ZenUI อินเทอร์เฟซสไตล์เซน
เนื่องจากแอนดรอยด์นั้นเป็นระบบเปิด ผู้ผลิตทั้งหลายจึงนำเอาไปดัดแปลง ออพติไมซ์ ให้เข้ากับสไตล์ของตน แต่อย่างไรก็ตามตัวแกนหลักก็ยังคงเป็นแอนดรอยด์ ดังนั้นไม่ว่าจะดัดแปลงอย่างไรก็ยังคงมีความคล้ายคลึงกันอยู่ สำหรับสมาร์ทโฟนจากเอซุสได้ตั้งชื่ออินเทอร์เฟซตามชื่อรุ่นว่า ZenUI โดยมีการดัดแปลงหน้าจอต่างๆ ให้แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ดังนี้
หน้าจอล็อกสกรีน แสดงกำหนดนัดหมาย หรือข้อมูลสภาพอากาศในวันถัดไปล่วงหน้า 1 วัน และมีปุ่มช็อตคัตสำหรับ กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์ และ SMS เวลาเลื่อนปลดล็อกหน้าจอสามารถสไลด์ที่ตำแหน่งใดของจอก็ได้ (สังเกตว่าไม่มีรูปกุญแจล็อคเหมือนรุ่นอื่น) เวลาสไลด์ปลอดล็อคหน้าจอจะมืดลงเล็กน้อย เพื่อให้เห็นตำแหน่งที่นิ้วแตะอยู่ชัดขึ้น
หน้าโฮมไม่มีอะไรแปลกใหม่ จะมีที่ไม่เหมือนคนอื่นก็คือวิดเจ็ต What’s Next ที่จะคอยบอกว่าวันถัดไปมีอะไรบ้าง เช่น งานที่ค้างไว้ หรือ นัดหมาย เป็นต้น
Quick Setting ใน ZenUI ปรับแต่งให้ไอค่อนเป็นวงกลม และมีให้เลือกควบคุมได้มากขึ้น นอกจากช็อตคัตพื้นฐานอย่าง Auto-Rotate , Brightness, Sound ฯลฯ เป็นต้น ที่เพิ่มเข้ามาก็คือ Boost = เอาไว้เคลียร์แรม , Reading mode = ปรับหน้าจอให้เหลืองนวลสำหรับอ่านข้อความโดยเฉพาะ , Miracast = โหมดแสดงผลออกทีวีไร้สาย และ Glove mode = โหมดความไวในการสัมผัสสูงเป็นพิเศษ เอาไว้ใช้เวลาสวมถุงมือ
ZenUI มี Easy mode ปรับเปิดใช้งานได้ใน Settings โดยในโหมดนี้เน้นให้ใช้งานง่ายสำหรับคนไม่ถนัดสมาร์ทโฟน เช่น ผู้สูงอายุ โดยเลือกเอาเฉพาะแอพที่จำเป็นขึ้นมาใช้งาน ขยายไอค่อนแอพให้ใหญ่ขึ้น และจำกัดการใช้คุณสมบัติบางประการ เพื่อลดความสับสน
ในส่วนของ ZenUI ก็มีเพียงเท่านี้ อื่นๆ ก็เหมือนกับแอนดรอยด์สมาร์ทโฟนทั่วไปครับ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่เนื่องจากการออพติไมซ์ได้ดีบนซีพียูอะตอม ทำให้ความรู้สึกในการใช้งาน ZenUI นั้นไหลลื่นมากเลยทีเดียว
Pixel Master
เอซุสจัดกล้องหลังความละเอียด 8MP มาให้ด้วย ไม่ได้เพียงแค่นั้นเอซุสเคลมว่าด้วยเทคโนโลยีของกล้องที่เรียกว่า Pixel Master นั้น ช่วยให้การถ่ายภาพที่มีแสงน้อย ทำได้ดีกว่ากล้องสมาร์ทโฟนตัวอื่นๆ ที่ระดับราคาเดียวกัน
Pixel Master คืออะไร? ก็คือการทำงานร่วมกันระหว่างซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โดยที่
– ฮาร์ดแวร์หมายถึงการออกแบบเลนส์กล้องจากกระจก 5 ชิ้น ซึ่งทางเอซุสอ้างว่าจะทำให้ได้ภาพคมชัด ลดการเกิดนอยส์ และคุมแสงที่เข้าสู่เลนส์ได้ดีกว่า ในทางทฤษฏีก็คือ ปกติแล้วเลนส์กล้องจะประกอบด้วยกระจกหลายชั้น โดยเฉพาะเลนส์ในกล้องสมาร์ทโฟนที่มีขนาดเล็ก มักจะประกอบด้วยกระจก 10 – 12 ชิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเพี้ยนของภาพที่จะตกกระทบลงบนจุดรับแสง อย่างไรก็ดี การใช้เลนส์หลายชิ้นก็มีข้อเสียก็คือ ทำให้ค่าแสงรับได้น้อย ค่า f สูง (ประมาณ f/2.8 ขึ้นไป) นี่จึงเป็นเหตุผลที่กล้องในสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ถ่ายภาพกลางคืนหรือที่ๆ มีแสงน้อยค่อนข้างแย่
แต่เอซุสนั้นใช้เลนส์เพียง 5 ชิ้นในการประกอบ ทำให้สามารถลดค่า f เหลือเพียง f/2.0 ซึ่งแน่นอนว่าค่านี้ยิ่งต่ำ ก็ยิ่งทำให้กล้องรับแสงได้มากขึ้น มีผลให้การถ่ายภาพที่ๆ มีแสงน้อย (น่าจะ) ทำได้ดีกว่ากล้องสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ
– ส่วนของซอฟต์แวร์ นั้นเอาไว้ควบคุมการถ่ายภาพและเพิ่มความสามารถของกล้อง เช่น การถ่ายภาพโหมด HDR , Time Rewind, Image Stabilizer, Depth of Field, Clear Zoom ฯลฯ และอื่นๆ ซึ่งจะว่าไปความสามารถทั้งหมดนี้ก็ถอดแบบมาจากแอพถ่ายรูปดังๆ ทั้งหลายอย่าง Camera 360 , Cymera และอีกหลายๆ แอพในปัจจุบันนั่นเอง
คงไม่มีอะไรตัดสินได้ดีไปกว่าการทดสอบถ่ายรูปจริง ลองพิจารณาได้จากรูปด้านล่างต่อไปนี้ครับ
จะสังเกตว่าภาพที่ได้ในโหมด Low-light นั้นจะสว่างกว่าอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งเมื่อมองผ่านโทรศัพท์แล้วจะดูดีมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเอาภาพออกมาดูผ่านจอคอมพิวเตอร์จะพบว่าภาพในโหมด Low-light นั้นตัดทอนรายละเอียดไปค่อนข้างเยอะ อีกทั้งความละเอียดของภาพจะลดลงเหลือ 1600×900 พิกเซล หรือ 1.4MP เท่านั้นโดยอัตโนมัติ
ในส่วนของการถ่ายรูปในสภาพแสงปกติ Zenfone 5 ทำได้ดีตามสภาพ ลองพิจารณาได้จากภาพตัวอย่างด้านล่างครับ