จากข่าวเหตุการณ์ผู้ใช้บัตรเอทีเอ็มหลายราย ถูกคนร้ายลักลอบขโมยข้อมูลในแถบแม่เหล็กหลังบัตร นำไปทำบัตรปลอมกดเงินที่ต่างประเทศ รวมถึงข่าวการจับกุมชาวต่างชาติ ที่มีเครื่องมือคัดลอกข้อมูลบัตร พร้อมบัตรเอทีเอ็มปลอมจำนวนมาก เมื่อหลายวันก่อน ทำให้เราต้องฉุกคิด และระวังตัวเองถึงภัยจากกลุ่มมิจฉาชีพ ที่แอบมาขโมยข้อมูลบนบัตรเอทีเอ็มของเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว จะมีรูปแบบวิธีการอย่างไร ใช้กลเม็ดรูปแบบไหน และเราจะมีวิธีการป้องกันได้อย่างไรบ้าง
จะโจรกรรมข้อมูลในบัตรได้อย่างไร
พูดถึงการโจรกรรมข้อมูลในบัตรเอทีเอ็ม หรือที่ทั่วๆ ไปมักเรียกว่า “ATM Skimming” ซึ่งมาจากชื่อของเครื่อง “Skimmer” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เหล่ามิจฉาชีพ ใช้ในการขโมยข้อมูลบนบัตรเอทีเอ็มไปใช้ โดยปกติแล้วอุปกรณ์ สกิมเมอร์ จะถูกใช้ในธนาคาร และองค์กรทั่วไป ทำหน้าที่ในการ อ่านข้อมูลจากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ตการ์ด บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม หรือแม้แต่ในคีย์การ์ดสำหรับเปิดประตู ตามโรงแรมใหญ่ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่เหล่ามิจฉาชีพจะสามารถหาอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้งานได้ไม่ยากเย็นนัก
สำหรับการทำงานของตัวเครื่อง สกิมเมอร์ จะประกอบด้วยวงจรการทำงานหลักๆ สามส่วนด้วยกัน ได้แก่ ส่วนของอุปกรณ์สำหรับอ่านแถบแม่เหล็ก ซึ่งจะเห็นหัวอ่านเล็กๆ คล้ายๆ กับหัวอ่านแผ่นดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์สมัยก่อน ทำหน้าที่ในการอ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ส่งข้อมูลต่อไปยังวงจรถอดรหัสอีกส่วนหนึ่งต่อไป
ซึ่งในส่วนของวงจรถอดรหัส จะทำหน้าที่ในการรับข้อมูลจากหัวอ่าน มาแปลรหัสออกมาเป็นข้อมูล ตามที่ได้จับเก็บไว้ในบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จากนั่นจะถูกส่งไปยังวงจรหน่วยความจำ ภายในเครื่องเพื่อจัดเก็บข้อมูล รอการนำไปใช้ทำงานต่างๆ ต่อไป ซึ่งถ้าหากเป็นมิจฉาชีพก็จะนำข้อมูลที่ได้ ไปทำเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม นำไปกดเงินเป็นต้น
ซึ่งบางครั้งมิจฉาชีพเหล่านี้อาจมีการเพิ่มเติมวงจรที่ใช้ในการส่งข้อมูลออกไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ภายนอกแบบไร้สาย เพื่อความสะดวกในการดึงข้อมูลไปใช้ หรืออาจเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการโจรกรรมข้อมูลมากยิ่งขึ้น ตามแต่ความรู้ความสามารถในการออกแบบอุปกรณ์ ของเหล่ามิจฉาชีพแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายเหมือนกัน ทั้งสิ้น
มิจฉาชีพใช้วิธีไหนในการโจรกรรมข้อมูล
สำหรับวิธีการที่ใช้ในการโจรกรรมข้อมูลของเหล่ามิจฉาชีพเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีวิธีการที่ยากหรือซับซ้อนอะไรนัก แค่ทำอย่างไรก็ได้ ให้เจ้าของบัญชี หรือเหยื่อเอาบัตรเอทีเอ็ม ที่มีข้อมูลบัญชีของเหยื่อ มาผ่านเจ้าเครื่องสกิมเมอร์ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น เพื่อที่จะทำการคัดลอกข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มให้ได้มากที่สุดเท่านั้นเอง ซึ่งเป้าหมายก็หนีไม่พ้นเจ้าเครื่องเอทีเอ็ม (Automotic Teller Machine) ที่ตั้งอยู่ตามที่ต่างๆ เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่ ไม่กี่แห่ง ที่จะมีคนนำบัตรเอทีเอ็มออกมาใช้ และตำแหน่งในการติดตั้งตู้เอทีเอ็ม ก็ยังมีทำเลให้เลือกหลากหลายมาก เรียกว่าไปที่ไหนก็ต้องเจอ จะเป็นการง่ายที่จะเลือกตู้กดเอทีเอ็มตู้ไหน ซักที ที่อาจจะอยู่ลับตาคนซักนิด หรือเครื่องที่มีผู้คนทั่วไปผ่านไปผ่านมาไม่บ่อยมากนัก เพื่อให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์ สกิมเมอร์ ลงไปในตู้ได้โดยสะดวกไม่มีพบเห็นใครเห็น
แต่ครั้นจะเอาเครื่อง สกิมเมอร์ ไปแปะโดดๆ อยู่หน้าตู้เอทีเอ็มเลยก็คงไม่ได้ คงไม่มีใครเอาบัตรเอทีเอ็มมารูดกับเครื่องสกิมเมอร์ให้บันทึกข้อมูลเฉยๆ แน่ ต้องมีวิธีการที่แยบยลในการหลอกเหยื่อกันนิดหน่อย โดยจากเคสส่วนใหญ่ที่พบ เหล่ามิจฉาชีพ จะใช้วิธีการทำ หน้ากากบริเวณช่องเสียบบัตร หลอกๆ ขึ้นมา แล้วซ่อนเครื่อง สกิมเมอร์ ไว้ด้านใน จากนั้นเอาหน้ากากหลอกที่ทำขึ้นไปครอบทับ ช่องใส่บัตรเดิมของตู้เอทีเอ็ม เพื่อเวลาที่มีเหยื่อนำบัตรมากดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม ตัวบัตรจะต้องผ่านหัวอ่านของเครื่อง สกิมเมอร์ ทำการคัดลอกข้อมูลเสียก่อน ที่จะเข้าไปในช่องเสียบบัตรของตู้เอทีเอ็มที่แท้จริง
แต่การคัดลอกข้อมูลจากบัตรเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถนำไปใช้ ถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มได้ จำเป็นจะต้องมี PIN หรือรหัส 4 ตัว ของเจ้าของบัตรเอทีเอ็มใบนั้นๆ ด้วย จึงจะสามารถนำไปถอนเงินจากตู้ได้ ซึ่งวิธีการที่เหล่ามิจฉาชีพจะหลอก เอาข้อมูลรหัสผ่าน 4 จากเจ้าของบัตรก็มีมากมายหลายวิธีเช่นกัน มีตั้งแต่การแอบชำเรืองดูจากด้านหลัง หรือด้านข้างเวลาเหยื่อกดรหัส หรือหลอกแบบง่ายๆ ทำทีเข้าไปช่วยเหลือถามข้อมูลต่าง ไปจนถึงการซ่อนกล่องจิ๋วแอบถ่ายมือเหยื่อเวลากดรหัสที่ตู้เอทีเอ็ม หรือ อาจจะทำเป็นแป้นกดตัวเลขปลอมครอบทับแป้นกดจริงไว้ คอยดักจับการกดตัวเลขบนแป้นคีย์บอร์ดของเหยื่อก็มี ให้เห็นมาแล้ว ขึ้นอยู่กับวิธีการของเหล่ามิจฉาชีพจะใช้วิธีการแบบไหน
เมื่อพวกแก๊งมิจฉาชีพได้ข้อมูลในบัตรเอทีเอ็มจากตัวเครื่องสกิมเมอร์ และมีรหัสผ่าน 4 ตัว จากวิธีการต่างๆ ที่กล่าวมา เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำข้อมูลที่ได้ ไปทำเป็นบัตรเอทีเอ็มปลอมขึ้นมา ที่มีข้อมูลต่างๆ ในบัตร เหมือนกับบัตรเอทีเอ็มของเหยื่อทุกประการ โดยรูปแบบของบัตรเอทีเอ็มปลอม มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทหลักๆ นั่นคือ บัตรขาว และ บัตรสี
– บัตรขาว (White Card) จะเป็นบัตรพลาสติกหน้าตาคล้ายกับบัตรเอทีเอ็มโดยปกติทั่วไป แต่จะไม่มีการสกรีนลวดลายใดๆ ลงไปในหน้าบัตร เป็นบัตรสีขาวโล้นๆ ด้านหลังมีแถบแม่เหล็กสีดำ ใช้เก็บข้อมูลต่างๆ ของบัตร ตามที่ได้ข้อมูลมาจากบัตรของเหยื่อ นิยมใช้กับข้อมูลที่ได้จากบัตรประเภท เอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิต เพื่อใช้กดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มเท่านั้น ไม่สามารถใช้รูดซื้อของหรือติดต่อธนาคารได้
-บัตรสี (Color Card) จะเป็นบัตรที่มีหน้าตาและสีสัน เหมือนบัตรเอทีเอ็มที่ออกจากธนาคารทุกประการ เพื่อใช้ตบตาเจ้าหน้าที่ หลอกว่าเป็นบัตรของแท้ ไม่ใช่บัตรปลอมสามารถใช้ติดต่อธนาคาร นำไปรูดซื้อของแทนเงินสด ตามห้างสรรพสินค้าได้เลย เหล่ามิจฉาชีพนิยมใช้บัตรประเภทนี้ กับข้อมูลที่คัดลอกมาได้จากบัตรเครดิต โดยเฉพาะ
เมื่อได้ตัวบัตรที่ใส่ข้อมูลของเหยื่อลงไปเรียบร้อยแล้ว เหล่ามิจฉาชีพก็จะนำบัตรที่ได้ไปกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็ม หรือใช้รูดซื้อของราคาแพงๆ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมที่จะนำไปใช้งาน ที่ต่างประเทศ เพราะจะทำให้ยากในการตรวจสอบ และตามหาตัวคนร้าย
จะรู้ได้อย่างไรว่าตู้ไหนไม่ปลอดภัย
ในตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ ตู้เอทีเอ็มมีการพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบ ให้สามารถป้องกันการติดตั้งเครื่อง สกิมเมอร์ ได้ค่อนข้างดี กว่าในอดีตเยอะมาก เช่นการติดตั้งกล้องวงจรปิดตรวจจับคนร้าย ปรับรูปแบบช่องใส่บัตรใหม่ มีไฟกระพริบเตือน หรือแม้แต่การให้เจ้าหน้าที่เติมเงินประจำตู้คอยตรวจสอบความผิดปกติอยู่เป็นประจำ แต่เหล่ามิจฉาชีพทั้งหลายก็มีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน จะเห็นได้จากตัวเครื่องสกิมเมอร์ ที่ในปัจจุบันนั้น มีขนาดที่เล็กลงจากเดิมมากๆ เก็บข้อมูลบัตรได้มากขึ้น และมีความสามารถที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นจากเดิมไม่แพ้กัน วิธีการที่จะช่วยให้เราปลอดภัยได้ดีที่สุดคือการสังเกต ความผิดปกติของเครื่องเอทีเอ็มทุกครั้งที่ใช้งานดังต่อไปนี้
– ตำแหน่งที่ตั้งของตู้ ควรจะอยู่ในสถานที่ โล่งไม่ลับตาคน หรือ ควรเป็นสถานที่ ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ช.ม. เช่น ตู้กดหน้าธนาคาร ในห้างสรรพสินค้า หรือตามหน้าร้านสะดวกซื้อ ที่มีผู้คนสัญจรผ่านจำนวนมากตลอดเวลาเป็นต้น
– สังเกตที่ช่องเสียบบัตร อย่างที่ได้บอกไป คนร้ายจะใช้วิธีการติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ บริเวณช่องเสียบบัตรของตู้เอทีเอ็ม ดังนั้นเราควรพิจารณาลักษณะของช่องเสียบบัตร มีความผิดปกติจากตู้อื่นๆ หรือไม่ เช่น รูปร่างหน้าตาของช่องเสียบบัตร เหมือนหรือแตกต่างจากตู้อื่นๆ หรือไม่ ตัวช่องเสียบมีลักษณะ ที่ยื่นออกมาผิดปกติจากตู้อื่นๆ หรือเปล่าการติดตั้งตัวช่องเสียบต้องแนบชิดสนิทกับตัวเครื่องไม่มีช่องโหว่ และมีความแข็งแรงจะโยกหรือดึงออกมาไม่ได้ ไม่มีรอยงัดเเงะช่องเสียบบัตร และสีที่ใช้ผิดต้องไม่แปลกออกจากตัวตู้กด
– สังเกตไฟกระพริบ ที่ช่องเสียบัตร เพราะตัวไฟกระพริบถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการติดตั้งอุปกรณ์ใดๆ ในบริเวณช่องเสียบบัตรโดยเฉพาะ หากมีอุปกรณ์อะไรปิดทับไว้ จะไม่สามารถมองเห็นแสงได้โดยชัดเจน หรือมองเห็นได้ไม่ครบทั้งหมด ให้ตังข้อสังเกตว่าอาจมีการดัดแปลง ติดตั้งอุปกรณ์บางอย่าง ที่ไม่ได้มาจากธนาคาร ปิดทับเอาไว้อยู่ ควรหลีกเลี่ยงไม่ใช่ตู้เอทีเอ็มเครื่องนั้นๆ
– ไม่มีอุปกรณ์แปลกปลอมใดๆ บริเวณตู้ นอกจากข้อมูลบนบัตรแล้วอีกส่วนหนึ่งที่คนร้ายต้องการคือ รหัสบัตร 4 ตัวของเรา จึงจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์ที่คอยแอบดูรหัสในเวลาที่เรากดด้วย ซึ่งอาจจะเป็นพวกกล้องจิ๋วแอบถ่าย ซ่อนไว้ตามจุดต่างๆ ของตู้เช่นแผงหลอดไฟด้านบน อุปกรณ์ต่างๆ เหนือแป้นกดรหัส หรือแม้แต่กล่องใส่เอกสารด้านข้างตู้ ที่อาจจะแอบเจาะรูไว้ เพื่อใส่กล้องรูเข็มด้านในเป็นต้น ธนาคารไม่มีนโยบายในการติดตั้งป้าย หรือุปกรณ์ใดๆ บนตู้เอทีเอ็ม โดยเฉพาะกับบริเวณเหนือช่องเสียบบัตร
– แป้นกดรหัสต้องราบเรียบ นอกจาการใช้กล้องรูเข็มแล้ว บางกรณียังพบว่ามีการทำแป้นกดรหัสปลอม ซ้อนทับแป้นจริงไว้เพื่อดักจับการกดรหัส ของเจ้าของบัตร ซึ่งผู้ใช้จะต้องสังเกตตัวแป้น ต้องราบเรียบไปกับตู้ ไม่นูน หรือหนาขึ้นมามากจนเกินไป สภาพต้องมั่นคงแข็งแรง กดแล้วมายวบ หรือสั่นเหมือนจะหลุดได้ หากพบความผิดปกติควรกดยกเลิกดึงบัตรออกทันที
– ดึงบัตรเข้าออกได้ง่าย สุดท้ายหลังจากที่ใช้งานเสร็จแล้ว เวลาที่เรากดให้เครื่องดันบัตรออกมา ตัวบัตรจะต้องเลื่อนออกมาในตำแหน่งที่เราสามารถดึงบัตรออกได้ง่ายๆ จะต้องมีระยะห่างที่สามารถดึงบัตรออกมาได้อย่างสะดวก ประมาณ 2 ซ.ม. หากสั่นกว่าหรือ มีพื้นที่ให้จับตัวบัตรเพื่อดึงออกได้น้อยเกินไป จนทำให้ดึงบัตรออกได้ยาก สันนิฐานว่าอาจมีการติดตั้งอุปกรณ์บางอย่างครอบช่องเสียบบัตรไว้อีกที จึงทำให้บัตรเลื่อนออกมาได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ข้อความปฏิบัติในการใช้บัตร
คำแนะนำในการใช้บัตรเอทีเอ็มอย่างปลอดภัย นอกจากจะสังเกตที่ตู้เอทีเอ็มแล้ว ผู้ใช้เองก็ควรที่ปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยจากเหล่ามิจฉาชีพด้วยเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยของตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
เริ่มต้นจากการสังเกต คนรอบข้างทุกครั้งเวลาใช้งานเอทีเอ็ม หลีกเลี่ยงการใช้งานเมื่อมีบุคคลต้องสงสัยอยู่ใกล้ๆ และควรใช้งานตู้เอทีเอ็มที่ใช้เป็นประจำเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งต้องเอามือปิดบังแป้นกดรหัสทุกครั้งที่เรากดรหัสบัตร ใช้ตัวเองบังจอไม่ให้ใครเห็น เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเห็นรหัสของเราได้ และต้องไม่บอกรหัสบัตรส่วนตัวกับใครเด็ดขาด หากได้บอกรหัสกับใครไปแล้ว ควรจะเปลี่ยนรหัสใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัย
ควรเปลี่ยนรหัสบัตรเป็นประจำเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้รหัสที่คาดเดาได้ง่าย เช่นใช้เลขบนหน้าบัตร เลขซ้ำๆ กัน เลขสวย เลขที่เรียงกัน รวมทั้งเลขที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขวันเกิด ทะเบียนรถ อายุ ฯลฯ รวมทั้งควรเก็บสลิปที่กดเงินไว้ทุกครั้ง ใช้ในการอ้างอิงยอดเงินคงเหลือในบัญชี
ควรตั้งจำนวนเงินที่สามารถเบิกถอนได้ต่อวันไว้ในระดับที่พอดีไม่สูงจนเกินไป ป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพสามารถ กดเงินออกไปครั้งละมากๆ ได้ และแนะนำให้เปิดใช้บริการแจ้งเตือนการทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน SMS ของบัญชีที่ใช้งานอยู่เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเงินในบัญชีได้ตลอดเวลา
ระวังคนแปลกหน้ามาติดต่อพูดคุยในระหว่างใช้งานตู้เอทีเอ็ม หรือ อาจจะเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือ หรือทำเป็นขอความช่วยเหลือในขณะที่กำลังใช้เครื่องเอทีเอ็ม รวมทั้งระมัดระวังบุคคลที่เข้ามาเบี่ยงเบนความสนใจในขณะที่ยืนรออยู่ที่บริเวณเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานปกติทั่วไปหรือพนักงาน ควรจำไว้เสมอว่า จะไม่บอกรหัสบัตรกับใครเป็นอันขาด และพนักงานจะไม่ถามรหัสบัตรจากลูกค้า หากมีมาถามอาจเป็นกลุ่มมิจฉาชีพปลอมตัวมาก็เป็นได้
นอกจากนี้เพื่อความปลอดภัยและมั่นใจกว่า เราก็ควรเปลี่ยนมาใช้ระบบของบัตรเอทีเอ็มที่มีความปลอดภัยในระดับที่สูงขึ้น เช่นเปลี่ยนมาใช้บัตรที่เป็นแบบ Chip EMV (Europay, MaterCard, VISA) ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่า เครื่องสกิมเมอร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถอ่าน หรือคัดลอกข้อมูลบัตรประเภทนี้ได้ ซึ่งตอนนี้มีบางธนาคารที่เริ่มเปลี่ยนมาใช้บัตรประเภทนี้แทน แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะตู้กดที่รองรับบัตรแบบชิปการ์ดใช้งานได้ยังไม่มาก (เฉพาะของธนาคารเจ้าของบัตร) ตัวบัตรประเภทนี้ยังมีต้นทุนการผลิตที่สูง และใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการเปลี่ยนระบบตู้ให้รองรับบัตรแบบใหม่นี้ หลายๆ ธนาคารจึงเลือกที่จะยังใช้ระบบเดิมอยู่
ทำอย่างไรเมื่อถูกขโมยข้อมูลในบัตร
สำหรับผู้ที่รู้สึกว่ากำลังโดนขโมยข้อมูลในบัตรเอทีเอ็มอยู่ โดยอาจะพบความผิดปกติที่เครื่องเอทีเอ็ม คำแนะนำที่ดีที่สุดคืออย่าเพิ่งตกใจควรตั้งสติ กดนำบัตรออกมาจากเครื่อง แล้วหาเครื่องเอทีเอ็มเครื่องใหม่ที่ใกล้ที่สุด เพื่อเปลี่ยนรหัสบัตร เพราะถึงแม้ข้อมูลในบัตรจะถูกเครื่องคัดลอกออกไปแล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลานานกว่ามิจฉาชีพจะนำข้อมูลออกจากเครื่อง นำไปทำบัตรปลอม มากดเงินอีกทีซึ่งอาจจะกินเวลาหลายวันจนถึงหลายเดือน การเปลี่ยนรหัสจะทำให้มิจฉาชีพไม่สามารถกดเงินออกจากบัตรเราได้
และถ้าหากมารู้ที่หลังว่าบัตรของเราถูกมิจฉาชีพขโมยข้อมูล ใช้กดเงินออกไปแล้ว ไม่ว่าจะมากหรือน้อย วิธีทางที่ดีที่สุดคือการแจ้งอายัดบัตร และให้ธนาคารติดตามนำเงินกลับมาคืนโดยเร็วที่สุด ไม่ต้องกลัวสูญเงินเปล่าๆ เพราะความเสียหายที่เกิดจาก การที่มิจฉาชีพแอบติดตั้งอุปกรณ์คัดลอกข้อมูล หรือตัวสกิมเมอร์นี้ ตามหลักปฏิบัติแล้ว ธนาคารเจ้าของบัญชีจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะถือเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้ถือบัตรไม่ได้ โดยผู้ถือบัตรเจ้าของบัญชี จะต้องติดต่อไปยังธนาคาร เพื่อแจ้งความเสียหาย ให้ธนาคารทำการตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหยุดกระบวนการของเหล่ามิจฉาชีพในทันที โดยสามารถติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ของคอร์เซ็นเตอร์ของแต่ละธนาคารได้ ตามเบอร์ที่ระบุไว้ในตารางดังต่อไปนี้
ธนาคารกรุงเทพ (Bangkok Bank) | 1333 , 02-645-5555 |
ธนาคารทหารไทย (Thai Military Bank) | 1558 , 02-299-1111 |
ธนาคารไทยพาณิชย์ (Siam Commercial Bank) | 02-777-7777 |
ธนาคารกรุงไทย (Krungthai Bank) | 02-255-2222 |
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (Bank of Ayudhaya) | 1572 , 02-296-2000 |
ธนาคารกสิกรไทย (KasikornBank) | 02-888-8888 |
ธนาคารเกียรตินาคิน (Kiatnakin Bank) | 02-680-3333 |
ธนาคารซิติแบงก์ (Citibank) | 1588 หรือ 02-232-2484 |
ธนาคารธนชาต (Thanachart Bank) | 1770 |
ธนาคารนครหลวงไทย (Siam City Bank) | 02-208-5000 |
ธนาคารยูโอบี (United Overseas Bank, Thailand) | 02-285-1555 |
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย (Standard Chartered Bank Thai) | 1595 |
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB Thai Bank) | 02-626-7777 |
ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) (ICBC Thai Limited Bank) | 02-663-9999 |
ธนาคารทิสโก้ (Thai Investment and Securities Company Bank) | 02-633-6000 |
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย (Land and Houses Retail Bank) | 02-359-0000 |
ธนาคารออมสิน (Government Saving Bank) | 1115 |
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (Government Housing Bank) | 02-729-8807-11 |
ภัยรูปแบบอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน
สำหรับ ATM Skimming นั้น เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการหลายๆ รูปแบบ ของเหล่ามิจฉาชีพ ที่ใช้การโจมตีผู้ใช้บริการเครื่องเอทีเอ็มเท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายรูปแบบมากมาย ของเหล่ามิจฉาชีพที่ใช้ในการโจมตี ผู้ใช่ให้ตกเป็นเหยื่อไม่ว่าจะเป็น
– Shoulder surfing เป็นการขโมยข้อมูลโดยการแอบดูรหัสผ่าน เวลาที่เราทำการกดเงินจากตู้ หรือ ใช้งานผ่านระบบออนไลน์
– Wire tapping เป็นการลักลอบแกะเปลือกสายโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อระหว่างตู้เอทีเอ็ม กับทางธนาคาร แล้วเชื่อมต่อสายทองแดงเข้าไปเพื่อดักจับ บันทึกข้อมูล หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่รับส่งไปให้ธนาคาร
– Slot tampering เป็นการดัดแปลง หรือใช้อุปกรณ์บางประเภท มาติดตั้ง เพื่อปิดกั้นช่องปล่อยเงินของตู้เอทีเอ็ม ไม่ให้ปล่อยเงินให้กับผู้ใช้ เมื่อมีคนมากดถอนเงินออกจากตู้ เงินนั้นจะติดอยู่ในอุปกรณ์ดังกล่าว ไม่ปล่อยออกมา หลังจากผู้ที่กดเงินออกจากตู้ออกไปแล้ว มิจฉาชีพจึงจะเข้ามาแกะอุปกรณ์ดังกล่าวออก เพื่อนำเงินที่ติดค้างอยู่กับอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ออกมา
– Lebanese loop เป็นการขโมยบัตรเอทีเอ็ม โดยการติดเทปกาวหรืออุปกรณ์บางอย่างไว้ในช่องเสียบบัตร เมื่อมีผู้ใช้บริการมาสอดบัตรเข้าไปในเครื่องเอทีเอ็ม ตัวบัตรจะติดอยู่กับเทปกาวด้านในไม่สามารถนำออกได้ จากนั้นมิจฉาชีพก็จะทำทีเป็นพนักงาน หรือพลเมืองดีเข้ามาช่วยหลอกถามรหัสบัตร หรือหลอกให้กดรหัส แล้วแอบจำรหัสไว้ เมื่อเหยื่อออกไปจากตู้ พวกมิจฉาชีพก็จะแกะเทปกาวดึงบัตรออกมา นำไปใช้กดเงินออกมา
หรืออาจจะเป็นการโจมตีผ่านช่องโหว่ต่างๆ โดยฝังโปรแกรมดักข้อมูลไว้ในเครื่อง เช่น Trojan Trojan.VB.FXP, Trojan.Win32.VB.ayo, W32.SillyFDC, TROJ_VB.AQS เป็นต้น
ซึ่งการโจมตีแต่ละรูปแบบนั้น เป็นวิธีการที่แยบยล และเป็นอันตรายอย่างมาก สำหรับผู้ใช้อย่างเราๆ จึงจำเป็นจะต้องมีสติและรู้เท่าทันเหล่ามิจฉาชีพให้มากที่สุด เพื่อรับมือกับภัยรูปแบบต่างๆ ได้
[…] ก็นับเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ซึ่งช่วยให้การใช้งานทางการเงินของเรามีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ก็อยากจะให้ผู้ใช้บัตรเอทีเอ็มหลายๆ ท่านลองเปลี่ยนใช้งานสมาร์ทการ์ดแบบใหม่ดูเพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง แต่ถามว่าต้องรีบเปลี่ยนไปใช้งานบัตรแบบใหม่หรือไม่อันนี้ก็คงต้องบอกว่ายัง ยังไม่ต้องรีบมากนัก ยังสามารถรอให้ระบบต่างๆ มีความพร้อมมากกว่านี้ได้ จนกว่าเครื่องมือ อุปกรณ์หรือตู้เอทีเอ็มต่างๆ มีความพร้อมมากกว่านี้ ค่อยเลปี่ยนก็ยังทันอยู่ ระหว่างนี้เวลากดเงินก็เพิ่มความระมัดระวังกันหน่อย สามารถดูวิธีการป้องกันได้จากบทความนี้ http://www.techonmag.com/2014/04/14/professorq-atmskimming/ […]