Apple iCloud
ถ้าพูดถึงความสามารถและประสิทธิภาพของ iCloud โดยเทียบกับคลาวด์สตอเรจตัวอื่นอย่าง Dropbox นั้น ต้องยอมรับว่า iCloud ยังสู้ไม่ได้ แต่ Apple สู้อย่างฉลาดโดยเน้นทำศึกในชัยภูมิที่ตนเองถนัดคือ iOS อย่างที่เรารู้กันว่าผลิตภัณฑ์ของ Apple ครบวงจรขนาดที่เรียกได้ว่าเป็น Convergence ตัวพ่อ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะใช้ผลิตภัณฑ์ตัวไหนของ Apple ถ้าลูกค้าอยากได้อะไรเค้าจะจัด i นั้นให้ลูกค้าได้เสมอ
iCloud นั้นก็เป็นบริการที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองลูกค้าผลิตภัณฑ์ i ทั้งหลายแทบจะโดยตรง เพราะไม่ว่าจะเป็นเพลง หนัง แอพ หนังสือ ฯลฯ ที่คุณซื้อหรือใช้กับผลิตภัณฑ์ของ Apple สามารถผนวกเข้ากับ iCloud ได้หมด (แถมไม่นับรวมกับพื้นที่บน iCloud ด้วย) ดังนั้นพื้นที่ 5GB ที่ Apple ให้ดูจะเหลือเฟือสำหรับคนใช้ iCloud แต่อย่างที่บอกนะครับว่าถ้าเทียบกับบริการคลาวด์สตอเรจแท้ๆ อย่าง Dropbox แล้ว iCloud ยังด้อยกว่า ตัวอย่างก็เช่นขนาดไฟล์อัพโหลดซึ่งจำกัดไว้ที่แค่ 25MB สำหรับแอคเค้าท์ฟรีและ 250MB สำหรับแอคเค้าท์จ่ายตังค์
อีกอย่างคือความหลากหลายในการใช้งาน จริงอยู่ที่ iCloud มีแอพ สำหรับ Windows และแน่นอนสำหรับ OS X แต่ถ้าเป็นมือถือ iCloud นั้นจะจำกัดอยู่ที่แค่ iOS ซึ่งมีนัยยะว่า iCloud นั้นเป็นสิทธิพิเศษสำหรับคนใช้ผลิตภัณฑ์ Apple ถ้าคุณเป็นสาวก Apple แต่ต้องการใช้คลาวด์สตอเรจจริงๆ จังๆ ผมคงต้องแนะนำให้ใช้ตัวอื่นที่ไม่ใช่ iCloud เพราะ Web Interface จะใช้งานได้ค่อนข้างจำกัดโดยเน้นไปที่การเช็คเมล์ คอนแทค และเอกสาร iWork ที่สำคัญคือไม่รองรับ Version Tracking ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคลาวด์สตอเรจด้วย นอกจากนี้ iCloud ยังไม่รองรับการแชร์โฟลเดอร์ซึ่งจะทำให้การทำงานร่วมกันกับคนอื่นโดยใช้ iCloud เป็นไปได้ยาก
Microsoft SkyDrive
ถ้าเทียบกับคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Google และ Apple แล้ว Microsoft ถือเป็นเต้ยในเรื่องคลาวด์ ทั้งนี้เพราะบริการ SkyDrive ของ Microsoft นั้นมีมาก่อนนานมากเพียงแต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ Microsoft ก็เหมือน Google ซึ่งเพิ่งจะมาเกาะกระแสคลาวด์สตอเรจเมื่อไม่นานมานี้จึงต้องยกเครื่อง SkyDrive ใหม่ให้ทันสมัยขึ้นและสามารถต่อสู้กับเจ้าอื่นๆ ได้
พื้นที่ฟรีของ SkyDrive ให้มา 7GB แต่ถ้าคุณเป็นลูกค้า SkyDrive เดิมอยู่แล้วขอให้รีบเข้าไปเช็คแอคเค้าท์ตัวเองแล้วอัพเกรดเป็น 25GB เพราะเดิมที SkyDrive เค้าให้พื้นที่ฟรีถึง 25GB ถ้าลูกค้าเก่าเข้าไปยืนยันตัวเองว่ายังยินดีใช้บริการเค้าก็จะให้สิทธิเราคงพื้นที่ 25GB นั้นไว้ เห็น Microsoft บอกว่าการให้สิทธินี้มีจำนวนจำกัดนะครับ เราไม่รู้ว่าจำกัดของ Microsoft อยู่ที่เท่าไหร่ แต่แค่การล็อคอินเข้าไปคลิกทีสองทีมันไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นอยู่แล้ว…ดังนั้นรีบๆ เข้าไปทำซะนะครับ แต่ไม่ว่าจะ 7GB หรือ 25GB ก็เพียงพอที่จะบอกได้ว่าจุดแข็งของ SkyDrive คือความจุ แต่มันก็มีสิ่งที่ขัดๆ ในตัวของมัน นั่นคือขนาดไฟล์อัพโหลดซึ่งจำกัดอยู่ที่ 2GB ในยุคดิจิตอลเช่นนี้ 2GB ดูจะน้อยไปหน่อยยิ่งเทียบกับคู่แข่งอย่าง Dropbox (ไม่จำกัด) หรือ Google Drive (10GB) เอาง่ายๆ แค่หนัง Mini-HD เรื่องนึงก็ปาเข้าไป 3-4GB แล้ว
ในเรื่องความหลากหลายในการเข้าถึงนั้นสู้ Dropbox ไม่ได้ แต่สูสีกับ Google Drive เพราะต่างรองรับทั้ง Windows และ OS X และทั้งคู่ต่างก็มี Web Interface ที่ดีพอกันและเครื่องมือรวมไปถึงบริการบนเว็บก็คล้ายๆ กัน อย่าง Microsoft ก็มีบริการแก้ไขเอกสารด้วย Office ของตัวเอง ถ้าเป็นมวยก็เรียกว่าสาวหมัดใส่กันมันส์คนละตุ๊บสองตุ๊บ แต่ดูแล้ว Microsoft จะเป็นมวยอ่อนกว่าเพราะตอนนี้คนใช้ Android มากกว่า Windows Phone
SugarSync
เราปล่อยให้ Google ฟัดกะ Microsoft ไปดีกว่าเพราะถ้ามองในแง่ของความเป็นคลาวด์สตอเรจแล้วทั้งคู่ยังสอบไม่ผ่านตามเกณฑ์ของ Dropbox คู่ต่อสู้ที่พอจะวัดกับ Dropbox ได้ก็คงจะเป็น SugarSync นี่แหละครับ รู้มั้ยครับว่า SugarSync นั้นเริ่มเป็นที่รู้จักพร้อมๆ กับ Dropbox (เมื่อซัก 4 ปีที่แล้ว) แต่อาจจะด้วยความที่เน้นเรื่องรูปภาพมากกว่าไฟล์ทั่วไปและเทคนิคการตลาดของ Dropbox เลยทำให้ช่วงที่ผ่านมา SugarSync เป็นที่รู้จักน้อยกว่า Dropbox แต่ช่วงปีที่ผ่านมา SugarSync กลับมาออกตัวแรงอีกครั้งด้วยฟีเจอร์ที่สูสีแถมออกจะมากกว่า Dropbox หน่อยนึงด้วย
เริ่มจากพื้นที่ฟรีซึ่งให้มา 5GB (Dropbox 2GB) และสามารถขยายเพิ่มได้ด้วยการเชิญคนอื่นมาใช้บริการโดยจะได้พื้นที่เพิ่ม 500MB ต่อคนและเพิ่มได้สูงสุดถึง 32GB รวมเป็น 37GB (Dropbox 18GB) ส่วนขนาดไฟล์อัพโหลดนั้นก็ไม่มีลิมิตเหมือนกับ Dropbox เมื่อเทียบกันแล้ว SugarSync มี “ความลึก” ในการใช้งานมากกว่า Dropbox เพราะเราสามารถเลือกโฟลเดอร์ที่ต้องการซิงค์ได้ เช่น ผมสามารถเลือกซิงค์โฟลเดอร์รูปและเอกสารจาก My Pictures และ My Documents ได้ แต่ถ้าเป็น Dropbox ทุกอย่างต้องไปอยู่ในโฟลเดอร์ Dropbox นอกจากนี้ SugarSync ยังให้เราเลือกได้ว่าต้องการซิงค์โฟลเดอร์ไหนกับอุปกรณ์ไหนได้ด้วย เรียกได้ว่านอกจากเป็นที่เก็บข้อมูลธรรมดาแล้ว เรายังใช้ SugarSync เป็นบริการแบ็คอัพข้อมูลออนไลน์ได้อีกด้วย
นอกจากความลึกแล้ว SugarSync ยังมี “ความกว้าง” มากกว่า Dropbox เพราะรองรับโอเอสได้หลากหลายกว่า ไม่ว่าจะเป็นโอเอสบนเดสก์ท็อปอย่าง Windows และ OS X และโอเอสมือถือซึ่งรองรับทั้ง iOS, Android, Windows Phone และ Blackberry OS น่าเสียดายที่ SugarSync ยังไม่มีแอพสำหรับ Linux โดยเฉพาะ แต่คลาวด์สตอเรจตัวอื่นยกเว้น Dropbox ก็ไม่มีเหมือนกัน อีกอย่างเพราะว่าเราสามารถรันแอพ Windows บน Linux ผ่านโปรแกรมอย่าง Wine ได้ แต่ SugarSync ก็เหมือนผลิตภัณฑ์ไอที/เทคโนโลยีทั่วๆ ไปที่ยิ่งมีฟีเจอร์มากก็ยิ่งมีความซับซ้อน ถ้าเทียบกับ Dropbox แล้ว SugarSync จะใช้งานยากกว่า
คลาวด์สตอเรจตัวไหนดี
ถ้าพูดถึงคลาวด์สตอเรจที่ลงตัวที่สุดคงจะเป็น Dropbox เพราะนอกจากจะใช้งานง่ายแล้วยังสามารถเข้าถึงได้จากหลากหลายช่องทาง การไม่จำกัดขนาดไฟล์อัพโหลดก็เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ Dropbox ควรแค่แก่การเป็นคลาวด์สตอเรจชั้นดี แต่กระนั้นคู่แข่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ SugarSync ซึ่งมีดีกว่า Dropbox ในแทบทุกด้านยกเว้นการใช้งานที่ซับซ้อนกว่าและอาจจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนหลีกเลี่ยง SugarSync คำแนะนำของผมคือให้ลองใช้ SugarSync ควบคู่ไปกับ Dropbox ซักช่วงนึงก่อน พอใช้ไปซักพักถ้ารู้สึกว่า SugarSync มันยุ่งยากไป…คำตอบสำหรับคุณคือ Dropbox ครับ แต่ถ้าโอเคกับ SugarSync ก็ใช้ไปยาวๆ เลยแล้วเก็บ Dropbox ไว้สำรองข้อมูลจาก SugarSync หรือเลือกเฉพาะข้อมูลสำคัญๆ ก็ได้
ทีนี้มาดูคลาวด์ที่ไม่ค่อยเป็นคลาวด์สตอเรจแต่ดูจะเป็นคลาวด์คอมพิวติ้งมากกว่า ถ้าคุณอยู่หน้าคอมพ์และเปิดเว็บบราวเซอร์ซะเป็นส่วนใหญ่ Google Drive นี่ใช่เลยครับ เพราะเครื่องไม้เครื่องมือและบริการอันหลากหลายของ Google ทำให้เหมือนว่าเรามีคอมพ์ส่วนตัวพกไปด้วยเลย ยกเว้นแต่ถ้าต้องการเน้นเรื่องความจุมากกว่าก็คงต้องหันไปหา SkyDrive แต่พูดกันตรงๆ ว่าข้อจำกัดเรื่องขนาดไฟล์และไม่มีแอพรองรับ Android ถือเป็นอุปสรรคสำหรับคนใช้ SkyDrive ที่ Microsoft ควรเร่งแก้ไข
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับเรื่องราวของคลาวด์สตอเรจในวันนี้ เลือกบริการคลาวด์ที่ถูกใจกันได้หรือยังครับ ถ้ายังก็ต้องลองดูเองครับ สิบปากกว่าไม่เท่าตาเห็น…สิบตาเห็นหรือจะสู้มือคลำ วันนี้คงต้องลากันไปก่อน ไว้พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีครับ