การประเมินแนวโน้มเทคโนโลยีโลกประจำปีนี้ เอคเซนเชอร์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: ACN) เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงแบบ 180 องศา ไปสู่เศรษฐกิจระบบที่เรียกว่า “เศรษฐกิจแบบผนึกกำลัง” หรือ We Economy อันมุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรระหว่างอุตสาหกรรม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงตลาด วิถีการทำงานและการเป็นอยู่ของเราไปจากเดิม โดยรายงานวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยี 2558 ของเอคเซนเชอร์ (Accenture Technology Vision 2015) พบว่า องค์กรเชิงรุกที่เริ่มขยับตัวก่อน ได้เข้าไปเจาะโอกาสทางธุรกิจดิจิทัลในหลายภาคส่วน เข้าถึงลูกค้ายุคดิจิทัล รวมถึงผนวกนำอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อยอดกับเครือข่ายที่มี ร่วมกันสร้างระบบใหม่ที่เรียกกันว่า “ระบบนิเวศด้านดิจิทัล”
กิจการชั้นนำเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เข้าสู่ธุรกิจดิจิทัล โดยปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การผสานความเชี่ยวชาญทางธุรกิจให้เข้ากับพลังของระบบดิจิทัล เพื่อปรับเปลี่ยนโฉมรูปแบบตลาดใหม่ ธุรกิจเหล่านี้เล็งเห็นว่ามีศักยภาพมีมหาศาลที่จะสร้างความแตกต่างและผลกำไรให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการดำเนินงานในลักษณะระบบนิเวศ ซึ่งมิได้เป็นการทำงานของแต่ละบริษัทหรือแต่ละประเภทอุตสาหกรรม แต่เป็นการขับเคลื่อนให้เกิดระบบ “เศรษฐกิจแบบผนึกกำลัง” ขึ้นมา
การปรับเปลี่ยนไปสู่ “เศรษฐกิจแบบผนึกกำลัง” นั้น ยืนยันได้จากผลสำรวจระดับโลกของเอคเซนเชอร์จากผู้บริหาร และบุคลากรด้านไอทีกว่า 2,000 คน ที่ออกมาสอดคล้องกัน โดย 4 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสำรวจมั่นใจว่า ในอนาคต เส้นแบ่งของอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะแทบไม่หลงเหลือ เพราะแพล็ตฟอร์มการทำงานต่าง ๆ จะทำให้ธุรกิจมีรูปแบบเปลี่ยนไป กลายเป็นระบบนิเวศแบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน (interconnected ecosystem) ขณะเดียวกัน ผู้ตอบร้อยละ 60 เผยว่า พวกเขากำลังมองหาคู่ค้ารายใหม่ ๆ ในแวดวงธุรกิจที่ทำอยู่ และร้อยละ 40 มีแผนจะต่อยอดจากคู่ค้าธุรกิจดิจิทัลภายนอกอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ส่วนอีกร้อยละ 48 มีแผนจะนำแพล็ตฟอร์มเทคโนโลยีจากองค์กรชั้นนำเข้ามาใช้
นางสาวนิธินันท์ สมบูรณ์วิทย์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในรายงานวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีปีที่แล้ว เราตั้งข้อสังเกตว่าธุรกิจขนาดใหญ่พยายามสร้างความเป็นผู้นำตลาดโดยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อปรับให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เปลี่ยนแนวทางการเจาะตลาด แนวทางการทำงานร่วมกับคู่ค้า ดึงให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วม และบริหารธุรกรรมต่าง ๆ ในองค์กรให้ดีขึ้น ปัจจุบันนี้ดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอองค์กรไปแล้ว และกำลังขยายขอบเขตออกไป ต่อยอดกลายเป็นระบบนิเวศของธุรกิจดิจิทัลที่กว้างขวางมากขึ้น ส่งผลให้สินค้า บริการ และโมเดลธุรกิจขององค์กรในยุคหน้ามีรูปโฉมที่เปลี่ยนไป ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสเกลที่ใหญ่ขึ้น”
รายงานวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยี 2558 ของเอคเซนเชอร์ ได้นำเสนอตัวอย่างวิธีที่องค์กรทั่วโลกใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศด้านดิจิทัลในการนำเสนอบริการใหม่ ๆ การปรับโฉมประสบการณ์การใช้บริการ และการเข้าไปเจาะตลาดใหม่ ๆ ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้าไปมีบทบาทในทุกส่วนของอุตสาหกรรม เช่น การเชื่อมโยงกันของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สอดคล้องกับผลสำรวจของเอคเซนเชอร์ที่พบว่าร้อยละ 35 ของผู้ตอบแบบสำรวจใช้ความสามารถของแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อถึงกันผ่านแพล็ตฟอร์มต่าง ๆ ในการรวบรวมข้อมูลและทำงานร่วมกับคู่ค้าทางธุรกิจ ผู้ตอบอีกร้อยละ 38 ก็มีแผนที่จะทำเช่นนี้เหมือนกัน ตัวอย่างหนึ่งคือ โฮม เดโป (Home Depot) ที่ทำงานร่วมกับผู้ผลิตสินค้าของตน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่วางขายที่โฮม เดโปนั้น เข้ากันได้กับระบบวิงค์ (Wink) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่น ที่ใช้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆภายในบ้านได้ ก่อให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกันภายในบ้าน พัฒนาศักยภาพบริการใหม่ ๆ และสร้างประสบการณ์เฉพาะให้กับลูกค้าของวิงค์เท่านั้น
ฟิลิปส์ก็ใช้แนวทางเดียวกัน โดยร่วมมือกับเซลส์ฟอซในการสร้างแพล็ตฟอร์มขึ้นมาเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ แพล็ตฟอร์มใหม่จะสร้างระบบนิเวศของกลุ่มนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นทางการแพทย์โดยเฉพาะ ที่จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ และมีระบบที่เชื่อมโยงแพทย์และคนไข้อย่างครอบคลุม ระบบนิเวศใหม่ที่จะพัฒนาให้ทุกภาคส่วนดีขึ้นนั้นครอบคลุมถึงการบันทึกประวัติการแพทย์ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ การตรวจและรักษาโรคด้วยอุปกรณ์ตรวจภาพของฟิลิปส์ อุปกรณ์ในการวัดค่า รวมถึงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ส่วนบุคคลด้วย
รายงานวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยี 2558 ของเอคเซนเชอร์ ระบุว่า การนำระบบนิเวศด้านดิจิทัลเข้ามาใช้ ทำให้โฮม เดโป ฟิลิปส์ และกิจการอื่น ๆ สามารถพัฒนาเติบโตขึ้น มีแหล่งรายได้ใหม่ ๆ เข้ามา ซึ่งอาจไม่สามารถทำได้โดยลำพังแต่องค์กรเดียว รายงานฉบับนี้ยังเน้นถึงแนวโน้มเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง 5 เทรนด์ ที่สะท้อนให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงก้าวไปสู่ยุคใหม่ในองค์กรที่ถือเป็นตัวกลางนำเราไปสู่อนาคตของดิจิทัล
- The Internet of Me โลกที่รู้จักและเข้าใจความต้องการของคุณ
สิ่งต่าง ๆ ทุกวันนี้หาได้ทางออนไลน์ ประสบการณ์ก็เช่นกัน เพราะมีช่องทางดิจิทัลเกิดขึ้นมากมาย และได้เข้าไปเจาะลึกถึงชีวิตของบุคคลในแง่มุมต่าง ๆ สำหรับช่องทางที่องค์กรระบุว่ากำลังใช้หรือทดลองใช้อยู่ เพื่อให้เข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้านั้น รวมถึงอุปกรณ์สวมใส่ (wearables) ต่าง ๆ ที่มีผู้ตอบในสัดส่วนร้อยละ 62 โทรทัศน์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (ผู้ตอบร้อยละ 68) รถยนต์ที่มีระบบเชื่อมต่อ (ร้อยละ 59) และอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ (ร้อยละ 64) ธุรกิจที่มองการณ์ไกลกำลังปรับแนวทางการสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ สินค้าและบริการ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น นอกจากนี้ยังควบคุมจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ ที่ลูกค้าเข้าถึงโดยสรรค์สร้างประสบการณ์พิเศษขึ้นมาให้สอดคล้องกับความต้องการ ดึงให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมและเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ได้พบเจอ อย่างไรก็ดี ย่อมต้องไม่ไปทำลายความไว้วางใจที่ลูกค้ามีให้ด้วย ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 60 เห็นว่าผลตอบแทนจาการลงทุนสร้างเทคโนโลยีเพื่อสร้างประสบการณ์ให้เข้ากับแต่ละบุคคลนั้น เป็นไปในทางบวก องค์กรที่ประสบความสำเร็จในยุค “Internet of Me” จะกลายเป็นองค์กรในยุคถัดไปที่มีชื่อติดปากสามารถเข้าถึงลูกค้าทุกระดับ
- เศรษฐกิจที่เน้นผลสัมฤทธิ์ ฮาร์ดแวร์ที่ให้ผลเลิศ ระบบฮาร์ดแวร์อัจฉริยะเป็นตัวต่อเชื่อมองค์กรดิจิทัลกับโลกที่จับต้องได้เข้าด้วยกัน เมื่อธุรกิจชั้นนำต้องเผชิญหน้ากับยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้าไปมีบทบาทในทุกภาคส่วน จึงค้นพบช่องทางการทำให้ฮาร์ดแวร์และตัวเซ็นเซอร์เข้าไปอยู่ในอุปกรณ์ดิจิทัลทั้งหลาย และใช้ประโยชน์เพื่อการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ซึ่งไม่ได้ทำให้องค์กรนำเสนอสินค้าหรือบริการหลากหลายรูปแบบขึ้น แต่ได้สร้างผลลัพธ์ที่มีความหมายมากกว่าเดิม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ร้อยละ 87 ของผู้ตอบการสำรวจยอมรับว่ามีการใช้ฮาร์ดแวร์อัจฉริยะ เซ็นเซอร์ และเครื่องมือต่าง ๆที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายมากขึ้น ดังนั้น องค์กรชั้นนำจึงปรับจากการขายสินค้าและบริการ มาเป็นการมุ่งเสนอผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมมากกว่า ร้อยละ 84 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ได้ศึกษาลึกเข้าไปให้เข้าใจว่า ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างไร และต้องการผลลัพธ์อย่างไรจากความอัจฉริยะของเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์นั้น ๆ องค์กร “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล” เหล่านี้ รู้ดีกว่าการรุกก้าวก่อนคนอื่นนั้น ไม่ได้หมายถึงการขายสินค้า แต่หมายถึงการขายผลลัพธ์ที่ได้ จึงกลายเป็น “เศรษฐกิจที่เน้นผลสัมฤทธิ์” ยุคใหม่
- การปฏิวัติแพลตฟอร์ม การสร้างระบบนิเวศและอุตสาหกรรมใหม่ แพลตฟอร์มดิจิทัลของอุตสาหกรรมต่าง ๆ และองค์ประกอบของระบบนิเวศ เป็นปัจจัยขับเคลื่อนนวัตกรรมและอัตราการเติบโตของคลื่นลูกใหม่ที่จะเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรม ธุรกิจที่ทำงานบนแพลตฟอร์มหรือระบบหลักที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ จะมีโอกาสทางธุรกิจและทำกำไรได้มากขึ้น ซึ่งที่จริงแล้ว ร้อยละ 75 ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าแพลตฟอร์มยุคใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยกิจการไอทีขนาดใหญ่ แต่จะเกิดจากความต้องการของผู้เล่นและผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ทั้งนี้ผู้ตอบเกือบ 3 ใน 4 หรือร้อยละ 74 เผยว่า กำลังใช้หรือทดลองใช้แพลตฟอร์มในการผนวกรวมข้อมูลเข้ากับคู่ค้าธุรกิจดิจิทัล ซึ่งความก้าวหน้าของระบบคลาวด์และโมบิลิตี้ไม่เพียงช่วยขจัดอุปสรรคด้านเทคโนโลยีและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์ม แต่ยังช่วยเปิดช่องทางและโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ธุรกิจทั้งอุตสาหกรรมและทั่วทุกพื้นที่ โดยสรุปคือ ระบบนิเวศที่อิงกับแพลตฟอร์ม ถือเป็นเวทีใหม่ในการแข่งขันทางธุรกิจ
- องค์กรอัจฉริยะ ข้อมูลมหาศาล + ระบบที่ฉลาดกว่าเดิม = ธุรกิจที่ดีขึ้น ณ ปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ได้รับการพัฒนาเพื่อช่วยให้พนักงานตัดสินใจได้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น แต่เมื่อมีการหลั่งไหลของข้อมูลมหาศาล ผนวกกับความก้าวหน้าในการประมวลผล วิทยาศาสตร์ข้อมูล และเทคโนโลยีการรู้คิด สิ่งเหล่านี้เอื้อให้ซอฟต์แวร์อัจฉริยะในอุปกรณ์ สามารถทำงานโดยมีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้น ผู้ตอบร้อยละ 80 เห็นว่านี่เป็นยุคของซอฟต์แวร์อัจฉริยะ ที่ซึ่งอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ทำงานในระบบอย่างชาญฉลาดทัดเทียมมนุษย์มากขึ้น ส่วนผู้ตอบร้อยละ 78 เชื่อว่า อีกไม่นานซอฟต์แวร์จะสามารถเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสภาพต่าง ๆ ของโลกที่เปลี่ยนไปได้ สามารถตัดสินใจโดยอิงจากประสบการณ์ที่เรียนรู้มาได้ คุณประโยชน์ของซอฟต์แวร์อัจฉริยะที่เราจะเห็นต่อไปคือ การพัฒนาอีกขั้นของระบบปฏิบัติการอัจฉริยะและการให้การบริการด้านซอฟต์แวร์ในยุคหน้า สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยผลักดันให้เกิดการพัฒนาและการค้นพบที่ก้าวหน้าไปอีกขั้น ก่อให้เกิดนวัตกรรมในทุกภาคส่วนของธุรกิจ
- ทีมงานพันธุ์ใหม่ ความร่วมมือระหว่างคนและเครื่องจักร ปัจจัยขับเคลื่อนให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลยิ่งทำให้มนุษย์และเครื่องจักรจำเป็นต้องมีความสามารถมากขึ้น ด้วยการทำงานร่วมกัน ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 57 เผยว่า ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้คนที่ทำงานในธุรกิจสามารถทำงานสะดวกมากขึ้น จากที่แต่ก่อนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านไอที เช่น การนำเสนอข้อมูลเป็นภาพ เป็นต้น ความก้าวหน้าของความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างคนกับเครื่องจักร อุปกรณ์สวมใส่พกพา และเครื่องจักรอัจฉริยะต่าง ๆ ช่วยให้องค์กรมองเห็นศักยภาพของพนักงานมากขึ้น ผ่านทางเทคโนโลยีเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายในการบริหารการทำงานร่วมกันระหว่างคนกับเครื่องจักร โดยร้อยละ 78 เห็นว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจะสามารถบริหารคนให้ทำงานไปพร้อม ๆ กับเครื่องมืออัจฉริยะได้ ขณะที่ร้อยละ 77 เชื่อว่าภายในสามปี บริษัทต่าง ๆ จะต้องเน้นอบรมเครื่องจักรพอ ๆ กับการอบรมพนักงาน (เช่น การใช้ซอฟต์แวร์อัจฉริยะ อัลกอริธึม และการเรียนรู้ของเครื่อง) ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจะตระหนักถึงทั้งศักยภาพของมนุษย์และความอัจฉริยะของเทคโนโลยีที่ทำงานเคียงข้างกัน รวมทั้งยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายมีความสำคัญในการสร้างทีมงานในรูปแบบใหม่
“องค์กรที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันไม่เพียงแต่ปรับปรุงการทำงานภายในเท่านั้น แต่ยังมองไปข้างนอก หาช่องทางที่จะทำให้องค์กรเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศแห่งโลกดิจิทัล องค์กรเหล่านั้นไม่ได้คำนึงถึงแต่การขายสินค้าและบริการ แต่เห็นว่าการขายผลลัพธ์นั้นมีความสำคัญ ส่งผลให้องค์กรต้องนำธุรกิจเข้าไปเชื่อมโยงกับโลกดิจิทัล ขยายฐานลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และอุตสาหกรรมของตนให้กว้างขวางออกไปมากขึ้น” นิธินันท์กล่าวเสริม
ตลอดระยะเวลาเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา เอคเซนเชอร์ได้ประเมินสภาพแวดล้อมโดยรวมของธุรกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อระบุแนวโน้มด้านไอทีที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่สามารถส่งผลกระทบก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานการวิจัยเรื่องเทรนด์เทคโนโลยีในปีนี้ สามารถเข้าดูได้ที่ www.accenture.com/technologyvision หรือติดตามจากทวิตเตอร์ #TechVision2015