โดย ฟู่จัง
พูดได้เลยว่า ไม่มีใครไม่รู้จักกับไฟล์ .PDF (Portable Document Format) โดยเฉพาะนักท่องเว็บ เมื่อต้องไปดาวน์โหลดไฟล์เอกสาร เหตุผลดีๆ ของไฟล์ .PDF มีในเรื่องของขนาดไฟล์ที่เล็ก , สามารถป้องกันการแก้ไขได้ , ตัดปัญหาเรื่องรูปแบบในเอกสารที่เราสร้างขึ้นมาผิดเพี้ยน , เป็นไฟล์มาตรฐานที่ได้รับความนิยมมากในแวดวงการทำงานเอกสารและการพิมพ์ และการเปิดใช้งานสามารถทำได้ในทุกระบบปฏิบัติการ
ตอนเริ่มต้นการแปลงไฟล์งานไปเป็นไฟล์ .PDF ต้องอาศัยโปรแกรม Acrobat Professional ที่มีราคาไม่ถูก ทำให้มีผู้ผลิตตัวแปลงมากหน้าหลายตา มีทั้งได้คุณภาพ และไม่ได้คุณภาพ แต่สำหรับ Bullzip PDF Printer เป็นตัวแปลงคุณภาพที่อยากมาแนะนำ
จุดขายของ Bullzip PDF Printer
– สามารถสั่งแปลงไฟล์งานได้จากทุกๆ โปรแกรม โดยใช้หลักการสั่งพิมพ์ออกทางเครื่องพิมพ์ แต่ไม่ใช่เครื่องพิมพ์ เป็นโปรแกรม Bullzip PDF Printer แทน
– รองรับวินโดวส์ได้ในทุกๆ เวอร์ชั่น ทั้งแบบ 32 บิต และ 64 บิต
– เพิ่มความสะดวกในการปรับคุณภาพของไฟล์ PDF โดยมีการหยุดรอให้คุณได้ทำการปรับแต่งได้ก่อนสร้างเป็นไฟล์ .PDF เช่น คุณภาพสำหรับเฉพาะดูบนจอภาพ (Screen) , สำหรับพิมพ์ตามเครื่องพิมพ์ตามบ้าน (Printer) หรือคุณภาพสูงเพื่อส่งเข้าโรงพิมพ์ (prepress)
– สามารถใส่รหัสผ่านป้องกันให้กับไฟล์ PDF ที่สร้างโดยรองรับอัลกอริทึมการเข้ารหัสแบบ 40 และ 128 bit
– สามารถใส่ข้อความที่เป็นลายน้ำ (Watermark) โดยปรับขนาด , หมุน และความโปร่งใส
– สามารถนำภาพมาใส่เป็นแบ็คกราวน์
– สามารถนำไฟล์งานไปเพิ่มเข้าไปในไฟล์ PDF ที่มีอยู่ก่อนหน้าได้
– นอกจากแปลงไฟล์เป็น PDF แล้ว คุณยังสามารถแปลงออกมาเป็นไฟล์ภาพ BMP, JPEG, PCX, PDF, PNG และ TIFF
ขั้นตอนการติดตั้งโปรแกรม
– ดาวน์โหลดไฟล์ติดตั้งโปรแกรมได้จาก https://www.bullzip.com/products/pdf/info.php นอกจากนี้โปรแกรมอาศัยโปรแกรม Ghostcript เป็นตัวช่วยในการแปลง ดังนั้นคุณสามารถดาวน์โหลดไฟล์ขนาดเล็กของ Ghostscript ได้จากหน้าเว็บเดียวกันนี้ แล้วทำการติดตั้งไฟล์ Ghostscript ก่อน แล้วจึงค่อยติดตั้งโปรแกรม Bullzip PDF Printer
– หรือจะใช้วิธีติดตั้ง Bullzip PDF Printer ไปก่อน ในขณะติดตั้งโปรแกรม จำเป็นต้องออนไลน์ เพื่อให้โปรแกรมได้ทำการดาวน์โหลดไฟล์ Ghostscript มาให้พร้อมกันด้วย
ขั้นตอนการสร้างไฟล์ PDF
- โปรแกรมนี้ใช้หลักง่ายๆ อย่างที่เกริ่นไว้ คือจำลองตัวเองเป็นเครื่องพิมพ์ตัวหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเราต้องการแปลงไฟล์งานจากโปรแกรมอะไร ก็ใช้วิธีการสั่งพิมพ์ออกมาที่เครื่องพิมพ์ Bullzip PDF Printer กันได้เลย (รูป 1)
- เราจะได้วินโดวส์ที่ช่วยในการสร้างไฟล์ PDF มาเริ่มจากแท็ป General กันก่อน (รูป 2)
– ช่อง Format เลือกไฟล์ที่จะแปลง สามารถเลือกได้ทั้ง PDF และไฟล์รูปภาพในฟอร์แมตต่างๆ เช่น BMP, JPEG, PCX, PDF, PNG และ TIFF
– ช่อง File Name กำหนดชื่อไฟล์ และตำแหน่งโฟลเดอร์ที่จัดเก็บ ถ้าต้องการให้เปิดไฟล์ที่สร้างเสร็จแล้ว ให้คลิ้กเลือกรายการ Open the document after creation และถ้าต้องการให้เปิดโฟลเดอร์ที่ไฟล์นั้นอยู่ด้วย ให้คลิ้กเลือกรายการ Open destination folder after creation
- ต่อกันที่แท็ป Document เป็นการกำหนดรายละเอียด และคุณภาพให้กับไฟล์
– ในช่อง Author , Title , Subject และ Keywords เป็นการกำหนดรายละเอียดให้กับไฟล์ว่าใครเป็นเจ้าของ รวมถึงใส่คีย์เวิร์ดเพื่อใช้ในการค้นหา พูดง่ายๆ คือเป็น metadata ของไฟล์นั่นเอง
– ช่อง Quality สำคัญมาก เป็นการเลือกคุณภาพของงาน โดยระดับสูงสุดคือ Prepress อย่าลืมว่าให้เลือกคุณภาพให้ตรงกับความต้องการ เนื่องจากไฟล์คุณภาพสูง ขนาดของไฟล์ก็จะใหญ่มากกว่า
– ช่อง Initial zoom level เป็นการเลือกใช้อัตราการซูมตอนแสดงให้เป็นแบบแสดงเต็มหน้าเดียว (one page) หรือเอาตามความกว้างของกระดาษงาน (Page width)
– ช่อง Compatibility Level เป็นการเลือกว่าจะให้ไฟล์ PDF ที่สร้าง สามารถเปิดใช้กัน Acrobat Reader เวอร์ชั่นอะไรได้บ้าง
– ตัวเลือก Fast Web View เป็นตัวช่วยให้มีการสร้างส่วนแสดงสำหรับบนเว็บให้ด้วย และ Show Thumbnails สำหรับสร้าง Thumbnails เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ ของหน้านั้นๆ ใครที่เคยเปิดไฟล์ PDF ที่มีคงจะนึกภาพตามได้นะครับ (รูป 3)
- แท็ป Image ใช้กำหนดคุณภาพของไฟล์ภาพ ในกรณีที่เราได้สั่งให้แปลงงานออกมาเป็นไฟล์ภาพ เช่น BMP, JPEG, PCX, PDF, PNG และ TIFF ให้เลือกความละเอียด และจำนวนบิทที่ใช้ได้ตามความต้องการ เมื่อต้องการให้แปลงแต่ละหน้าแยกเป็นไฟล์ๆ ไป จะต้องคลิ้กเลือกรายการ One Image File per Page (รูป 4)
- แท็ป Watermark ให้เรากรอกข้อความที่เป็นลายน้ำ ลงไปในช่อง Text พร้อมกับเลือกฟอนต์ สี ขนาด รวมถึงเส้นของตัวหนังสือ ส่วนในช่อง Layer ให้เลือกว่าจะให้อยู่ด้านหน้า (Stamp (foreground)) หรือ อยู่ด้านหลัง Watermark ((background)) ส่วนตำแหน่งที่ให้ลายน้ำปรากฏให้เลือกได้ตรงช่อง Vertical position และ Horizontal position (รูป 5)
- แท็ป Security ใช้สำหรับกำหนดรหัสผ่านให้กับไฟล์ PDF โดยให้กำหนดรหัสผ่าน พร้อมกับเลือกอัลกอริลึมเข้ารหัส (Key Length) แบบ 40 หรือ 128 ต่อไปมากำหนดสิ่งที่อนุญาตให้ทำได้ เมื่อผ่านการป้อนรหัสผ่านถูกต้องมาแล้ว เป็นเรื่องของการ Print ว่าไม่ต้องการให้พิมพ์ได้ (not allowed) หรือให้พิมพ์ในคุณภาพต่ำ (low quality) หรือใจป้ำหน่อยให้พิมพ์ในคุณภาพสูงไปเลย (high quality) (รูป 6)
- แท็ป Merge ในกรณีที่เราต้องการนำเอาไฟล์งานนี้ ไปเพิ่มใส่ในไฟล์ PDF ที่มีอยู่แล้ว ให้ไปเลือกไฟล์ PDF ตัวที่เราจะนำไปใส่เพิ่มเข้ามาก่อน ในช่อง Append PDF แล้วมากำหนดตำแหน่งว่าจะให้นำไฟล์งานใหม่นี้ไปต่อท้าย (Bottom) หรือ แทรกอยู่ก่อนหน้า (Top)
และจากแท็ปนี้ ในกรณีที่เรามีไฟล์ภาพที่เป็น PDF อยู่แล้ว และต้องการนำเอาไฟล์ภาพนั้นมาทำเป็นแบ็คกราวน์ให้กับไฟล์ PDF อันใหม่นี้ เช่น อาจจะใช้รูปตึกของหน่วยงาน ให้เลือกไฟล์ภาพที่เป็น PDF ไว้ในช่อง Background PDF ส่วนตำแหน่งการจัดวางคือช่อง Layer ให้เลือกว่าจะไว้ด้านหน้า (Stamp (foreground)) หรือ อยู่ด้านหลัง Watermark ((background)) พร้อมๆ กันนี้ สามารถกำหนดคุณภาพความละเอียดของไฟล์ภาพได้จากช่อง Background Resolution (รูป 7)
- หลังจากกำหนดค่าอะไรต่างๆ ตามต้องการเสร็จแล้ว ให้คลิ้กที่ปุ่ม Save เพียงแค่นี้คุณก็จะได้ไฟล์ PDF มาใช้กันแล้ว
กำหนดออปชั่นการทำงาน
ขั้นตอนการสร้างไฟล์ PDF ที่ได้พูดมาก่อนหน้านี้ ใช้ค่าต่างๆ ตามที่โปรแกรมได้กำหนดมาให้ หากคุณต้องการปรับแต่งค่าการทำงานให้สอดคล้องกับการใช้งานประจำวัน สามารถดับเบิ้ลคลิ้กตรงไอค่อน Bullzip PDF Printer ที่อยู่บน Desktop เพื่อเข้าไปปรับแต่งค่ากันได้
ผมขอพูดเฉพาะตัวเลือกในแท็ป General เท่านั้น เพราะแท็ปอื่นๆ ได้อธิบายไปแล้ว หากเรากำหนดค่าอะไรไว้ ค่านั้นจะเป็นค่าโดยปริยายที่โปรแกรมจะนำไปใช้ทันที โดยที่เราไม่ต้องมาเสียเวลากำหนดทุกครั้ง
ในแท็ป General ให้เรากำหนดไฟล์ที่จะแปลงเป็นอะไร เช่น เป็น PDF ส่วนในช่อง File Name ให้กำหนดตำแหน่ง และชื่อไฟล์ โดยมีรูปแบบการกำหนด ที่สามารถดูได้โดยการคลิ้กที่ปุ่ม Macros เช่นจากตัวอย่างเป็น <desktop><smartitle>.pdf หมายถึงให้สร้างและเก็บไฟล์ PDF ที่สร้างขึ้นไว้บน Desktop โดยใช้ชื่อตามชื่อไฟล์งาน หากเราต้องการเพิ่มอะไรเข้าไป เช่นวันที่ หรือเวลา สามารถเลือก Macros ตัวที่ต้องการ โดยการดับเบิ้ลคลิ้ก
ตัวเลือก Confirm Overwrite หมายถึงกรณีที่มีไฟล์ชื่อนั้นอยู่แล้ว ก่อนเขียนทับต้องมีการถามไถ่ให้ยืนยันกันเสียก่อน สำหรับตัวเลือกใน Show Document เป็นการกำหนดให้มีการเปิดไฟล์ให้ทันทีหรือไม่ หลังจากสร้างเสร็จแล้ว (รูป 8)
สำหรับการเปิดใช้ Macros สามารถใช้ตัวแปรในการกำหนดรายละเอียดส่วนอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่นในส่วนของ Author , Title , Keywords โดยให้คุณคลิ้กที่ปุ่มแสดง Macros แล้วก็ดับเบิ้ลคลิ้กเลือกตัวแปรที่ต้องการ (รูป 9)
โดยสรุปแล้ว หากไฟล์ PDF ที่คุณสร้างใช้งาน ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเพิ่ม ลบ หรือแยกหน้า การปรับแต่งข้อมูลในนั้น ความสามารถของ Bullzip PDF Printer ก็เพียงพอแล้วครับ ทดลองใช้ฟอน์ตภาษาไทยได้ดีไม่ผิดเพี้ยน ตรงนี้ต้องยกความดีให้กับผู้อยู่เบื้องหลังคือ Ghostscript และที่สำคัญใช้กับเซเว่น 64 บิตได้ด้วย