ผลการศึกษาล่าสุดจากบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการระดับโลก บริษัท เอ.ที. เคียร์เน่ ภายใต้การมอบหมายจากซิสโก้ ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ชี้ว่า การเปิดตัวบริการ 5G จะช่วยเพิ่มรายได้ต่อปีของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในไทยได้มากถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์ (หรือกว่า 34,000 ล้านบาท) ภายในปี 2568
ผลการศึกษาเน้นย้ำว่า 5G จะรองรับการเชื่อมต่อที่เร็วขึ้น 50 เท่า พร้อมความรวดเร็วในการตอบสนองที่มากขึ้น 10 เท่า และใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ 4G ซึ่งนับเป็นคุณลักษณะเด่น 3 ข้อที่สำคัญ ได้แก่ การรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว การหน่วงเวลาต่ำ และการเชื่อมต่อที่ใช้พลังงานต่ำ
ความเร็วสูง การหน่วงเวลาต่ำ และการเชื่อมต่อที่ปรับปรุงดีขึ้น คือปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถจัดหาบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วเป็นพิเศษ สามารถรองรับการสตรีมวิดีโอความละเอียดสูง การเล่นเกมผ่านระบบคลาวด์ และการนำเสนอคอนเทนต์แบบอินเทอร์แอคทีฟที่ขับเคลื่อนด้วย Augmented Reality และ Virtual Reality (AR/VR) ให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังช่วยผลักดันการใช้งาน 5G ในหลากหลายรูปแบบที่ก้าวล้ำมากขึ้น เช่น สมาร์ทซิตี้, อุตสาหกรรม 4.0, เครือข่าย IoT (Internet of Things)ขนาดใหญ่ และอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถเพิ่มรายได้ทั้งจากกลุ่มผู้บริโภคและลูกค้าองค์กร
รายงานผลการศึกษาดังกล่าว ซึ่งมีชื่อว่า 5G ในอาเซียน: จุดประกายการเติบโตในตลาดองค์กรและผู้บริโภค (5G in ASEAN: Reigniting growth in enterprise and consumer markets) ระบุว่า ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จะเปิดตัวบริการ 5G ในปี 2564 โดยคาดว่าการเติบโตในระยะแรกหลังจากที่ปรับใช้เทคโนโลยี 5Gจะมาจากลูกค้าระดับสูงที่มีอุปกรณ์รองรับ และฐานลูกค้าจะค่อยๆ ขยายตัวเมื่ออุปกรณ์ที่รองรับมีราคาลดลง
ด้วยเหตุนี้ จึงคาดการณ์ว่าสัดส่วนการใช้งาน 5G จะอยู่ที่ประมาณ 25 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในประเทศหลักๆ ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 โดยในประเทศไทย สัดส่วนการใช้งาน 5Gจะมีถึง 33 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจำนวนลูกค้า 5G ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนจะเกิน 200ล้านรายในปี 2568
นายนาวีน เมนอน, ประธานประจำภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้ กล่าวว่า “นับเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเปิดตัวการให้บริการ 5G สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพราะปัจจุบันการรับส่งข้อมูลบนระบบเซลลูลาร์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ใช้มีการใช้งานบริการและคอนเทนต์ต่างๆ บนอุปกรณ์ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้นขณะเดียวกัน องค์กรต่าง ๆ ก็มองหาหนทางในการใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (4IR – Fourth Industrial Revolution) ที่ขับเคลื่อนด้วย AI, IoT, ระบบการพิมพ์ 3 มิติ, ระบบหุ่นยนต์ขั้นสูง และอุปกรณ์สวมใส่ เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจ การปรับใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะสำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมในการขยายฐานธุรกิจในตลาดองค์กร และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว”
นายวัตสัน ถิรภัทรพงษ์, กรรมการผู้จัดการซิสโก้ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนกล่าวว่า“ ธุรกิจทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคสำคัญ ๆ เช่นภาคการผลิตกำลังมองหาเทคโนโลยี 4IR การเปิดให้บริการ 5G ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเร่งการปรับใช้เทคโนโลยี และนำประโยชน์มหาศาลมาสู่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังรอคอยการเปิดตัว 5G เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้เนื้อหาบนอุปกรณ์ส่วนตัวของพวกเขา แนวโน้มทั้งสองนี้จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”
ผู้ให้บริการโทรคมนาคมกำลังเตรียมพร้อมที่จะเปิดตัวบริการ 5G โดยมีแนวโน้มว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ (300,000 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568
นายดาร์เมช มัลฮอตรา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน, กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคมของซิสโก้ กล่าวว่า “การเปิดให้บริการ 5G จะต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงเครือข่ายให้ทันสมัย สำหรับในภูมิภาคอาเซียน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มว่าจะลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่ออัพเกรดเครือข่าย 4G และสร้างขีดความสามารถด้าน 5G อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ระบบ 4G และ 5G ทำงานควบคู่กันไปอย่างราบรื่น ขณะที่ผู้ให้บริการจะสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนทุนและ ROI ที่ยั่งยืน ซิสโก้ร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายในการพัฒนาระบบ 5G และปัจจุบันมีลูกค้าหลายรายในอาเซียนที่กำลังดำเนินโครงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ 5G”
ผลการศึกษาเน้นย้ำว่า เพื่อที่จะปลดล็อคศักยภาพดังกล่าว ภูมิภาคนี้จะต้องแก้ไขปัญหาท้าทายที่สำคัญบางประการ
ปัญหาท้าทายที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ย่านความถี่ที่เปิดให้ใช้งานช้าเกินไปสำหรับบริการ 5Gส่งผลให้เครือข่ายที่เปิดตัวใหม่ด้อยประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ระบบ 5G จะได้รับการติดตั้งใช้งานบนหลายย่านความถี่ โดยมี 3 ย่านความถี่หลักที่จะใช้งานทั่วโลกในระยะสั้น ได้แก่ ย่านความถี่ต่ำ (700 MHz), ย่านความถี่กลาง (3.5 ถึง 4.2 GHz) และย่านความถี่สูง บนสเปกตรัม mmWave (24 ถึง 28 GHz) ในภูมิภาคอาเซียน ย่านความถี่เหล่านี้กำลังถูกใช้งานสำหรับบริการอื่น ๆ เช่น ย่านความถี่ต่ำใช้สำหรับฟรีทีวี และย่านความถี่กลางใช้สำหรับบริการดาวเทียม แม้ว่าสเปกตรัม mmWave จะพร้อมใช้งาน แต่ในการติดตั้งระบบ จำเป็นที่จะต้องรวมย่านความถี่ต่ำเข้าไว้ด้วย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมเขตชานเมืองและชนบท รวมถึงการเชื่อมต่อภายในอาคาร
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะต้องสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G โดยกำหนดราคาอย่างรอบคอบ และโยกย้ายผู้บริโภคไปสู่เครือข่ายความเร็วสูง ผู้บริโภคมีความตื่นเต้นเกี่ยวกับ 5G และยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อคุณภาพที่ดีกว่า ซึ่งแตกต่างเทคโนโลยี 3G และ 4G ดังนั้นผู้ให้บริการจึงไม่ควรเข้าร่วมในสงครามตัดราคาเพียงเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าจำนวนมาก และหวังว่าจะสามารถคิดค่าบริการเพิ่มในภายหลัง
ในส่วนขององค์กรขนาดใหญ่ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจำเป็นที่จะต้องสร้างความสามารถใหม่ ๆ และรวมบริการเชื่อมต่อเข้ากับโซลูชั่นและแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจ ปรับใช้ และขยายการใช้งานที่ช่วยเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ให้บริการจะต้องรับมือกับคู่แข่งรายใหม่ ๆ ที่ให้บริการเครือข่ายส่วนตัวแก่องค์กร
นายนิโคไล ดอบเบอร์สไตน์, พาร์ทเนอร์ของบ. เอ.ที. เคียร์เน่ และหัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าว กล่าวว่า “การเปิดตัว 5G ในอาเซียนมีศักยภาพโดยรวมที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ภูมิภาคนี้จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาท้าทายที่สำคัญ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และองค์กรต่างๆ เนื่องจากความท้าทายด้านอีโคซิสเต็มส์และมูลค่าที่สูงมากเป็นเดิมพัน หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องเข้ามามีบทบาทหลัก และจะต้องเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่ในระยะสั้น การสนับสนุนการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และการส่งเสริมการพัฒนาระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ระดับประเทศ โดยครอบคลุมทั่วภูมิภาค”
ผลการศึกษาชี้ว่า ในประเทศไทย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่าจะเปิดให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี และให้ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถเปิดตัวบริการ 5G ในเดือนธันวาคม 2563 นอกจากนี้ กสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz สำหรับ 5G ภายในปี 2563