ก่อนอื่นต้องถามว่ารู้จักคลาวด์สตอเรจกันหรือเปล่า ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้จักคลาวด์สตอเรจกันพอสมควรแล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่บริการเหล่านี้ขยายช่องทางการใช้งานไปถึงโทรศัพท์มือถือผ่านแอพของตัวเอง ยิ่งเจ้าไหนสามารถรองรับระบบปฏิบัติการมือถือได้หลายระบบไม่ว่าจะเป็น iOS หรือ Android หรือ Windows ก็จะยิ่งเป็นที่รู้จักและมีคนใช้บริการมากขึ้นตามไปด้วย จริงๆ แล้วคลาวด์สตอเรจหรือการเก็บข้อมูลบนเน็ตนั้นมีมานานแล้วเพียงแต่ไม่ได้มีไว้ให้ผู้บริโภคทั่วไปใช้กัน คนที่ใช้คลาวด์สตอเรจในยุคแรกๆ ก็เป็นพวกดาต้าเซนเตอร์หรือเซิร์ฟเวอร์อะไรเทือกนั้น จนเมื่อซัก 4-5 ปีที่แล้วนั่นแหละคลาวด์สตอเรจถึงได้แพร่มายังผู้ใช้ทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ ซึ่งก็ต้องขอบคุณเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่ทั้งเร็วขึ้นและให้บริการได้ทั่วถึงมากขึ้นจนเรียกได้ว่าคนยุคใหม่ขาดอินเทอร์เน็ตเหมือนขาดใจกันเลยทีเดียว
ถ้าใครติดตามหรือใช้บริการคลาวด์สตอเรจมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ จะรู้ดีว่าจำนวนผู้ให้บริการคลาวด์นั้นมีเยอะขึ้นมาก ซึ่งก็แน่นอนว่ามีทั้งเจ้าเล็ก เจ้าใหญ่ คุณภาพ การให้บริการ ข้อดี ข้อด้อย ก็จะต่างกันไป ตัวผมเองก็เคยงงๆ ว่าจะใช้คลาวด์ตัวไหนบ้างเพราะสมัครไว้เยอะแยะไปหมด กว่าจะลงตัวรู้ว่าชอบหรือควรจะใช้คลาวด์สตอเรจตัวไหนก็ต้องเสียเวลาทดลองไปนานโขอยู่ และที่มาเขียนบทความนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่อยากให้ทุกๆ ท่านต้องไปเสียเวลาอย่างผม
แล้วคนที่ไม่เคยใช้หรือกำลังเริ่มใช้คลาวด์สตอเรจล่ะ…จะได้อะไรบ้าง สำหรับคนที่ไม่เคยใช้เลยนี่อยากให้ลองใช้ครับ คืออย่างน้อยก็สมัครไว้เพราะในยามฉุกเฉินมันอาจจะมีประโยชน์มากมายมหาศาลเลยก็ได้ อย่างน้อยคลาวด์สตอเรจก็มีประโยชน์ตรงที่ช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องพกแฟลชไดรฟ์หรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลไว้กับตัว ครั้งหนึ่งผมเคยลืมเอาแฟลชไดรฟ์ซึ่งเซฟเอกสารสำคัญเก็บไว้ไปด้วย…แล้วดันต้องใช้เอกสารที่ว่านั้น เคราะห์ดีที่ผมซิงค์ไฟล์ไว้บนคลาวด์ด้วยดังนั้นคือเดินไปที่คอมพิวเตอร์ซึ่งต่อเน็ตอยู่ก็สามารถพิมพ์เอกสารที่ว่าได้โดยไม่ต้องถ่อกลับบ้านให้เสียเงินเสียเวลา สำหรับคนที่พอรู้จักและเริ่มใช้คลาวด์สตอเรจบ้างแล้วนั้นการทำความรู้จักกับบริการตัวอื่นๆ ก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับตัวเอง เพื่อนผมคนหนึ่งใช้คลาวด์หลายๆ ตัวพร้อมๆ กันโดยให้เหตุผลว่าการใช้คลาวด์หลายตัวเป็นการกระจายความเสี่ยง หากเกิดปัญหาขึ้นกับอีกตัวใดตัวหนึ่งเค้าก็ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านคลาวด์อีกตัวหนึ่ง
คลาวด์นั้นมีประโยชน์มากมายหลายด้านขึ้นอยู่กับว่าเราจะพลิกแพลงเอามาใช้ยังไงครับ ถ้าไงเอาไว้ว่างๆ ผมจะเอาทิปส์เจ๋งๆ เกี่ยวกับการใช้คลาวด์แบบที่ว่า…คิดได้ไง…มาบอกกัน แต่ก่อนจะออกทะเลไปมากกว่านี้เรากลับมาเรื่องของเรากันเลย วันนี้ผมเลือกบริการคลาวด์มา 5 ตัวซึ่งผ่านการคัดสรรมาแล้ว นั่นคือ Dropbox, Google Drive, iCloud, SkyDrive และ SugarSync เชื่อว่าคลาวด์สตอเรจทั้ง 5 ตัวนี้เป็นที่รู้จักของคนส่วนใหญ่เพราะถ้าไม่ใช่เป็นของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เรารู้จักกันดีอย่าง Google, Apple, Microsoft ก็เป็นผู้ใช้บริการคลาวด์ที่มีประสบการณ์มากพอสมควร (อย่าง Dropbox และ SugarSync) ดังนั้นเรื่องชื่อเสียงของคลาวด์นั้นเรียกได้ว่าผ่านฉลุย แต่สิ่งที่เราสนใจคือแต่ละตัวมันต่างกันอย่างไร เหมือนกันอย่างไร และที่สำคัญที่สุด…ตัวไหนน่าใช้ที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปเริ่มทำความรู้จักกับคลาวด์สตอเรจทั้ง 5 ตัวกันเลยครับ
Dropbox
เชื่อเหลือเกินว่า ณ ตอนนี้ถ้าพูดถึงคลาวด์สตอเรจคนส่วนใหญ่จะนึกถึง Dropbox เป็นอันดับต้นหรืออาจจะเป็นอันดับแรกเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่ทำให้ Dropbox เป็นที่รู้จักและบูมแบบสุดๆ คือแอพบนมือถือซึ่งเน้นไปที่ระบบหลัก อย่าง iOS และ Android ถึงแม้ Dropbox จะมีแอพสำหรับมือถือ Blackberry แต่ว่ากันตามมาร์เก็ตแชร์ของ OS มือถือสมัยนี้คงต้องยกให้ iOS กับ Android เค้าไปล่ะ
Dropbox ให้พื้นที่ใช้ฟรี 2GB ซึ่งน้อยกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ แต่ทีเด็ดของ Dropbox คือยุทธวิธีทางการตลาดซึ่งถ้าเราทำตามที่เค้าแนะนำก็จะได้พื้นที่ใช้ฟรีเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าเราเปิดบริการอัพโหลดรูปอัตโนมัติจากมือถือเข้า Dropbox ก็จะได้พื้นที่เพิ่มขึ้น แต่วิธีหลักและใช้มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของ Dropbox คือการเชื้อเชิญคนอื่นมาใช้บริการ เมื่อคนที่เราเชิญลงโปรแกรม Dropbox แล้วเราก็จะได้พื้นที่เพิ่มขึ้น (หลักการเหมือนได้ค่าคอมมิชชั่นไงครับ) ซึ่งสามารถเพิ่มได้สูงสุดถึง 16GB รวมกับของเดิม 2GB ก็เป็น 18GB แต่ก็ต้องขยันเชิญคนอื่นหน่อยนะครับเพราะเราจะได้พื้นที่เพิ่มแค่ 500MB ต่อคนหรือแปลว่าเชิญคนได้มากสุด 32 คนนั่นเอง ต่อมาคือขนาดของไฟล์ที่อัพโหลด ถ้าอัพโหลดจากคอมพ์ นั้นจะไม่มีลิมิตคือไฟล์จะใหญ่ขนาดไหนก็ได้ แต่ถ้าอัพจากมือถือเค้าจะจำกัดขนาดไฟล์ไว้ที่ 300MB
โอเอสที่ Dropbox รองรับนั้นถือว่ากว้างทีเดียว ถ้าเป็นคอมพ์ ก็รองรับทั้ง Windows, OS X หรือแม้แต่ Linux ส่วนโอเอสมือถือก็อย่างที่เกริ่นไปคือใช้ได้ทั้ง iOS, Android และ Blackberry OS ถ้าไม่ลงโปรแกรมก็สามารถใช้บริการโดยล็อคอินเข้าหน้าเว็บได้ Dropbox รองรับ Version Tracking ซึ่งช่วยได้มากหากไฟล์ของเราเสียหายหรือถูกแก้ไข โดยเราสามารถย้อนเวลาแล้วเอาเวอร์ชั่นก่อนที่จะถูกแก้ไขหรือเสียหายกลับคืนมาได้
Google Drive
ถ้าใครใช้ Google Docs บ่อยๆ จะรู้ว่ามันเปลี่ยนไปกลายเป็น Google Drive ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เสียทีเดียว Google Drive นั้นเป็นการนำบริการหลายๆ ตัวของ Google มาผสมหรือรวมกันโดยให้พื้นที่เก็บข้อมูลจำนวนหนึ่งด้วย ดังนั้นถ้าจะบอกว่า Google Drive เป็นมากกว่าคลาวด์สตอเรจก็คงไม่ผิด แต่ด้วยเครื่องมือและบริการที่มีมากมายของ Google ทำให้ Google Drive เป็นมากกว่าที่เก็บข้อมูล…อาจจะเรียกว่าได้ว่าเป็น Cloud Computing ขนาดย่อมๆ เลยก็ได้
Google Drive นั้นมาทีหลัง Dropbox ค่อนข้างนานเลยต้องมีอะไรมาจูงใจเล็กน้อย อย่างเช่นพื้นที่ฟรีที่ให้ถึง 5GB อันนี้ไม่นับรวมไฟล์ใน Google Docs นะครับ ถามว่า 5GB พอมั้ย…ตอนนี้น่าจะพอครับ เพราะผู้ให้บริการคลาวด์อื่นๆ ก็มักให้พื้นที่เริ่มต้น 5GB กันหมดแล้ว แต่ในระยะยาวถ้า Google ไม่มีแผนขยายพื้นที่ฟรีให้ก็อาจเสร็จเจ้าอื่นโดยเฉพาะ Dropbox ได้เหมือนกัน Google Drive นั้นจำกัดขนาดไฟล์ที่อัพโหลดไว้ที่ 10GB ซึ่งไม่น่าเป็นปัญหาอะไรสำหรับคนใช้แอคเค้าท์แบบฟรีซึ่งมีพื้นที่ 5GB (น้อยกว่าลิมิตขนาดไฟล์เสียอีก)
Google Drive นั้นรองรับการใช้งานได้กว้างพอสมควร โดยถ้าเป็นคอมพ์ ก็รองรับทั้ง Windows และ OS X ส่วนมือถือที่ใช้ได้ทั้ง iOS และ Android เรียกได้ว่าจับ Mainstream ไว้เหนียวแน่นทีเดียว จุดแข็งของ Google Drive อยู่ที่ Web Interface ซึ่งเปิดทางให้เราใช้บริการอื่นๆ ของ Google อย่างที่คลาวด์สตอเรจตัวอื่นทำไม่ได้ เช่น เราสามารถแก้ไขไฟล์ได้ไม่ใช่แค่ดู ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร ภาพ หรือแม้แต่วิดีโอก็ทำได้ อย่างที่บอกไปว่าเครื่องมือและบริการมากมายของ Google ทำให้ Google Drive เป็นมากกว่าแค่คลาวด์สตอเรจธรรมดา