หลังจากที่กระแสคอมพิวเตอร์ในฝั่งโน้ตบุ๊กเงียบเหงาไปนาน ทางอินเทลและบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีทั้งหลาย ก็ได้ริเริ่มแนวความคิดในการออกแบบโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ (แต่เก่ามา 2-3 ปีแล้วในฝั่ง Mac) ที่มีชื่อว่า อัลตร้าบุ๊ก (Ultrabook) ที่มีลักษณะเฉพาะตัว แตกต่างจากโน้ตบุ๊ก ตรงที่เป็นโน้ตบุ๊กที่มีความบางและน้ำหนักเบาเป็นพิเศษนั่นเอง ซึ่งหากใครเดินสำรวจร้านแล้วเหลือไปเห็นรูปลักษณ์ภายนอกที่เข้าข่ายเช่นนี้ ก็บอกได้เลยว่า นี่แหละคือ อัลตร้าบุ๊ก ตัวจริงเสียงจริง
Acer Aspire S3 เป็นอัลตร้าบุ๊กรุ่นแรก ที่นำมาจำหน่ายบ้านเรา ที่พอแกะกล่องขึ้นมาก็สะดุดตากับดีไซน์ ที่สวยงามทันสมัย ดูหรูหราน่าใช้งาน ภายใต้บอดี้แมกนีเซียมอัลลอยสีเงิน ที่ให้ความแข็งแกร่งทนทานเป็นเลิศ หยิบจับหนีบถือเดินไปเดินมาก็รู้สึกได้ถึงการประกอบที่แน่นหนาดี มีขนาดที่หนาเพียง 13 มิลลิเมตรเท่านั้น น้ำหนักเบาหวิวแค่เพียง 1.357 กิโลกรัมเท่านั้น แถมรวมสายชาร์จแล้วก็หนักเพียง 1.675 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักเพียงแค่นี้ทำให้สะดวกต่อการพกพาเป็นอย่างยิ่ง แถมไม่จำเป็นต้องพกสายชาร์จติดตัวไปด้วย เพราะว่าแบตเตอรี่ (ฝั่งเอาไว้ในเครื่อง) ขนาด 3 เซลล์ที่ 3260 mAh ที่สามารถใช้งานได้นานสูงสุดตามสเปคถึง 7 ชั่วโมง และจากการทดสอบแบตเตอรี่ด้วยการจำลองการใช้งานแบบจริงในโหมด Balanced ที่ทางทีมงานเปิดเล่นอินเทอร์เน็ต เขียนบทความนี้ผ่าน Microsoft Word เปิดดูหนัง Hi-Def ไป มีทิ้งสแตนบายไว้บ้าง ก็ใช้งานได้นานประมาณ 4 ชั่วโมง 10 นาที (ดูน้อยไปนิด น่าจะได้เกิน 5 ชั่วโมง)
วัสดุที่ใช้ในการประกอบเครื่องจะเป็นแมกนีเซียมอัลลอย ที่ต้องบอกเลยว่า เลือกใช้วัสดุที่ดูดีที่สุดตั้งแต่ผมเคยสัมผัสโน้ตบุ๊ก Acer มาในชีวิต ผมชอบมากกว่าคาร์บอนไฟเบอร์ที่ใช้ในโน้ตบุ๊ก Acer Ferrari ด้วยซ้ำ เพราะจับแล้วให้ความรู้สึกที่แข็งแรงทนทานกว่า แต่ถ้าวัดกันทางวิทยาศาสตร์ ผมก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่ เพราะบางทีก็จะมีเรื่องของความยืดหยุ่นมาเกี่ยวข้องด้วย
มาต่อกันที่พอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ของ Acer Aspire S3 กันดีกว่า ที่คุณมองรอบๆ เครื่องก็จะเห็นเลยว่า มีพอร์ตเชื่อมต่อมาให้น้อยมากๆ โดยมาดูกันที่ด้านหลังเครื่องจะเป็นจุดร่วมพอร์ตเชื่อมต่อ ที่จะมีพอร์ต USB 2.0 ให้มา 2 พอร์ต (น่าจะให้พอร์ต USB 3.0 มามากกว่า) พอร์ต HDMI และช่องสำหรับเสียบสายชาร์ต พร้อมกับการเน้นความเป็นโมบายเต็มตัว เพราะไม่มีพอร์ต LAN มาให้ด้วย เลยอาจจะมีปัญหาอยู่บ้างในเรื่องของการโอนถ่ายไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ผ่านระบบเน็ตเวิร์กภายในออฟฟิศ และสุดท้ายมีช่องระบายความร้อนขนาดพอเหมาะอยู่ทางด้านซ้ายของตัวเครื่อง
ทางขอบด้านซ้ายของตัวเครื่องจะมีแค่ช่องสำหรับเสียบหูฟังและไมโครโฟนในรูเดียวกัน ส่วนทางขอบด้านขวาจะมีแค่การ์ดรีดเดอร์ที่สามารถอ่านได้เฉพาะ SD/SDHC/MMC เท่านั้น ก็มีแค่นี้แหละครับสำหรับพอร์ตเชื่อมต่อที่มีทั้งหมดในตัวเครื่อง
อีกหนึ่งจุดเด่นที่ผมชอบใน Acer Aspire S3 นั่นก็คือ คีย์บอร์ดที่ผมพิมพ์สัมผัสได้ง่ายมากๆ ไม่เกิน 2 นาทีหลังจากเริ่มวางมือพิมพ์งานผมก็ชินแล้ว พิมพ์แทบไม่มีคำผิดเลยในระหว่างการเขียนบทความนี้ และน้ำหนักการสัมผัสในการพิมพ์งานนั้น นุ่มสบายมือจริงๆ พร้อมทั้งเป็นคีย์บอร์ดไซส์มาตรฐานแต่จะมีก็ตรงส่วนที่เป็นปุ่มลูกศรขึ้นลงซ้ายขวา Page Up และ Page Down ที่เล็กไปหน่อย ทำให้กดไม่ค่อยถนัดมือ ส่วนการออกแบบทัชแพดจะดูคล้ายเครื่อง Mac ที่เป็นแผ่นเรียบๆ แผ่นเดียว โดยปุ่มคลิ้กทั้งซ้ายและขวา จะอยู่ด้านล่าง และมีความแข็งมากๆ ต้องกดแรงๆ ถึงจะทำงาน ทำให้เกิดข้อด้อยตรงจุดนี้เหมือนกัน และเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากโน้ตบุ๊กทุกๆ รุ่นคือ สติกเกอร์โลโก้ Intel Core i5 และ Windows 7 ที่ปกติจะเป็นสีฟ้าสีน้ำเงิน แต่สำหรับอัลตร้าบุ๊กทุกรุ่นจะใช้สติกเกอร์สีเงินแทน เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นอัลตร้าบุ๊กอย่างแท้จริง และให้เข้ากับสีสันของเครื่อง
พลิกมาดูที่ฐานเครื่องกันบ้าง สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนแตกต่างจากโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไปเลยคือ จะเป็นฝาปิดชิ้นเดียวกันทั้งตัวเครื่อง ทำให้การจะอัพเกรดแรม ก็ต้องแกะออกมาทั้งฝา ยกเว้นแค่ฮาร์ดดิสก์เท่านั้น ที่สามารถถอดเปลี่ยนเองได้ และจากภาพที่คุณเห็นเป็นขีดๆ 2 เส้นทางด้านซ้ายและขาวนั้น คือ ลำโพงของอัลตร้าบุ๊กตัวนี้นั่นเอง ซึ่งเสียงที่ดังส่งพลังออกมานั้น ผมฟังครั้งแรก รู้สึกได้เลยว่า ดีกว่าโน้ตบุ๊กตลาดทั่วไปหลายๆ รุ่น ให้เสียงที่ใสกว่าและชัดกว่า
มาดูกันที่สเปคของ Acer Aspire S3 กันบ้างดีกว่า ซึ่งจะมีรายละเอียดดังนี้
- Intel Core i5-2467M Processor 1.6 GHz with Turbo Boost up to 2.1 GHz
- Mobile Intel UM67 Express Chipset
- 4 GB DDR3 (Max 8 GB)
- 320 GB HDD + 20 GB Flash SSD
- Intel HD Graphics 3000 128 MB of dedicated system memory
- 13.3” HD (1366 x 768) Acer CineCrystal LED-backlit TFT LCD
- Wi-Fi 802.11b/g/n, Bluetooth 4.0
Acer Aspire S3 มาพร้อมซีพียูในแพลตฟอร์มประหยัดพลังงานด้วยสถาปัตยกรรม Core i Generation 2 ที่มีการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพให้สูงกว่า Core I Generation 1 พอสมควร รวมไปถึงกราฟิก Intel HD 3000 ที่พัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ถ้าดูจากตัวเลขแล้ว ดูสเปคคร่าวๆ แล้วดูเหมือนจะไม่ค่อยแรงใช่มั๊ยละครับ ดังนั้นเราดูผลทดสอบ Acer Aspire S3 ตัวนี้กันเลยดีกว่า
การทดสอบประสิทธิภาพของ Acer Aspire S3 ที่รับคะแนนจากการวัดโดย Windows Experience Index นั้น ก็อยู่ในระดับที่แรงดูดีเลยทีเดียว ได้คะแนนซีพียูไปถึง 6.3 คะแนน ทั้งๆ ที่เป็นซีพียูแบบ Ultra-Low Voltage ก็ตาม คะแนนแรมขนาด 4 กิกะไบต์อยู่ที่ 5.9 คะแนน ส่วนกราฟิกสำหรับ Windows Aero และกราฟิกสำหรับการเล่นเกมส์ได้อยู่ที่ 4.6 และ 6.1 คะแนน ก็เพียงพอต่อการทำงานกราฟิก ดูหนัง Hi-Def และเกมส์ทั่วๆ ไปได้สบายๆ และสุดท้ายคะแนนฮาร์ดดิสก์ขนาด 320 กิกะไบต์ อยู่ที่ 5.9 คะแนน
คะแนนที่วัดได้จากโปรแกรม PC Mark Vantage ได้รับคะแนนรวมไป 4424 คะแนน ก็แรงดีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่แรงเท่าพวกโน้ตบุ๊กที่ใช้ซีพียู Intel Core i5 Generation 2 รุ่นปกติ
มาวัดความแรงของซีพียูกันต่อด้วยโปรแกรม SuperPI ที่มีไว้สำหรับคำนวณค่า PI จากเส้นผ่านศูนย์กลาง โดยจะได้ตัวเลขเป็นจุดทศนิยมที่ไม่มีวันจบ จึงมีผลทำให้คอมพิวเตอร์ต้องคำนวณไปเรื่อย โดยเราจะใช้ตัวเลขมาตรฐานการทดสอบที่ 1M ซึ่งจะเป็นการคำนวณทศนิยม 1 ล้านตำแหน่ง ด้วยการแบ่งการทดสอบเป็นช่วง (Loop) ทั้งหมด 19 ช่วง ช่วงละ 52632 ตำแหน่ง ซึ่งซีพียู Intel Core i5-2467M Processor ก็ทำเวลาไปเพียงแค่ 18.376 วินาทีเท่านั้น ถือว่าเร็วเลยทีเดียว
Cinebench Release 11.5 เป็นโปรแกรมที่มีไว้สำหรับการทดสอบความแรงของซีพียูและกราฟิกการ์ด ซึ่งคะแนนซีพียูที่ได้นั้น ได้คะแนนอยู่ที่ 1.91 pts ก็ไม่ถึงเป็นเป็นซีพียูที่แรงมาก ส่วนการทดสอบด้านกราฟิก OpenGL นั้นได้ไปอยู่ที่ 7.85 fps ก็มองได้ว่าเป็นเพียงกราฟิกการ์ดระดับพื้นฐานเท่านั้น
ทีนี้เราลองรันไฟล์ความละเอียดสูงระดับ 1080p ผ่านทางโปรแกรม Windows Media Player ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด รันได้อย่างเนียนๆ
การทดสอบฮาร์ดดิสก์ผ่านทางโปรแกรม HD Tach ที่มีไว้สำหรับทดสอบความเร็วในการอ่านข้อมูลของ Harddisk ซึ่งสำหรับ Acer Aspire S3 รุ่นนี้ แม้ว่าตามสเปคจะระบุมาว่าใช้ฮาร์ดดิสก์ SATA ขนาด 320 กิกะไบต์ ซึ่งมีความเร็วในการอ่านค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 69.6 MB/s และมีความเร็วในการอ่านสูงสุดอยู่ที่ 170.3 MB/s แต่ก็จะมี SSD Flash Memory ซ่อนเอาไว้อยู่ให้ใช้งานอีก 20 GB ซึ่งจะมีความเร็วในการอ่านอยู่ที่ 192.9 MB/s และมีความเร็วในการอ่านสูงสุดอยู่ที่ 205.4 MB/s
สุดท้ายโปรแกรมบีบอัดไฟล์ยอดนิยมอย่าง WinRAR ที่ให้ผลทดสอบอยู่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,425 KB/s สำหรับความเร็วในการอ่าน สำหรับการอ่านข้อมูลที่ระดับ 500 MB
Acer Aspire S3 มีโหมด Acer Green Instant On ที่สามารถพร้อมใช้งานได้ภายใน 2 วินาที ซึ่งเป็นผลพวงของการมีฮาร์ดดิส์ SSD อีกตัวภายในเครื่อง รวมไปถึงเทคโนโลยี Acer Instant Connect ที่ช่วยการเชื่อมต่อ Wi-Fi ได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 2.5 วินาที เร็วกว่าโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไปถึง 4 เท่า
ส่วนเรื่องความร้อนที่วัดอุณหภูมิภายใต้ห้องอุณหภูมิ 25 องศานั้น ในขณะที่ตัวเครื่องกำลังทำงานอยู่ปกตินั้น จะมีอุณหภูมิโดยรวมอยู่ที่ 29.4 ถึง 35.8 องศาเซลเซียส โดยบริเวณข้อมือทั้งสองข้างทางซ้ายและขวาอยู่ที่ 30.5 และ 29.4 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ไม่มีปัญหาในการวางข้อมือพิมพ์งานแต่อย่างใด ส่วนบริเวณที่ร้อนที่สุดนั้น จะอยู่ตรงตำแหน่งที่วางฮาร์ดดิสก์นั่นเอง
Acer Aspire S3-951 -2464G34iss จำหน่ายอยู่ที่ราคา 29,900 บาท
โน๊ตบุ๊กที่สวยที่สุดเท่าที่ทางเอเซอร์เคยผลิตออกมาแล้ว ผลิตด้วยแมกนีเซียมอัลลอย แข็งแกร่งทนทานแน่นอน ราคาก็เย้ายวนใจ ให้คนที่ต้องพกพา และไม่ต้องการใช้ MacBook Air ให้หันมามองหันมาสนใจได้เป็นอย่างดี
Performance Score 7
- ประสิทธิภาพดีเพียงพอต่อการใช้งานประจำวัน
Feature Score 6
- พอร์ตเชื่อมต่อน้อย
- ไม่มี USB 3.0
Design Score 10
- สวยที่สุดเท่าที่เคยออกมา
- เหมาะแก่การพกพาเป็นอย่างยิ่ง
Best Value Score 7
- ราคาไม่แพง ถ้าเทียบกับอัลตร้าบุ๊กยี่ห้ออื่น
- ราคาสูง ถ้าเทียบกับโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไป ในสเปคที่ดีกว่า
First Impression Score 10
- แว๊บแรกหลงรักแน่นอน
ขอขอบคุณบริษัท เอเซอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่จัดส่งสินค้ามาให้ทดสอบ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.acer.co.th
อยากได้………..ครับ
สวยมากเลย อยากได้จุงเบย
ใช้อยู่ครับ ไม่ทราบว่าสนใจมัียครับ พอดีจะปล่อยออก… เพราะได้เครื่องใหม่มาครับ..ใช้มาประมาณเกือบปีครับ
น่าสนใจ
จะปล่อยเท่าไหร่ค่ะ… ยังอยู่ในประกันไหมค่ะ..
อยากได้มากเลย
สวยมาก