นกัน
เมื่อกดวางภาพเสร็จแล้วเราก็จะได้ภาพ 2 ภาพ ที่ซ้อนกันอยู่ตามรูปตัวอย่าง เพื่อเตรียมการตัดต่อภาพในขั้นตอนต่อไป
ต่อภาพเข้าหากัน
หลังจากที่เราได้เตรียมภาพเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมที่จะทำการตัดต่อ จะสังเกตว่าตอนนี้ภาพต้นฉบับที่เราตัดมา มีสเกลใบหน้าที่ใหญ่กว่าภาพที่เรานำมาตัดต่อพอสมควร ในขั้นตอนนี้เราจะต้องปรับสเกลของภาพที่เราตัดมาให้พอดีกับ สเกลของภาพที่เราจะใช้ตัดต่อ
โดยวิธีการให้ไปที่เมนู “Edit” จากแถบเครื่องมือด้านบนของโปรแกรมจากนั้นดูที่หัวข้อ “Transform” จะมีเครื่องมือ “Scale” อยู่ในลำดับที่ 2 เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปรับเพิ่มลดขนาดของภาพโดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อกดใช้เครื่องมือนี้แล้วจะมีกรอบสี่เหลี่ยมล้อมรอบภาพที่เราต้องการจะย่อ-ขยาย จากนั้นให้เอาเคอร์เซอร์กดลากรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่อยู่ตรงมุมภาพ เข้า-ออก เพื่อย่อ-ขยายภาพได้ขนาดตามที่ต้องการ โดยมีเทคนิคเล็กน้อย หากต้องการย่อ-ขยายภาพให้ได้สัดส่วนของภาพเท่าเดิม ให้เรากดปุ่ม “Shift” บนคีย์บอร์ดค้างเอาไว้ด้วย
วิธีการย่อ-ขยายภาพให้ได้ขนาด หรือสเกลที่เหมาะสม มีเทคนิคอยู่เล็กน้อย ก่อนอื่นเลยเราจะต้องหาจุดสังเกตบนในหน้า ที่สามารถมองเห็น และวัดขนาดได้อย่างชัดเจน ให้เจอ อย่างน้อยด้านละ 1 จุด (กว้าง-ยาว) เช่น ความกว้างของหน้าผาก หรือความยาวของใบหน้าเป็นต้น ใช้เป็นจุดสังเกต แล้วจึงปรับอัตราส่วนของภาพที่เรานำมาแปะทับ ให้ได้ขนาดกว้าง-ยาวที่ใกล้เคียงกันที่สุด
แล้วจึงนำภาพมาวางซ้อนทับ ให้แนบสนิทกันพอดีดูเหมือนเป็นภาพเดียวกันอาจจะมีปรับแต่งยืด-หดภาพ หรือหมุนภาพได้ ตามความเหมาะสมเพื่อให้ได้ภาพที่ใกล้เคียง สมจริงมากที่สุด โดยวิธีการหมุนภาพนั้นสามารถทำได้โดยการไปที่แถบเครื่องมือ “Edit” ด้านบนของโปรแกรมจากนั้นไปที่หัวข้อ “Transform” แล้วเลือกไปที่ “Rotate” จะมีกรอบสีเหลี่ยมล้อมรอบภาพที่เราต้องการจะหมุน จากนั้นให้กดเคอร์เซอร์ตรงมุมภาพจากนั้นลากหมุนเป็นวงกลมให้ได้องศาที่ต้องการ
ปรับแต่งย่อ-ขยายเสร็จเรียบร้อยจากนั้นก็จะเหลือแค่ปรับแต่งแสง สี ให้เข้ากับภาพพื้นหลังอีกเล็กน้อย เท่านี้ก็ได้ภาพตัดต่อตามที่เราต้องการ
ทำเลเยอร์มาร์คก็ได้
หรือจะลองใช้วิธีการทำเลเยอร์มาร์ค อย่างที่เคยนำเสนอไปเมื่อฉบับที่แล้ว สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการตัดต่อภาพบุคคลได้เช่นกัน โดยขั้นตอนหลังจากที่เราได้ตัดภาพต้นฉบับ มาแปะทับบนภาพที่เราต้องการจะตัดต่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้ทำการปรับย่อขนาดของภาพให้พอดีกับสัดส่วนของภาพที่จะนำมาตัดต่อ โดยใช้เทคนิคเดียวกันกับเทคนิคการแปะภาพข้างต้น
จากนั้นให้นำภาพมาวางทับซ้อนกันให้สนิทพอดี แล้วจึงกดปุ่ม ”Add layer mask” บริเวณด้านล่างขวา ของแถบเครื่องมือเลเยอร์ สัญลักษณ์รูปกรอบสี่เหลี่ยมสีขาว มีวงกลมสีเทาอยู่ด้านใน เพื่อใช้งานเครื่องมือ เลเยอร์มาร์ค เมื่อกดเสร็จแล้วจะสังเกตว่าจะมีกรอบสี่เหลี่ยมสีขาวปรากฏขึ้นมาด้านหลังเลเยอร์แสดงว่าทำถูกต้องตามขั้นตอนชัวร์
จากนั้นให้เลือกที่เครื่องมือ “Brush Tool” จากเมนูทางด้านซ้าย รูปพู่กันทาสี โดยเลือกสีแปลงที่ใช้ทาให้เป็นสีดำ เสร็จแล้วทาลงไปบริเวณขอบๆ เพื่อลบขอบของภาพที่เรานำมาแปะทับให้เนียนเสอม ดูกลมกลืนกันทั้งภาพ แต่หากลบหาเกินหรือแหว่งไป ให้เปลี่ยนสีพู่กันเป็นสีขาวแทน แล้วทาบริเวณที่ภาพขาดหาย หรือลบแหว่งไป ทำสลับกันไปเลื่อยๆ จนได้ภาพตัดต่อที่เนียนเป็นเนื้อเดียวกับภาพพื้นหลังมากที่สุด
จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการปรับแต่งแสงสี ให้ดูกลมกลืนกับพื้นหลัง โดยสามารถเรียกใช้เครืองมือในการปรับแต่งสีได้จากแถบเครืองมือ ”Image” ด้านบนของโปรแกรม โดยเลือกไปที่ “Adjustments”จะมีเครื่องมือปรับแต่งหลายๆ ตัวให้เลือกใช้ โดยหลักๆ ที่มักจะใช้กันบ่อยๆ ได้แก่ Brightness/Contrast สำหรับปรับแต่งความสว่างในภาพ และความเข้มของสี ,Levels สำหรับปรับแต่งสีจากกราฟ Color Balance สำหรับปรับโทนสีแยกตามแม่สี เป็นต้น
ปรับแต่งแสงสี เสร็จเรียบร้อยก็จะได้ภาพตัดต่อด้วยเทคนิคการทำเลเยอร์มาร์ค สมใจ ลองเอาไปตัดต่อเล่นๆ เพื่อความสนุกกันดูได้ ส่วนบทความหน้า ขอต่อเรื่องของการตัดต่อภาพอีกหนึ่งบทความ มาดูเทคนิคการตัดต่อภาพรูปแบบต่างๆ มีขั้นตอนกระบวนการและเทคนิคการแต่งภาพทำอย่างไรบ้าง