โดย: ม้าในป่าคอนกรีต
หลังจากที่อินเทลได้เปิดตัวคอร์กราฟิกในตัวซีพียู Sandy Bridge ออกมาตั้งแต่ต้นปี 2011 เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้ที่ต้องการความประหยัด แต่ใช้งานกับแอพพลิเคชันกราฟิกพื้นฐานยุคใหม่ได้ครบถ้วน มาถึงตอนนี้ก็ถึงเวลาของ AMD บ้าง ในการเปิดตัวซีพียู APU รุ่นที่ 2 ในตระกูล Llano (ลาโน) ที่มาพร้อมกับคอร์กราฟิกที่ AMD อ้างว่ามันทรงพลังมาก ซึ่งจะจริงแท้หรือแค่ราคาคุย เรามีคำตอบให้กับคุณในบทความทดสอบนี้แล้ว
Llano นั่นหรือก็คือ Fusion
Llano มาพร้อมกับแนวความคิดที่มีการนำคอร์ประมวลผลและคอร์กราฟิกมารวมกันทั้งในระดับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็น APU (Accelerated Processor Unit) รุ่นใดๆ ก็ตามของ AMD ก็จะถูกออกแบบสอดคล้องกับแนวความคิด Fusion ดังนั้น Llano จึงเป็นซีพียูที่มีส่วนประกอบสำคัญคือ คอร์ประมวลผล x86 คอร์กราฟิก และชิปนอร์ธบริดจ์ แต่แตกต่างจากสถาปัตยกรรม Bobcat เมื่อ Llano เป็นซีพียูทั้งแบบ 4 คอร์ และ 2 คอร์ เช่นเดียวกับที่มีอยู่ใน APU รุ่นก่อนหน้านี้ ส่วนคอร์กราฟิกประกอบด้วย Stream Processor จำนวน 320 และ 400 หน่วย มากกว่าซีพียู Brazos อยู่ 4 ถึง 5 เท่าตัว ในขณะที่ชิปนอร์ธบริดจ์ในตัวซีพียูก็ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพในการทำงานกับหน่วยความจำที่รวดเร็วมากขึ้น รวมถึงบัส PCI-Express (PCIe) ที่สามารถทำงานร่วมกับตัวกราฟิกการ์ดได้ด้วยเช่นกัน
Llano มีส่วนของคอร์กราฟิกบนพื้นที่ไดมากกว่าคอร์ประมวลผลเสียอีก ประสิทธิภาพด้านกราฟิกจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ
จะว่าไปแล้ว Llano ก็คือ ซีพียูตระกูล Fusion รุ่นที่ 2 คอร์ประมวลผลอิงมาจากซีพียูตระกูล Athlon II X4 ส่วนคอร์กราฟิกก็อิงมาจาก Radeon HD 5570 และชิปเซ็ตก็อิงมาจาก AMD 870 ที่นำมารวมไว้บนไดซิลิกอนผืนเดียวกัน แต่ผลิตด้วยเทคโนโลยีขนาด 32 นาโนเมตร (ผลิตช้ากว่าอินเทลนับปีเลยทีเดียว) โดยมีพันธมิตรอย่าง GlobalFoundries เป็นผู้ผลิตให้
จากการใช้เทคโนโลยีการผลิต 32 นาโนเมตร เมื่อส่องดูทุกอณูของแผ่นไดซิลิกอนก็จะพบจำนวนทรานซิสเตอร์ทั้งหมด 1.45 พันล้านตัว และมีขนาดไดที่ 228×216 ตารางมิลลิเมตร เท่ากันกับซีพียู Sandy Bridge ของ Intel
ไดอะแกรมการวางตำแหน่งส่วนต่างๆ บนไดของ Llano
คอร์ประมวลผล Husky
หากมองลึกลงไปในคอร์ประมวลผลของ Llano จะใช้คอร์ที่มีรหัสพัฒนา Husky ที่ใช้สถาปัตยกรรมเดียวกับซีพียู K10 หรือสถาปัตยกรรม Stars Microarchitecture เช่นเดียวกับที่พบในซีพียูซ็อกเก็ต AM3 เราจึงไม่สามารถคาดหวังถึงประสิทธิภาพที่เริดหรูได้ แต่ต้องรอความคาดหวังนี้ไปที่ซีพียูไฮบริดสถาปัตยกรรม Bulldozer Microarchitecture ที่คาดว่าน่าจะออกไม่ปลายปีนี้ก็เป็นปีหน้าแทน
วิศวกรของ AMD พยายามที่จะกระตุ้นให้สถาปัตยกรรมเก่าของตนมีดีมากขึ้นกว่าเดิม และคอร์ประมวลผล Husky ก็ได้ทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกว่า Athlon II และ Phenom II อีกเล็กน้อย ด้วยวิธีการง่ายๆ นั่นคือ การเพิ่มหน่วยความจำแคชระดับที่ 2 โดยทุกคอร์จะมีหน่วยความจำแคชระดับที่ 2 เป็นของตัวเองที่ขนาด 1 เมกะไบต์ และตัดหน่วยความจำแคชระดับที่ 3 ออกไป ทำให้ AMD สามารถเพิ่มหน่วยคาดเดาการประมวลผล (Branch Prediction) และขยายหน่วยความจำบัฟเฟอร์หลักให้ใหญ่ขึ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบัฟเฟอร์ดึงและเก็บข้อมูลก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่า จากผลการทดสอบของทีมงานพบว่าโดยรวมแล้วมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังมีในส่วนของ Separate Hardware Divider ซึ่งช่วยเร่งระบบการทำงานให้เป็นไปตามสัดส่วน แต่ก็ยังจัดการชุดคำสั่งได้ที่ 3 คำสั่งต่อ 1 สัญญาณนาฬิกา เช่นเดิม
ไดอะแกรมแสดงสถาปัตยกรรมการประมวลผลของคอร์ประมวลผล Husky ที่มีอยู่ใน Llano
ก่อนหน้านี้ทางนักพัฒนาของ AMD ไม่ได้มุ่งหวังในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับคอร์ x86 ของ Llano มากนัก พวกเขาลำดับความสำคัญในการพัฒนาที่แตกต่างไป อย่างแรก พวกเขาต้องการเพิ่มประสิทธิภาพต่อการใช้พลังงานให้กับคอร์ Husky เพราะซีพียู k10 Microarchitecture นั้น ทำในส่วนนี้ได้ไม่น่าประทับใจนัก อย่างที่ 2 พวกเขาให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อและการสื่อสารระหว่างระบบหน่วยความจำ คอร์ประมวลผล และคอร์กราฟิกมากกว่า จึงกลายเป็นการปรุงแต่งที่สำคัญและเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจริงในที่สุด
หน้าตาของซีพียู A8-3850 ความเร็ว 2.9GHz ที่ทีมงานได้รับมาทดสอบ
รูปแบบการวางตำแหน่งขาสัญญาณที่จะใช้กับเมนบอร์ดซ็อกเก็ต FM1
หน้าตาของซ็อกเก็ต FM1 ใช้งานได้กับซีพียูตระกูล Llano เท่านั้น
คอร์กราฟิก Sumo สุดเจ๋ง
ในส่วนของคอร์กราฟิกนั้น AMD เรียกคอร์กราฟิกในซีพียู Fusion รุ่นที่ 2 ของตนเองว่า “SUMO” ซึ่งเป็นคอร์กราฟิกสถาปัตยกรรมเดียวกับคอร์กราฟิกที่ใช้ในกราฟิกการ์ดอย่าง Radeon HD 5570 ที่มีรหัสพัฒนาว่า Redwood โดย Llano มาพร้อมกับ Stream Processor จำนวน 400 หน่วย Texturing Unit จำนวน 20 หน่วย และ 8 หน่วย สำหรับ Raster Unit ส่วน Llano รุ่นล่างสุดจะปิดชุดคำสั่ง SIMD ออกไปอีก 1 ชุด ทำให้มี Stream Processor เหลือที่ 320 หน่วย ซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับตัวกราฟิกการ์ดในรุ่น Radeon HD 5550
ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติทางเทคนิคของคอร์กราฟิกของ Llano ทั้ง 2 รุ่น
เมื่อเทียบกับต้นฉบับอย่าง Redwood แล้ว SUMO ก็ยังมี 2 ส่วนที่เปลี่ยนไป อย่างแรกคือ การดัดแปลงอินเทอร์เฟซของหน่วยความจำให้ตัว GPU สามารถทำงานร่วมกับหน่วยความจำ DDR3 ในแบบ Dual Channel ผ่านชิปเซ็ตนอร์ธบริดจ์กับหน่วยความจำหลักของระบบได้ ซึ่งย่อมทำให้เกิดคอขวดขึ้นเป็นธรรมดา น่าเสียดายที่ Llano ไม่มีระบบ Ring Bus อย่างที่มีในอินเทล ทำให้ SUMO ไม่สามารถใช้งานหน่วยความจำแคชของคอร์ประมวลผลยามที่ตัวมันต้องการได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมองความใหม่โดยรวมของคอร์กราฟิกแล้ว มันก็สามารถเขียนข้อมูลต่างๆ ลงบนหน่วยความจำได้โดยไม่ต้องมีคอร์ประมวลผลมาข้องเกี่ยว แถมคอร์กราฟิกทั้งหมดยังได้รับการให้ความสำคัญจากหน่วยความจำหลักมากกว่าคอร์ประมวลผลเสียอีก
องค์ประกอบต่างๆ ที่มีอยู่ในคอร์กราฟิก SUMO
อย่างที่ 2 ก็คือ ส่วนของ UDV (Unified Video Decoder) สำหรับการถอดรหัสไฟล์วิดีโอที่มีอยู่ใน SUMO ก็ได้ใช้เวอร์ชันที่ 3 ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุด จึงสามารถรองรับการถอดรหัสไฟล์ในรูปแบบ HD Video และรองรับความสามารถแบบ MVC (Multi-View Codec) ที่ใช้ในไฟล์วิดีโอแบบ 3D Video ไม่เหมือนกับแพล็ตฟอร์ม Brazos และ Lynx ที่สามารถเล่น 3D Blu-ray ผ่านอินเทอร์เฟซ HDMI อีกทั้ง UVD3 ยังให้ประสิทธิภาพต่อการใช้พลลังงานที่ดีกว่า เพราะทำงานเป็นอิสระจาก GPU ซึ่งสามารถปิดการใช้งาน Stream Processor ได้ในระหว่างเล่นกลับไฟล์วิดีโอ จากรายละเอียดทั้งหมด ทำให้ AMD ใช้ชื่อคอร์กราฟิกในตระกูล 6000D กับคอร์กราฟิกของ Llano ในรุ่นสูงจะเป็นรุ่น HD 6550D ส่วนรุ่นเล็กก็จะเป็น Radeon HD 6530D โดย AMD ยังได้นำเทคโนโลยี CrossFire มาใช้งานด้วย จึงทำให้ทั้งคอร์กราฟิกที่อินทิเกรตใน APU และตัวกราฟิกการ์ดสามารถทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรนเดอร์ภาพ 3 มิติ ได้ ซึ่งน่าประทับใจมาก และช่วยส่งเสริมตลาดกราฟิกระดับกลางล่างของ AMD ให้เติบโตขึ้นตามไปด้วย (ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัวเลยทีเดียว) แม้ว่าจะไม่ได้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจริงๆ ก็ตาม
รุ่นของกราฟิกการ์ดที่รองรับการทำงานแบบ CrossFire ร่วมกับคอร์กราฟิกใน Llano
แต่ถึงกระนั้นก็มีข้อจำกัดเช่นกัน ข้อจำกัดแรก หากคุณต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านกราฟิก ก็ต้องดูรุ่นของกราฟิกการ์ดที่คุณใช้งานด้วย หากคุณมี Radeon HD 6850 ที่มีประสิทธิภาพสูงในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ระบบก็จะปิดการใช้งานคอร์กราฟิกในซีพียู ข้อจำกัดที่สอง ก็คือ ความไม่สมมาตรของเทคโนโลยี CrossFire ที่ทำงานได้ดีกับเกมที่รองรับ DirectX 10 หรือ 11 แต่หากเป็น DirectX 9 และ OpenGL ประสิทธิภาพจะไม่เพิ่มขึ้น แถมยังลดลงตามประสิทธิภาพของ GPU ที่ทำงานช้าที่สุดในระบบอีกด้วย หากมองภาพรวมของประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ทำให้มันเทียบได้กับกราฟิกการ์ดระดับสูงได้ เพียงแต่ทำให้ประสิทธิภาพในการเล่นเกมระดับเริ่มต้นดีขึ้นกว่าเดิมอีกระดับหนึ่งเท่านั้น
คุณสมบัติทางเทคนิคของซีพียู Llano ในแต่ละรุ่น | |||||||||
รุ่น |
รุ่น GPU |
ค่า TDP |
จำนวนคอร์ |
ความเร็วซีพียู |
ความเร็วโหมดTurbo |
ขนาดแคช L2 |
จำนวน Stream Processor |
ความเร็วคอร์กราฟิก |
รองรับโหมดTurbo Core |
A8-3850 |
HD 6550D |
100 W |
4 |
2.9 GHz |
– |
4 MB |
400 |
600 MHz |
ไม่รองรับ |
A8-3800 |
HD 6550D |
65 W |
4 |
2.4 GHz |
2.7 GHz |
4 MB |
400 |
600 MHz |
รองรับ |
A6-3650 |
HD 6530D |
100 W |
4 |
2.6 GHz |
– |
4 MB |
320 |
443 MHz |
ไม่รองรับ |
A6-3600 |
HD 6530D |
65 W |
4 |
2.1 GHz |
2.4 GHz |
4 MB |
320 |
443 MHz |
รองรับ |
ชิปเซ็ตก็ไม่ธรรมดา
ซีพียูในตระกูล Ax-3xxx ของ AMD ได้นำชิปนอร์ธบริดจ์หัสพัฒนา Lynx ใส่ลงเป็นส่วนหนึ่งของชิปซีพียู ไม่เพียงในส่วนของหน่วยความจำเท่านั้น แต่รวมถึงบัส PCIe ด้วย นั่นหมายความว่าแพล็ตฟอร์ม Lynx มีความคล้ายคลึงกับโครงสร้างระบบของ Intel มาก ตัวเมนบอร์ดจึงมีเพียงเฉพาะชิปเซาธ์บริดจ์อย่างเดียว เมื่อเทียบกับซีพียูรุ่นก่อนหน้านี้ หน่วยควบคุมการทำงานของหน่วยความจำใน Llano มีฟังก์ชันการทำงานมากกว่าเดิม นอกจากรองรับการทำงานกับหน่วยความจำแบบ Dual Channel แล้ว ก็ยังรองรับหน่วยความจำ DDR3 ความเร็ว 1600/1866 ได้อีกด้วย แม้ว่าจะทำงานที่ความเร็วนี้ได้ก็ต่อเมื่อต้องติดตั้งแผงหน่วยความจำหนึ่งแผงต่อหนึ่งแชนแนล หรือหนึ่งช่องทาง เท่านั้นก็ตาม
ไดอะแกรมแสดงเส้นทางการเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลในซีพียู Llano
ขณะที่คอร์กราฟิกก็ต้องการหน่วยความจำที่ให้อัตราการถ่ายโอนข้อมูลสูง แต่ในเมื่อ AMD ได้นำพื้นฐานของ DDR3-1333 มาใช้กับคอร์กราฟิก หน่วยความจำก็ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพของคอร์กราฟิก ด้วยการมีส่วนของการจัดการข้อมูลรูปแบบใหม่ที่มีระบบบัสเชื่อมต่อข้อมูลระหว่าง GPU และชิปนอร์ธบริดจ์ทั้งหมด 2 ช่องทาง เรียกว่า “Radeon Memory Bus” ที่ให้อัตราการถ่ายโอนข้อมูลที่ 29.8 กิกะไบต์ต่อวินาที เท่ากับการใช้งานหน่วยความจำ DDR3-1866
ไดอะแกรมชิปเซ็ตรุ่นใหญ่ A75 ที่รองรับพอร์ต USB 3.0 จำนวน 4 พอร์ต และพอร์ต SATA III 6Gbps อีก 6 พอร์ต
นอกจากนี้บัสระหว่างคอร์กราฟิกและหน่วยควบคุมการทำงานของหน่วยความจำที่เรียกว่า AMD Fusion Compute Link ทำให้คอร์กราฟิกเข้าถึงหน่วยความจำได้โดยตรงสอดคล้องกับหน่วยความจำแคชของคอร์ประมวลผล เพื่อให้สามารถดึงข้อมูลจากหน่วยความจำแคชได้โดยตรงในกรณีที่มีการทำงานเดียวกัน ในวันนี้ บัสรูปแบบนี้ไม่นิยมใช้งานกันแล้ว แต่การนำมาใช้ใน Fusion ได้ให้ประโยชน์อย่างมากต่อหลายๆ แอพพลิเคชัน ที่สามารถนำคุณสมบัติต่างๆ ใน APU มาใช้งานได้อย่างเต็มที่
ไดอะแกรมชิปเซ็ต A55 ชิปเซ็ตรุ่นเล็กที่ไม่มีพอร์ต USB 3.0 และพอร์ต SATA III ให้ใช้งานเลย
ในส่วนของหน่วยควบคุมบัส PCI Express ใน Llano รองรับจำนวนเลนทั้งหมด 24 เลน ถูกแบ่งไปให้กับการเชื่อมต่อชิปเซาธ์บริดจ์ 4 เลน และอีก 4 เลน สำหรับอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ เหลืออีก 16 เลน สำหรับบัส PCIe x16 ในการใช้งานกับกราฟิกการ์ด ซึ่งสามารถแบ่งเป็น PCIe x8 สำหรับการใช้งานกราฟิกการ์ดจำนวน 2 การ์ด และรองรับเทคโนโลยี CrossFire กับการใช้กราฟิกการ์ด 2 การ์ด ได้อีกด้วย นอกเหนือจากการที่ตัวคอร์กราฟิกสามารถ CrossFire ร่วมกับตัวกราฟิกการ์ด ได้อยู่แล้ว
ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติชิปเซ็ตทั้ง 2 รุ่น
การจัดการพลังงาน และ Turbo Core
AMD ต้องการให้ซีพียูของตนมีการใช้พลังงานต่อประสิทธิภาพที่ดี จากการผลิตด้วยเทคโนโลยีขนาด 32 นาโนเมตร ก็ช่วยให้คอร์ของ Llano มีการใช้แรงดันไฟฟ้าที่ 1.2-1.25 โวลต์ โดยมีความสามารถตัดการใช้พลังงานเมื่อระบบอยู่ในสถานะ Idle ได้ด้วย Power Gate ซึ่งในแพล็ตฟอร์ม Lynx จะมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ คอร์ประมวลผล และอีกหนึ่งส่วนคือ คอร์กราฟิกกับชิปนอร์ธบริดจ์ ระบบจัดการการใช้พลังงานสามารถเลือกปิดหน่วยประมวลผลได้อย่างยืดหยุ่น ระหว่างคอร์ประมวลผล x86 กับคอร์กราฟิก โดยที่ AMD ตั้งใจออกแบบค่าการปล่อยพลังงานความร้อน (TDP) ที่ 100 วัตต์ และ 65 วัตต์ ส่วนโมบายซีพียูมีค่า TDP ที่ 45 วัตต์ และ 35 วัตต์ จึงทำให้ Llano มีความเร็วในการทำงานที่ไม่เกิน 3 กิกะเฮิร์ตซ สำหรับเดสก์ท็อปซีพียู และ 2.6 กิกะเฮิร์ตซ สำหรับโมบายซีพียู
ในกรณีนี้ AMD ก็ได้นำเทคโนโลยี Turbo Core มาใช้งานด้วย แต่จะรองรับเฉพาะในรุ่น A8-3800 และ A6-3600 เท่านั้น โดยจะเพิ่มความเร็วจาก 2.4 กิกะเฮิร์ตซ ไปเป็น 2.7 กิกะเฮิร์ตซ สำหรับรุ่น A8-3800 และจาก 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ไปเป็น 2.4 กิกะเฮิร์ตซ ในรุ่น A6-3600 การทำงานของ Turbo Core จะนำปัจจัยจากระดับการประมวลผลมาพิจารณา และหากอุณหภูมิของซีพียูสูง ก็จะมีการปิด Turbo Core โดยอัตโนมัติ ด้วยเช่นกัน น่าเสียดายที่เทคโนโลยี Turbo Core รองรับเฉพาะในส่วนของคอร์ประมวลผลเท่านั้น ไม่รองรับในส่วนของคอร์กราฟิก จึงทำได้แต่เพียงลดความเร็วของคอร์กราฟิกลงเพื่อลดการใช้พลังงานเท่านั้น และหากคอร์กราฟิกทำงานในการแสดงผลภาพ 3 มิติ จนทำให้การใช้พลังงานทั้งหมดสูงเกินกว่ากำหนด Turbo Core ของคอร์ประมวลผล ก็จะไม่ทำงานตามไปด้วยเช่นกัน
เมนบอร์ด ASRock A75 Pro 4 ที่ทีมงานใช้ในการทดสอบครั้งนี้
ระบบที่ใช้ในการทดสอบ | |
ซีพียู | – AMD A8-3850, 2.9GHz, 4MB L2 |
– AMD Athlon II X4 645, 3.1GHz, 2MB L2 Cache
– Intel Core i3-2100, 3.1GHz, 0.5MB L2 cache, 3MB L3 cacheเมนบอร์ด– ASRock A75 Pro 4 สำหรับ AMDA8-3850
– ASUS Crosshair IV Formula (890FX) สำหรับ AMD Athlon II X4 645
– ASUS P8Z68-V Pro (Z68) สำหรับ Core i3-2100หน่วยความจำCorsair DDR3 1600MHz 4GB (2 x 2GB) 9-9-9-24 2Tกราฟิกการ์ดAMD Radeon HD 6950 (2,048MB)ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์Corsair Nova V128 SSDระบบปฏิบัติการWindows 7 Ultimate (64-bit)
รายละเอียดของ A8-3850 จากโปรแกรม CPU-Z
รายละเอียดในส่วนของหน่วยความจำแคช
รายละเอียดของเมนบอร์ด ASRock A75 Pro4
ผลการทดสอบและบทวิเคราะห์
AIDA64 Memory Bandwidth
ในการทดสอบวัดอัตราการถ่ายโอนข้อมูลของหน่วยความจำ ก็เป็น Core i3 2100 ที่ทำผลการทดสอบได้โดดเด่นที่สุด และทำผลการทดสอบได้ดีกว่าซีพียูจากเอเอ็มดีทั้ง 2 รุ่น หนึ่งเท่าตัวเลยทีเดียว อันเป็นผลมาจากความสุดยอดของเทคโนโลยี Quick Path Interconnect นั่นเอง ในขณะเดียวกัน Athlon II X4 645 ก็ให้ผลการทดสอบในส่วนนี้ได้ดีกว่า A8-3850 อีกด้วย แต่ความเร็วของซีพียูก็ส่งผลต่อผลการทดสอบนี้ด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากการอิงกับประสิทธิภาพของระบบบัสเป็นหลักอยู่แล้ว
Hexus PiFast
ในการประมวลผลค่าพายทางคณิตศาสตร์ เป็น Core i3-2100 ซีพียู 2 คอร์ 4 เธรด ทำผลการทดสอบได้ดีกว่า A8-3850 อยู่ประมาณ 11.7 วินาที หรือคิดเป็น 43 เปอร์เซ็นต์ และ A8-3850 ยังทำผลการทดสอบตามหลัง Athlon II X4 645 อยู่ประมาณ 1.2 วินาที อันเป็นผลสำคัญมาจากความเร็วของซีพียูที่ช้ากว่า
iTune MP3 Encoding
ในการเข้ารห้สไฟล์เสียงนั้น แสดงให้เห็นว่า A8-3850 มีการทำงานด้านมัลติมีเดียสตรีมมิ่งที่เกี่ยวกับไฟล์เสียงตามหลัง Core i3-2100 อยู่ประมาณ 9 วินาที หรือคิดเป็นประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังตามหลัง Athlon II X4 645 อยู่ 1 วินาที อีกด้วย และแน่นอนว่าความเร็วที่ช้ากว่าเกือบ 200 เมกะเฮิร์ตซ ย่อมส่งผลต่อการทดสอบนี้อย่างไม่ต้องสงสัย และแสดงให้เห็นว่าการเข้ารหัสไฟล์เสียงที่ช้ากว่า Athlon II X4 645 เพียงวินาทีเดียวนั้น คือประสิทธิภาพต่อสัญญาณนาฬิกาที่เพิ่มขึ้นของซีพียู Llano ในระดับที่น่าพอใจทีเดียว
CineBench E11.5
สำหรับการเรนเดอร์ภาพ 3 มิติ ที่หนักหน่วง ก็กลับมาเป็น A8-3850 ซีพียู 4 คอร์แท้ๆ ที่ทำผลการทดสอบได้เหนือกว่าซีพียู 2 คอร์ 4 เธรด อย่าง Core i3-2100 อยู่ประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังตามหลัง Athlon II X4 645 แบบฉิวเฉียด
wPrime (1024MB)
การทดสอบความสามารถในการประมวลผลที่แสนหนักหน่วงอย่าง wPrime ที่ระดับ 1024 เมกะไบต์ นั้น A8-3850 ทำผลการทดสอบตาม Core i3-2100 อยู่ประมาณ 9.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ทำผลการทดสอบได้ดีกว่า Athlon II X4 645 อยู่ประมาณ 23 เปอร์เซ็นต์ ก็นับว่าเป็นผลการทดสอบที่น่าพอใจของ A8-3850 กับการที่วิศวกรของ AMD ตั้งใจเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับ Llano
7-Zip Compression Benchmark
ผลการทดสอบที่ได้จาก 7-Zip Compression แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าซีพียู 4 คอร์ แท้ๆ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานด้านนี้มากกว่า โดยจะเห็นได้ว่า A8-3850 สามารถทำผลการทดสอบได้ดีกว่า Core i3-2100 อยู่ประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว แต็ยังตามหลัง Athlon II X4 645 อยู่แบบหายใจรดต้นคอ อันเป็นผลสำคัญเนื่องมาจากความเร็วที่น้อยกว่า 200 เมกะเฮิร์ตซ เช่นเดิม
X264 HD Benchmark
ในการเข้ารหัสไฟล์วิดีโอในระดับ High Definition จากการทดสอบด้วย x264 HD Benchmark เป็น A8-3850 ที่สามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างน่าพอใจ เมื่อสามารถทำผลการทดสอบได้ดีกว่า Core i3-2100 อยู่เล็กน้อย แต่การทดสอบนี้ก็เป็นการทดสอบที่นับว่าหินมากๆ ในการที่ซีพียูจะเข้ารหัสไฟล์วิดีโอความละเอียดระดับ HD ออกมาได้ในแต่ละเฟรมเรต ซึ่ง A8-3850 ทำผลการทดสอบได้ดีกว่าประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ และทำผลการทดสอบได้เท่ากับ Athlon II X4 645 อีกด้วย
3DMark Vantage
ในการวัดประสิทธิภาพการแสดงผลภาพ 3 มิติ ด้วยการใช้กราฟิกการ์ด Radeon HD 6950 นั้น ก็นับว่า A8-3850 ทำผลงานได้ดีไม่เบา หากมองถึงคลาสของการเป็นซีพียูระดับกลาง โดยทำผลการทดสอบตาม Core i3-2100 อยู่ประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ และตามหลัง Athlon II X4 645 อยู่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าความเร็วของซีพียูก็ส่งผลต่อผลการทดสอบด้านการเรนเดอร์ภาพ 3 มิติ ด้วยเช่นกัน
Call of Duty: Black Ops
ในการทดสอบด้วยเกม 3 มิติ อย่าง Call of Duty: Black Ops นั้น ก็ยังเป็น Core i3-2100 ที่ทำผลเฟรมเรตออกมาได้ดีกว่าซีพียูจาก AMD ทั้ง 2 รุ่น โดย Core i3-2100 สามารถทำเฟรมเรตได้ที่ 122.5 เฟรมต่อวินาที ซึ่งมากกว่า A8-3850 อยู่แค่ 4 เฟรม เท่านั้น ก็เรียกว่ายังไม่สามารถเอาชนะได้ขาด
Integrate Core Graphic Performance
ในการทดสอบด้วย 3DMark Vantage ทีมงานได้นำคอร์กราฟิกในตัวซีพียูทั้ง 6550D ใน A8-3850 มาทดสอบเทียบกับ HD Graphic 2000 ใน Core i3-2100 โดยตรง อีกทั้งยังนำกราฟิกการ์ดในรุ่น Radeon HD 6570 มาทดสอบในแบบ CrossFire ร่วมกับคอร์กราฟิก SUMO ในซีพียู Llano ด้วย และผลการทดสอบที่ได้จาก 3DMark Vantage ก็พบว่า SUMO ไม่ได้ทำให้ทีมงานรู้สึกผิดหวังเลย เพราะประสิทธิภาพของคอร์กราฟิกนั้นจัดว่าไม่ธรรมดาเลย และให้ประสิทธิภาพในการทดสอบที่ดีกว่า HD Graphic 2000 ของ Core i3-2100 เกือบ 300 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3 เท่าตัว และหากทำงานร่วมกับกราฟิกการ์ด Radeon HD 6570 ด้วยแล้ว ผลการทดสอบก็ขยับมากขึ้นกว่าการใช้คอร์กราฟิกเพียงอย่างเดียวถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นประสิทธิภาพการทำงานที่น่าประทับใจมาก
Power Consumption
สำหรับอัตราการบริโภคพลังงาน AMD ได้ทำให้เห็นถึงวิวัฒนาการด้านประสิทธิภาพต่อการใช้พลังงานที่พัฒนาขึ้นมาในอีกระดับ เมื่อ A8-3850 มีการใช้พลังงานในโหมด Idle ที่ 60 วัตต์ (รวมระบบทั้งหมดแล้ว) ซึ่งน้อยกว่า Core i3-2100 ที่เป็นซีพียู 2 คอร์ เสียอีก ในขณะเดียวกันก็น้อยกว่า Athlon II X4 645 ถึง 12 วัตต์ แม้ว่าจะมีหน่วยความจำแคช และมีระบบกราฟิกรวมเป็นหนึ่งเดียวในตัวซีพียูก็ตาม
สรุป: พลังการประมวลผลเป็นรอง แต่พลังกราฟิกเป็นต่อ
การเพิ่มหน่วยความจำแคชทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าโดยรวมแล้วอาจจะยังทำได้ไม่ดีไปกว่าซีพียู 2 คอร์ 4 เธรด อย่าง Core i3-2100 แต่ A8-3850 ก็มีความเร็วที่ต่ำกว่าเกือบ 200 เมกะเฮิร์ตซ ในขณะเดียวกันหากคุณเป็นคนที่รักการเล่นเกม คอร์กราฟิก SUMO ที่มีอยู่ใน A8-3850 สามารถตอบสนองการเล่นเกมในระดับเริ่มต้น รวมถึงการถอดและเข้ารหัสไฟล์วิดีโอความละเอียดระดับ HD ได้ดีกว่าคอร์กราฟิก HD Graphic 2000 ใน Core i3-2100 มาก ภาพรวมทั้งหมดทำให้ Llano เป็นตระกูลซีพียูระดับกลางที่น่าสนใจขึ้นมาทันที
แต่ถึงกระนั้น การเปิดตัวด้วยซ็อกเก็ตรูปแบบใหม่อย่าง FM1 ก็ทำให้การอัพเกรดเป็นเรื่องน่าคิด เพราะผู้ใช้ที่มีเมนบอร์ดรุ่นเก่าอย่างซ็อกเก็ต AM2 และ AM3 จะไม่สามารถอัพเกรดมาใช้งานเฉพาะซีพียูได้ โจทย์ของการอัพเกรดจึงเป็นเรื่องที่ยากเอาการ แต่หากเป็นผู้ที่ต้องการซื้อทั้งเมนบอร์ดและซีพียูใหม่ทั้งหมด Llano ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะคอร์กราฟิกสามารถรับมือเกมหลายๆ เกมที่ความละเอียด 1280×720 และรายละเอียดระดับ Medium Detail ได้อย่างสบายๆ โดยที่คุณไม่ต้องเพิ่มเงินเพื่อซื้อกราฟิกการ์ดให้สิ้นเปลือง หรือหากจะซื้อกราฟิกการ์ดของ AMD ตั้งแต่รุ่น Radeon HD 6670 ไปจนถึง 6350 มาใช้งานร่วมกับคอร์กราฟิกในรูปแบบ CrossFire ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นเกมได้ดีขึ้นอีกมาก แต่ทีมงานก็หวังว่าทาง AMD จะมีความจริงจังในการใช้งานซีพียูแพล็ตฟอร์มนี้ไปอีกนานพอสมควร เพราะไม่อย่างนั้นแล้วก็จะไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานในระยาวได้
เนื่องจาก ณ เวลาที่เขียนบทความอยู่นี้ ยังไม่มีซีพียูในรุ่น A8-3850 มาจำหน่ายในบ้านเรา แต่ต่างประเทศเคาะราคาขาย A8-3850 ไว้ที่ 135 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,185 บาท จะมีก็แต่รุ่น A6-3650 ความเร็ว 2.6 กิกะเฮิร์ตซ เคาะราคาขายที่ 4,150 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่แรงเอาเรื่องอยู่เหมือนกันกับซีพียูที่ใช้สถาปัตยกรรมเก่าตั้งแต่ปี 2007 (และอาจจะเป็นไปได้ที่ A8-3850 จะถูกตั้งราคาขายในบ้านเราที่ 5 พันบาทกลางๆ) ส่วนราคาเมนบอร์ดชิปเซ็ต A75 ก็มีตั้งแต่ 2 พันปลายๆ ไปจนถึง 3 พันปลายๆ ก็ยังไม่ถือว่าแรงมากนัก หากมองถึงการรองรับทั้ง USB 3.0 และ SATA III ดังนั้นหาก AMD ต้องการผลักดันให้ Llano รุ่งในตลาดซีพียูบ้านเราจริงๆ ก็ควรตั้งราคาขายให้สอดคล้องกับทางเมืองนอกเขาจะดีที่สุด (จะบวกค่าขนส่งให้เหมาะสมอีกนิดก็ไม่ว่ากัน) เพราะจะทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงความคุ้มค่าน่าใช้งาน และส่งผลดีกลับมายัง AMD ในการแย่งส่วนแบ่งการตลาดซีพียูในเมืองไทยจากคู่แข่งได้มากขึ้นกว่าเดิมในที่สุดนั่นเอง