นิตยสารฟอร์บส์เปิดเผยรายชื่อ 50 นักธุรกิจหญิงผู้ทรงอิทธิพลแห่งเอเชียประจำปี 2556 ซึ่งคัดเลือกจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น และมีส่วนผลักดันการเติบโตและความมั่งคั่งในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อีวา เชน ประธานฝ่ายเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทรนด์ไมโคร หญิงแกร่งที่ร่วมต่อสู้กับแฮกเกอร์ตลอดระยะเวลา 25 ปีในอุตสาหกรรมการรักษาความปลอดภัยสำหรับคอมพิวเตอร์
สตรีวัย 54 ปีผู้นี้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) บริษัท เทรนด์ไมโคร ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสที่ใหญ่อันดับสามของโลกและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยตลอดระยะเวลาแปดปีที่เธอทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง อีวาสามารถทำยอดขายเพิ่มเป็นสองเท่าที่ระดับ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน ปี 2555
ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับบุคคลที่ไม่ได้มีภูมิหลังด้านวิศวกรรมหรือการเขียนโปรแกรม แต่อีวามีความเข้มแข็งอย่างมาก ใบหน้าของเธออาจเปื้อนไปด้วยรอยยิ้มที่สดใส แต่เธอก็พร้อมลุยในทุกสถานการณ์ นอกจากนี้เธอยังสามารถจัดสรรเวลาทำงาน ชีวิตแต่งงาน และครอบครัวได้อย่างเหมาะสม พร้อมๆ กับการดูแลธุรกิจในสามทวีป โดยเธอจะใช้เวลาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดพักผ่อนร่วมกับลูกๆ ในวัยเรียนของเธอที่มีอายุ 23 ปี และ 18 ปี ที่แคลิฟอร์เนีย และเดินทางไปยังยุโรปและเอเชีย
อีวาเติบโตในครอบครัวที่มีฐานะดีและมีชื่อเสียงในเมืองไทจงซึ่งตั้งอยู่ในภาคกลางของไต้หวัน โดยเป็นบุตรคนที่สามจากสี่คน บิดาของเธอสืบทอดธุรกิจธนาคารของครอบครัวที่ก่อตั้งโดยคุณปู่ของอีวา และต่อมาก็ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย เจนนี่ อี้ เชิน ชาง พี่สาวของอีวาบอกว่า เธอและอีวาเป็น “ลูกสาวตัวน้อยของพ่อ” ที่ได้รับการทะนุถนอมมาโดยตลอด
อีวากลับสู่กรุงไทเปในปี 2529 พร้อมด้วยปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจและสารสนเทศบริหารศาสตร์ โดยเธอได้เข้าทำงานในฐานะนักเขียนด้านเทคนิคที่บริษัท เอเซอร์ จากนั้นได้ย้ายไปทำงานด้านการรายงานกีฬาภาคภาษาจีนเมื่อเจนนีและสามี (สตีฟ หมิง จาง ชาง) ได้ขอให้อีวาช่วยเปิดสำนักงานในไต้หวันเพื่อรองรับธุรกิจที่พวกเขาได้เริ่มต้นในลอสแอนเจลิส
นั่นคือบริษัทเทรนด์ไมโคร ซึ่งเปิดตัวในปลายปี 2531 โดยมีสตีฟเป็นผู้บริหารสูงสุดและเจนนี่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด อีวาเข้ามาหลังจากนั้นไม่นานนักและในปี 2539 ก็ได้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ขณะที่สามีของอีวา (แดเนียล ฟง เหนียน เฉียง) ที่เธอได้พบที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ และยังร่วมศึกษาระดับปริญญาโทด้วยกันที่เมืองดัลลัส ได้เข้าร่วมในบริษัทแห่งนี้เมื่อปี 2533 ในฐานะประธานบริษัทด้วยเช่นกัน
ในปี 2538 อีวาและสามีได้เดินทางจากกรุงไทเปไปยังซิลิคอนวัลเลย์ เพื่อหวังจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของบริษัท เทรนด์ไมโครในตลาดสหรัฐอเมริกาที่ซึ่งมีการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป ในเวลานั้น อินเทอร์เน็ตและอีเมลกำลังได้รับความนิยมอย่างมากและนั่นได้ผลักดันให้อีวาเดินหน้าบุกเบิกในการพัฒนาโค้ดที่จะป้องกันเบราว์เซอร์และกล่องจดหมายจากไวรัส
ทั้งนี้ผู้สังเกตการณ์ในแวดวงอุตสาหกรรมให้ความเชื่อมั่นในแนวทางที่อีวาได้วางไว้ให้กับบริษัท เทรนด์ไมโคร ทั้งด้านตลาด นวัตกรรม และกลยุทธ์ “สตีฟเป็นผู้มีพรสวรรค์และสามารถควบคุมทุกสิ่งได้ด้วยตัวของเขาเอง ขณะที่ อีวาเลือกที่จะมอบอำนาจให้กับทีมบริหารอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดดีอย่างยิ่ง” นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley MUFG Research Japan กล่าว
อีวายืนยันว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมประชุมพบปะกับวิศวกรในเอเชียเป็นประจำทุกเดือน เพราะเธอเชื่อว่า “เป็นจุดที่สามารถนำไปสู่นวัตกรรม การที่วิศวกรของเราสามารถระบุไฟล์ที่เป็นปัญหาได้อย่างทันท่วงทีนั้น อาจดูเหมือนง่าย แต่สิ่งนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมกันมาหลายปี” เธอยังกล่าวอีกว่า “บุคลากรที่มีความสามารถของเราคือกลไกที่ช่วยผลักดันให้เกิดความสำเร็จในระดับสูงสุด”
สิ่งที่ทำให้อีวาสามารถผลักดันให้บริษัทเทรนด์ไมโครประสบผลสำเร็จได้อาจเป็นเพราะเธอไม่ได้เป็นวิศวกรด้านซอฟต์แวร์ “ฉันไม่ใช่ซีอีโอแบบที่จะคอยแสร้งทำเป็นรู้ในทุกอย่าง” เธอกล่าวว่า “ฉันจะคอยถามอยู่เสมอว่าทำไม อาจเป็นเพราะฉันเป็นผู้หญิงหรือฉันไม่ได้วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ที่เชี่ยวชาญ ฉันจึงไม่เคยกลัวกับการถามคำถามที่ไม่รู้ ออกไป”
บริษัทเทรนด์ไมโครเริ่มลงทุนด้านการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับเซิร์ฟเวอร์เสมือนจริงและการประมวลผลแบบคลาวด์ในปี 2550 โดยบริษัทเทคนาวิโอผู้วิจัยตลาดคาดการณ์ไว้ว่า “บริษัทเทรนด์ไมโครจะเป็นผู้นำในตลาดโลกด้านการรักษาความปลอดภัยสำหรับระบบคลาวด์ในปี 2553 ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ระดับ 13% ถึง 17% โดยมีมูลค่ารวมที่ระดับ 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างมากในช่วง 5-6 ปีจากนี้”
ปัจจุบันบริษัท เทรนด์ ไมโคร มีพนักงาน 5,120 คนและมีการดำเนินงานใน 37 ประเทศทั่วโลก
อีวากล่าวสรุปว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือด้านการบริหารจัดการเรื่อง The Ten Faces of Innovation ที่เขียนโดยทอม เคลลี (Doubleday, 2548) ผู้จัดการทั่วไปของ บริษัท ไอดีโอ (IDEO) ธุรกิจด้านการออกแบบในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้อธิบายถึงสิบบุคลิกที่เขาเชื่อว่าจำเป็นต่อการผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ภายในองค์กร และเธอมีคำขวัญประจำใจว่า “เต้นในจังหวะที่ดีที่สุดของคุณและปล่อยให้คนอื่นเต้นไปตามจังหวะของตัวเอง” (Dance your best dance and let others dance theirs.) บทความโดย จอยซ์ ฮวง ผู้สื่อข่าวนิตยสารฟอร์บส