สืบเนื่องมาจากเจ้า MacBook Air 13 นิ้ว ตัวใหม่ล่าสุด Mid 2012 นั้น เกิดอาการที่ไม่คิดว่าจะเจอ นั่นก็คือ พัดลมระบายความร้อนทำงานหนัก จนถึงขึ้นได้ยินเสียงลมที่เป่าออกมาเลย โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเจอกับการเรนเดอร์ไฟล์ การบีบอัดไฟล์ การแปลงไฟล์ หรือไปเจอเว็บไซต์ที่ใช้ Flash เข้าให้ ก็จะส่งผลทำให้ระบบระบายความร้อนของ MacBook Air ทำงานหนักมาก จึงเป็นอาการที่ไม่สู้ดีนัก หากยังปล่อยให้เครื่องทำงานแบบนี้ต่อไป และอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้อายุการใช้งานลดลง ดังนั้นการมองหาแท่นรองโน้ตบุ๊กช่วยระบายความร้อน จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด
แหล่งขายแท่นรองโน้ตบุ๊กที่มีตัวเลือกเยอะๆ ก็คงหนีไม่พ้นการเดินไปที่ห้างไอทีชื่อดัง ที่มองซ้ายทีขวาทีก็เห็นแท่นรองโน้ตบุ๊กมากหน้าหลายตาเต็มไปหมด แต่ที่มาสะดุดสายตา ก็เห็นจะเป็น NotePal U2 ของ Cooler Master ที่มีความพิเศษตรงที่พัดลมระบายความร้อนสามารถย้ายตำแหน่งได้ ซึ่งตรงนี้แหละที่ผมชอบเพราะจุดที่ MacBook Air ร้อนนั้น อยู่บริเวณด้านบนของคีย์บอร์ดแต่โดยส่วนใหญ่ แท่นวางโน้ตบุ๊กรุ่นอื่นๆ มักจะอยู่บริเวณตรงกลางนั่นเอง และเท่าที่ทราบมาก็คือ ราคาค่าตัวของ Cooler Master NotePal U2 นั้นลดลงไปหลายร้อยเลยทีเดียว หากนับตั้งแต่ตอนเปิดตัวมาใหม่ๆ เมื่อ 2-3 ปีก่อน ก็เลยได้ครอบครองเป็นเจ้าของ
มาดูกันที่ดีไซน์โดยรวมของ Cooler Master NotePal U2 กันก่อนดีกว่า โดยจะเป็นแท่นวางโน้ตบุ๊กแบบขาตั้ง ที่ยกระดับโน้ตบุ๊กให้มีความลาดเอียงประมาณ 30 องศา ซึ่งการลาดเอียงนี้มีผลทำให้การพิมพ์งานง่ายขึ้น และหน้าจออยู่ในระดับสายตาขึ้นด้วย โดยจะมีสองสีให้เลือกระหว่าง สีอลูมิเนียม กับสีดำ และตรงด้านข้างและด้านล่างของแท่นจะใช้ยางรองโน้ตบุ๊กสีดำเช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้ตัวเครื่องสัมผัสกับอลูมิเนียมจนเป็นรอย โดยที่ตัวแท่นรองโน้ตบุ๊กจะมีขนาดอยู่ที่ 343 x 266 x 58.6 มิลลิเมตร มีน้ำหนักอยู่ที่ 582 กรัม ซึ่งค่อนข้างเบา ทำให้เคลื่อนย้ายสะดวก แถมยังมียางรัดโน้ตบุ๊กมาให้อีกด้วย ซึ่งมีไว้สำหรับเอาโน้ตบุ๊กสอดไว้ที่ด้านล่างของแท่นแล้วเอายางเส้นนี้รัด พกพาไปพร้อมกันได้สบายๆ แต่โดยปกติแล้ว แท่นรองโน้ตบุ๊กไม่ค่อยจะมีใครเคลื่อนย้ายเท่าไหร่หรอกครับ อ้อๆ แต่อย่าลืมใส่ปลอกใส่ซองหุ้มโน้ตบุ๊กไว้ด้วยน่ะครับ ไม่งั้นมีโอกาสถลอกเป็นรอยสูงมาก
คุณสมบัติโดยรวมของ Cooler Master NotePal U2 นั้น จะเลือกใช้วัสดุที่ระบายความร้อนได้ดีอย่างอลูมิเนียมที่เจาะรูกลมแทบจะทั้งหมดของตัวแท่น จะมีเพียงแค่ยางสีดำ เอาไว้รองกันรอย กันกระแทกตามขอบต่างๆ เท่านั้น โดยเจ้าแผ่นอลูมิเนียมนี้ ถ้าคุณนำมาวางไว้ในห้องแอร์ มันจะเย็นมากๆ ถ้าเทียบกับแท่นรองพลาสติก และมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรับโน้ตบุ๊กหน้าจอ 14-15 นิ้วได้สบายๆ และรองรับได้สูงสุดที่ 17 นิ้ว แต่ถ้าให้ผมแนะนำสำหรับคนที่ใช้โน้ตบุ๊กตัวใหญ่ๆ ให้ซื้อรุ่น NotePal U3 จะดีกว่า ซึ่งจะมีพัดลม 3 ตัว มีความแข็งแรงในการรองรับน้ำหนักโน้ตบุ๊กมากกว่า ส่วนขนาดของพัดลมระบายความร้อนนั้นจะอยู่ที่ 80 x 80 x 10 มิลลิเมตร และการเชื่อมต่อกับโน้ตบุ๊ก ก็จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก พอร์ต USB ที่เป็นทั้งตัวเชื่อมและตัวต่อได้ ทำให้ไม่เสียพอร์ต USB ไปโดยใช่เหตุแน่นอน
การทดสอบ Cooler Master NotePal U2 ในแง่ของการใช้งานโดยรวม ซึ่งถ้าให้เทียบกับแท่นวางโน้ตบุ๊กรุ่นถูกราคาหลักร้อยต้นๆ นั้น ผมรู้สึกได้ทันทีตรงที่ ความรู้สึกและสัมผัสถึงอาการสั่นของตัวแท่นที่มีผลมาจากการทำงานของมอเตอร์พัดลมได้น้อยมากๆ ถ้าเทียบกับเจ้าแท่นวางตัวเก่าของผมนี่ สั่นจนผมรู้สึกทำงานไม่สะดวกเลยจริงๆ มันรบกวนตอนทำงานพอสมควรเหมือนกัน แต่การวาง Macbook Air 13 บนแท่นนี้ ถ้าวางได้ทำแหน่งที่ไม่ดี บางทีตัวเครื่องก็จะไหลลื่นลงมาได้เช่นเดียวกัน และจะมีผลทำให้ ตัวเครื่องด้านล่างไปขูดกับ สลักพลาสติกที่ยึดพัดลมแบบเคลื่อนที่ ทำให้เป็นรอยดำ เล็กน้อย แต่เอาผ้าเช็ดรอยดำๆ ก็ออกได้โดยง่าย ต้องดูแลรักษาหน่อยก็จะดีกว่าการที่เครื่องเป็นรอย
ทีนี้มาดูที่การวัดอุณหภูมิกันบ้าง ที่ผมจะมีอุณหภูมิเครื่องที่ส่งความร้อนออกมาภายนอก โดยภาพแรกนั้นจะเป็นอุณหภูมิที่เปิดเครื่องมาได้สักระยะหนึ่ง ใช้งานปกติไปเพียงเล็กน้อย ภายใต้ห้องทำงานที่มีอุณหภูมิคงที่ 25 องศาเซลเซียส ที่เห็นได้ว่า อุณหภูมิโดยรวมของตัวเครื่องนั้น ไม่ร้อนเลย จุดที่ร้อนที่สุดคือ ด้านบนของคีย์บอร์ด ที่มีอุณหภูมิ 33.3 องศาเซลเซียส
ทีนี้ผมลองบีบอัดไฟล์ PDF ขนาด 300 เมกะไบต์ จำนวน 3 ครั้งด้วยกัน โดยจะวัดอุณหภูมิช่วงต้นๆ ของการบีบอัดไฟล์ครั้งที่ 3 ซึ่งจะเป็นระยะเวลาที่เครื่องได้ทำงานไปสักระยะหนึ่งแล้ว และตั้งไว้บนโต๊ะทำงานปกติ ยังไม่ใช้แท่นรองโน้ตบุ๊ก ก็จะอุณหภูมิโดยรวมตามภาพที่แสดงอยู่ด้านบนนี้ ซึ่งจุดที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงมากๆ คือ บริเวณด้านบนของคีย์บอร์ดเช่นเดิม ซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึง 42.8 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว แต่ตรงบริเวณข้อมือความร้อนที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลให้มีความร้อนเพิ่มขึ้นที่ข้อมือสักเท่าไหร่
สุดท้ายการทดสอบ MacBook Air 13 ที่วางไว้บนแท่นรองโน้ตบุ๊ก Cooler Master NotePal U2 นั้น ผมจะวางเครื่องลงบนแท่นให้พัดลมดูดความร้อนออกจากเครื่อง จนตัวเครื่องให้เย็น จนกระทั่งวัดอุณหภูมิแล้วอยู่ในระดับปกติ ถึงค่อยเริ่มทดสอบใหม่ ด้วยวิธีการเดิม ก็จะได้อุณหภูมิโดยรวมดังนี้ บริเวณตำแหน่งสำคัญที่สุดคือ ด้านบนของคีย์บอร์ด ที่ผมวางตำแหน่งพัดลมไว้บริเวณนั้น บางจุดอุณหภูมิ ก็ลดลงถึง 4 องศากว่าๆ บางจุดก็ลดลงเพียงแค่ 0.5 องศาเซลเซียสเท่านั้น ถือว่า ลดลงไปไม่เยอะมาก อาจจะเป็นเพราะพัดลมที่ทำงานค่อนข้างเบากว่ายี่ห้ออื่น แต่ก็แลกมาด้วยความเงียบที่มากกว่า และสิ่งที่รู้สึกได้ชัดเจนเลยคือ พัดลมของ MacBook Air ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนตอนที่ไม่มีแท่นรองโน้ตบุ๊กตัวนี้ ผมไม่ได้ยินเสียงพัดลมทำงานดังแบบได้ยินเสียงชัดๆ อีกเลย ก็ถือว่า ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจพอสมควร
Cooler Master NotePal U2 จำหน่ายอยู่ที่ราคาประมาณ 790-890 บาท ขึ้นอยู่กับร้านค้าที่จัดจำหน่าย
Cooler Master NotePal U2 แท่นรองโน้ตบุ๊ก ที่สามารถย้ายตำแหน่งพัดลมได้ตามใจชอบ ที่เป็นจุดขายที่ดี เพราะโน้ตบุ๊กตามท้องตลาดทั่วไป จุดที่ร้อนส่วนใหญ่คือ บริเวณที่ติดตั้งฮาร์ดดิสก์ และทางผู้ผลิตเครื่องก็มักจะชอบนำมาวางไว้ตรงตำแหน่งที่รองข้อมือ ทำให้คุณรู้สึกถึงความร้อนที่แผ่ออกมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งการย้ายพัดลมไปวางไว้ในตำแหน่งที่ต้องการ จะช่วยระบายความร้อนได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าพัดลมจะให้พลังที่ไม่แรงมากนักก็ตาม โดยจะลดอุณหภูมิเฉลี่ยลงได้ประมาณ 3 องศาเซลเซียส ถ้าลดได้เกินกว่า 5 องศาเซลเซียสจะแจ่มกว่านี้มาก (แต่ราคาก็คงถีบตัวสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน)
Performance Score 7.5
- เสียงพัดลมเงียบมาก เลยมีผมทำให้ความแรงของพัดลม เบาไปหน่อย
- ลดอุณหภูมิในตำแหน่งสำคัญได้เฉลี่ยประมาณ 3 องศาเซลเซียส
Feature Score 9
- วัสดุอลูมิเนียม ระบายความร้อนดีกว่าพลาสติก
- พัดลมสามารถย้ายตำแหน่งได้
- ใช้พอร์ต USB ที่เป็นทั้งตัวรับและตัวต่อ
Design Score 8
- น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวก พร้อมสายรัดโน้ตบุ๊ก
- ถ้าวางโน้ตบุ๊กไม่ถูกตำแหน่ง ตัวเครื่องจะไหล
- สัมผัสโดนเล็กน้อย เช่นเสียบแฟลชไดรฟ์ ตัวเครื่องก็จะขยับ
Best Value Score 8
- ราคาลดลงเลย น่าสนใจมากขึ้น
- รับประกันแค่ 1 ปี
First Impression Score 7.5
- แปะป้ายลดราคาลงมา เลยกลายเป็นจุดที่ทำให้สนใจ
- ความสวยยังสู้รุ่นอื่นของ Cooler Master ไม่ได้
คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.coolermaster.co.th