ปกติคนใช้แกดเจ็ตหรืออุปกรณ์พกพาต่างๆ คงพอเข้าใจว่าถ้าเราชาร์ตไฟให้อุปกรณ์ผ่านทางพอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์ มันจะชาร์ตช้ากว่าใช้ตัวอแดปเตอร์ USB ที่มาพร้อมอุปกรณ์ชาร์ตให้นะครับ แต่วันนี้ผมได้สายชาร์ตแบบใหม่มาที่ชูจุดเด่นว่าทำให้ชาร์ตอุปกรณ์จาก PC ได้เร็วขึ้นถึงเท่าตัว ก็เลยต้องมาลองให้เห็นจริงดูสักหน่อยครับ
โดย @eka_x (www.aofapp.com)
ก่อนที่เราจะพูดถึงสายชาร์ตที่ว่านี้ ผมขอปูความเข้าใจเรื่องการชาร์ตผ่าน USB แบบคร่าวๆ ตามที่ผมพอจะรู้ก่อนนะครับ (ไปอ่านวิกิมา มึนหลายตลบ) คือหลายคนอาจจะรู้แล้วว่าพอร์ต USB ยอดนิยมที่ใช้กันในแทบทุกอุปกรณ์ตอนนี้ เป็นไม่กี่พอร์ตของคอมพิวเตอร์ที่จ่ายไฟออกมาได้ ซึ่งเป็นการออกแบบมาตั้งแต่ต้นให้ USB สามารถจ่ายไฟเลี้ยงอุปกรณ์ได้ ทำให้อุปกรณ์เล็กๆ ที่กินไฟไม่มากไม่ต้องเสียบสายไฟเข้าไปเสริมเหมือนอุปกรณ์ในยุคก่อนที่จะใช้ USB ครับ
โดยมาตรฐาน USB 2.0 นั้นจ่ายไฟสูงสุดได้ 5V ที่ 0.5 A ส่วน USB 3.0 จะจ่ายไฟได้สูงสุดที่ 0.9 A ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปและชาร์ตแกดเจ็ตอย่างช้าๆ นะครับ แต่หลังจากที่อุปกรณ์ต่างๆ ในโลกหลาต่างต้องการพลังงานมากขึ้น แถมแนวทางออกแบบเริ่มใช้พอร์ต USB เป็นช่องสำหรับชาร์ตด้วย จึงเกิดมาตรฐาน USB Battery Charging เมื่อปี 2007 ทำให้สามารถพัฒนาอแดปเตอร์แปลงไฟบ้านเป็น USB ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันขึ้นมาชาร์ตอุปกรณ์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ ซึ่งในมาตรฐานล่าสุดเวอร์ชั่น 1.2 ที่ออกมาเมื่อปี 2010 จะทำให้อแดปเตอร์ USB สามารถจ่ายไฟได้สูงสุดที่ 5A สำหรับอุปกรณ์ที่ปรับแต่งมาดีๆ เลยแหละครับ
และเรื่องที่ต้องเข้าใจอีกอย่างของจ่ายประจุไฟคือ ถึงแม้อแดปเตอร์หรือพอร์ต USB จะจ่ายไฟได้สูงแล้ว แต่แกดเจ็ตของเราก็ต้องรับไฟได้เยอะด้วยนะครับ มันถึงจะชาร์ตได้เร็ว สมมุติว่าใช้เราอแดปเตอร์ของ iPad ที่สามารถจ่ายไฟได้ 2.1 A ไปชาร์ต Mobile Booster ที่สามารถรับไฟจากพอร์ต USB เข้าได้ 0.5 A ตัวอแดปเตอร์ก็จ่ายไฟให้ 0.5 A เท่านั้นครับ ในกรณีนี้ถึงจะเปลี่ยนไปใช้อแดปเตอร์ของ iPhone ที่จ่ายไฟให้ได้ 1 A ความเร็วในการชาร์ต Mobile Booster ก็ไม่ต่างกัน ซึ่งเรื่องกำลังไฟสูงสุดที่รับได้พวกนี้ มักเขียนอยู่ในคู่มืออยู่แล้วครับ
เอาแหละครับ หลังจากที่เรารู้เรื่องพื้นฐานของ USB กันไปคร่าวๆ ก็น่าจะเข้าใจแล้วว่าทำไมเวลาชาร์ตแกดเจ็ตกับคอมพิวเตอร์ถึงช้ากว่าชาร์ตด้วยอแดปเตอร์ของมันเองที่มาในกล่อง เพราะพอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์นั้นจ่ายไฟได้เพียง 0.5 A เท่านั้น ในขณะที่อแดปเตอร์ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์ส่วนใหญ่สามารถจ่ายไฟได้ถึง 1 A เราจึงไม่สามารถชาร์ต iPad ผ่านคอมพิวเตอร์ได้ เพราะกำลังไฟไม่พอนี้แหละครับ (จริงๆ มันชาร์ตได้ถ้าปิดจอ แต่ช้ามาก)
ที่นี่สำหรับคนที่ทำงานอยู่ใกล้คอมบ่อยๆ แถมมีแกดเจ็ตต้องชาร์ตมากมายอย่างผม จะให้พกอแดปเตอร์ติดตัวมันก็หนักเปล่าๆ แต่จะให้ชาร์ตอุปกรณ์ผ่านคอมพิวเตอร์ปกติมันก็ใช้เวลานานเหลือเกิน ครั้งนี้ผมจึงขอรีวิว CSQUID สาย USB แบบพิเศษที่ผู้ผลิตเคลมว่าสามารถชาร์ตอุปกรณ์ได้เร็วขึ้น 2 เท่า ว่าจะจริงอย่างที่โฆษณารึเปล่าครับ
ลักษณะของ CSQUID นั้น ด้านหนึ่งจะเป็นหัว USB แบบ Standard-A หรือ USB แบบใหญ่ที่ใช้เสียบกับคอมพิวเตอร์ แล้วปลายอีกด้านหนึ่งจะมีหัวต่อเสียบอุปกรณ์ 2 แบบคือพอร์ต 30 พินของ Apple สำหรับชาร์ตพวก iPhone, iPad กับพอร์ต Micro-USB สำหรับชาร์ตโทรศัพท์ทั่วไป แต่ที่แปลกคือ CSQUID จะมีแคปซูลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ในสายครับ ซึ่งจะมีสวิทซ์ให้เลื่อน 2 อันคือใช้เลือกพอร์ตระหว่าง 30 พินของ Apple หรือ Micro-USB กับเลือกโหมดการใช้งานครับโดย CSQUID จะมีการทำงาน 2 โหมดคือ
- โหมดธรรมดาหรือ Change and Data Sync ที่เป็นรูปลูกศร 2 หัวชนกัน จะทำงานเหมือนเป็นสาย USB ปกติ จ่ายไฟเท่าเดิมและยังใช้โอนข้อมูลกับอุปกรณ์ได้
- โหมดชาร์ตหรือ Fast-Charge Only ที่เป็นรูปสายฟ้า ถ้าเลื่อนเป็นโหมดนี้จะทำให้ชาร์ตได้เร็วขึ้นเท่าตัวครับ แต่คอมพิวเตอร์จะมองไม่เห็นอุปกรณ์นั้นเลย จะซิงค์หรือเรียกใช้ข้อมูลไม่ได้ครับ แต่คิดอีกแง่มันก็ปลอดภัยเวลาชาร์ตกับคอมชาวบ้าน เพราะเข้ามายุ่งกับข้อมูลในอุปกรณ์เราไม่ได้
ที่นี้เรามาลองทดสอบดูกันว่าเจ้าสาย CSQUID มันช่วยให้ชาร์ตเร็วขึ้นจริงแค่ไหน โดยทดสอบกับการชาร์ต iPad ที่ปิดจอและเปิด Airplane Mode เพื่อตัดสัญญาณโทรศัพท์และ Wifi ทั้งหมดที่อาจทำให้กินแบตเตอรี่ไม่เท่ากันครับ โดยใช้เวลาชาร์ต 30 นาทีต่อรอบ ผลออกมาดังนี้
ปริมาณแบต iPad2 | ชาร์ตผ่านคอมพิวเตอร์ปกติ (ไฟ 0.5 A) | ชาร์ตด้วยคอมพิวเตอร์ผ่าน CSQUID | ชาร์ตผ่านอแดปเตอร์ iPad (ไฟ 2.1 A) |
ก่อนชาร์ต | 28% | 32% | 40% |
หลังชาร์ต | 32% | 40% | 55% |
รวมชาร์ตไฟเข้า | 4% | 8% | 15% |
สรุปว่า CSQUID ช่วยทำให้การชาร์ตด้วยคอมพิวเตอร์เร็วขึ้นประมาณเท่าตัวจริงตามที่โฆษณานะครับ ก็หมายความว่าเมื่อปรับเป็นโหมดชาร์ตอย่างเดียว CSQUID สามารถจ่ายไฟได้ประมาณ 0.9 A
แต่ผมก็สงสัยต่อว่าถ้าเอา CSQUID ไปชาร์ตกับอแดปเตอร์โดยตรง ไม่ได้ชาร์ตกับคอม มันจะช่วยให้เร็วขึ้นได้ไหม ผมเลยปรับการทดลองใหม่ โดยใช้อแดปเตอร์ iPhone ที่จ่ายไฟได้ 1 A ชาร์ต iPad 2 ที่ปิดจอ เปิด Airplane Mode เป็นเวลา 30 นาทีเหมือนเดิม ผลก็ออกมาตามตารางนี้ครับ
ปริมาณแบต iPad2 | ชาร์ตผ่านอแดปเตอร์ iPhone ด้วยสายธรรมดา | ชาร์ตผ่านอแดปเตอร์ iPhone ด้วย CSQUID |
ก่อนชาร์ต | 48% | 58% |
หลังชาร์ต | 58% | 68% |
รวมชาร์ตไฟเข้า | 10% | 10% |
ก็หมายความว่า CSQUID จะช่วยเร่งความเร็วในการชาร์ตได้เฉพาะเมื่อต่อกับคอมพิวเตอร์เท่านั้นครับ เมื่อใช้งานร่วมกับอแดปเตอร์จ่ายไฟจะไม่ช่วยเร่งความเร็วอะไร
และการทดสอบสุดท้ายที่ผมสงสัยมาก คือปกติผมจะติดตั้งโปรแกรม AI Charger ในคอมพิวเตอร์เพื่อเร่งกระแสไฟที่ผ่านพอร์ต USB เพื่อให้ชาร์ต iPad ผ่านคอมพิวเตอร์ได้อยู่แล้วครับ แล้วถ้าผมใช้สาย CSQUID ร่วมกับคอมที่ติดตั้ง AI Charger อยู่แล้ว มันจะช่วยเร่งให้เร็วขึ้นไปอีกได้รึเปล่า โดยทดสอบเหมือนเดิม ใช้เวลา 30 นาทีเท่าเดิมครับ
ปริมาณแบต iPad2 | ชาร์ตกับคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง AI Charger ผ่านสาย CSQUID | ชาร์ตกับคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง AI Charger ผ่านสายธรรมดา |
ก่อนชาร์ต | 56% | 65% |
หลังชาร์ต | 64% | 73% |
รวมชาร์ตไฟเข้า | 8% | 8% |
สรุปว่าการใช้สาย CSQUID ร่วมกับคอมพิวเตอร์ที่ลง AI Charger อยู่แล้วก็ไม่ทำให้ชาร์ตได้เร็วขึ้นนะครับ อาจเพราะว่าเมื่อเปิด CSQUID เป็นโหมดชาร์ตเร็วแล้ว คอมพิวเตอร์ของเราจะไม่สามารถตรวจสอบอุปกรณ์ที่เสียบกับเครื่องได้ว่าคืออุปกรณ์อะไร ทำให้มันไม่ได้เร่งกระแสให้
หากสังเกตผลการชาร์ตจากคอมพิวเตอร์ปกติผ่านสาย CSQUID กับชาร์ตผ่านคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง AI Charger ผ่านสายธรรมดา จะพบว่าสามารถชาร์ต iPad ได้ 8% เท่ากันครับ ก็หมายความว่าทั้ง CSQUID กับ AI Charger สามารถเร่งให้พอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์จ่ายไฟขึ้นมาได้เป็นประมาณ 0.9A เท่ากันครับ
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะตั้งคำถามนะครับว่าทำไมเรายังต้องซื้อ CSQUID มาใช้ในเมื่อเราสามารถโหลด AI Charger มาติดตั้งได้ฟรี คือแบบนี้ครับถึงแม้ว่าเราจะใช้ AI Charger ได้ฟรี แต่มันไม่สามารถใช้ได้ทันทีหลังจากติดตั้ง ต้องรีเซ็ตเครื่องก่อนครั้งหนึ่งเพื่อเริ่มใช้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาโปรแกรมไปลงคอมคนอื่น แล้วมารีเซ็ตเครื่องตรงหน้าเพื่อชาร์ตอุปกรณ์ของตัวเอง และที่สำคัญ AI Charger นั้นรองรับแค่อุปกรณ์ของ Apple เป็นหลักครับ ถ้าเอาอุปกรณ์อื่นๆ หรือมือถือแอนดรอยด์ไปเสียบชาร์ต มันก็ไม่เร่งความเร็วให้นะครับ ผิดกับ CSQUID ที่สามารถเร่งการชาร์ตอุปกรณ์ทุกชนิดที่เสียบผ่านคอมพิวเตอร์ได้
เมื่อเลือกว่าจะชาร์ตกับหัวไหน ก็จะมีไฟปรากฏขึ้นที่โลโก้ของหัวนั้น
CSQUID จึงเหมาะกับคนที่ต้องชาร์ตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เยอะๆ ทำงานใกล้ชิดกับคอม และออกนอกสถานที่บ่อยๆ นั้นแหละครับ เพราะพก CSQUID แค่เส้นเดียวก็สามารถชาร์ตและซิงค์ได้ทั้งอุปกรณ์แอปเปิ้ลและอุปกรณ์ทั่วไปที่ใช้สาย Micro-USB ครับ ประหยัดเนื้อที่ในกระเป๋าได้เยอะ ชาร์ตก็เร็ว แต่ใครที่คุ้นกับสายชาร์ตแอปเปิ้ลอาจจะรู้สึกสั้นไปนิดครับ สั้นกว่าสาย iPhone ประมาณฟุตหนึ่งได้ แต่ก็พกง่ายไม่เทอะทะดีเหมือนกัน
ถ้าใครสนใจผู้จัดจำหน่ายแจ้งว่าสามารถหาซื้อได้ที่ B2S, iStudio & iBeat by Copperwired, iStudio by Spvi, iBeat by Graphicscan และ .life ในราคาประมาณ 690 บาทครับ
คะแนน
- Performance: 9 – ทำได้อย่างที่โฆษณาไว้ทุกอย่าง
- Feature: 8 – ใช้งานได้กับอุปกรณ์หลายประเภท
- Design: 9 – งานละเอียดเรียบร้อย แข็งแรง
- Best Value: 7 – ราคาสูงกว่าสายธรรมดาพอสมควร
- First Impression: 6 – หน้าตาบรรจุภัณฑ์ธรรมดาไปหน่อย
ราคา 690 บาท
บริษัท BTL Solution จำกัด
โทร. 02-374-1034
[…] Csquid ได้ที่ http://www.pctodaythailand.com/csquid-reviewed/ […]